svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดไทม์ไลน์ “เขี่ยส้ม-ล้มก้าวไกล” เปลี่ยนแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

24 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเมืองไทยช่วงนี้อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ "เนชั่นทีวี" วิเคราะห์ โอกาสที่ "พรรคก้าวไกล" อาจหลุดวงโคจรจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นจังหวะให้ “พรรคเพื่อไทย” ผงาดขึ้นเป็นแกนนำฯ แทน

จะเรียกว่า “ข่าวปล่อย” หรือ “ข่าวคาดการณ์” หรือ “คิดกันจริง แต่โดนปรามเอาไว้ก่อน” ก็ได้ สำหรับประเด็น “พรรคพลังประชารัฐ” จะกลายเป็น “พรรคไร้หัว” เพราะ “บิ๊กป้อม” วางมือการเมือง ทำให้เตรียมใช้โมเดล “เลิกพรรค” หรือ “เลิกกิจการพรรค” แล้วสลายตัวเข้าร่วมกับ “พรรคเพื่อไทย”

แม้วันนี้จะมีการยืนยันจนเข้าใจตรงกันแล้วว่า เป็นข่าวไม่จริง แต่คอการเมืองก็ยังกังขาว่า ไม่จริงแค่ ณ เวลานี้ เพราะจังหวะก้าวทางการเมืองยังไม่เหมาะสม... ใช่หรือไม่

ข่าวที่ออกมา แม้จะปฏิเสธกันเสียงแข็งหมดแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า เป็นหนึ่งในโมเดล “พลิกขั้ว-เปลี่ยนแกนนำจัดตั้งรัฐบาล” ซึ่งหลายคนเชื่อว่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ

หน้าฉากของเรื่องนี้มีการคาดการณ์เป็นไทม์ไลน์เอาไว้ เพราะจุดเปลี่ยนจะเกิดขึ้น เมื่อสถานการณ์แวดล้อมเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแกนนำ

เปิดไทม์ไลน์ “เขี่ยส้ม-ล้มก้าวไกล” เปลี่ยนแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ไทม์ไลน์ที่ 1 หลังเลือกตั้ง

“เพื่อไทย” เป็นพรรคอันดับ 2 และกระแส “ด้อมส้ม” เร่งเร้า รุนแรง “เพื่อไทย” จึงต้องเล่นไปตามเกม คือสนับสนุนพรรคอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากกว่านั้น

ทุกอย่างโยนให้พรรคอันดับ 1 จัดการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมพรรคการเมืองเพื่อให้ได้เสียง ส.ส.ที่ต้องการ และการเจรจากับ ส.ว. เพื่อให้ได้เสียงโหวตครบ 376 เสียง

แนวทางที่เป็นไปได้ในทางทฤษฎีมีทั้ง 2 แนว คือ รวมเสียง ส.ส.ให้ได้เกิน 376 เสียง หรือ นำเสียง ส.ว. มาเติมจาก 313 ส.ส.ที่รวบรวมได้แล้ว เพื่อให้ครบ 376 เสียง

งานนี้ เขี้ยวการเมืองอย่าง “เพื่อไทย” รู้ดีว่าถ้าไม่มี “อำนาจพิเศษ” หรือ “มือที่มองไม่เห็น” มาช่วยจัดการ ย่อมไม่มีทางที่ก้าวไกลจะทำสำเร็จใน 2 แนวทางที่ว่านี้

สาเหตุมีทั้งบุคลิกและนโยบายของพรรคเองที่แข็งกร้าว ท้าทายสถาบันหลักของชาติ บวกกับการใช้กลยุทธ์ “ประเทศขับเคลื่อนด้วยการด่า” แต่กลยุทธ์นี้น่าจะใช้กับ ส.ว. สำเร็จยาก เพราะส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการ และต้องทนแรงเสียดทางการเมืองมาตลอดชีวิต

