svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

มัตเธียส ไยส์เซิล ทายาทคนล่าสุดของ 'เกเกนเพรสซิ่ง'

28 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากมรดกของ ราล์ฟ รังนิก สู่ เยอร์เกน คล็อปป์ และ ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ โลกลูกหนังอาจได้พบทายาทคนต่อไปของ “เกเกนเพรสซิ่ง” มัตเธียส ไยส์เซิล เฮดโค้ชหนุ่มของ เร้ดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก

Highlights

  • เกเกนเพรสซิ่ง คือสไตล์การเล่นอันดุดันที่ เยอร์เกน คล็อปป์ นำมาปรับใช้กับ ลิเวอร์พูล จนหงส์แดงกลับมาทวงความสำเร็จในลีกสูงสุดของอังกฤษได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับโค้ชหนุ่มจากเยอรมนีคนอื่น ๆ ทั้ง โธมัส ทูเคิล หรือ ยูเลียน นาเกิลส์มันน์
  • ทั้งหมดล้วนแต่มีความเชื่อมโยงในทางใดทางหนึ่งกับ ราล์ฟ รังนิก ซี่งเป็นผู้คิดค้นสไตล์นี้ และวางรากฐานให้กับวงการฟุตบอลเยอรมนีในปัจจุบัน
  • และล่าสุด มัตเธียส ไยส์เซิล ซึ่งได้ใกล้ชิดกับ รังนิก ทั้งในฐานะนักเตะและสตาฟฟ์โค้ช อาจกลายเป็นโค้ชรุ่นใหม่มาแรงของยุคนี้คนต่อไป

--------------------

          ขณะที่ เยอร์เกน คล็อปป์ นำสไตล์การเล่นแบบ เกเกนเพรสซิ่ง มาใช้ จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ผ่านความสำเร็จของ ลิเวอร์พูล

 

          แต่ คล็อปป์ ไม่ใช่คนเดียวที่ได้รับอิทธิพลนี้จาก ราล์ฟ รังนิก ผู้บุกเบิกสไตล์การเล่นนี้ขึ้้นมา

 

          รังนิก ซึ่งถือเป็นปรมาจารย์ยุคใหม่ของวงการฟุตบอลเยอรมนี ยังมีลูกศิษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกหลายราย ที่กำลังสร้างชื่ออยู่ในปัจจุบัน

 

          และในอนาคต เราก็อาจได้เห็น มัตเธียส ไยส์เซิล เฮดโค้ชหนุ่มของ เร้ดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก แชมป์ออสเตรียน บุนเดสลีกา ขึ้นไปเทียบชั้น คล็อปป์ หรือ ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ ในฐานะทายาทคนล่าสุดของปรมาจารย์ 'เกเกนเพรสซิ่ง' ก็ได้

 

กระทิงหนุ่มจากออสเตรีย
(ในยกแรกระหว่างสองโค้ชหนุ่ม ไยส์เซิล สร้างปัญหาให้ นาเกลส์มันน์ ได้ไม่น้อย / ภาพจาก Eibner Europa)

          ในเกมยูเอฟา แชมเปียนส์ลีก รอบ 16 ทีมสุดท้ายนัดแรก เร้ดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก สร้างเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ ด้วยการเสมอกับ บาเยิร์น มิวนิค 1-1 ชนิดที่เสือใต้จากเยอรมนีต้องไล่ตามตีเสมอในนาทีสุดท้าย

 

          แต่นอกเหนือจากผลการแข่งขันแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือแมตช์นี้เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างโค้ชรุ่นใหม่ชาวเยอรมนี 

 

          ทั้ง ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ (34 ปี) ของบาเยิร์น และ มัทเธียส ไยส์เซิล (33 ปี) ของ ซัลซ์บวร์ก

          นาเกิลส์มันน์ อาจเป็นที่รู้จักมากกว่า ด้วยผลงานคุม ฮอฟเฟนไฮม์ และ แอร์เบ ไลป์ซิก ในบุนเดสลีกา ที่โดดเด่น จนถูกดึงตัวไปคุม บาเยิร์น มิวนิค ในฤดูกาลนี้

 

          ขณะที่ ไยส์เซิล แม้จะเพิ่งเริ่มคุมทีมในลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกกับ ซัลซ์บวร์ก ในฤดูกาลนี้ แต่ก็สร้างผลงานได้อย่างน่าทึ่ง

 

