svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ชำแหละ"ขั้วความคิดเพื่อไทย"หาก"พิธา"ร่วงเก้าอี้นายกฯ เพื่อไทย ทำอย่างไร

04 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จับอาการ "ขั้วความคิดในพรรคเพื่อไทย" กำหนดเข็มทิศทิศชี้โอกาสหาก"พรรคก้าวไกล"ตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ ท่าทีเพื่อไทยควรเป็นอย่างไร ติดตามได้ใน "เนชั่นอินไซต์"

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทุกสายตาจับจ้องการลงนามเอ็มโอยู 8 พรรคการเมืองเพื่อ "จัดตั้งรัฐบาล" โดยสนับสนุน "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศ 

แม้จะมีการแถลงยืนยัน ไม่ว่ามาจากแกนนำ"พรรคเพื่อไทย" อย่าง"นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" หัวหน้าพรรค ยังกอดคอ"พรรคก้าวไกล" สนับสนับสนุน"พิธา" ให้ถึงฝั่งฝันตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ตาม 

4 มิ.ย.66 พรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้าร่วมงานบางกอกไพรด์ 2023

แต่มุมมองจากสังคมภายนอก ก็ยังไม่อาจเชื่อได้อย่างสนิทใจ "พิธา"รวมถึง "พรรคก้าวไกล" จะได้เป็น"รัฐบาล"จริงหรือไม่  

เพราะด้วยเหตุปัจจัยหลายประการเหลือเกิน ที่ทำให้คอการเมืองแม้แต่เหล่า"ด้อมส้ม" ยังคงมองท่าที "พรรคเพื่อไทย" ที่ถือว่าเป็นพรรคที่มีคะแนนเลือกตั้งตามมาอันดับสอง ห่างกันแค่ 10 ที่นั่ง อย่างไม่สบายใจนัก ถือยังเป็นพรรคตัวแปรสำคัญในการพลิกผันสถานการณ์ได้ทุกเมื่อ 

คำกล่าว ที่ว่า "ก้าวไกลจำเป็นต้องมีเพื่อไทย แต่เพื่อไทยไม่จำเป็นต้องมี"ก้าวไกล"  เป็นวลีทองคอยหลอกหลอน"ก้าวไกล"มานับตั้งแต่หลังได้รับชัยชนะเลือกตั้ง จนมาถึงการลงนามเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาล

กอปรกับการเจรจาต่อรองตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งตำแหน่ง"ประธานสภา" โควต้ารัฐมนตรีเกรดเอ บี ซี  ก็ยิ่งสร้างน้ำหนักความหวาดระแวงระหว่างสองพรรคมีมากขึ้น 

หากจับท่าทีการให้สัมภาษณ์ของคนใน"เพื่อไทย" ยิ่งเห็นมุมมองที่แตกต่างแต่มีเป้าหมายเดียวกัน

ดังตัวอย่าง กรณี "ตำแหน่งประธานสภา" ไม่ว่าจะเป็น  "ประเสริฐ จันทรรวงทอง" เลขาธิการพรรคเพื่อไทย  "อนุสรณ์  เอี่ยมสะอาด"  รองโฆษกพรรคเพื่อไทย "อดิศร เพียงเกษ" ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แสดงท่าทีชัดเจนตำแหน่ง"ประธานสภา"ต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย 

อดิศร  เพียงเกษ ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

"ถ้าพรรคก้าวไกลยังดื้อดัน  สมมติว่าเพื่อไทยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล คุณเดินไปไม่ได้อยู่ดี ผมไม่อยากให้เกิดภาพนี้ขึ้น..."

นายอดิศร กล่าว เมื่อ 24 พ.ค.66

 

การออกมาแสดงบทบาทชัดเจนขนาดนั้น ยังปลุกเร้าให้"สาวกเสื้อแดง"ออกมาเคลื่อนไหวกดดัน"พรรคก้าวไกล" ถึงขนาดยื่นข้อเสนอ หากการเจรจาตำแหน่ง"ประธานสภา" ไม่เป็นผล สมควรที่"พรรคเพื่อไทย"ควรสลัดออกจากการ"จัดตั้งรัฐบาล" กันเลยทีเดียว  

แต่ในขณะเดียวกัน บุคคลที่อยู่หน้างาน ต้องคอยรับบท"คู่หูชู้ชื่น" เป็นใครไม่ได้ก็คือ "นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  พยายามกลบประเด็นความไม่ลงตัวระหว่างสองพรรค   

