svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

บทสรุป"ก้าวไกล"เลือกถอย"ประธานสภา" แพ้เพื่อชนะ หวังกินรวบระยะยาว

04 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เสร็จสิ้นเรียบร้อยสำหรับการเลือก"ประธานสภา"ทั้งที่ก่อนหน้าเต็มไปด้วยความลุ้นระทึก จากปัญหาไม่ลงรอย"ก้าวไกล"และ "เพื่อไทย" ฟากนักวิชาการ"ดร.สติธร" สะท้อนมุมมอง"ก้าวไกล" เดินเกมแบบวุฒิภาวะ เพื่อหวังผลระยะยาว

"...ณ วันนี้ คนที่ยอมแล้วได้ประโยชน์คือ "ก้าวไกล" ยอมตำแหน่งประธานสภาฯ ทั้งที่ไม่ได้อะไรเลย และในการโหวตนายกฯสัปดาห์หน้า ใช่ว่า"พรรคก้าวไกล"จะได้ แต่ได้ทางการเมืองในระยะยาว เป็นการแสดงให้เห็นวุฒิภาวะ..."

หมายเหตุ  "ดร.สติธร  ธนานิธิโชติ" ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์สถานการณ์หลังจบเกมโหวต"ประธานสภาฯ"

ในการประชุมสภานัดแรกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม เพื่อเลือก"ประธานสภา"และรองประธานสภา เป็นไปตามคาดของ 8 พรรคร่วม โดย "นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา" อดีตหัวหน้าพรรคประชาชาติเป็นประธานสภา  "นายปดิพัทธ์  สันติภาดา" จากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาคนที่ 1 "นายพิเชษฐ์  เชื้อเมืองพาน" จากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาคนที่ 2  

แต่กว่าทุกตำแหน่งจะได้รับการสนับสนุนจากเสียงสภาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ล้วนมีเบื้องหลังการถ่ายทำ ทั้งการเจรจาต่อรองจนถึงนาทีสุดท้าย โดยเฉพาะกรณี"ก้าวไกล" ที่เคยมีท่าทีแข็งกร้าว แต่สุดท้ายยอมถอยให้ "เพื่อไทย" เสนอ "นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา"มาเป็น "ประธานสภา" คนกลาง ยุติปัญหาความไม่ลงตัวของสองพรรค 

"ดร.สติธร  ธนานิธิโชติ" ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

"ดร.สติธร  ธนานิธิโชติ" ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็นกรณีสองพรรคตัดสินใจเลือก "นายวันมูหะหมัดนอร์  มะทา" เป็นประธานสภา จะถือว่าเป็นทางออกต่อการอยู่ร่วมกันต่อไปได้หรือไม่

"คิดได้สองทางจะเป็นทางออกและไม่ใช่ทางออกเพราะชื่อของ"นายวันนอร์" ถูกเสนอให้มาเป็นประธานสภา ตั้งแต่สองพรรคหาข้อสรุปไม่ได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มมีการจัดทำเอ็มโอยูแรกๆนานแล้ว และสุดท้ายกลับมาเสนอชื่อ"นายวันนอร์"อีกครั้งก่อนเปิดสภาเพียงไม่กี่วัน

"วันนี้ เพื่อไทย เกิดความไม่ลงรอยในทางตัวเลข เพราะห่างจากก้าวไกล 10 เสียงเท่านั้น บวกกับความสัมพันธ์ทางการเมือง จึงทำให้เพื่อไทยคิดอย่างนั้นได้ว่าตำแหน่งประธานสภาฯสมควรเป็นของเพื่อไทย"  

"ณ วันนี้คนที่ยอมยกตำแหน่งประธานสภาแล้วได้ประโยชน์ คือ " พรรคก้าวไกล" ทั้งที่ไม่ได้อะไรเลย และในการโหวตนายกฯสัปดาห์หน้าใช่ว่า "พรรคก้าวไกล" จะได้ แต่ได้ทางการเมืองในระยะยาว เป็นการแสดงให้เห็นวุฒิภาวะที่ยืนตามหลักการในฐานะเป็นพรรคอันดับหนึ่งตลอด เมื่อมาถึงวันหนึ่งมีเงื่อนไขที่ "ก้าวไกล" ไม่ยอม เอ็มโอยูถูกฉีก  8 พรรคร่วมไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน "พรรคก้าวไกล"ก็ยอมถอยให้ และวันนี้ยังถอยให้พรรคอันดับสามซึ่งก็คือพรรคประชาชาติอีกด้วย"

