svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

จะว้าวหรือจะฉาว! เรื่องจริงสุดแปลก ของราชวงศ์วินด์เซอร์

10 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รวมเรื่องสุดแปลกของ "ควีนเอลิซาเบธ" และ ราชวงศ์วินด์เซอร์ ที่ใครได้เห็นหรือเคยได้รับรู้เป็นต้องอ้าปากค้าง

          เพิ่งผ่านมาไม่นานกับพิธีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี (Platinum Jubilee) ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หรือควีนเอลิซาเบธที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี แต่ครองราชย์ครบ 70 ปีทั้งทียังไม่วายคลุ้งกลิ่นดราม่า ควีนคนถัดไปของอังกฤษอย่าง ‘คามิลลา’ ที่ควีนเอลิซาเบธออกโรงสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งที่เคยมีเรื่องอื้อฉาวว่าคามิลลาเป็นต้นเหตุการหย่าร้างของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และไดอานา 

 

          เรื่องชวนว้าวและอื้อฉาวของราชวงศ์วินด์เซอร์เรียกได้ว่าเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งตลอดระยะเวลาที่อยู่บนบัลลังก์ สื่อหลายสำนักต่างหยิบยกมาตีแผ่ให้ชาวโลกรับรู้อยู่ก็บ่อยครั้ง 
ควีนเอลิซาเบธ และ เจ้าชายฟิลิป พระสวามี

ไม่ได้หวังเป็นควีน  แต่เพราะชะตาลิขิตจึงได้บัลลังก์
          สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เดิมมีพระนามว่า ‘เอลิซาเบธ อเล็กแซนดรา แมรี วินด์เซอร์’ หรือ ‘ลิลิเบธ’ เป็นพระธิดาองค์โตในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ประสูติเมื่อวันที่ 21 เมษายน 1926 (พ.ศ. 2469)  เหตุการณ์พลิกผันครั้งใหญ่ในชีวิตควีนเอลิซาเบธเกิดขึ้นเมื่อ ‘ลุงเดวิด’ หรือ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ทรงสละราชสมบัติเพื่อไปสมรสกับหญิงหม้ายสามัญชนชาวอเมริกัน เป็นผลให้ ‘พระเจ้าจอร์จที่ 6’ พระบิดาของเอลิซาเบธ ต้องขึ้นครองราชย์อย่างกระทันหัน ผู้สืบสันติวงศ์ลำดับแรกจึงตกเป็นของลูกสาวคนโตอย่างเอลิซาเบธโดยทันที

 

          ในวัย 25 พรรษา เอลิซาเบธยังคงใช้ชีวิตในฐานะเจ้าหญิง ออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระบิดาที่ทรงพระประชวรอยู่บ่อยๆ จนกระทั่งในวันที่ 6 ก.พ.1952 (พ.ศ.2495) โลกเป็นอันต้องตกอยู่ในภวังค์แห่งความหม่นหมองเมื่อข่าวการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักรได้เผยแพร่ออกไป ซึ่งในขณะนั้นตัวของเอลิซาเบธเองยังประทับอยู่กลางป่าของประเทศเคนยา กับเจ้าชายฟิลิป ผู้ซึ่งเป็นพระสวามี
 

          พิธีราชาภิเษกถูกจัดขึ้นในอีก 1 ปีถัดมา และถือเป็นภาระอันหนักอึ้งสำหรับสตรีวัยเพียง 27 ปี ซึ่งจากวันนั้นถึงวันนี้ ควีนเอลิซาเบธได้ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลายาวนานถึง 70 ปีแล้ว ซึ่งตลอดระยะเวลาดังกล่าวอังกฤษเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไปแล้วถึง 14 คน และในปีที่ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี พระองค์ทรงได้รับจดหมายมากถึง 100,000 ฉบับ ซึ่งไม่เคยมีกษัตริย์อังกฤษพระองค์ใดทำได้มาก่อนในรอบ 1,000 ปีที่ผ่านมา หรือแม้แต่กษัตริย์ทั่วโลกก็มีไม่กี่พระองค์ที่จะสามารถครองราชย์ได้นานถึงขนาดนี้ 

