svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" บนทางสองแพร่ง บทบาทภาวะผู้นำ ที่จำเป็นต้องตัดสินใจ

"ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร" อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายภาพสถานการณ์"พรรคก้าวไกล" ภายใต้การนำ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ภายหลังได้รับชัยชนะ"เลือกตั้ง66" ไว้อย่างน่าสนใจ (มีคลิป)

"ผมนะอยากให้จัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่ว่าใครก็ตาม แต่ถ้าถามว่าสำเร็จไหม ผมบอกได้เลยว่า 50 - 50 จริงๆ ปัญหาก็คือพรรคจัดตั้งร่วมรัฐบาลนี่หล่ะ เริ่มต้นตรงนี้คือด่านแรก ยังไม่ต้องไปรอดูสว. เดือนสิงหาคมเลย..."

"ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร"  อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ณ ขณะนี้ 

"นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์" ท่านนี้ มองปรากฎการณ์ "ก้าวไกล"ได้รับโอกาสเป็นแกนนำเชื้อเชิญ 7 พรรคร่วม"จัดตั้งรัฐบาล" พร้อมสนับสนุน"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศ ว่า ถึงวันที่จะต้องยกมือเลือกนายกฯ ในเดือนสิงหาคม ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปได้หมด เพราะว่าจากวันนี้จนถึงเดือนสิงหา อาจจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลได้เยอะแยะ

แม้แต่การประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แล้วก็มีเรื่องของการ ให้ใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม ใบดำ จะมีตัวเลขที่มีการเปลี่ยนแปลง และมีการเลือกตั้งใหม่ แล้วไม่นับกรณีที่จะต้องส่ง"ศาลรัฐธรรมนูญ" ตรงนี้ อาจจะหมายถึงเปิดประชุมสภาไปแล้ว เรื่องอะไรที่ค้างอยู่ใน"ศาลรัฐธรรมนูญ" ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผู้สมัครหรือส.ส. ที่มีปัญหา

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร  อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ

กรณีที่"พรรคก้าวไกล" กำลังสร้างกระแสอะไรต่างๆอยู่ในขณะนี้ ทั้งการเร่งจับมือ"ตั้งรัฐบาล" เดินสายพบปะแฟนคลับ หารือภาคธุรกิจเอกชน ผู้ใช้แรงงาน แน่นอนว่าเขาต้องการทำให้คนเห็นว่า เราได้ร่วมกันแล้ว ต้องการให้คนเห็นว่า ต่อไปใครจะเป็นคนตระบัดสัตย์ ใครเป็นคนทรยศ ใครเป็นคนที่เป็นปรปักษ์ต่อประชาธิปไตย เขาต้องการให้ภาพแบบนั้นเกิดขึ้น ถ้าการตกลง" MOU "ที่ทำไป เมื่อถึงเดือนสิงหาคม ไม่เป็นไปตามนั้น เขาก็ต้องโหมกระหน่ำ ว่าคนพวกนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย 

คนนอกพรรค จุดชนวน"เก้าอี้ประธานสภา"

"นักวิชาการสายรัฐศาสตร์"  มองว่า  พรรคก้าวไกลไม่ได้ประกาศว่าไปแข่งขันจัดตั้งรัฐบาลใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อ "อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล" ออกมาระบุ "พรรคก้าวไกล"ต้องได้ตำแหน่ง"ประธานสภา" ทำให้ "เพื่อไทย" ต้องออกมาเคลื่อนไหวบ้าง บอกว่า"อาจารย์ปิยบุตร"พูดแบบนี้เป็นคนนอก ไม่ใช่คนเพื่อไทย ประชาชนคนหนึ่งเพราะฉะนั้นไม่เกี่ยว อย่ามาพูดให้เสียกระบวนดีกว่า

ขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าคน "เพื่อไทย" พูดกันหลายคน ทั้ง"คุณอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด" "คุณอดิศร เพียงเกษ" ก็พูดกันคนละเรื่องคนละราว แต่ก็ไปในทิศทางเดียวกัน ว่าตำแหน่ง "ประธานสภา" ตีความได้ว่า กำลังจะบอกสังคมและ"พรรคก้าวไกล"อย่าเพิ่งด่วน ที่จะต้องบอกว่าตำแหน่ง"ประธานสภาฯ"เป็นของ"ก้าวไกล"

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร  อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยปกติแล้วพรรคที่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะต้องมีคนของตัวเองเป็น"ประธานสภาผู้แทนราษฎร" สมัยคุณทักษิณ ชนะเลือกตั้งปี 44 ก็ได้คนของตัวเอง ปี 48 ก็ใช่ เป็นธรรมเนียมว่า จะให้คนของพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เป็น"ประธานสภา"

