svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"หริรักษ์" ย้ำแผล "พิธา" บริหารบริษัทปล่อยกู้ 170 ล. ทิ้งหนี้สูญ ไม่ยอมปริปาก

03 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"หริรักษ์" ย้ำแผลเก่า "พิธา" บริหารบริษัท ปล่อยกู้ 170 ล้าน ปล่อยหนี้สูญ ไม่ยอมปริปาก ระบุ ส.ว.ไม่โหวตให้ชอบด้วยเหตุผลทั้งจริยธรรม-ม.112

3 กรกฎาคม 2566 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ช่วงนี้ทุกฝ่ายคงลุ้นระทึกว่าใครจะได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะนอกจากจะเป็นการบอกทิศทางทางการเมืองแล้ว ยังเป็นการบ่งชี้ว่า คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีโอกาสจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีมากน้อยแค่ไหน

เป็นที่แน่ชัดว่า ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าใครจะให้ข่าวว่าอย่างไร ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมซึ่งกันและกัน สำหรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และชัดเจนว่าแทคติกของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขณะนี้คือ พยายามปลุกมวลชนฝ่ายพรรคก้าวไกล เพื่อแสดงพลังกดดันทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ในการเลือกประธานสภาและนายกรัฐมนตรี แต่ความพยายามดังกล่าวมีโอกาสพบความสำเร็จน้อยมาก โดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งคุณพิธาต้องฝ่าด่าน 2 ด่าน ทั้งด่านถือหุ้น itv และด่าน ส.ว.

ว่าตามจริง กรณีที่คุณพิธาถือหุ้น itv เป็นเรื่องทางเทคนิค เพราะเป็นเรื่องของหลักกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องที่กี่ยวกับจริยธรรมแต่อย่างใด แต่เรื่องที่อาจไม่ขัดกับหลักกฎหมาย แต่อาจขัดกับหลักจริยธรรม ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องใหญ่กว่าสำหรับการเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ไม่มีใครใส่ใจมากนักมี 2 กรณี คือ

กรณีแรก คือ เรื่องที่บริษัท ceo agri food ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น oil for life ในช่วงที่อยู่ภายใต้การบริหารของคุณพิธา ได้ให้เงินกู้แก่บุคคลที่ไม่ได้เปิดเผยชื่อหลายครั้ง รวมกันทั้งหมด 117 ล้านบาท เป็นการให้กู้ที่ไม่มีดอกเบี้ย และเมื่อไม่ชำระคืนก็ไม่มีการทวงถาม ไม่มีการฟ้องร้อง แต่กลับทยอยตัดเป็นหนี้สูญไปทั้งหมด

เมื่อเป็นข่าวเช่นนี้แล้ว คุณพิธา ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะและเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ควรจะต้องชี้แจงต่อสังคมว่า ใครเป็นผู้กู้เงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อไม่ชำระหนี้ เหตุใดจึงไม่มีการฟ้องร้อง กลับตัดเป็นหนี้สูญ

เรื่องนี้แม้จะดูว่า เป็นเรื่องของบริษัทเอกชน เป็นเรื่องส่วนตัวของคุณพิธา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นส่อแววว่า อาจเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักจริยธรรมทางธุรกิจ เพราะเป็นเรื่องผิดวิสัยที่บริษัทใดก็ตามจะให้คนกู้เงินไปถึง 117 ล้าน โดยไม่มีดอกเบี้ย และไม่ฟ้องร้องทวงถามเมื่อไม่ชำระหนี้ ในที่สุดตัดเป็นหนี้สูญ

แต่คุณพิธาไม่เคยออกมาชี้แจงเลยสักครั้ง ทำให้อนุมานได้ว่า คุณพิธาไม่สามารถชี้แจงได้ เพราะการชี้แจงตามข้อเท็จจริง อาจเป็นผลลบต่อการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของคุณพิธาได้

กรณีที่ 2 คุณพิธาในฐานะกรรมการและผู้บริหารของบริษัท oil for life ได้ลงนามค้ำประกันเงินกู้ของบริษัทจากธนาคารหลายแห่ง เป็นเงินรวมกันถึง 460 ล้านบาท และบริษัท oil for life ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงถูกธนาคารฟ้องให้ชำระหนี้ ซึ่งคุณพิธาในฐานะผู้ค้ำประกันก็อาจถูกฟ้องด้วย จนบริษัท oil for life ต้องยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอเข้าสู่การทำแผนฟื้นฟู แต่หากทำไม่สำเร็จและคุณพิธาต้องถูกฟ้อง ถ้ามีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้ ก็อาจต้องเป็นบุคคลล้มละลาย เช่นนี้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้หรือ