สรุปก็คือ ท่าทีของ  “เพื่อไทย” คือ “ตีขิมรออย่างสบายใจเฉิบ” โดยที่ “ก้าวไกล” ต้องเป็นฝ่ายเผชิญกับแรงกดดันเพียงลำพัง ทั้งฝ่ายตรงข้ามตน และฝ่ายที่สนับสนุนตน

เปิดไทม์ไลน์ “เขี่ยส้ม-ล้มก้าวไกล” เปลี่ยนแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ไทม์ไลน์ที่ 2 ช่วงต่อรอง ชิงความได้เปรียบ

โดยมี 2 ช่วงเวลาหลักๆ ได้แก่

ช่วงที่ 1. คือตอนทำ MOU ถึงนาทีนี้คงมองเห็นเค้าลางแล้วว่า แรงกดดันของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ “พรรคเพื่อไทย” มีมากขนาดไหน

เพราะประเด็นหลักๆ ที่เป็นประเด็นหาเสียงสำคัญของ “พรรคก้าวไกล” ไม่ได้บรรจุอยู่ใน MOU เลยแม้แต่ข้อเดียว ทั้งแก้มาตรา 112 ปฏิรูปกองทัพ (เขียนไม่ชัด) ขึ้นค่าแรงทันที 450 บาท ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ยุบ กอ.รมน. ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลดค่าไฟทันที ฯลฯ

สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ แม้ในช่วงแรกฝ่ายที่โดนทัวร์ลงจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และแกนนำสายฮาร์ดคอร์อย่าง "อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล" (เพราะสถานะปัจจุบันของ "ว่าที่นายกฯ พิธา" ไม่ต่างอะไรกับศาสดา หรือดาราเกาหลีไปแล้ว) แต่ในระยะยาวจะเป็นเหมือน “น้ำซึมบ่อทราย” ค่อยๆ สะสมความผิดหวังและความไม่พอใจ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ไม่ใช่ “ด้อมส้มฮาร์ดคอร์”

เปิดไทม์ไลน์ “เขี่ยส้ม-ล้มก้าวไกล” เปลี่ยนแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

2. ช่วงการเลือก "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" ซึ่งทำหน้าที่ "ประธานรัฐสภา"

ช่วงเวลาที่ว่านี้ จะเกิดขึ้นหลัง กกต. รับรอง ส.ส.ครบ 95% แล้ว ซึ่งคงใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะรัฐธรรมนูญให้เวลาไว้ถึง 60 วัน แต่เร็วกว่านั้นได้

เมื่อ กกต. รับรอง ส.ส. ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็จะมีการเปิดประชุมรัฐสภานัดแรก เป็น “รัฐพิธี” ภายใน 15 วัน จากนั้นจะมีการประชุมเพื่อเลือกประธานสภา

ข่าวว่า “เพื่อไทย” ต่อรองขอเก้าอี้ประธานสภา เพราะ “ก้าวไกล” ได้เก้าอี้นายกฯ ไปแล้ว เหตุผลของ “เพื่อไทย” คือ จำนวนเสียง ส.ส. ของทั้งสองพรรคใกล้เคียงกันมาก และยังอาจมีบวกลบอีกด้วย

แว่วว่าช่วงประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง "ว่าที่ ส.ส.ก้าวไกล” อาจหายไปอีกบ้าง คล้ายๆ กรณีของชัยภูมิที่ในเว็บ ect report รายงานว่าได้อันดับ 1 ไปแล้ว แต่ตอนหลังมีเปลี่ยนแปลง

เปิดไทม์ไลน์ “เขี่ยส้ม-ล้มก้าวไกล” เปลี่ยนแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อจำนวน ส.ส.ใกล้เคียงกันมาก “ก้าวไกล” ได้เก้าอี้นายกฯ ประมุขฝ่ายบริหาร ก็ควรให้ “เพื่อไทย” ได้เก้าอี้ประธานสภา ในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ แต่งานนี้ข่าวว่า “ก้าวไกล” ไม่ยอม เพราะ...

