svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

24 เมษายนของทุกปี ตรงกับ "วันเทศบาล" มีความเป็นมาอย่างไร

24 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"วันเทศบาล" ตรงกับวันที่ 24 เมษายนของทุกปี มาทำความรู้จักกัน วันนี้มีความเป็นมาอย่างไร แล้วมีอะไรบ้างที่ให้ทุกฝ่าย ตลอดจนพนักงานเทศบาลได้ตระหนักถึง

วันที่ 24 เมษายนของทุกปี เป็น "วันเทศบาล" มีประวัติเริ่มต้นขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของไทยใหม่ ให้ทันสมัยเป็นอันเดียวกันกับนานาอารยะประเทศ โดยจัดให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในรูปแบบ "สุขาภิบาล" ที่สุขาภิบาลท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2441 และได้ขยายการตั้งสุขาภิบาลออกไปในท้องถิ่นต่างๆ เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ

ต่อมา เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 และได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล จนกระทั่ง ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 เลยทำให้เทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

กระทรวงมหาดไทย จึงได้ออกประกาศลงวันที่ 4 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2532 กำหนดให้วันที่ 24 เมษายน ของทุกปี เป็น "วันเทศบาล" เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงบทบาท และความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล 

การจัดงานวันเทศบาล

นอกจากมีการประกาศให้วันนี้เป็นวันเทศบาล ตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว กระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งให้เทศบาลทั่วประเทศ เทศบาลเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมเนื่องในวันเทศบาลเป็นประจำทุกปี เช่น

  • การทำบุญตักบาตร 
  • การรณรงค์ร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น 
  • การจัดหน่วยบริการประชาชนเคลื่อนที่เป็นพิเศษ
  • การจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาท และภารกิจของเทศบาลให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วถึงกัน

โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเทศบาล มีดังนี้

  1. เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญและความเป็นมาของการก่อกำเนิดเทศบาล
  2. เพื่อให้พนักงานเทศบาล ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเทศบาลสามัญ พนักงานครูเทศบาล พนักงานสถานธนานุบาล พนักงานจ้างตามภารกิจ พนักงานจ้างทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล ตลอดจนให้บุคลากรต่างๆ ได้มองเห็นความสำคัญของการบริการ และการอำนวยความสะดวก สร้างความเป็นธรรม ความเสมอภาคให้กับประชาชนที่มาใช้บริการของเทศบาล
  3. เพื่อให้บุคลากรเทศบาลมีความรักความผูกพัน ความสามัคคีซึ่งจะก่อให้เกิดผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการมากยิ่งขึ้น

ขนาดของเทศบาล แบ่งตามอะไร

หลังจากได้รู้จักวันเทศบาลกันไปแล้ว เรามาดูขนาดของเทศบาลกันบ้าง อ้างอิงจากข้อมูลของ pakkretcity.go.th พบว่า เทศบาลในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามจำนวนประชากรและรายได้ของเทศบาลนั้นๆ ซึ่งในพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2496 มาตรา 9, 10, 11 ได้กำหนดขนาดเทศบาล ดังนี้
 

  • มาตรา 9 เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีการประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย
     
  • มาตรา 10 เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลเมือง พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย
     
  • มาตรา 11 เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลนคร พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย

สภาเทศบาลแต่ละประเภท ประกอบไปด้วยใครบ้าง กี่คน

  • เทศบาลตำบล ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 12 คน
  • เทศบาลเมือง ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 18 คน
  • เทศบาลนคร ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 24 คน

ทั้งนี้ สภาเทศบาล ประกอบไปด้วย ประธานสภาเทศบาล 1 คน และรองประธานสภาเทศบาล 2 คน นอกจากนี้ ในเทศบาลแต่ละแห่งจะมี "นายกเทศมนตรี" ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานในท้องที่เทศบาลนั้นทั้งหมด โดยปัจจุบันเทศบาลทุกประเภทมีฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง
24 เมษายนของทุกปี ตรงกับ \"วันเทศบาล\" มีความเป็นมาอย่างไร
ในบรรดาองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยในปัจจุบัน เทศบาลถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเป็นตัวแทนของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทยที่ประสบความสำเร็จในการให้บริการสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการแก่ประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างดีที่สุด


ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.pakkretcity.go.th
สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง

logoline