 

ภารกิจกอบกู้ภาพลักษณ์ของจักรวรรดิที่เคยยิ่งใหญ่
          ในช่วงปี 1953 ที่ควีนเอลิซาเบธขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ เป็นช่วงที่อังกฤษเพิ่งพ้นจากวิกฤตสงครามโลกครั้งที่สองมาหมาดๆ และกำลังอยู่ในระหว่างการกอบกู้ตัวเองขึ้นมาจากการสูญเสียในช่วงหลังสงคราม ซึ่งแม้อังกฤษจะอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรอันเป็นฝั่งคว้าชัยในสงคราม แต่ไม่สามารถปฎิเสธได้เลยว่าในยุคของสงครามไม่ว่าจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะ ทุกฝั่งย่อมเกิดการสูญเสีย โดยเฉพาะอังกฤษที่สูญเสียความเป็นมหาอำนาจของโลกไปอย่างสิ้นเชิง 

 

          ดังนั้นภารกิจแรกๆของควีนเอลิซาเบธในตำแหน่งประมุขของแผ่นดิน คือการพยายามกอบกู้ภาพลักษณ์ความเป็นจักรวรรดิที่เคยยิ่งใหญ่ให้กลับมาผงาดในโลกสมัยใหม่ให้ได้ ควีนเอลิซาเบธทรงเดินทางเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ  จัดงานเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ในแต่ละครั้งอย่างยิ่งใหญ่ ผันตัวเข้าหา Pop-Culture ร่วมงานเปิดตัวลอนดอนโอลิมปิก เข้าร่วมงานปฐมทัศน์ของภาพยนตร์ ‘เจมส์ บอนด์’ ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของอังกฤษ รวมถึงยังปรับปรุงภาพลักษณ์ของราชวงศ์ให้จับต้องได้จนกลายมาเป็นสินค้า และของชำร่วยนานาชนิด

70 ปีบนบัลลังก์ สู่การหาผู้สืบทอดคนใหม่
          นับเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2022 เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี (Platinum Jubilee) ซึ่งถือเป็นกษัตริย์องค์แรกของอังกฤษที่ครองราชย์ได้ยาวนานที่สุด ซึ่งนอกจากการเฉลิมฉลองในพิธีสำคัญนี้แล้ว ควีนอลิซาเบธยังได้เผยแพร่พระราชดำรัสผ่านแถลงการณ์ เพื่อระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมาในช่วงรัชสมัยของพระองค์ ตั้งแต่กรณีสวรรคตของพระบิดา ‘พระเจ้าจอร์จที่ 6’  การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก วัฒนธรรมและเทคโนโลยี

 

          แต่ใจความสำคัญชวนว้าวของแถลงการณ์ฉบับนี้อยู่ที่พระราชดำรัสถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ในวันที่มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์วินด์เซอร์ ‘เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์’ จะต้องเป็นผู้รับช่วงต่อ ก้าวขึ้นมาเป็นประมุขแทน ซึ่งควีนเอลิซาเบธหวังว่าประชาชนจะให้การสนับสนุนเจ้าชายชาร์ลส์ เช่นเดียวกับที่เคยสนับสนุนพระองค์ และสำหรับตำแหน่งราชินีคนใหม่ (Queen Consort)  ทรงสนับสนุน ‘คามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์’ อย่างเต็มที่และหวังว่าประชาชนจะให้การยอมรับเธอเช่นกัน 

 

          ด้วยพระชนม์มายุที่มากแล้ว คาดว่าควีนเอลิซาเบธเองทรงอยากเตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อนการส่งมอบบัลลังก์แก่องค์รัชทายาท เพื่อให้การส่งผ่านแผ่นดินเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด แต่มิวายยังมีสายข่าววงในอย่าง ‘เลดี้พาเมลา ฮิกส์’ อดีตนางสนองพระโอษฐ์ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อแบบขำขันว่า “ควีนเองไม่มีวันที่จะสละราชสมบัติหรอก” 