- ประธานสภามีหน้าที่นำชื่อ “นายกรัฐมนตรี” ขึ้นทูลเกล้าฯ

- ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเคยมีกรณีการเสนอชื่อไม่ตรงกับที่พรรคการเมืองเสนอ จนบางคนต้องแต่งชุดขาวรอเก้อ เป็นได้แค่ “ว่าที่นายกฯ” มาแล้ว

นั่นก็คือช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประธานสภาในยุคนั้น คือ “ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” เสนอชื่อ “คุณอานันท์ ปันยารชุน” มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก 1 สมัย แทนที่ “พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์” จากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่เคยสนับสนุน “พลเอกสุจินดา คราประยูร” เป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อเกิดเหตุพฤษภาทมิฬ แล้ว “พลเอกสุจินดา” หรือ “บิ๊กสุ” ยอมลาออก ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลเดิมก็เสนอชื่อ “พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์” หัวหน้าพรรคชาติไทยในขณะนั้น มาดำรงตำแหน่งแทน แต่ “ดร.อาทิตย์” เกรงว่าจะทำให้เกิดวิกฤตการเมืองต่อเนื่องไปอีก จึงตัดสินใจเสนอชื่อ “คุณอานันท์” เข้ามาเป็นนายกฯ และเป็นเสมือน “รัฐบาลเฉพาะกาล” เตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งใหม่ ทำให้ประเทศพ้นวิกฤตมาได้

แต่ “พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์” ก็ต้องถูกจารึกชื่อว่าเป็น “ว่าที่นายกฯตลอดกาล” แถมยังจัดบ้าน แต่งชุดขาวรอเก้อ แต่ไม่ได้เป็นนายกฯ ตัวจริงกับเขาเสียที นี่คือความสำคัญของตำแหน่งประธานสภา

- นอกจากนั้น ประธานสภายังมีอำนาจบรรจุร่างกฎหมายและญัตติต่างๆ เข้าสู่การวาระการประชุมสภา ฉะนั้น “พรรคก้าวไกล” จะพลาดตำแหน่งนี้ไม่ได้ เนื่องจากโดน “หักดิบเอ็มโอยู” ไปเยอะมาก จึงต้องหวังใช้กลไกของสภาผลักดันวาระของตนเอง โดยเฉพาะแก้ไขกฎหมาย 45 ฉบับแรก ซึ่งในนั้นมีมาตรา 112 รวมอยู่ด้วย

หากประธานสภามาจากพรรคการเมืองอื่น อาจโดนดึงเกม หรือไม่บรรจุร่างกฎหมายเข้าในระเบียบวาระการประชุม เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อปี 2564

ไทม์ไลน์ที่ 2 นี้จะเป็นช่วงต่อรองกันหนัก และความสัมพันธ์ระหว่างสองพรรคใหญ่ร่วมรัฐบาล คือพรรคอันดับ 1 กับ 2 จะเริ่มคุกรุ่นขึ้นตามจังหวะก้าวทางการเมือง

เปิดไทม์ไลน์ “เขี่ยส้ม-ล้มก้าวไกล” เปลี่ยนแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ไทม์ไลน์ที่ 3 จังหวะล้มกระดาน

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับไทม์ไลน์ที่ 2 กกต. น่าจะส่งคำร้องการถือครองหุ้นไอทีวีของ “ว่าที่นายกฯ พิธา” ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

โดยช่วงก่อนรับรอง ส.ส.จะยังไม่มีการส่งเรื่อง เพราะถือว่าผลของการขาดคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98(3) ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่า “ต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” จะยังไม่เกิดผลสมบูรณ์

ฉะนั้นช่วงเวลานี้จนถึงช่วงรับรอง ส.ส. ทาง กกต.จะพิจารณาพยานหลักฐานตามที่มี “นักร้องคนดัง” มายื่น ทั้งยื่นให้ตรวจสอบและยื่นหลักฐานเพิ่มเติมเท่านั้น เมื่อรับรอง ส.ส.แล้ว จึงจะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าช่วงนั้น “ท่านว่าที่นายกฯ พิธา” จะได้รับการรับรองเป็น ส.ส. แล้ว