ยกเว้น 2-3 ครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ระหว่างรัฐบาลปี 62 ถึงปี 66 พบว่า"พลังประชารัฐ" เป็นแกน แต่ว่าให้ "ประชาธิปัตย์" มาเป็นประธานสภา คือ "คุณชวน หลีกภัย"

ทีนี้ถ้า"ก้าวไกล" จะยืนยัน ว่าให้ตำแหน่งนี้เป็นของ"ก้าวไกล" ปัญหาคือ ใครหล่ะในก้าวไกล เพราะว่า"ประธานสภาผู้แทนราษฎร" ควรจะต้องเป็นคนที่ รู้กฎเกณฑ์กติกา ระเบียบประชุมสภา อย่างนี้เรียนรู้กันได้ แต่ก็ไม่เท่ากับว่าคุณเคยเป็นส.ส. ในสภามาจริงๆ แล้วคุณจะต้องเก๋าเกมพอที่จะควบคุมการประชุมสภา

สเปค"ประธานสภา"ในประเทศประชาธิปไตย

"ศ.ดร.ไชยันต์" ยกตัวอย่าง"ประธานสภา"ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ว่า อย่างเช่นอังกฤษ  "ประธานสภาผู้แทนราษฎร"คนปัจจุบัน อายุ 66 ปี ซึ่งแม้จะอ้างอายุไม่เกี่ยวแต่ประเด็นคือ เขาเป็นสส. มา 20 กว่าปี ก่อนหน้าประธานสภาคนปัจจุบันเป็นส.ส.เกือบ 20 ปี คือ ไล่เรียงจากประธานสภาคนปัจจุบันกลับไป 3 คน ที่ผ่านมาไม่มีใครต่ำกว่า 15 -16 ปี จึงต้องเป็นคนแบบนี้ที่จะเป็น"ประธานสภาฯ" เมื่อทำหน้าที่ในสภา มีความเชี่ยวชาญ คอยคุมเกม  มีลูกเล่นในการใช้กฎเกณฑ์กติกา คนเขาจะต้องเกรงใจฟัง 

ศ.ดร.ไชยันต์  ไชยพร  อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์ไชยันต์ จึงตั้งคำถามขึ้นมาว่า "พรรคก้าวไกล"มีบุคคลเหล่านี้หรือไม่ เพราะเมื่อหันไปดู"พรรคเพื่อไทย"มีบุคคลเหล่านี้  ฉะนั้น "เพื่อไทย"จะตั้งคำถาม อย่างน้อยเขามีคนที่อยู่มานานๆ แม้จะไม่เคยเป็นประธานสภา แต่คนที่อยู่มานานนั่งประชุมมาไม่รู้กี่สมัย เขาจะรู้วิธีการ

"ศ.ดร.ไชยันต์" อธิบายต่อไปว่า แม้"ก้าวไกล"จะบอกว่าอังกฤษ เป็นประเทศเก่าแก่ต้นแบบฉะนั้น"ประธานสภา"จึงมีอายุมาก ถ้าอย่างนั้น ขอให้ไปดู "ออสเตรเลีย"ก็ได้ "ประธานสภา"คนปัจจุบัน เป็นส.ส.มา 6-7 ปี ถือว่าเร็ว แต่"ก้าวไกล" มีส.ส อย่างมากสุด 4 ปี ถูกต้องหรือไม่

อย่าลืมนะบางคน ไม่เคยเป็นส.ส.มาเลย เพิ่งเป็น อย่างเช่น "คุณชัยธวัช ตุลาธน" เลขาธิการพรรค ซึ่งผมรู้จักเป็นการส่วนตัว ถ้า"คุณชัยธวัช" จะถูกวางตัวเป็น "ประธานสภา" ไม่มีประสบการณ์ส.ส. "พรรคเพื่อไทย"เขาอาจจะบอกว่า ทำอะไรกันวะเนี่ย

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล

ดีไม่ดี ไม่ใช่เฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล แต่ส.ส.ทั้งสภา 500 คน ก็จะบอก "ก้าวไกล" ทำอะไรเนี่ย เอาคนที่ไม่เคยเป็นส.ส.เลย แบบนี้ได้ยังไง นี่คือปัญหาของก้าวไกล แม้กระทั่งจะเป็นรัฐมนตรี ซึ่งตามรธน.กำหนดคุณสมบัติ อายุต้อง 35 ปีขึ้นไป พรรคก้าวไกลเข้าคุณสมบัติจำนวนกี่คน คือบุคคลเด่นๆของก้าวไกลอายุถึง 35 ปีหรือเปล่า แต่ข้อดีของ "ก้าวไกล" คือว่า มีนักการเมืองเลือดใหม่ คนรุ่นใหม่ซะเยอะ แต่จะมีปัญหาว่า อายุคุณไปถึงแค่ไหน