 

          ซึ่งหากดูจากความเป็นไปได้ของราชวงศ์วินด์เซอร์ นอกจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ที่ตั้งใจสละราชสมบัติเพื่อแต่งงานกับสามัญชนแล้ว ตามประวัติและไทม์ไลน์บ้านวินด์เซอร์ก็ไม่มีใครอีกเลยที่เคยสละราชสมบัติ การสืบทอดบัลลังก์ล้วนมาจากการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์องค์ก่อนหน้าทั้งสิ้น

 

แปลกแต่จริง กฎราชวงศ์วินด์เซอร์ที่ใครเห็นเป็นต้องเอ๊ะ
‘หอย’ อาหารต้องห้ามสำหรับราชวงศ์วินด์เซอร์ สมาชิกราชวงศ์ ห้ามกินหอย
          รู้หรือไม่ว่าหนึ่งในกฎสุดแปลกเลยของราชวงศ์อังกฤษ คือการห้ามคนในราชวงศ์รับประทานอาหาร หรือสั่งอาหารประเภทหอยเด็ดขาด ด้วยความที่สัตว์ประเภทหอยมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษมากกว่าอาหารประเภทอื่นหลายเท่า สมาชิกของราชวงศ์วินด์เซอร์จึงถูกสั่งสอนอย่างเสมอมาว่า ไม่ควรสั่งหอยเวลาออกไปรับประทานอาหารนอกวัง
สมาชิกราชวงศ์

‘เกมเศรษฐี (Monopoly)’ เกมต้องห้ามสำหรับราชวงศ์วินด์เซอร์  ห้ามเล่นเกมเศรษฐี 
          เป็นกฎที่ชาวเราได้ยินแล้วคนรู้สึกเสียดายแทนสมาชิกราชวงศ์พอสมควร เพราะเชื้อพระวงศ์แห่งอังกฤษมีกฎ ‘ห้ามเล่นเกมเศรษฐี’ เกมสุดฮิตเมื่อครั้งที่เรายังเยาว์วัย เพลิดเพลินกับการทอยลูกเต๋า ซื้อบ้าน ซื้อโฉนดที่ดินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเหตุผลหลักที่ราชวงศ์อังกฤษออกกฎห้ามนั้นก็เพราะ การเล่นเกมเศรษฐีอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ขึ้นในครอบครัว ซึ่งถึงแม้จะเป็นแค่เกมแต่อาจส่งผลกระทบที่บานปลายได้

 

กระเทียมคือของต้องห้าม
          ก็เหมือนเฉกเช่นมนุษย์ทั่วไปที่มีความชอบเรื่องรสชาติและกลิ่นที่ต่างกันออกไป สำหรับคนในรั้วในวัง จะเป็นที่ทราบกันดีว่าควีนเอลิซาเบธไม่โปรดกระเทียมเป็นที่สุด เพราะฉะนั้นอาหารทุกเมนูในพระราชวังบักกิ้งแฮมจึงล้วนปราศจากกระเทียม และแน่นอนว่าไม่มีใครกล้านำกระเทียมเข้ามาในเขตพระราชวัง 

 

