29 พฤษภาคม 2566 พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เดินทางไปตรวจเยี่ยมการทดสอบขีดความสามารถของเรือหลวงช้าง ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน และหาดยาว อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ประกอบด้วย การทดสอบขีดความสามารถการเคลื่อนกำลังจากเรือสู่ฝั่ง ในการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก และ การทดสอบขีดความสามารถในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล และ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามบนเรือ อีกทั้งการใช้ขีดความสามารถของครัวประจำเรือ เพื่อเตรียมอาหารสำหรับผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมกรณีเกิดภัยพิบัติในทะเล
โดยปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยจากสถิติที่ผ่านมา มักจะเกิดพายุในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนและทางทะเลฝั่งอันดามัน อันอาจจะส่งผลกระทบทำให้เรือต่าง ๆ เกิดปัญหาอับปางในทะเล รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อจังหวัดชายทะเล ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน
โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล และพื้นที่เกาะต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่ที่ถูกตัดขาด (Isolate Area) ซึ่งการให้ความช่วยเหลือจากทางบกไม่สามารถดำเนินการได้จำเป็นต้องใช้การช่วยเหลือจากทางทะเล (From The Sea) เท่านั้น
โดยการทดสอบขีดความสามารถของเรือหลวงช้างในครั้งนี้ ได้บูรณาการกำลังจากหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพเรือประกอบด้วย เฮลิคอปเตอร์ 3 เครื่อง เรือระบายพลขนาดเล็ก LCVP จำนวน 2 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง LCM จำนวน 2 ลำ และรถโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เรือหลวงช้าง มีความคงทนทะเลอยู่ที่ Sea State 9 คือ คลื่นสูงมากกว่า 14 เมตร แต่การปฏิบัติภารกิจในสภาวะ Sea State 9 ต้องพิจารณาความปลอดภัย ในการปฏิบัติการซึ่งมีข้อจำกัดของการปฏิบัติการของอากาศยาน และเรือเล็ก ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาของประเทศไทย ได้เกิดพายุขนาดใหญ่ที่มีความรุนแรง จำนวน 4 ครั้ง
ได้แก่ พายุแฮเรียต ในปี 2505 (Sea State 8) พายุโซนร้อนกำลังแรงลินดา ในปี 2540 (Sea State 9) พายุโซร้อนปลาปึก ในปี 2562 (Sea State 8) โดยพายุที่รุนแรงที่สุดได้แก่ พายุไต้ฝุ่นเกย์ ในปี 2532 มี Sea State 9 คลื่นสูงมากกว่า 14 เมตร
โดยสามารถบรรทุก รถสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 56 คัน หรือ ยานเกราะล้อยาง (MBT) 20 คัน เรือระบายพลขนาดกลาง (LCM) 6 ลำ หรือ เรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) 9 ลำ หรือ ยานเบาะอากาศ (LCAC) จำนวน 2 ลำ นอกจากนั้น ยังสามารถบรรทุกกำลังรบยกพลขึ้นบกพร้อมอุปกรณ์ได้ถึง 650 นาย จะเห็นได้ว่า เรือหลวงช้าง สามารถบรรทุกรถยนต์ประเภทต่าง ๆ รวมทั้ง เรือระบายพล เรือเล็ก
ซึ่งจากขีดความสามารถเหล่านี้ ทำให้พิจารณาการลำเลียงยานพาหนะที่เหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติได้หลากหลาย มีขีดความสามารถทางการแพทย์ มีห้องปฏิบัติการแพทย์ จำนวน 11 ห้อง เป็นห้องผู้ป่วย 3 ห้อง ส่วนรักษา 8 ห้อง (ห้อง X-ray ห้องทันตกรรม ห้องศัลยกรรม ห้องตรวจโรค ห้องยา ห้อง LAB ห้องฆ่าเชื้อ และห้องผ่าตัด) ซึ่งสามารถรองรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามระดับ 2 บนเรือได้
ผบ.ทร. กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมการทดสอบขีดความสามารถของเรือหลวงช้าง ว่า การปฏิบัติในเรื่องของยุทโธปกรณ์ที่สนับสนุน เช่น เรือระบายพล ยานรบ ยังมีข้อขัดข้องอยู่บ้าง ซึ่งทางกองเรือยกพลขึ้นบกจะได้นำไปแก้ปัญหา เพื่อปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ขณะนี้เรือหลวงช้างมีความพร้อมในการปฎิบัติภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนแล้ว
โดยเฉพาะการตั้งโรงพยาบาลระดับ 2 พร้อมให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน วิกฤตได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งสามารถขนส่งลำเลียงอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในภัยพิบัติขนาดใหญ่ พื้นที่ห่างไกลได้ เนื่องจากเรือมีความทนทะเลสูง ระดับ sea sate 9 รับคลื่นสูง 14 เมตร ซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์
สำหรับการติดอาวุธ หรือการติดตั้งปืนนั้น เป็นเพียงระบบป้องกันตนเอง ส่วนระบบอำนวยการบ ระบบตรวจการณ์ ก็ติดตั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเรือในการทำการรบได้อย่างเต็มรูปแบบเท่านั้น
ขณะที่ภารกิจสนับสนุนเรือดำน้ำก็ต้องรอความชัดเจนในการจัดหาเรือดำน้ำจากประเทศจีนให้ได้ก่อน หลังจากนั้นก็จะเพิ่มขีดความสามารถในภายหลัง