svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

Did you know? อนาคตข้างหน้า อัมพาตจากไขสันหลังอาจรักษาได้

17 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระดูกสันหลัง อวัยวะแกนกลางสำคัญในร่างกายเมื่อเกิดความเสียหายมีโอกาสสูงมากจะก่อให้เกิดอัมพาต อีกทั้งการรักษาก็ยากจนแทบจะรักษาไม่ได้ แต่ปัจจุบันเริ่มมีความเป็นไปได้ที่คนไข้จะกลับมาเดินได้ เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ในปัจจุบัน

          เมื่อเกิดการบาดเจ็บกับร่างกายหากถามว่าส่วนใดน่ากลัวที่สุด อวัยวะแรกที่คนจะนึกถึงคือสมอง รองลงมาคงเป็นคอโดยเฉพาะกระดูกสันหลัง เพราะสิ่งที่ตามมาหลังเกิดความเสียหายคืออาการอัมพาต ที่อาจพรากสองขารวมถึงร่างกายท่อนล่างทั้งหมดของเราไปพร้อมกัน

 

          นั่นทำให้เมื่อเกิดการบาดเจ็บหรือตวามเสียหายกับกระดูกสันหลังขึ้นมาจึงเป็นเรื่องร้ายแรง หลายครั้งอาจจบสิ้นอนาคตเปลี่ยนหนทางในการใช้ชีวิตของผู้บาดเจ็บไปตลอดกาล ผู้คนจึงพากันเคร่งเครียดและหวาดกลัวความเสียหายในส่วนนี้ เพราะต่อให้รอดไปได้ชีวิตของพวกเขาก็ไม่มีทางเหมือนเดิม

 

          แต่อาจไม่เป็นแบบนั้นเสมอไปเมื่อการแพทย์ในปัจจุบันเริ่มมีหนทางรักษาอาการบาดเจ็บส่วนนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ต้นตอความสำเร็จ การนำเซลล์ประสาทไปกระตุ้นการฟื้นตัว
          แนวคิดนี้เกิดขึ้นโดยฝีมือทีมแพทย์จากสถาบันประสาทวิทยาของ College London  University ในประเทศอังกฤษ ร่วมกับทีมศัลยแพทย์ด้านซ่อมแซมประสาทไขสันหลังจาก Wroclaw Medical University ประเทศโปแลนด์ ที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายช่วยคนไข้อัมพาตโดยการปลูกถ่ายเซลล์ ทำให้สามารถกลับมารับรู้ความรู้สึกและขยับได้อีกครั้ง

 

          ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นนับแต่ปี 2557 เป็นต้นมากับชายวัย 18 ปี ชื่อ ดาเรค ฟิดีก้า เขาได้รับบาดเจ็บหลังถูกกระหน่ำแทงเข้าที่หลังจนร่างกายตั้งแต่ช่วงอกลงไปไร้ความรู้สึก และไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ด้วยกายภาพบำบัดแม้ผ่านระยะเวลาไปหลายเดือน ก่อนเริ่มมีการนำแนวคิดปลูกถ่ายเซลล์ประสาทมาทำการรักษา
 

          วิธีการดังกล่าวเริ่มจากการผ่าตัดนำกลุ่มเซลล์ประสาทรับกลิ่นจากจมูกบางส่วน ที่คอยส่งข้อมูลไปประมวลผลกับสมองส่วนหน้าของคนไข้ไปปลูกถ่ายเพาะเพิ่มจำนวน หลังได้จำนวนมากพอจึงเริ่มแบ่งฉีดเข้าไปปากแผลบริเวณไขประสาทสันหลังด้านซ้าย แล้วนำใยประสาท 4 แถบจากข้อเท้าคนไข้มาเชื่อม เพื่อกระตุ้นให้เซลล์ไขสันหลังที่บาดเจ็บฟื้นฟูขึ้นมาใหม่

 

          หลังการผ่าตัดประสบความสำเร็จไปด้วยดี ผู้ป่วยจึงเริ่มเข้ารับกายภาพบำบัด 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลาวันละ 5 ชั่วโมง สามเดือนต่อมาร่างกายท่อนล่างของเขาเริ่มกลับมามีความรู้สึก ก่อนกลับมาฝึกหัดเดินได้อีกครั้งด้วยอุปกรณ์ช่วยหลังระยะเวลาผ่าตัดเพียงครึ่งปี จนสามารถใช้แค่ไม้เท้าช่วยพยุงในการเดินและใช้งานอวัยวะช่วงล่างทั้งหมดได้

 