"อันนี้คือปัญหาของเขาเองนะยังไม่มีใครทำอะไรเขาเลยนะ"

"ไชยันต์" ตั้งคำถามพร้อมกับย้ำ ผมถึงบอกไงว่า ก้าวไกลก็ไม่ได้เร่ง มาเป็นรัฐบาลคราวนี้ ไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ไม่ว่าอะไร แต่ "คุณพิธา"อาจจะอยากเป็น"นายกฯ" เพราะในเมื่อมาถึงขนาดนี้แล้ว เป็นเรื่องปัจเจกบุคคลภายในพรรค เขาเป็นตำแหน่งหัวหน้าพรรค จะด้วยเหตุผลอะไรไม่รู้ เขามาถึงจุดนี้แล้ว ถึงเวลาจะมาบอกว่าอ้าว!ไม่ต้องเป็นก็ได้ เพราะว่ามวลชนพรรคบอกว่า ถ้าเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาลหรือร่วมกับพรรคอื่นมันยุ่ง เราไม่เป็นรัฐบาลก็ได้ เช่น ไม่ได้"ประธานสภา"ก็ไม่เป็นไร พรรคอาจจะไม่ว่า คืออาจจะยอมเป็นฝ่ายค้านถ้าไม่ได้นู่นนี่นั่น

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกล จำเป็นต้องแสดงภาวะผู้นำ

"พิธา" กับบทบาทภาวะผู้นำที่ต้องตัดสินใจ

แต่"คุณพิธา"ต้องถามตัวเองว่า ตกลงโอกาสที่จะได้คราวนี้ จะได้รับโอกาสในการเลือกตั้งคราวหน้าหรือเปล่า  เพราะจะเป็นปัญหาภายในพรรคแล้วหล่ะ อย่าลืมว่า"คุณพิธา" ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคแบบที่เรียกว่ามีการลาออก หมดวาระของหัวหน้าพรรคเก่า มีการให้สมาชิกมาลงคะแนน

แต่เป็นเรื่องของอุบัติเหตุทางการเมืองที่ถูกยุบพรรค หัวหน้าเดิมถูกตัดสิทธิ์ต้องเอาคนที่เรียกว่า ไม่ได้สร้างตัวเองขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเป็น "วีรบุรุษ"โดยบังเอิญ คือ "คุณพิธา"ขึ้นมาตรงนี้ส้มหล่นก็หล่นมายาวจนถึงตอนนี้ แล้วหล่นใหญ่เลยคราวนี้ ถ้าเกิดถึงเวลาพรรคบอกให้รอไปอีก 4 ปี หรือถ้ายุบสภาก่อนก็ 3 ปี อันนี้ผมไม่แน่ใจ ว่าคุณจะรู้สึกว่าคุณเสียโอกาสมากหรือไม่ 

ถ้า"คุณพิธา"เกิดใช้ความเป็นหัวหน้าพรรคขึ้นมาอย่างเต็มที่จะเกิดอะไรขึ้น ใช้ความเป็นหัวหน้าพรรคของตัวเองเต็มที่เพื่อจะเจรจาและนำทุกอย่างไปสู่การที่ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นผลประโยชน์ตัวเอง ผลประโยชน์พรรค ผลประโยชน์สมาชิกพรรค ผลประโยชน์แฟนคลับ ผลประโยชน์ประเทศชาติ

"การที่ตัวเองยอมถอย ถอยเพื่ออะไร "ประธานสภา"ที่พรรคก้าวไกลต้องการ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ถึงเวลา"พรรคก้าวไกล"คงนำเสนอ การแก้ไขมาตรา 112 เพราะต้องเสนอผ่าน"ประธานสภา" 

หนึ่งในนั้นต้องใช่ คือความพยายาม"แก้ไขมาตรา 112" เพราะ"คุณพิธา" พูดเองว่า รัฐบาลไม่ได้ผูกมัดพรรคร่วมในเรื่องการแก้ไข"มาตรา 112"  แต่ว่า"พรรคก้าวไกล"จะฉายเดี่ยวเอง คือพรรคจะเสนอการ"แก้ไขมาตรา 112 " ในสภา ก็คือมี 151 เสียงลำบาก แต่ถ้าได้"ประธานสภา" เป็นคนของ"พรรคก้าวไกล" การที่จะรับขอยื่นแก้ไขต่างๆ อาจจะง่ายขึ้น

