svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ป.ป.ช.ส่งหลักเกณฑ์ให้ กกต. ตรวจสอบพรรคปมทุจริตเชิงนโยบาย

25 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ป.ป.ช. ส่งเกณฑ์ชี้วัดป้องกันทุจริตเชิงนโยบาย ให้ กกต.นำไปตรวจสอบการหาเสียงพรรคการเมือง วอนปชช.คิดให้ดีก่อนเลือก เพราะอาจได้ไม่คุ้มเสีย

25 เมษายน 2566 "นายนิวัติไชย เกษมมงคล" เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า กรณีที่ประธาน ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เกี่ยวกับแนวมาตรการในการตรวจสอบนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ที่ขณะนี้ กกต.กำลังตรวจสอบนโยบายที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ที่ต้องให้พรรคการเมืองอธิบายนั้น ประกอบด้วยเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย

ทั้งนี้ พรรคจะต้องอธิบายถึงแหล่งที่มาของงบประมาณที่กำหนดนโยบาย นโยบายที่ใช้หาเสียง ว่าเป็นนโยบายของไทยหรือต่างประเทศ เคยกำหนดไว้ก่อนหรือไม่ นำตัวอย่างมาจากต่างประเทศหรือเคยมีการใช้ประกาศหาเสียงมาแล้ว ผลการดำเนินตามนโยบายที่เคยหาเสียงเป็นอย่างไร ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว เปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์นโยบายหาเสียงที่ได้พัฒนาขึ้นมา  

นอกจากนี้ มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ผู้มีส่วนได้เสียไว้ชัดเจนหรือไม่ หรือกลุ่มเป้าหมายนั้นมีแนวโน้มได้รับประโยชน์ หรือเสียประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อมจากนโยบายดังกล่าวอย่างไร และนโยบายที่พัฒนาเป็นนโยบายที่เกิดในช่วงที่พรรคมาเป็นฝ่ายบริหารของประเทศก่อนหน้านั้น และได้วางนโยบายก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ 

ส่วนเกณฑ์การชี้วัดผลกระทบ ความคุ้มค่า ความเป็นไปได้ และความเสี่ยงของนโยบาย ความเป็นไปได้นั้น ต้องมีคณะทำงานวิเคราะห์ผลกระทบจากนโนบายทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ฐานะทางการเงินและการเงินการคลัง ทั้งระยะสั้น ระยะยาว และต้องพิจารณาความคุ้มค่าเป็นไปได้ ความเสี่ยงนโยบาย การมีส่วนร่วมจากภาควิชาการ ประชาสังคม

ขณะเดียวกัน รวมถึงต้องศึกษาผลกระทบเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมชุมชน การเมือง ความมั่นคงของประเทศ และความสัมพันธ์หลักของประเทศ กระทบต่อการดำเนินงานหน่วยงานเจ้าของโครงการ และจัดทำรายงานการประเมิณผลกระทบ ความคุ้มค่าความเสี่ยงทุจริตเชิงนโยบายรวมถึงจัดทำแผนรองรับนโยบายตามที่จำเป็น เพราะหากดำเนินโครงการแล้วเกิดผลกระทบ เกิดความเสี่ยงต้องมีแผนสำรองเพื่อให้ปรับปรุงนโยบาย  

นายนิวัติไชย กล่าวต่อว่า อีกทั้งต้องศึกษาผลกระทบกับผู้มีส่วนได้เสียจากนโยบายโดยตรง ส่วนนโยบายที่ไม่มีการใช้จ่ายงบประมาณ แต่ส่งผลกระทบหรือมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อสถานะวินัยการเงินการคลัง การบริหารประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ จะต้องมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างละเอียด และจะต้องเผยแพร่ผลการศึกษาต่อสาธารณะ และเปิดรับฟังความคิดเห็นรวมถึงตอบข้อซักถามด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์ชี้วัดแนวนโยบายเจตจำนงทางการเมืองของพรรคในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งพรรคจะต้องมีแนวนโยบายที่แสดงออกเจตจำนงทางการเมืองอย่างชัดเจน ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยพบในการหาเสียง ส่วนใหญ่จะพบนโยบายประชานิยม ลดแลกแจกแถมให้ แต่ไม่มีแผนปรับปรุงแก้ไขปัญหาการทุจริต วิธีการ รวมถึงความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน ส่วนราชการ และระบุแผนการต่อต้านการทุจริตอย่างชัดเจน งบประมาณ กระบวนการวิเคราะห์การทุจริต แนวทางหรือการสนับสนุนการป้องกันการทุจริต รวมสร้างความเข้มแข็งการบริหารราชการแผ่นดิน เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม 

ขณะที่เกณฑ์ชี้วัดความโปร่งใสในการพัฒนานโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งจะต้องมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนในการจัดทำนโยบาย จัดทำร่างแผนพัฒนานโยบายที่จับต้องได้ มีข้อมูลเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ  ซึ่งจะต้องจัดจัดทำเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ส่งกลับไปให้ กกต.ตรวจสอบ วิเคราะห์นโยบาย ก่อนเผยแพร่รับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะชน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่านโยบายที่ใช้ในการหาเสียงจับต้องได้ เป็นรูปธรรม มีที่มาของแหล่งเงินทุนรวมถึงแผนรองรับ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายลดแลก แจกแถม จะสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตหรือไม่ หรืออาจจะนำนโยบายไปฉกฉวยหาผลประโยชน์อย่างไร เชื่อว่าจะเป็นอีกมาตรการหนึ่งในการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย หรือป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม มีความห่วงใยนโยบายในการหาเสียงโดยเฉพาะแหล่งเงินทุน ที่จะนำมาใช้ในการจัดทำนโยบาย วงเงินที่จะใช้และจะหาเงินมาจากไหน เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราภาษีที่จัดเก็บได้ จึงอยากให้รับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการ นักเศรษฐกิจ ในเรื่องของวินัยการเงินการคลัง ที่ระบุในกฎหมายต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง มีเงินสำรอง ไม่สามารถใช้เงินทุนสำรองไปใช้จ่ายเกินกรอบ เพราะทุกวันนี้ยังมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ  

"จึงอยากฝากทั้งนักการเมืองและประชาชน ช่วยกันติดตามสอดส่องนโยบายของพรรค อย่างมองแค่ผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ต้องผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ขออย่ามองว่าเขาให้ร้อยบาท แต่สุดท้ายเราต้องเสียเพิ่มหนึ่งหมื่นบาท ไม่คุ้มกับสิ่งที่ได้รับ ประเทศชาติที่เสียหาย มันก็มีผลกระทบต่อท่านในอนาคต วันนี้ท่านอาจจะได้ แต่วันหน้าท่านอาจจะเสียมากกว่านี้" นายนิวัติไชย กล่าว   

อย่างไรก็ดี ประชาชนต้องช่วยกันการทุจริตคอร์รัปชัน จะโทษใครไม่ได้ วันนี้เป็นหน้าที่ที่จะต้องเลือกคนดีเข้ามาบริหารประเทศ ถ้าเลือกคนไม่ดีเข้ามา จะโทษ ป.ป.ช.ไม่ได้ว่าคนนี้เลือกเข้ามาแล้วทุจริต เป็นหน้าที่ ป.ป.ช. ต้องลงไปปราบปราม เพราะฉะนั้นก่อนเลือก คิด วิเคราะห์ให้ดีๆ อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์ที่ได้รับเล็กๆ น้อยๆ

 

logoline