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ก็จะสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว (หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.) ตามบรรทัดฐานที่เคยวางเอาไว้เมื่อครั้งคดี “คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในข้อหาเดียวกัน (ถือครองหุ้นสื่อ) ซึ่งระหว่างนั้นจะเกิดสถานการณ์การเมือง 2 เรื่องต่อเนื่องกัน

สถานการณ์ที่ 1 โหวตเลือกประธานสภา ต้องลุ้นว่าพรรคใดจะได้ตำแหน่งนี้ไปครอง แต่ไม่ว่าพรรคไหนได้ไปครอง ก็จะสร้างความไม่พอใจให้กับอีกพรรคหนึ่ง โดยเฉพาะหาก “ก้าวไกล” ไม่ยอม ยืนกระต่ายขาเดียว

สถานการณ์ที่ 2 โหวตเลือกนายกฯ จากรายชื่อแคนดิเดตที่พรรคการเมืองเสนอ (ต้องได้ประธานสภาฯ ก่อน)

ช่วงนี้จะเป็นจุดเปลี่ยน “สลับขั้วการเมือง” ได้ โดยเฉพาะหาก 2 พรรคใหญ่ “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” กินแหนงแคลงใจกันจากตำแหน่งประธานสภาฯ อาจหมดความเกรงใจกันไปเลย

หากยังมีการดึงดันเสนอชื่อ “คุณพิธา” แน่นอนว่าที่ประชุมรัฐสภาจะไม่โหวตให้ เนื่องจากถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และยังมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติอยู่

จังหวะนี้ "เพื่อไทย" อาจชิงเสนอแคนดิเดตของตนเอง ในฐานะพรรคอันดับ 2 ขึ้นมาให้รัฐสภาโหวตแทน

เปิดไทม์ไลน์ “เขี่ยส้ม-ล้มก้าวไกล” เปลี่ยนแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

“จังหวะพลิกนรก - ล้มกระดาน”

ไทม์ไลน์ช่วงนี้ต้องถือว่าเป็น “จังหวะพลิกนรก - ล้มกระดาน” เพราะ

1. หาก “ก้าวไกล” อ่านเกมแล้วมีโอกาสแพ้สูง อาจยอม “เพื่อไทย” ตั้งแต่ตำแหน่งประธานสภา เพื่อขอสถานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อถึงจังหวะเปลี่ยนพรรคแกนนำแล้ว

ต้องไม่ลืมว่าทีมบริหารพรรคก้าวไกลชุดนี้ มีโอกาสเป็นรัฐบาลแค่ครั้งนี้เท่านั้น หากปล่อยโอกาสหลุดมือไป โอกาสอาจไม่หวนคืนมาอีก และดูจากการยอมเรื่องเอ็มโอยู จนแทบไม่เหลือคราบความอหังการช่วงเลือกตั้ง ก็มีโอกาสไม่น้อยที่ “พรรคก้าวไกล” จะยอมเพื่อเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไปก่อน สะสมพลังสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่

2. หากสองพรรคใหญ่หักกันที่ตำแหน่งประธานสภา โอกาสที่ “เพื่อไทย” จะผงาดขึ้นมาเป็นพรรคแกนนำแทนมีสูงมาก และจะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกล เพราะ

2.1. “พรรคเพื่อไทย” จะเปิดตัวพรรคที่ตนเองดีลไว้ และมีเสียงสนับสนุนอยู่ในมือ เช่น ประชาชาติ , ไทยสร้างไทย , เพื่อไทรวมพลัง และพรรคเล็กพรรคจิ๋ว อาทิ กลุ่มนัมเบอร์วัน / รวมๆ แล้วเพื่อไทยจะมี 162 เสียง มากกว่าก้าวไกล 10 เสียงบวกบวก

2.2. “พรรคเพื่อไทย” พร้อมดึง "ประชาธิปัตย์" , "ภูมิใจไทย" เข้ามาเติมเสียง ส.ส. เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ซึ่งจะสร้างความอึดอัดใจให้กับ “พรรคก้าวไกล” และ “กลุ่มด้อมส้ม” เพราะเคยเล่นงานเขาไว้หนัก ทั้งตรวจสอบในสภา และบูลลี่นอกสภา

