svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

แนวโน้มโลกใหม่หลังปี 2100 เมื่ออัตราประชากรดิ่งฮวบ! แต่ละประเทศมีแผนรับมืออย่างไร?

18 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่ออัตราการเกิดของประชากรโลกลดน้อยลงจนส่งผลให้เกิดวิกฤตขาดแคลนแรงงาน แต่ละประเทศมีวิธีจัดการและโน้มน้าวให้คู่รักมีบุตรอย่างไร?

Highlights

  • แนวโน้มจำนวนประชากรในอีก 80 ปีข้างหน้า ที่อาจลดฮวบเหลือแค่ครึ่งหนึ่งของปัจจุบันส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและสังคมโลกอย่างไร รัฐมีแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่?
  • ในเมื่ออนาคตประชากรโลกมีแนวโน้มที่จะลดน้อยลงเรื่อยๆแล้ว แต่ละประเทศมีแผนรับมือกับปัญหาอย่างไรเพื่อเพิ่มจำนวนประชากร?

--------------------

          ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่อัตราการเกิดของเด็กไทยลดต่ำกว่า 6 แสนคนต่อปี ซึ่งจากข้อมูลปี 2020 อัตราการเกิดในไทยมีเพียง 5.8 แสนรายต่อปี และมีเกณฑ์จะลดลงอีกเรื่อยๆ และ 10 ปีต่อจากนี้คาดว่าอัตราการเกิดของเด็กไทยต้องลดต่ำลงกว่า 5 แสนคนอย่างแน่นอน

 

          ปัญหาเรื่องประชากรลดลงไม่ได้มีไทยประเทศเดียวที่เผชิญกับปัญหานี้ แต่หลายประเทศทั่วโลกก็เหมือนร่วมลงเรือลำเดียวกับเราประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งมีงานวิจัยที่ชี้ออกมาแล้วว่า ในปี 2100 หรือราว 80 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะลดลงไปเรื่อยๆ ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มตัว และอาจส่งผลกระทบต่อวิกฤตการขาดแคลนแรงงาน 
ยอดประชากรเตรียมลดฮวบกว่าครึ่งในปี 2100

ยอดประชากรเตรียมลดฮวบกว่าครึ่งในปี 2100
          จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าจำนวนประชากรทั่วโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในอีก 44 ปีข้างหน้า จากที่ในปัจจุบันมีประชากรโลกราว 7.9 พันล้านคน  และจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 9.7 พันล้านคน  ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้อัตราประชากรลดฮวบลงเกือบ 900 ล้านคน ภายในปีค.ศ. 2100 หรืออีก 80 ปีข้างหน้า ทำให้จำนวนประชากรทั่วโลกจะเหลือเพียง 8.8 พันล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชียตะวันออกและยุโรป ที่ประชากรจะลดลงกว่าครึ่งเนื่องจากคนสมัยใหม่ไม่ต้องการมีลูก

          ในส่วนของการวิเคราะห์ ชี้ว่าโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น สังคมที่เปิดกว้างสำหรับเพศหญิงมากขึ้น จึงทำให้เพศหญิงไม่จำเป็นต้องรับหน้าที่แม่บ้าน คอยดูแลลูกๆอีกต่อไป แต่พวกเธอสามารถทำงานต่างๆได้อย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นช้างเท้าหลังรอให้สามีเลี้ยงดูอีกต่อไป 

 

          นอกจากนี้ปัญหาเศรษฐกิจในบางประเทศยังเป็นสาเหตุที่คนไม่อยากมีลูกอีกต่อไป เพราะเกรงว่าลูกๆจะเติบโตขึ้นมาในสภาพสังคมที่ไม่เหมาะกับการเจริญเติบโต อันเนื่องมาจากการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาล 
ประเทศในเอเชีย มีอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ประเทศไหนได้รับผลกระทบมากสุด
          ทุกวันนี้ หลายประเทศมีอัตราการเกิดของประชากรที่ต่ำกว่าเกณฑ์อยู่แล้ว เช่น แคนาดา สหรัฐฯ บราซิล ออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแทบยุโรป ซึ่งในอนาคตอีกไม่กี่สิบปี ประชากรสูงอายุในประเทศจะค่อยๆล้มหายตายจากไป แต่ประชากรเกิดใหม่กลับไม่มีขึ้นมาทดแทน ซึ่งจากงานวิจัยชี้ว่าจะมีประเทศถึง 23 ประเทศทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว และไทยก็ติดหนึ่งในนั้นด้วย! 