หลายท่านอาจไม่ทราบว่า ที่คุณพิธามีชื่อเสียงก่อนเข้ามาอยู่พรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล ก็เพราะเมื่อคุณพิธาเข้ามาบริหารบริษัท oil for life จากข้อมูลของฐานเศรษฐกิจ ผลประกอบการ จากที่เคยขาดทุน 10.1 ล้านบาท ในปี 2549 กลับมากำไร 7.3 ล้านบาท ในปีถัดไป จากนั้นรายได้ของบริษัท oil for life ก็เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จนในปี 2554 และปี 2555 มีรายได้ถึง 1,040.2 ล้านบาท และ 1,045.2 ล้านบาท โดยมีกำไร 31.9 ล้านบาท และ 16.3 ล้านบาท ตามลำดับ สังเกตว่าในปี 2555 ยอดรายได้เพิ่มขึ้น แต่กำไรกลับลดลงถึงประมาณร้อยละ 50 เป็นเพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงกว่ามาก

อย่างไรก็ดีในช่วงดังกล่าวนี้เอง ที่สื่อต่างๆ นำเสนอเรื่องราวของคุณพิธา ที่สามารถกอบกู้กิจการของครอบครัวให้กลับมากำไรได้กันอย่างครึกโครม และยังมีข่าวว่า ยอดขายของน้ำมันรำข้าวของบริษัท oil for life อยู่ในอันดับต้นๆ ของเอเซียเลยทีเดียว ทำให้ชื่อเสียงของคุณพิธาเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปอย่างรวดเร็ว แต่บริษัท oil for life หลังจากที่ทำรายได้สูงสุดในปี 2555 รายได้ของ oil for life ในปีต่อๆ มากลับลดลงตามลำดับ จนประสบภาวะขาดทุนเริ่มตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งมีรายได้ 518.6 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 642 ล้านบาท จากนั้นก็ไม่เคยได้กำไรอีกเลย จนในที่สุดไม่สามารถชำระหนี้ธนาคารได้ แต่เรื่องนี้กลับเงียบไม่เป็นข่าว ภาพของคุณพิธาที่วาดไว้ว่า เป็นนักบริหารที่เก่งกาจ พลิกฟื้นกิจการของครอบครัวจึงยังอยู่ในใจของคนทั่วไปจนบัดนี้

เมื่อหันมาดูตัวเลขรายได้และค่าใช้จ่ายของบริษัท oil for life ภายใต้การบริหารของคุณพิธา มีข้อสังเกต 2 ประการ ประการแรกคือ รายได้ของ oil for life จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็นกว่าพันล้าน จากการขายน้ำมันรำข้าวเพียงอย่างเดียวได้อย่างไร และหาก oil for life เป็นผู้นำของอาเซียนในตลาดน้ำมันรำข้าว เหตุใดรายได้จึงลดลงเรื่อยๆ หลังปี 2555 เป็นต้นมาจนในที่สุดไม่สามารถขำระหนี้ธนาคารได้

เป็นไปได้หรือไม่ที่ในปี 2554 และ 2555 จะมีเงินรายได้เข้ามาจากแหล่งอื่น ที่ไม่ใช่จากการขายน้ำมันรำข้าว รายได้ที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวข้องอะไรกับการปล่อยเงินกู้ อย่างมีเงื่อนงำจำนวน 117 ล้านหรือไม่ ไม่มีใครบอกได้นอกจากตัวคุณพิธาเอง

ข้อสังเกตประการที่ 2 คือ เมื่อลองคำนวณตัวเลขกำไรคิดเป็นร้อยละของรายได้ พบว่า ตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2560 บริษัท oil for life มีกำไรสุทธิคิดเป็นร้อยละของรายได้ ตั้งแต่ร้อยละ 0.8 จนถึงร้อยละ 3.6 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.8 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ ลองเปรียบเทียบตัวเลขกำไรสุทธิคิดเป็นร้อยละของรายได้ของบริษัทน้ำมันบริโภคไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรำข้าวคิง อัตราส่วนดังกล่าวจะอยู่ระหว่างร้อยละ 9 ถึงร้อยละ 12 ซึ่งสูงกว่าบริษัท oil for life ถึงกว่า 3 เท่า