คราวนี้ ประเด็นคือการ"แก้มาตรา 112"  คุณพิธา หรือคนที่เป็นแฟนคลับก้าวไกลจำนวนหนึ่งจะคิดว่า "มาตรา112" แก้เมื่อไหร่ก็ได้ หรือ ค่อยๆแก้ดีไหม หรือการที่จะต้องได้"ประธานสภา"มาเพื่อจะไปแก้กฎหมายอาจไม่จำเป็น

"คุณพิธา"อาจคิดว่าผลประโยชน์ของชาติสำคัญ เช่น ปรับค่าแรง ยกเลิกเกณฑ์ทหาร สุราเสรี อันนี้เป็นนโยบาย ที่ขับเคลื่อนออกมาได้เลย สามารถทำแล้วคนรู้สึกเหมือนกับที่"คุณทักษิณ" ชนะเลือกตั้งปี 44 ผลักดันนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค

ตรงนี้"คุณพิธา"อาจจะคิดว่า การที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรี หรือการที่"ก้าวไกล"เป็นรัฐบาล ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัวของผมเลยนะ แต่ผมต้องเป็นนายกฯ ผมต้องเป็นรัฐบาลเพื่อทำให้ค่าแรงปรับขึ้น เป็นประโยชน์ของแรงงานทั้งชาติ แล้วก็สุราเสรี คือชาวบ้านทั้งหมดทั่วประเทศ เกณฑ์ทหารถ้าบอกปีหน้าไม่มี สามารถออกกฎหมายปีหน้าไม่ต้องเกณฑ์ อาจได้รับเสียงเฮจากผู้สนับสนุน แต่"การแก้ไขมาตรา 112" นี่ก็เฮเหมือนกัน แต่จะเป็นการได้ของกลุ่มคนที่ติดคดี คนที่มีอุดมการณ์จ๋าจริงๆมีจำนวนไม่เยอะไง

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร  อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ฉะนั้นการที่"คุณพิธา"คิดอยากจะเป็น"นายกฯ"และจัดตั้งรัฐบาลให้ได้จนต้องยอมถอยเรื่อยๆ มองแง่หนึ่งคือ ปรารถนาอยากเป็นนายกนี่ แล้วไม่ยอมมีอุดมการณ์ แต่อีกทาง เขาก็บอกเฮ้ยอันนี้คือ ถ้า"ก้าวไกล"ได้เป็นรัฐบาล 1 2 3 4 นี่มันทำได้ 112 ช้าไปไม่เป็นไร

"ผมนะอยากให้จัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่ว่าใครก็ตาม แต่ถ้าถามว่าสำเร็จไหม ผมบอกได้เลยว่า 50 - 50 จริงๆ ปัญหาก็คือพรรคจัดตั้งร่วมรัฐบาลนี่หล่ะ เริ่มต้นตรงนี้ ก็คือด่านแรก ยังไม่ต้องรอไปดูสว. เดือนสิงหาคมเลย..."

จับตาสถานการณ์วันโหวตนายกฯ 

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์การปกครอง ฉายภาพสถานการณ์วันโหวตนายกฯ ดังนี้ 

เอาแค่วันที่จะโหวตให้นายกฯ แค่พรรคร่วมไม่ได้เป็นแบบเนื้อเดียว แบบที่พรรคร่วมทำ "MOU" เอาไว้ก็ยุ่งแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะมีใครจัดตั้งรัฐบาลแข่งเลยไม่มีเลย อาจจะมีพรรคร่วมงดออกเสียงก็ได้ พรรคที่ทำ"เอ็มโอยู"อยู่ด้วยกันงดออกเสียง หรืออาจจะมีลักษณะที่เรียกว่า คนที่เขาอยากได้คน "เพื่อไทย" เป็นนายกแทน"พิธา"

"แล้วพรรคอื่นที่ไม่ใช่เพื่อไทย คือเพื่อไทยไม่ได้ทำอะไรเลยนะ ไม่ได้ตระบัดสัตย์  แต่พรรคอื่นที่มีส.ส. 25 คน เสนอแคนดิเดตของ"เพื่อไทย" อ้าว...ก็ทำกันมาแล้วนี่ สมัยปีที่"คุณอภิสิทธิ์"เป็นนายกพรรคเพื่อไทยไปเสนอใครตอนนั้น "คุณประชา พรหมนอก" ที่ไม่ได้อยู่พรรคเพื่อไทย"