บทสรุป\"ก้าวไกล\"เลือกถอย\"ประธานสภา\" แพ้เพื่อชนะ หวังกินรวบระยะยาว

ดังนั้น ในมุม "ก้าวไกล" ไม่ได้เสียเยอะ ในเมื่อ"เพื่อไทย"หยิบยื่นข้อเสนอว่าตำแหน่งประธานสภาควรเป็นของเพื่อไทยโดยที่"ก้าวไกล"ถอยให้แล้ว อย่างน้อยสัปดาห์หน้าเมื่อมีการโหวตนายกฯ 8 พรรคต้องเสนอ "นายพิธา" เป็นนายกฯ เพราะวันนี้ยอมกรณี "ประธานสภา" ให้แล้ว ถัดจากนี้จึงเป็นเรื่องที่"เพื่อไทย"จะต้องยึดมั่นตามข้อตกลง จะกลับไปกลับมาไม่ได้แล้ว

"การประชุมสภาเพื่อพิจารณาเลือกนายกฯ ถ้ามีคนแตกแถวในกลุ่ม"เพื่อไทย" นั่นแสดงให้เห็นว่า"เพื่อไทย" อยากฉีกสัตยาบัน ถึงวันนั้นโดยตัวเลข "เพื่อไทย"อาจไม่จำเป็น แม้โหวตแน่นๆ 312 เสียง แต่ถ้าอีกฝั่งไม่มีใครเติมคะแนนเสียงให้เลยยังไง"พิธา"ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ"

การโหวตนายกฯ และโอกาสเพื่อไทย 

"ดร.สติธร" กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่"เพื่อไทย"ขอจาก"ก้าวไกล" คือคำมั่นสัญญาสนับสนุน"นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา " สุดท้าย "พิธา" โหวตไม่ผ่านไม่ได้เป็นนายกฯ มีสองทาง

หนทางแรก  8 พรรค เสนอแคนดิเดตเพื่อไทยไปลุ้น เปลี่ยนคนได้ไหม ถ้าไม่ได้มีครั้งต่อไป เพราะขนาดเปลี่ยนคนยังไม่ได้ แปลว่าเสียงของรัฐสภาไม่ได้ปฏิเสธตัวบุคคลแต่ปฏิเสธทั้งพรรค คนที่จะเอาเสียงมาเติมให้ไม่ยินดีกับ"ก้าวไกล" กล่าวตรงๆ แปลว่า"เพื่อไทย" อยากเป็นรัฐบาล ช่วยไปรวมคนอื่นและเสนอตัวใหม่  

"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในการประชุมสภานัดแรก

หนทางที่สอง เพื่อไทยแยกวงไปเลยเพราะในเมื่อโหวต"พิธา"ไม่ได้แล้ว ได้ปฏิบัติตามเอ็มโอยูแล้ว ทำอย่างสุดความสามารถแล้ว ขอไปทำตามฝันตัวเองบ้าง ขอเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไปเลยแบบนี้ก็ได้

เปิดทางเพื่อไทย บีบ"ก้าวไกล"ตีจาก   

"ดร.สติธร"  กล่าวว่า  พิจารณาในเชิงที่ว่า "เพื่อไทย" มีความเก๋าเกมมากกว่า มีสายสัมพันธ์ อย่างเช่น พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)  พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังประชารัฐ หรือแม้แต่ภูมิใจไทย เป็นสูตรที่เพื่อไทย ไปขอพรรคร่วมอื่นๆได้ เป็นการได้รับฉันทามติ จาก 8 พรรคร่วมว่า รอบที่สอง เป็นแคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย และ ขอพรรคร่วมต่อไปว่า จะลุ้นส.ว.ฝ่ายเดียวก็เป็นความเสี่ยง จึงขอเติมเสียงส.ส.โดยเจรจาเอง นั่นคือ ขอแค่เสียงอาจเป็นแค่สปิริตส.ส. หรือต้องดึงมาร่วมรัฐบาลด้วย และไม่ได้มาอย่างเดียวขอเก้าอี้รมต.ด้วย เมื่อเป็นแบบนั้น ต้องมาแชร์เก้าอี้รัฐมนตรีกันใหม่ในวง 8 พรรค