 

          23 ประเทศจากทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับอัตราประชากรลดลงราวร้อยละ 50 หรือมากกว่านั้น เช่น สเปน โปรตุเกส ไทย เกาหลีใต้ อิตาลี และญี่ปุ่น

 

          ญี่ปุ่นประชากรจะลดลงราว 53 เปอร์เซ็นต์จาก 128 ล้านคนเมื่อปี 2017 เหลือเพียง 60 ล้านคนในปี 2100

 

          ประชากรในประเทศสเปนจะลดลงจาก 46 ล้านคนเหลือ 23 ล้านคน (ร้อยละ 50)

 

          อิตาลีเองประชากรก็จะลดฮวบไม่น้อยหน้าไปกว่าญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะลดจาก 61 ล้านคน เหลือ 28 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน

 

          ตัดภาพมาที่ไทยประชากรจะลดลงจาก 71 ล้านคน มาอยู่ที่ 35 ล้านคน (ลดลงร้อยละ 51)

 

          นอกจากนี้ยังมีอีก 34 ประเทศ ที่จำนวนประชากรจะลดลงเฉลี่ย 25-50 เปอร์เซ็นต์รวมถึงจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ประชากรจะลดลงจาก 1.4 พันล้านคน เหลือแค่ 732 ล้านคน

จีนเตรียมโดนแซง อินเดียจ่อขึ้นแท่น
          ในปี 2100 ประชากรของประเทศจีนจะไม่ได้นำโด่งเหมือนในปัจจุบันอีกต่อไป ซึ่งจากงานวิจัยคาดว่าในอีก 80 ปีประชากรในประเทศจีนจะลดเหลือ 732 ล้านคนจากเดิมที่มี 1.4 พันล้านคน ส่งผลให้อินเดียประเทศที่อัตราการเกิดยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นมาเป็นผู้นำด้านประชากรที่มีมากสุดในโลกแทน  แอฟริกาจะเป็นทวีปเดียวที่อัตราการเกิดยังพุ่งกระฉูด

แอฟริกาจะเป็นทวีปเดียวที่อัตราการเกิดยังพุ่งกระฉูด

          ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อ UN คาดการณ์ว่าในปี 2100 ทวีปแอฟริกาจะเป็นเพียงทวีปเดียวที่อัตราประชากรจะเพิ่มสูงขึ้นและเกิดการกระจุกตัวกันอยู่ในทวีปนี้ ประชากรทั้งหมดในแอฟริกาจะเพิ่มเป็น 2 เท่าจากปัจจุบัน และมีสัดส่วนถึง 49% ของประชากรบนโลก (เกือบครึ่งนึงของประชากรโลกทั้งหมด) โดยปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากประชากรวัยเจริญพันธุ์ในทวีปแอฟริกายังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในอีก 10 ถึง 20 ปีข้างหน้า คนกลุ่มนี้จะสร้างครอบครัวเป็นของตัวเองและเพิ่มจำนวนประชากรโลก

 

          ในส่วนของประเทศไนจีเรีย UN คาดการณ์ว่าภายในปี 2050 ประชากรของประเทศไนจีเรียจะมีจำนวนมากกว่าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และไนจีเรียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของโลก 

 

          ขณะเดียวกัน การคาดการณ์ของ UN กลับชี้ว่าอัตราการเกิดของประชากรในเอเชียมีเกณฑ์ลดลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากหลายประเทศในเอเชียที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 

เกิดน้อย อายุยืน ปัญหาขาดแคลนแรงงานในไทย ที่ยังแก้ไขไม่ได้
เกิดน้อย อายุยืน ปัญหาขาดแคลนแรงงานในไทย ที่ยังแก้ไขไม่ได้
          อัตราการเกิดที่น้อยลงของปีที่ผ่านมาถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก แต่รู้หรือไม่ว่าปัญหานี้ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่สัญญาณลักษณะนี้มีมาเกือบ 30 ปีแล้ว แต่สาเหตุที่ทำให้คนรู้สึกอึ้งไปตามๆกัน ก็เนื่องมาจากเกิดการเปรียบเทียบระหว่างจำนวนการเกิดกับการตาย

 

          ในปี 2021 ที่ผ่านมา อัตราเด็กเกิดใหม่มีเพียง 5.4 แสนราย ในขณะที่อัตราการตายมียอดสูงกว่าที่ 5.6 แสนราย ซึ่งตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อเทียบกับปี 2011 ตัวเลขการเกิดของประเทศเราสูงเกือบ 8.5 แสนคน ในขณะที่เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ตัวเลขกลับลดลงเหลือเพียง 5.4 แสนคน ลดลงมากกว่า 1 ใน 3 ในเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น

 