          โดยเฉพาะการนำจ่าฝูงออสเตรียน บุนเดสลีกา ผ่านเข้ารอบน็อคเอาท์ ยูเอฟา แชมเปียนส์ลีก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังเฉือนชนะ เซบีย่า ในนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม จนได้ผ่านเข้ามาเจอทีมเสือใต้ในที่สุด

 

          ยิ่งไปกว่านั้น ทั้ง นาเกิลส์มันน์ และ ไยส์เซิล ต่างก็มีจุดร่วมอีกเรื่อง นั่นคือต่างเคยผ่านการขัดเกลาโดย รังนิก มาก่อน ทั้งในฐานะนักเตะและสตาฟฟ์โค้ช

 

เกเกนเพรสซิ่ง
(ราล์ฟ รังนิก คือปรมาจารย์ของ เกเก้นเพรสซิ่ง และผู้วางรากฐานให้ฟุตบอลเยอรมนียุคใหม่ / ภาพ Karan Tejwani)

          หลายคนอาจรู้จัก เกเกนเพรสซิ่ง ที่ คล็อปป์ นำมาใช้กับ ลิเวอร์พูล แต่ในวงการฟุตบอลเยอรมนีนั้น ต้องให้เครดิตกับ รังนิก ในฐานะผู้คิดค้นสไตล์การเล่นนี้ขึ้น

 

          หลักการพื้นฐานของ เกเกนเพรสซิ่ง คือการเร่งกดดันฝ่ายตรงข้ามที่ครองบอลอยู่ให้เกิดความผิดพลาด เพื่อแย่งบอลกลับมา

 

          และฉวยโอกาสที่ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามเสียขบวน เปลี่ยนจังหวะเกมจากรับเป็นรุกให้เร็วที่สุด

 

          ดูผิวเผินเหมือนง่ายบนหน้ากระดาษ แต่ยากในทางปฏิบัติ เพราะการเล่นแบบนี้ จะได้ผล ก็ต่อเมื่อผู้เล่นมีครบ ทั้งพละกำลัง เทคนิค วินัย รวมถึงความเข้าใจในแผนการเล่น

 

          อีกจุดสังเกตคือโค้ชที่ใช้แนวทางการเล่นแบบนี้ ต่างก็เคยร่วมงานกับ รังนิก หรือมีความเชื่อมโยงกันในทางใดทางหนึ่ง

 

          ทั้ง เยอร์เกน คล็อปป์ (ให้คำปรึกษาในช่วงแรกที่เริ่มงานโค้ช) และ โธมัส ทูเคิล (ดึงตัวมาเป็นโค้ชทีมเยาวชนที่สตุ๊ทการ์ท) หรือแม้แต่ ราล์ฟ ฮาเซนฮุทเทิล ของ เซาธ์แฮมป์ตัน (เคยร่วมงานกันที่ ไลป์ซิก)

          บทบาทของ รังนิก จะเห็นชัดขึ้น ผ่านสไตล์ของสโมสรต่าง ๆ ในเครือ เร้ดบูลล์ ทั้ง แอร์เบ ไลป์ซิก, เร้ดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก ฯลฯ ที่เจ้าตัวเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอล ตั้งแต่ปี 2012

 

          และโค้ชรุ่นใหม่ฝีมือดีของบุนเดสลีกาในช่วงทศวรรษหลัง ทั้ง มาร์โค โรส (ดอร์ทมุนด์) อดี ฮัทเทอร์ (กลัดบัค) โอลิเวอร์ กลาสเนอร์ (แฟรงค์เฟิร์ต) โบ สเวนส์สัน (ไมนซ์) และ แฟรงค์ คราเมอร์ (อาร์มิเนีย บีเลเฟลด์) ก็ล้วนแต่เคยทำงานร่วมกับ รังนิก ที่ ซัลซ์บวร์ก มาก่อน

 

          ไยส์เซิล ก็เช่นกัน

 

จาก สตุ๊ทการ์ท ถึง ซัลซ์บวร์ก
(ไยส์เซิล ในช่วงวัยรุ่น คือกองหลังดาวรุ่งที่ รังนิก ปั้นขึ้นมากับมือ ก่อนพบกับโชคร้ายต้องแขวนสตั๊ดก่อนวัยอันควร / ภาพ Getty Images)

          ไยส์เซิล พบกับ รังนิก เป็นครั้งแรก เมื่อเดอะโปรเฟสเซอร์เข้ารับตำแหน่งที่สตุ๊ทการ์ท และเจ้าตัวยังเป็นนักเตะดาวรุ่ง