"ถึงจุดนั้น "พรรคก้าวไกล" ต้องพิจารณา พรรคไหนบ้างต้องมา ถ้า พปชร.มา ก้าวไกล คงทิ้งจุดยืนตัวเองไม่ได้ต้องปฏิเสธเสียงแข็ง  ที่ว่ามีลุงไม่มีเรา แม้ไม่ใช่ลุงตู่ เป็นลุงป้อมก็ไม่เอา หรือ ถ้าจะเป็น"พรรคภูมิใจไทย" ก้าวไกลรู้สึกว่ามาก็ได้ แต่กระทรวงคมนาคมไม่ได้ กระทรวงการคลังต้องไม่ได้  ขณะที่"ภูมิใจไทย" บอก ไม่เอาก้าวไกลเหมือนกัน ถ้ามีเขาต้องไม่มีเรา สถานการณ์ตอนนั้นจะเต็มไปด้วยเงื่อนไขไปหมด" 

ในกรณี ก๊อกสอง เพื่อไทย จะเสนอแคนดิเดตตัวเองจะเกิดการผสมกันใหม่ไม่ใช่ 8 พรรค หรือขยาย 10 พรรค หรือลดลง ยุบลง เหลือ 6 พรรคโดยมีคนถอนตัวออกไปก็เป็นได้  

"ดร.สติธร" กล่าวว่า วันนี้ภายใต้สถานการณ์ทางการเมือง ความพยายามให้"ก้าวไกล"ไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาทำให้รู้สึก"พิธา" ไม่มีโอกาสแล้วหล่ะ ไม่ได้กรฟะแสตอบรับจากแปดพรรคและส.ว. ยิ่งนานวันยิ่งเสียงแผ่วเบา พร้อมสนับสนุนพรรคที่รวมเสียงข้างมากได้ 

อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยสัญญาณสุดท้ายไม่มา อย่าเพิ่งตัดสิน เชื่อว่า"ก้าวไกล"หวังลึกๆจากสว.จำนวน 250 เสียง รวมถึงวันนี้"ก้าวไกล"ดูฝั่งส.ส.ด้วยกันจะมีท่าทีเปลี่ยนไปอย่างไร สามารถพูดคุยกันรู้เรื่องไหม แม้มีจำนวนเสียงถึง 312 เสียง เอาเข้าจริง มีความจริงใจต่อกันไหม เหนียวแน่นหรือไม่ และยังพิจารณาถึงคุณสมบัติพิธา จุดยืนก้าวไกล ถ้าเข้ามาแบบนี้ผลประโยชน์เกิดขึ้นกับประเทศชาติบ้านเมือง อย่างไหนดีกว่ากัน

การเมืองลงถนนแค่ช่วงอารมณ์หนึ่ง   

กรณี "พิธา" พลาดหวังเก้าอี้นายกฯ สถานการณ์ทางการเมืองจะยกระดับสู่การลงถนนหรือไม่ "ดร.สติธร" ให้ความเห็นว่า วันโหวตเลือกนายกฯ คงมีกลไกให้เกิดการชุมนุมเพื่อกดดัน ส.ว. ให้โหวตตามเสียงประชาชนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล   

สมมุติโหวตแล้ว "พิธา" ไม่ได้เป็นนายกฯ เชื่อว่าคงมีการแสดงออกถึงความไม่พอใจบางอย่าง เพื่อต้องการสื่อสารให้เห็นว่ามีความพยายามของคนในสภาที่ทำให้เกิดความไม่ชอบธรรมตามกฎหมาย ไม่ชอบธรรมทางการเมือง  

"ผมเชื่อว่าเป็นการแสดงออกในช่วงเวลา 2-3 เดือน ไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่ตั้งขึ้นมา โดยการพลิกขั้วสลับข้าง แต่สุดท้ายไประยะยาว เชื่อว่า ม็อบจะกลับสู่เกม ตราบใดที่ก้าวไกลยังทำงานการเมืองอยู่ โอกาสวันข้างหน้า การเมืองเป็นแบบนี้ เห็นธาตุแท้มีการสลับขั้วสมคบคิดกันอย่างไร การเลือกตั้งครั้งต่อไป กองเชียร์ก้าวไกลก็ยังมีความหวัง"