          อัตราเด็กเกิดน้อยย่อมส่งผลกระทบต่อๆกันเป็นลูกโซ่ เมื่อจำนวนประชากรในไทยเกิดการลดน้อยถอยลง ย่อมหมายความว่าแรงงานในอนาคตจะขาดแคลนอย่างรุนแรงมากขึ้น เมื่อแรงงานขาดแคลน การเสียภาษีเพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างต่างๆของประเทศก็ย่อมลดลงตาม ซึ่งรศ.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์  อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าเป็นสิ่งที่ “รัฐรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า อัตราการเกิดมีแนวโน้มลดน้อยลง แต่ทำไมเกือบ 30 ปีผ่านไป ถึงไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ยังพูดซ้ำๆถึงเรื่องนี้อยู่” 

สิงคโปร์มอบเงินขวัญถุงเป็นเงินสดสำหรับเด็กแรกเกิด
กางแผนรับมือของแต่ละประเทศ
          อย่างที่เรากล่าวไปข้างต้นว่าประเทศต่างๆในเอเชียมีแนวโน้มการเกิดของประชากรที่ลดลงเรื่อยๆ และจะส่งผลต่อวิกฤตการขาดแคลนแรงงานได้ แล้วแต่ละประเทศมีวิธีออกมาจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างไร?

 

ญี่ปุ่น
          มาตรการเพื่อแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดน้อยถอยลงของประเทศญี่ปุ่นคือ การจ่ายเงินให้กับคู่รักที่ต้องการมีลูกในเมืองหลวงอย่างโตเกียว  100,000 เยน (28,000 บาท) ต่อลูก 1 คน รวมถึงยังมีแนวคิดให้คนจับคู่กันจาก AI ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 2 พันล้านเยน (560 ล้านบาท)

 

สิงคโปร์
          กระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัว นำเสนอแพ็คเก็จเพื่อกระตุ้นการสร้างครอบครัว เช่น การให้เงินช่วยเหลือเด็กแรกเกิดแบบจ่ายครั้งเดียว 3,000 (72,000 บาท)ดอลลาร์สิงคโปร์ ให้กับเด็กที่เกิดช่วง 1 ตุลาคม 2020 – 30 กันยายน 2022, มอบเงินขวัญถุงเป็นเงินสดสำหรับเด็กแรกเกิดมูลค่า 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 240,000 บาท)

 

          ในส่วนของภาคเอกชนก็ออกโปรโมชั่นมาเพื่อสนับสนุนเด็กแรกเกิดและคุณแม่อย่างเต็มที่ทั้งการมอบบัตรสมาชิก VIP เป็นระยะเวลา 1 ปีให้คุณแม่ทุกคนที่ใกล้คลอด รวมถึงมอบส่วนลดต่างๆให้กับคุณแม่มือใหม่

 

ไต้หวัน
          ในส่วนของเกาะไต้หวันมีนโยบายเพิ่มเงินอุดหนุนให้แก่ครอบครัวที่มีลูกอายุต่ำกว่า 5 ปี และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้กับคู่รักที่ต้องการมีลูกคนที่ 2 และ 3 

 

สหราชอาณาจักร
          นอกจาฝั่งเอเชียแล้ว ฝั่งสหราชอาณาจักรก็ออกนโยบายออกมาร่วมแก้ไขกับวิกฤตนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งนโยบายของสหราชอาณาจักรคือ การเปิดรับคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศ เพื่อเพิ่มจำนวนประชากร และเป็นการชดเชยอัตราเจริญพันธุ์

 

ไทย
          ในส่วนของประเทศไทยเอง เรามี ‘นโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ’ ซึ่งว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตของประชากรอย่างมีคุณภาพ รวมถึงเรายังมีโครงการเกี่ยวข้องกับการเกิดและการเจริญเติบโตถึง 144 โครงการที่ดำเนินงานโดยกระทรวงสาธารณสุข

 

          แต่ผลสำเร็จของการดำเนินงานเป็นไปได้เพียง 21.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เนื่องจากหน่วยงานต่างๆยังต้องพึ่งงบประมาณจากส่วนกลางเพื่อดำเนินกิจกรรมโครงการ เมื่อติดขัดเรื่องงบประมาณ ความต่อเนื่องก็ย่อมหายไปตาม รวมถึงทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวมีไม่เพียงพอ ทำให้ประเทศเรายังไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดที่ลดน้อยลงเท่าไหร่นัก

 

          นอกจากนี้อัตราการเกิดในปัจจุบัน กว่าละร้อยละ 25 เป็นผลที่เกิดจากความไม่ตั้งใจหรือท้องไม่พร้อม จนนำไปสู่ภาวะ “เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ” ขึ้นมาในสังคมไทยนั่นเอง

--------------------
อ้างอิง:

logoline