 

          เมื่อย้ายไปคุม ฮอฟเฟนไฮม์ ที่ขณะนั้นอยู่ใน ลีกา 3 รังนิก ก็ดึง ไยส์เซิล ที่ขณะนั้นอายุแค่ 18 ปีตามไปด้วย และให้โอกาสลงเล่นอย่างสม่ำเสมอ และมีส่วนนำทีมไต่ขึ้นมาสู่บุนเดสลีกา ภายในสองฤดูกาล

 

          ผลงานกับฮอฟเฟนไฮม์ ยังทำให้ ไยส์เซิล กองหลังอายุน้อยที่สุดในทีม ถูกเรียกตัวไปติดทีมชาติเยอรมนีชุดยู-21 เมื่อปี 2009

 

          แต่ปัญหาอาการบาดเจ็บเรื้อรังในช่วงหลายปีหลังจากนั้น ก็บีบให้เจ้าตัวต้องเลิกเล่นตั้งแต่อายุแค่ 26 ปี

 

          โธมัส ทูเคิล เคยเล่าว่าตอนที่ต้องแขวนสตั๊ดตอนหนุ่ม และไปทำงานในบาร์ รังนิก คือคนที่โทรหาเขา เพื่อดึงไปช่วยงานโค้ชที่ สตุ๊ทการ์ท

 

          ครั้งนี้ก็เช่นกัน รังนิก ดึง ไยส์เซิล ตามไปที่ ไลป์ซิก และ ซัลซ์บวร์ก

 

เสน่ห์งานโค้ช
(อเล็กซานเดอร์ ซอร์นิเกอร์ มองว่า ไยส์เซิล มีพัฒนาการในการทำงานที่เร็วมาก ระหว่างร่วมงานกันที่ บรอนด์บี / ภาพ Getty Images)

          ไยส์เซิล ยอมรับว่าตอนแรกที่ รังนิก ติดต่อมา เขาไม่เคยมีความคิดเรื่องงานโค้ชในหัวเลย

 

          แต่ ไลป์ซิก ก็ให้โอกาสเขาได้สัมผัสงานนี้ ในฐานะผู้ช่วยของ เซบาสเตียน เฮอเนสส์ (ปัจจุบันคือเฮดโค้ชของ ฮอฟเฟนไฮม์) ในทีมชุดยู-16 ก่อน เพื่อดูว่านี่คือสิ่งที่เขาต้องการไหม

 

          ก่อนค้นพบว่าตัวเองสนุกกับงานนี้ และเมื่อเข้าไปใกล้ชิดกับสโมสรต่าง ๆ ในเครือ เร้ดบูลล์ มากขึ้น

 

          ไยส์เซิล ก็เริ่มหลงเสน่ห์งานโค้ช และเข้ารับตำแหน่งเฮดโค้ชครั้งแรก ให้ทีมยู-17

 

          และเริ่มต้นงานในทีมชุดใหญ่ครั้งแรก ตอนอายุ 29 ปี ในฐานะผู้ช่วยของ อเล็กซ์ ซอร์นิเกอร์ (ซึ่งเคยคุม ไลป์ซิก เช่นกัน ในช่วงที่ รังนิก เป็นผอ.) ที่บรอนด์บี้ ในเดนมาร์ก

 

          ซอร์นิเกอร์ พูดถึง ไยส์เซิล ในแง่บวกว่าเป็นโค้ชรุ่นใหม่ที่น่าทึ่ง เพราะตอนที่ร่วมงานกันนั้น อีกฝ่ายเพิ่งเลิกเล่นเพราะอาการบาดเจ็บแค่ 3 ปี แต่เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว จนได้มาร่วมงานกัน

 

          หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้สองปี รังนิก ก็ดึง ไยส์เซิล กลับมาเป็นโค้ชยู-18 ของ ซัลซ์บวร์ก

 

          และเริ่มงานในฐานะเฮดโค้ชทีมชุดใหญ่ครั้งแรก กับ ลีเฟอริง ทีมสำรองของ เร้ดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก ใน ลีกา 2 ออสเตรีย แทน โบ สเวนส์สัน ที่ย้ายไป ไมนซ์ ในเดือนมกราคม 2021

 