บรรยากาศการประชุมสภานัดแรก เพื่อเลือกประธานสภา และรองประธานสภา

"ดร.สติธร"  เชื่อว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนไม่พร้อมเปิดประตูให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายจนอำนาจนอกรัฐธรรมนูญต้องเข้ามาแก้ปัญหา  การชุมนุมจะมีลีมิตว่าถึงจุดไหนต้องยุติเพื่อให้กติกาประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไป เพื่อรอความหวังครั้งหน้าเลือกกันให้ดีๆ "ก้าวไกล" จะมีที่นั่งมามากกว่านี้

ยิ่งครั้งหน้า ถ้ากติการัฐธรรมนูญเป็นไปตามปกติ หรือต่อให้แก้กติกาไม่ได้ การโหวตนายกฯครั้งหน้าคือเสียงข้างมากธรรมดา เขามีความหวังกับอนาคต ไม่จำเป็นต้องแตกหักในวันนี้  

บทสรุป\"ก้าวไกล\"เลือกถอย\"ประธานสภา\" แพ้เพื่อชนะ หวังกินรวบระยะยาว

"เพื่อไทย"ขอคว้าอำนาจปัจจุบันไว้ก่อน 

ครั้นกลับมาพิจารณาในส่วนของ "พรรคเพื่อไทย" ที่ต้องเป็นตัวเปลี่ยนเกมหาก "พิธา" หัวหน้าพรรคก้าวไกล พลาดตำแหน่งนายกฯ จะส่งผลในทางบวกหรือลบกับ"เพื่อไทย"อย่างไร "ดร.สติธร" กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ว่าวันนี้คนที่เลือกเพื่อไทยมาด้วยเหตุผลอะไร วันนี้ต้องวางความคิดที่ว่าตัวเองเป็นพรรคอันดับหนึ่งมายี่สิบปี ตอนนี้ต้องเข้าสู่โลกความจริง ยอมรับตนเองว่าแพ้เลือกตั้ง ถ้าจะเดินเกมต่อไป ต้องมาทบทวนจะเดินเกมอย่างไร

ท่ามกลางคำถาม "เพื่อไทย" ในอนาคต จะยิ่งใหญ่เหมือนไทยรักไทยได้ไหม หรือ ประคองตัวไปในลักษณะนี้ อาจพลิกมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งแต่อาจไม่ได้อันดับหนึ่ง แบบทะลุเหมือนสมัยก่อน แต่เป็นอันดับหนึ่งจากทุกพรรค หรือกลายสภาพ เป็นพรรคต่ำร้อย อย่างที่มีการประเมินกัน   

"ดร.สติธร" ยังมองโอกาสของพรรคเพื่อไทยที่จะฟื้นกลับมาได้ว่า  ส่วนหนึ่งที่เพื่อไทยมีวันนี้ เพราะนักการเมืองที่อยู่ในพรรคเพื่อไทย มีจำนวนไม่น้อยโดยธรรมชาติทำงานเพื่อวันนี้ วันข้างหน้าค่อยว่ากัน มีความมั่นใจลึกๆว่า ถึงอย่างไรก็ตาม ขอเป็นรัฐบาลก่อน พอเป็นรัฐบาลแล้วมีโอกาสพลิกเกม ยิ่งพรรคไทยรักไทย(ถูกยุบ)เคยเป็นตำนาน ประสบความสำเร็จ เป็นรัฐบาล ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทยก็เป็นมา

"ถ้าวันนี้ได้กลับสู่อำนาจจะสร้างผลงานได้ ถึงอย่างไร ก็ยังคงรักษาฐานเสียงเดิมในปี 2566 ได้แน่ ส่วนจะได้ฐานเสียงเพิ่มหรือไม่ สมมติคนที่ย้ายไปเลือกก้าวไกลไม่กลับมา แต่ในส่วนพปชร. ภท. บางส่วน สี่ปีข้างหน้าอาจกลับคืนถิ่น เพื่อไทยก็โตได้อีกมุมหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องให้ฐานเสียงก้าวไกลเทกลับทางเดียว เพราะฉะนั้นเพื่อไทย มีทางเล่นเยอะขึ้นอยู่กับเพื่อไทยเลือกอนาคตของเขาเองต้องการแบบไหน" ดร.สติธร กล่าวทิ้งท้าย 

logoline