23 พฤษภาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเข้าหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่า คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ได้ไปประชุมกับสภาอุตสาหกรรม ซึ่งมีประเด็นที่หารือกันหลายเรื่อง ในเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การสนับสนุน SME การหาแรงงานให้ตรงกับความต้องการของต่างประเทศ รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของค่าแรง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
โดยพรรคก้าวไกลยืนยันว่า การขึ้นค่าแรงเพื่อบรรเทาทุกข์ ยังจะมีอยู่แน่นอน พรรคก้าวไกลหนุนที่ 450 บาทต่อวัน ส่วนพรรคเพื่อไทยหนุนที่ 400 บาทต่อวัน แต่ขณะเดียวกันไม่ได้นำเสนอต่อสื่อมวลชน ก็คือคำนึงถึงเรทของคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ บางรายที่สนับสนุนสมทบเงินประกันสังคม 6 เดือนแรก หรือการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 2 เท่า 2 ปี สามารถที่จะหักภาษีได้ คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ หรือแม้แต่การลดภาษีของธุรกิจ SME จาก 20 % เป็น 15 % จาก 15 % เป็น 10 % ทั้งหมดคือภาพใหญ่ที่มีการประชุมกัน แต่ไม่ได้ผ่านสื่อมวลชน จึงเป็นการสร้างความเข้าใจผิดว่า เมื่อเป็นรัฐบาลผสม ค่าแรง 450 บาท อาจจะทำไม่ได้ทันที ซึ่งไม่เป็นความจริง
ขณะนี้กำลังเดินหน้ารับฟังผู้ที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบ แต่ยังยืนยันกับประชาชนว่า ค่าแรงขั้นต่ำมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้น และต้องขึ้นอย่างสม่ำเสมอโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์กันทั้ง 2 ฝั่ง
โดยมีหลักการว่า ที่ผ่านมาประเทศไทย ไม่ได้มีการขึ้นค่าแรงบ่อยครั้ง นับตั้งแต่สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงอาศัยการคำนวนค่าเงินเฟ้อ และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงประสิทธิภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้น ว่าจำนวนค่าแรงควรอยู่ที่ประมาณ 425 - 440 บาทต่อวัน พรรคก้าวไกลจึงได้เสนอ 450 บาท ควบคู่กับมาตรการดูแลผู้ประกอบการไปด้วย
นายพิธา ยืนยันว่า ไม่ได้ขึ้นค่าแรงตามใจตัวเอง ไม่ได้ขึ้นแบบกระชาก แต่ขึ้นแบบมีหลักการ หลักสากล ตอนนี้ยังมีเวลาก่อนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรอง ดังนั้นในเวลา 2 เดือนนี้ จึงต้องเดินสายรับฟังความคิดเห็นให้เข้าใจและรอบคอบ และเมื่อขึ้นแล้วจะได้ช่วยกันบริหารจัดการไม่ให้มีปัญหา
สำหรับค่าไฟที่ ส.อ.ท.เคยเสนอมาว่า ไม่ควรเกิน 4.72 บาทต่อหน่วยนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ ดูจากแนวโน้มราคาพลังงาน ก๊าซธรรมชาติ และทิศทางการเปลี่ยนสูตรโครงสร้างราคาใหม่
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ได้ขอให้รัฐบาลกิโยตินกฎหมายที่ล้าสมัย ทำกฎหมายใหม่ให้อุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น ต่อไปจะมีคณะทำงานร่วมกันระหว่าง ส.อ.ท. กับรัฐบาลแยกรายกลุ่มอุตสาหกรรม เสริมกับการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ. ซึ่งเป็นภาพใหญ่ ยอมรับว่าที่เคยกังวลกับนโยบายการขึ้นค่าแรงของพรรคร่วมรัฐบาล ก็เบาใจลง เพราะนายพิธารับฟังและจะนำไปหารือ เพราะนายพิธาเองก็เคยเป็นสมาชิก ส.อ.ท. จึงเข้าใจผู้ประกอบการเป็นอย่างดี