ดังนั้นหากผู้บริหารบริษัท oil for life มีความสามารถสูงจริง ก็น่าจะบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้ลดลงได้ และบริษัทจะต้องไม่ตกต่ำจนไม่สามารถชำระหนี้ได้เช่นนี้ จึงชัดเจนว่าความสามารถในการบริหารของคุณพิธา ได้ถูกนำมาขยายผลให้ดูสูงโดยสื่อต่างๆ ในระยะแรก และเมื่อบริษัทเริ่มล้มเหลว กลับไม่มีสื่อใดเสนอข่าวนี้ จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้

หากไม่มีใจเอนเอียงมากจนเกินไป ก็จะมองเห็นว่า ทั้ง 2 กรณีมีคำถามเรื่องจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจที่คุณพิธาควรต้องตอบให้ทั้งประชาชน ทั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร ทั้งสมาชิกวุฒิสภา ทั้งหมดให้สิ้นสงสัย โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาที่คุณพิธาเอาแต่อ้างว่า ควรลงคะแนนให้คุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีตามเสียงของประชาชน 14 ล้านเสียง

แต่ทำเป็นลืมว่ายังมีประชาชนอีก 28 ล้านคน ที่ไม่ได้เลือกพรรคก้าวไกล ไม่ได้เลือกคุณพิธา เมื่อนักข่าวตั้งคำถามว่า ส.ว. อาจไม่โหวตให้คุณพิธา เพราะเหตุผลว่าคุณพิธาจะยกเลิกและเปลี่ยนเป็นแก้ไขมาตรา 112 คุณพิธาตอบว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เป็นเรื่องน่ากังวล น่าเป็นห่วง ฟังตอนแรกยังเข้าใจว่า ที่กังวลเพราะตัวคุณพิธาอาจไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ใช่ เพราะคุณพิธาพูดต่อว่า เพราะเป็นการนำเสียงของประชาชนทั้งหมดที่โหวตให้ มาปะทะกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง ซึ่งไม่สมควร และเป็นเรื่องอันตราย นี่เท่ากับเป็นการขู่ว่า หาก ส.ว. ไม่โหวตให้คุณพิธาก็จะเกิดเรื่องวุ่นวายในบ้านเมือง

ความจริงผู้ที่นำประชาชนบางกลุ่มมาปะทะกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ ส.ว. แต่เป็นขบวนการที่ป้อนข้อมูล เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็ไม่ทราบว่า คุณพิธาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนั้นหรือไม่ แต่ไม่ใช่ ส.ว.แน่ๆ และหาก ส.ว.จะไม่โหวตให้คุณพิธาก็เป็นสิทธิ์ของเขา เพราะเขาก็มาตามรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน และเป็นหน้าที่ของ ส.ว. ที่จะพิจารณาเลือกคนที่เหมาะสมที่สุด ปราศจากข้อสงสัยในเรื่องจริยธรรม ไม่ใช่แห่ตามเสียงประชาชน ซึ่งไม่ใช่เป็นเสียงส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำ

ที่อ้างว่าการแก้ไขมาตรา 112 ก็เพื่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน ตามการเปลี่ยนผ่านของประเทศที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นด้วยประการทั้งปวง เนื่องจากการแก้ไขมาตรา 112 ตามร่างของพรรคก้าวไกล เป็นการเปิดทางให้ใครก็ได้สามารถดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ได้โดยอาจไม่ต้องรับโทษใดๆ เพราะไม่มีโทษขั้นต่ำ หรืออาจเพียงเสียค่าปรับเท่านั้น การแยกมาตรา 112 ออกจากหมวดความมั่นคง เท่ากับบอกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศแต่อย่างใด

การที่พรรคก้าวไกลมีความพยายาม อย่างไม่ลดละที่ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ให้ได้ ไม่สามารถมีคำอธิบายเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากเป็นความพยายามที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอลง อันเป็นบันไดขั้นแรก ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในแบบที่พวกเขาต้องการ ดังนั้น หาก ส.ว. คนใดไม่โหวตให้คุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเขาไม่ต้องการให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ก็เป็นการตัดสินใจที่ไม่มีใครจะมาตำหนิได้ และเป็นการตัดสินใจที่ชอบด้วยเหตุผลด้วยประการทั้งปวง

logoline