          ข้อดีของวิธีการนี้คือเซลล์ประสาททั้งหมดที่ใช้ในขั้นตอนคือเซลล์ของคนไข้ นั่นทำให้เกิดความเสี่ยงในการต่อต้านหรือแทรกซ้อนน้อยกว่าการปลูกถ่ายแบบอื่น นั่นทำให้แนวคิดในการนำเซลล์ของคนเจ็บเพื่อฟื้นฟูระบบประสาทเริ่มแพร่หลาย และได้รับการพัฒนามากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป

Did you know? อนาคตข้างหน้า อัมพาตจากไขสันหลังอาจรักษาได้

สู่แนวทางในปัจจุบัน การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อไขสันหลังโดยตรง
          ถือเป็นการต่อยอดจากแนวทางปลูกถ่ายเซลล์ประสาทเพื่อให้ไขสันหลังฟื้นตัว ด้วยฝีมือของนักวิจัยจาก Tel Aviv University แห่งอิสราเอล โดยแม้ขั้นตอนดังกล่าวจะประสบความสำเร็จจากหนูในห้องทดลองก็ตาม แต่ก็ช่วยให้หนทางสว่างสำหรับผู้ประสบอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บเข้าใกล้ความจริงยิ่งขึ้น

 

          แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี Reprogramming ที่ใช้สำหรับในการสร้างเซลล์เนื้อเยื่อที่ต้องการจากเซลล์ส่วนใดในร่างกายของเราก็ได้ โดยครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์อาศัยเพียงเนื้อเยื่อไขมัน แล้วย้อนกระบวนการให้เซลล์เหล่านั้นกลายเป็นเซลล์ต้นกำเนิด หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Stem cell นั่นเอง

          เมื่อได้เซลล์ที่ต้องการจากการย้อนกลับจากนั้นจึงเป็นการนำไปเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวน ให้อาหารและสารกระตุ้นเพื่อขยายอัตราการเจริญเติบโตตามต้องการเพื่อพัฒนาไปเป็นเซลล์ประสาทไขสันหลังตามต้องการ จากนั้นค่อยนำไปปลูกถ่ายให้แก่ตัวคนไข้อีกที

 

          วิธีการดังกล่าวยังคงอยู่ในขั้นทดลองในห้องวิจัย แต่เมื่อได้ปลูกถ่ายกับหนูจึงพบว่า กลุ่มที่มีภาวะอัมพาตแบบฉับพลันสามารถฟื้นฟูร่างกายจนกลับมาเดินได้ทุกตัว ส่วนกลุ่มที่มีภาวะอัมพาตมาเป็นเวลานาน สามารถฟื้นฟูจนกลับมาเดินได้กว่า 80% ถือเป็นความหวังครั้งใหม่ ทั้งต่อวงการวิทยาศาสตร์ การแพทย์ หรือแม้แต่ตัวผู้ป่วยเอง

 

          แน่นอนว่าทั้งหมดนี้อยู่ในขั้นทดลองอีกทั้งเพิ่งได้ลองทำในสัตว์ จำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมทั้งกับตัวหนูที่ผ่านการปลูกถ่ายไขสันหลัง หรือขั้นตอนการใช้งานจริงที่อาจต้องกินเวลาอีกหลายปี แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เราได้เห็นว่าในอนาคต เราไม่ถึงขั้นสิ้นไร้ไม้ตรอกเมื่อได้รับบาดเจ็บตรงส่วนนี้

 

          นอกจากการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเพื่อเร่งการฟื้นฟูและนำมาใช้ทดแทนแล้ว ยังมีการใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยเหลือเช่นกัน

 

การใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อรักษาคนไข้ที่ได้รับความเสียหายจากกระดูกสันหลัง
          ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นในปี 2561 จากการร่วมมือของ University of Louisville กับ Mayo Clinic ในสหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จในการใช้อุปกรณ์กระตุ้นสัญญาณประสาทด้วยไฟฟ้าฝังลงบนกระดูกสันหลัง ช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาต 3 รายกลับมาเดินได้อีกครั้ง

 

          อุปกรณ์ชนิดนี้มีลักษณะคล้ายแผ่นแปะที่ยึดกับกระดูกสันหลังของคนไข้บริเวณได้รับความเสียหาย แผ่นแปะมีขั้วไฟฟ้าทั้งหมด 16 ขั้ว ได้รับพลังงานจากแบตเตอรี่ที่ฟังอยู่ในผนังหน้าท้อง โดยผู้ใช้งานสามารถควบคุมอุปกรณ์ผ่านระบบไร้สาย ปรับคลื่นความถี่และความแรงในการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าเพื่อให้เซลล์ประสาทในกระดูกสันหลังตื่นตัว กระตุ้นการเชื่อมโยงทำให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง

 

          แนวคิดนี้มาจากคนไข้อัมพาตบางกลุ่มยังคงมีสัญญาณประสาทจากสมองส่งไปถึงส่วนที่เสียหายได้อยู่บ้าง แต่สัญญาณดังกล่าวออกเกินไปจึงใช้การกระตุ้นจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเข้าช่วย เพื่อให้กระดูกสันหลังสามารถส่งผ่านคำสั่ง ทำให้กล้ามเนื้อกลับมาใช้งานได้ดังเดิม

 

          จากการทดลองกับผู้ป่วย 5 ราย พบว่ามี 3 ราย สามารถกลับมาเดินได้โดยอาศัยอุปกรณ์ช่วยเหลือหลังรับกายภาพบำบัด ส่วนอีก 2 รายแม้จะยังไม่สามารถเดินได้แต่พอจะลุกขึ้นนั่งและยืนได้ด้วยตัวเอง ถือเป็นอีกหนทางช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตมีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตได้อีกครั้ง

 

          แน่นอนว่าอุปกรณ์ชนิดนี้มีข้อจำกัดด้านที่ความเสียหายต่อกระดูกสันหลังต้องไม่มากเกินไป แต่ก็ได้รับการพัฒนาต่อยอดขึ้นมาเช่นกัน

 
Did you know? อนาคตข้างหน้า อัมพาตจากไขสันหลังอาจรักษาได้
จากอุปกรณ์ช่วยกระตุ้นสัญญาณไฟฟ้า สู่วันที่เชื่อมกระดูกสันหลังเข้าหากัน
          ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากทีมนักวิทยาศาสตร์สวิตเซอร์แลนด์ ความสำเร็จทำให้คนไข้กระดูกสันหลังขาดออกจากกันกลับมาเดินได้รายแรกของโลก ภายหลังได้รับการผ่าตัดฝังอุปกรณ์เพิ่มความแรงสัญญาณประสาทกับกระดูกสันหลังของนาย มิเชล ร็อกคาติ ชาวอิตาลี ซึ่งประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนกระดูกสันหลังหักสะบั้น

 

          ความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับร้ายแรง ไม่เคยมีใครประสบความสำเร็จในการรักษา จนกระทั่งครั้งนี้เมื่อการฝังขั้วไฟฟ้าเข้าไปในเส้นใยประสาทของกระดูกสันหลัง แม้เคยเกิดความล้มเหลวขึ้นหลายครั้ง แต่ในที่สุดครั้งนี้ก็ประสบความสำเร็จ เมื่อคนไข้สามารถกลับมาเดินได้อีกครั้งและฟื้นตัวจนใกล้จะใช้ชีวิตตามปกติได้ในไม่ช้า

 

          แน่นอนว่าการฝังขั้วไฟฟ้าเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแต่ไม่เคยประสบความสำเร็จขนาดนี้ นอกจากช่วยให้คนไข้กลับมาเคลื่อนไหวยังถึงขั้นสามารถรองรับการทรงตัวจนสามารถยืนและเดินได้ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไข้ให้ดีขึ้น ถือเป็นขอบเขตความสำเร็จใหม่ในการใช้อุปกรณ์ขั้วไฟฟ้าเลยทีเดียว

 

          แม้จะเป็นแบบนั้นแต่ในปัจจุบันอุปกรณ์ขั้วไฟฟ้ายังไม่อาจนำมาใช้งานแพร่หลาย จากรูปแบบการทำงานมีความซับซ้อนเกินกว่าจะนำไปทำการรักษาหรือใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งจำเป็นต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อตรวจสอบผลกระทบในระยะยาว รวมถึงทดสอบกับผู้ป่วยจำนวนมากดูให้แน่ใจเสียก่อนนำไปใช้ในวงกว้าง

 

          แม้จะยังเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตก็ตาม แต่สำหรับผู้ป่วยอัมพาตจำนวนมากทั่วโลกนี่คือโอกาสที่พวกเขาจะฟื้นตัว อาจน้อยนิดแต่มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจกลับไปใช้ชีวิตได้ดังเดิม ถึงกินเวลาไปบ้างกระนั้นก็ช่วยให้พวกเขาไม่รู้สึกท้อแท้หมดหนทางต่อจากนี้เสียทีเดียว

 

          เราคงได้แต่คาดหวังว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้คนไข้อัมพาตกลับมาเป็นปกติได้สักวัน

--------------------

ที่มา

logoline