ไชยันต์ อธิบายต่อไป  เมื่อปี 62 "เพื่อไทย"เสนอใคร ในขณะที่ "พลังประชารัฐ" เสนอ"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ปี 62 เพื่อไทยเสนอ"คุณธนาธร"  สภาพการณ์ที่พรรคหนึ่งไปเสนออีกพรรคหนึ่งก็มีมาแล้วไง แล้วเราก็ลืมมองไป 

แต่ของเอ็มโอยูที่"ก้าวไกล"ทำขึ้นมา ทำไปไม่กี่วันก็แตกแถว พูดไปสัญญาณก็ไม่เหมือนกัน อย่างว่านะ ได้อย่างเสียอย่าง "ก้าวไกล"พยายามสร้างกระแสว่าตัวเองจัดตั้งได้แล้วให้มวลชนรับรู้เพื่อมีกระแสนิยมทั้งในประเทศและทั่วโลก ข้อดีก็มีแต่ว่าข้อเสีย ระหว่างทางบางครั้ง "ขันหมาก"ก็ไม่ไป

"ธรรมดาหล่ะ ถ้าหมั้นนานๆ เคยได้ยินไหมที่บอกว่า หมั้นน่ะอย่าหมั้นนาน เพราะหมั้นนานจะเห็นแต่ความไม่พอใจโน่นนี่นั่น ก็ยกเลิกหมั้นไป หมั้นแล้วต้องรีบแต่งเลย แต่นี่อีกตั้งสองเดือน" 

ปัญหาเนี่ยถ้ายอมแล้ว ฝั่งนั้นได้คืบก็จะเอาศอก เป็นอย่างนี้จริงๆ ถ้ายอมแล้ว คราวนี้ประชาชาติเริ่มเอาด้วย ฉันจะต้องเอานู่นเอานี่ แล้วก็จะมีการพูดว่าเพียง เพราะ"พิธา" ปรารถนาเก้าอี้นายกฯ เท่านั้นเอง ถึงยอม "พรรคก้าวไกล"จะโกรธ มวลชนจะโกรธ แต่คนอย่าง"พิธา"ก็ต้องอธิบาย

สมมุติถ้าจะเอาจริงๆเป็นนายกจริงๆต้องบอกเลยว่า สิ่งที่หาเสียงอะไรคือรอได้ แบบว่า"ก้าวไกล"ขึ้นมาแล้วพูดแล้วทำ คุณจะใช้วิธีว่ามาแหยมๆ แล้วกลับไปเพื่อรอเลือกตั้งคราวหน้า แล้วก็ได้กระแสเกิน 250 แบบแลนด์สไลด์ เอาแบบไทยรักไทยปี 2548 ได้รับสามร้อยเจ็ดสิบกว่าส่วนห้าร้อย "คุณพิธา"ไม่แน่ถึงเวลานั้นอาจไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคแล้วก็ได้ แล้วใกล้เวลาที่ 2 คน 3 คนนั้นเขาจะกลับมา แล้วเขาเอาแน่ เขาถูกตัดสิทธิ์ไปตั้งแต่ 63 สิบปี เจ็ดสามเขากลับมาแน่ คุณรอไปจะเกิดไรขึ้นก็ไม่รู้

พิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกรัฐมนตรี

"พิธา"ต้องกล้าตัดสินใจกับผู้มีบารมีนอกพรรค

"ศ.ดร.ไชยันต์"  กล่าววว่า  น่าเห็นใจ"คุณพิธา"มาก ถูกกดดันจากหลายฝ่าย ฉะนั้น"คุณพิธา"ควรจะมีภาวะผู้นำที่ชี้ขาด อย่ามาบอกเลยว่า ต้องฟังเสียงประชาชนและมวลชนในพรรค ฟังในระดับหนึ่ง แต่ถึงจุดหนึ่งคุณต้องฟันธงแล้วหล่ะ คุณต้องกล้า กล้านำพรรคว่าจะเอาอย่างไง ถ้าคุณจะมีอุดมการณ์ บอกว่าถ้าไม่ได้อย่างนี้ จะเป็นฝ่ายค้าน คุณต้องทำให้คุณเป็นพระเอกให้ได้

"ไม่ได้ทำให้คนนอกพรรคอย่างคุณปิยบุตรเป็นพระเอก คุณต้องทำให้คุณเป็นพระเอกให้ได้ คุณจะไปทำแล้วไปๆมาๆจะมีเงา 3 คนตลอดเวลา ผมว่าคุณมีปัญหาแน่ คุณเป็นหัวหน้าพรรคคุณเป็นนายก คุณมีปัญหาแน่นอน"  ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวทิ้งท้าย

ชมคลิป >>>

เส้นทางนายกฯใหม่ ด่านหิน "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"