บรรยากาศชื่นมื่น พรรคก้าวไกล ภายใต้การนำ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

อย่างเช่น การให้สัมภาษณ์"เนชั่นทีวี" ล่าสุด เกี่ยวกับการสรรหาตำแหน่ง"ประธานสภา" ในทำนองว่า "พรรคเพื่อไทย" และ"ก้าวไกล" จะงดการให้ความเห็นเรื่องประธานสภา ว่าเป็นของพรรคใดพรรคหนึ่งเพื่อลดความกังวลใจของประชาชนที่กำลังมองว่าประเด็น "ประธานสภา" จะเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล 

 

แม้จะทำให้บรรยากาศความร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลผ่อนคลายความหวาดระแวงลง แต่หากจับท่าทีการให้สัมภาษณ์ก็ทำให้เห็นร่องรอย"ตำแหน่งประธานสภา" ยังไม่มีพรรคใดยอมให้แก่กัน เพียงแต่ตอนนี้ของดพูดถึงไปก่อนเท่านั้นเอง

เพราะในการให้สัมภาษณ์ครั้งนั้น เนชั่นทีวียังตั้งคำถาม จะนำไปสู่การเสนอชื่อแข่งขันให้ที่ประชุมสภาโหวตหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ นพ.ชลน่านก็ยอมรับว่า เป็นสิ่งที่สองพรรคไม่ต้องการให้ไปถึงจุดนั้น 

"การจะเสนอใครคนใดคนหนึ่งเข้าแข่งขันให้เกิดการโหวตในสภา เป็นสิ่งที่เราพูดกันว่า ไม่ต้องการให้เกิดสภาพนั้น เพราะฉะนั้น ทั้งเพื่อไทยและก้าวไกล จะได้หารือเพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุด "

"นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อเนชั่นทีวี เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.66 

ตรงนี้ย่อมทำให้เห็นสองพรรค "ก้าวไกล" และ"เพื่อไทย" ต่างรับรู้ดีว่า หากการเลือกประธานสภาไปสู่จุดนั้น จะมีปัญหาใหญ่ที่จะตามมาอย่างแน่นอน นั่นคือ การเห็น ผู้ชนะและผู้แพ้กลางสภาที่อาจถึงขั้นสูญเสียการเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล! 

อีกด้านหนึ่ง จะเห็นว่ามี "กลุ่มบุคคลในเพื่อไทย" พยายามบอกสังคม ว่า "เพื่อไทย"และ"ก้าวไกล"จับมือไปด้วยกัน ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน นั่นคือ "จาตุรนต์  ฉายแสง" ที่พยายามแสดงตนให้เห็นมาตลอดว่า เขามีอุดมการณ์แรงกล้าตามแบบฉบับ"นักสู้ประชาธิปไตย" 

ทว่า บทบาทของ"คนเพื่อไทย" บอกอะไรกับสังคมท่ามกลางสมมติฐาน หาก"พิธา"ไปไม่ถึงฝั่งฝัน "เพื่อไทย"จะทำอย่างไร  ตรงนี้ก็คงจำแนกให้เห็นถึงการแบ่งขั้วความคิดเป็น 3 ขั้วด้วยกัน   

ชำแหละ\"ขั้วความคิดเพื่อไทย\"หาก\"พิธา\"ร่วงเก้าอี้นายกฯ เพื่อไทย ทำอย่างไร

ขั้วแรก - บ้านใหญ่ แนวฮาร์ดคอร์ => เสนอตั้งรัฐบาลแข่ง ไม่เอาก้าวไกลร่วมรัฐบาล เพื่อทำผลงาน เตรียมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า (กลุ่มนี้ยังมี "อดิศร เพียงเกษ"  , "อนุสรณ์​ เอี่ยมสะอาด" , สมคิด เชื้อคง ด้วย) 

ขั้วที่ 2 - ทีมยุทธศาสตร์ คนรุ่นใหม่ และผู้นำพรรคบางปีก => เป็นแนวซอฟต์ลงมาบ้าง รอส้มหล่น สถานการณ์เข้าทาง 

ขั้วที่ 3 - กลุ่มคนเดือนตุลาฯ บางสาย => เลือกแนวทางไม่ทิ้งก้าวไกล ยึดมั่นในฝ่ายประชาธิปไตย 

แต่ทุกขั้วความคิด คนตัดสินใจสุดท้ายคือ “เจ้าของพรรคตัวจริง”

logoline