          แม้หลังจากนั้นหกเดือน รังนิก จะย้ายไปเป็นผู้อำนวยการของ โลโคโมทีฟ มอสโก แต่ คริสโตฟ ฟรอยด์ ที่มารับช่วงต่อ ก็ให้ความไว้วางใจในตัว ไยส์เซิล ด้วยการมอบตำแหน่งเฮดโค้ชทีมชุดใหญ่ให้ เมื่อ เจสซี มาร์ช ย้ายไปคุม ไลป์ซิก ก่อนฤดูกาลใหม่จะเริ่มขึ้น

 

ยกระดับกระทิงหนุ่ม
(ไยส์เซิล ยกระดับ ซัลซ์บวร์ก จากแชมป์ผูกขาดในลีก ไปสู่การเป็นทีมดาวรุ่งของทวีปยุโรป / ภาพจาก RedBull Salzburg)

          แหล่งข่าวในสโมสรซัลซ์บวร์ก พูดถึง ไยส์เซิล ว่าทำงานหนัก ชัดเจนในการสื่อสาร และละเอียดในการทำงาน

 

          ชนิดที่ว่าแผนการซ้อมในแต่ละครั้งนั้น มีการเตรียมการล่วงหน้ามาแล้วอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์

 

          แม้จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับ นาเกิลส์มันน์ เสมอ ทั้งในแง่ของอายุที่ใกล้เคียงกัน และการเป็นศิษย์ของ รังนิก

 

          แต่ ไยส์เซิล ก็ไม่เชื่อเรื่องการเปรียบเทียบนัก

 

          เพราะในฐานะโค้ชฟุตบอล มีองค์ประกอบอื่น ๆ นอกจากเรื่องแท็กติกด้วย ทั้งจิตวิทยาในการร่วมงานกับผู้เล่นและสตาฟฟ์คนอื่น ๆ หรือแม้แต่การวางตัวในที่สาธารณะ

 

          แม้ เกเกนเพรสซิ่ง จะเป็นมรดกที่ รังนิก วางไว้ ให้วงการฟุตบอลเยอรมัน และสโมสรในเครือ เร้ดบูลล์ แต่ ไยส์เซิล ก็เชื่อว่าเขาหรือ นาเกิลส์มันน์ ก็มีปรัชญาการทำทีม และไอเดียของตัวเองอยู่

 

          เหมือนที่เขาเลือกเน้นการครองบอลมากกว่า แค่เพรสซิ่งแล้วฉวยโอกาสโจมตีเร็วแบบ เกเก้นเพรสซิ่ง ดั้งเดิม

 

          การใส่สไตล์ของตัวเองลงไปทำให้ ซัลซ์บวร์ก ชุดนี้ ที่มีค่าเฉลี่ยอายุนักเตะในทีมแค่ 22.5 ปีมีผลงานที่คนทั้งยุโรปต้องจับตามอง

 

          หลายคนอาจมองว่าในออสเตรียน บุนเดสลีกา นั้นเป็นการผูกขาด เพราะ ซัลซ์บวร์ก เป็นแชมป์ลีกมาแล้วแปดฤดูกาลซ้อน (และเป็นดับเบิลแชมป์ 7 ใน 8 ฤดูกาลด้วย) และปัจจุบัน ก็นำโด่งเป็นจ่าฝูงอยู่ในเวลานี้

 

          แต่การเบียด เซบีย่า ตกรอบแบ่งกลุ่มแบบเหนือความคาดหมาย ช่วยให้ ซัลซ์บวร์ก เข้ารอบ 16 ทีมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยทีมพลังหนุ่มที่อายุเฉลี่ยน้อยที่สุดในรายการต่างหาก ที่ทำให้หลายคนจับตามอง

 

          แม้คนในวงการจะมองว่า ไยส์เซิล มีอนาคตอันสดใสรออยู่ ทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ

 

          แต่เจ้าตัวกลับไม่กล้ามองไกลไปถึงขนาดนั้น เพราะประสบการณ์อันเจ็บปวดที่ได้รับสมัยเป็นนักเตะที่ต้องเลิกเล่นก่อนวัยอันควร เพราะอาการบาดเจ็บ

 

          "สิ่งที่ผมอยากเป็น คือเป็นโค้ชที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ณ ขณะนั้น ผมยังไม่อยากหยุดพัฒนาตัวเอง ทั้งในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และในฐานะโค้ช"

 

          เมื่อถึงวันนั้น เราอาจได้เห็น ไยส์เซิล ตามรอยทายาท เกเกนเพรสซิ่ง คนอื่น ๆ ขึ้นชั้นเป็นโค้ชทีมชั้นนำของยุโรปบ้างก็ได้

--------------------

SOURCE

logoline