2.3. หากไม่เดินเกมข้อ 2 เพราะจะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเสียงมากเกินไป จัดโควต้ารัฐมนตรียาก ก็อาจเป็นไปได้ที่ “เพื่อไทย” จะเจรจากับ ส.ว. ให้ความมั่นใจเรื่อง 112 และเรื่องอื่นๆ เพื่อขอเสียงสนับสนุน ส.ว.มาเติมให้ครบ 376 เสียง

หากเป็นแนวทางนี้ “ก้าวไกล” ถึงเวลาต้องตัดสินใจว่าจะไปต่อ หรือขอเป็นฝ่ายค้าน

2.4 หากสองพรรคใหญ่แตกหัก “เพื่อไทย” จะจัดรัฐบาลใหม่ให้ได้ประมาณ 280-300 เสียง โดยดึง “พลังประชารัฐ” มาร่วมวง เพื่อให้ได้เสียง ส.ว. “สายลุงป้อม” ไหลเข้ามา

จังหวะเวลานี้แหละที่อาจจะเกิด “สูตรการเมือง” แบบที่มีข่าวลือกันช่วง 1-2 วันมานี้ คือ “บิ๊กป้อม” วางมือ แล้วปล่อยลูกพรรคไหลไปรวมกับ “เพื่อไทย” ขั้นตอนการรวมพรรค อาจเป็นขั้นต่อไป แต่ขั้นแรกคือร่วมโหวตหนุน “เพื่อไทย” เป็นรัฐบาลก่อน

เปิดไทม์ไลน์ “เขี่ยส้ม-ล้มก้าวไกล” เปลี่ยนแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

หาก “บิ๊กตู่” ก็อยู่รอจังหวะนี้เหมือนกัน ก็อาจประกาศวางมือ เพื่อส่ง “รวมไทยสร้างชาติ” เข้าร่วมรัฐบาล ก็จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงราวๆ 280 เสียง + ส.ว.ไม่อั้น โหวตยังไงก็ผ่าน ส่วนอีก 220 เสียงเป็นฝ่ายค้าน คือก้าวไกล กับ ภูมิใจไทย ซึ่งน่าจะทำงานร่วมกันแทบไม่ได้เลย

แต่หากต้องการรัฐบาล 300 -320 เสียง ก็ดึง “ภูมิใจไทย” เข้ามา แล้วปล่อยให้ “ก้าวไกล” กับ “รวมไทยสร้างชาติ” เป็นฝ่ายค้าน “ลุงตู่” ก็คงวางมือไปโดยปริยาย ส่วน “ลุงป้อม” จะมีมหาดีลกับคนแดนไกลอย่างไรช่วงส่งไม้ต่อรัฐบาล ก็ต้องรอดูกันต่อไป และอาจเป็นทางลงที่สวยงามที่สุดของ 2 ลุง

เพราะการเมืองที่จะฟาดฟันกันหลังจากนี้ โดยเฉพาะการเลือกตั้งในอีกอย่างช้าที่สุด 4 ปีข้างหน้า คือการช่วงชิงกันระหว่าง “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” บนแพลตฟอร์มใหม่ที่ดิสรัปฯ การเลือกตั้งแบบเดิมๆ

สรุปว่าข่าว “บิ๊กป้อม” วางมือช่วงนี้ เป็นแค่การโยนหินถามทาง เพื่อเริ่มสร้างการรับรู้และความชินชาให้กับประชาชน ว่าเกมการเมืองแบบนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เวลาเกิดจริงๆ จะได้ไม่ช็อก และเกิดแรงกระเพื่อมมากจนเกินควบคุม

 

เปิดไทม์ไลน์ “เขี่ยส้ม-ล้มก้าวไกล” เปลี่ยนแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

เปิดไทม์ไลน์ “เขี่ยส้ม-ล้มก้าวไกล” เปลี่ยนแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

logoline