พกถุงเลือดสำรอง ระหว่างเดินทางเสมอ
          ฟังแล้วอาจเป็นเรื่องชวนอี๋หรือขนลุกอยู่พอสมควร เมื่อทุกครั้งที่เดินทางหรือเสด็จเยือนต่างประเทศ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ เจ้าชายฟิลิป และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ต้องพกถุงเลือดส่วนตัวไปด้วยเสมอ ซึ่งเป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นกับพระองค์ในสถานที่ไกลปืนเที่ยงหรือไม่สามารถหาเลือดสำรองได้อย่างทันท่วงที ถุงเลือดเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ดังกล่าวอย่างรวดเร็วทันใจ นอกจากนี้ควีนยังมีแพทย์ประจำพระองค์อย่างน้อย 3 คนคอยติดตามไปด้วยเสมอ และแพทย์เหล่านั้นต้องคอยสืบหาโรงพยาบาลในระแวกรอบๆที่ใกล้ที่สุดเอาไว้ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นกับเชื้อพระวงศ์ระหว่างเดินทาง 
ควีนเอลิซาเบธ โปรดปรานเสียงปี่สก็อตเป็นพิเศษ ควีนเอลิซาเบธ ให้คนเป่าปี่สก็อตแทนเสียงนาฬิกาปลุก
          ใครจะคิดว่าเสียงตั้งปลุกจะกลายเป็นเรื่องแปลกไปได้! สำหรับราชวงศ์วินด์เซอร์แล้ว เสียงนาฬิกาปลุกแบบเดิมๆคงเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่น่าเป็นที่พึงพอพระทัยนัก สำหรับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธเอง ทรงโปรดปรานเสี่ยงปี่สก็อตเป็นการส่วนพระองค์ จึงมีรับสั่งให้บรรเลงปี่สก็อตเพื่อปลุกพระองค์ทุก 9 โมงเช้า และบรรเลงต่อไปเรื่อยๆเป็นเวลา 15 นาที

 

ควีนเอลิซาเบธเป็นเจ้าของหงส์และโลมาทุกตัวในอังกฤษ
          ถือเป็นกฎหมายโบราณที่สืบเนื่องมาตั้งแต่พระเจ้าเฮนรี่ที่ 3 กษัตริย์แห่งอังกฤษที่โปรดปรานการเสวยหงส์เป็นอย่างมาก และต้องการรักษาสิทธิพิเศษในการล่าหงส์ เพื่อหยุดยั้งประชาชนทั่วไปไม่ให้มาแย่งหงส์ของพระองค์ไป แม้ทุกวันนี้ประชาชนและเชื้อพระวงศ์ จะเลิกนำหงส์มาประกอบอาหารแล้วแต่กฎหมายโบราณยังสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

          ดังนั้นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงเป็นเจ้าของหงส์และปลาทุกตัวในอังกฤษ รวมถึงโลมาด้วย หรือเทียบได้ว่าสัตว์เหล่านี้เป็นสมบัติและทรัพย์สินของราชวงศ์ ใครจะไปแตะต้อง เลี้ยง หรือทำร้ายไม่ได้เป็นอันขาด

 

          ซึ่งในเดือนกรกฎาคมของแต่ละปีเจ้าหน้าที่ของพระราชวัง จะมาทำการสำรวจประชากรหงส์เป็นประจำ หากมีใครที่ฆ่าหงส์ ล่า หรือนำไปเลี้ยงเป็นส่วนตัว จัดได้ว่าเป็นเรื่องร้ายแรงพอๆกับการทรยศแผ่นดินเลยทีเดียว 
กระเป๋าถือ เครื่องมือที่ควีนอลิซาเบธใช้สื่อสารกับผู้ติดตาม ควีนเอลิซาเบธ ใช้กระเป๋าถือเพื่อส่งซิกกับผู้ติดตาม
          เรียกได้ว่านอกจากชุดที่สีสันสดใสของควีนเอลิซาเบธ อีกหนึ่งไอเท็มของควีนที่เราเห็นกันอยู่เสมอคือกระเป๋าถือ ซึ่งรู้หรือไม่ว่ากระเป๋าถือของพระองค์นอกจากจะเป็นหนึ่งในไอเท็มสำหรับเครื่องแต่งกายแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ควีนเอลิซาเบธใช้สื่อสารกับผู้ติดตามเป็นประจำ หรือส่งซิกนั่นเอง

 

          ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่ราชินีเริ่มย้ายกระเป๋ามาถือคล้องที่แขนขวา ผู้ติดตามจะทราบได้ทันทีว่า ราชินีต้องการตัดบทสนทนากับใครก็ตามที่กำลังสนทนาด้วยในขณะนั้น นอกจากนี้กระเป๋าถือของพระองค์ยังถูกนำมาใช้เพื่อส่งสัญญาณลับบนโต๊ะอาหารอีกด้วย ซึ่งหากเห็นว่าราชินีนำกระเป๋าขึ้นมาวางบนโต๊ะเมื่อไหร่ นั่นแปลว่า ทุกคนจะต้องจบอาหารมื้อนั้นภายในไม่เกิน 5 นาที

 

ควีนเอลิซาเบธ ขับรถได้โดยไม่ต้องมีใบขับขี่หรือทะเบียนรถ
           ตั้งแต่ก่อนครองราชย์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เคยเรียนขับรถยนต์ที่กองทัพมาก่อน และเป็นผู้เดียวในสหราชอาณาจักรที่สามารถขับขี่รถได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบขับขี่หรือทะเบียนรถ แต่ถึงอย่างนั้นยังมีระเบียบข้อบังคับเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัยอยู่ แต่ในปี 2562 ที่ผ่านมา สื่อหลายสำนักดันจับภาพได้ว่าควีนทรงขับรถเรนจ์ โรเวอร์ โดยไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยบนถนนสาธารณะเสียอย่างนั้น!

ราชวงศ์วินด์เซอร์ (House of Windsor) ควีนเอลิซาเบธ ฉลองวันเกิด 2 ครั้งต่อปี
          อีกสิ่งที่ชวนอ้าปากค้างคือควีนเอลิซาเบธมีวันพระราชสมภพหรือวันเกิดถึง 2 วันด้วยกัน! คือวันที่ 21 เมษายน และ 8 มิถุนายน หากจะถามถึงสาเหตุคงต้องเท้าความกันสักเล็กน้อย

 

          ย้อนกลับไปในสมัยที่พระเจ้าจอร์จที่ 2 ยังครองบัลลังก์ วันประสูติของพระองค์ดันอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเดือนที่สภาพฝน ฟ้า  อากาศ ในสหราชอาณาจักรไม่ค่อยจะเป็นใจต่อการจัดพิธีเฉลิมฉลองกลางแจ้งหรือจัดพิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์สักเท่าไรนัก พระเจ้าจอร์จที่ 2 จึงได้คิดจัดตั้งให้มีวันเกิดที่ 2 ในช่วงฤดูร้อน ที่สภาพอากาศเป็นใจ ดอกไม้แรกแย้มผลิบาน ด้วยเหตุนี้นับตั้งแต่นั้นมาสมาชิกของราชวงศ์ก็สามารถแต่งตั้งวันเกิดที่สองของตัวเองได้ตามความพึงพอใจ และชาวอังกฤษก็ต้องร่วมเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชินีถึง 2 ครั้งต่อปีด้วยกัน

 

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ไม่เคยบีบยาสีฟันเอง
          เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ถือเป็นคนหนึ่งในราชวงศ์วินด์เซอร์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการถูกปรนเปรอมากที่สุด และดูเหมือนชื่อเสียงเหล่านั้นจะไม่ได้เป็นแค่เสียงลือเสียงเล่าอ้าง  จากสารคดี Serving the Royals: Inside the Firm ที่ว่าด้วยการเข้ารับใช้ราชวงศ์อังกฤษนั้น บรรดาคนใกล้ชิดได้แอบๆเปิดเผยข้อมูลเล็กน้อยว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ไม่เคยบีบยาสีฟันด้วยตัวพระองค์เองแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่ง Paul Burrell อดีตบัตเลอร์อธิบายว่าในทุกๆเช้าจะมีข้าราชบริภารมาคอยบีบยาสีฟันไว้ให้พระองค์อยู่เสมอ

 

          ในปัจจุบันทางราชวงศ์ได้มีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์อยู่บ้างเพื่อให้เหมาะสมกับโลกที่พัฒนาไปข้างหน้าเรื่อยๆ รวมถึงการปรับตัวยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ราชวงศ์เองต้องทำเพื่อความอยู่รอดต่อไป แต่เรื่องราวสุดแปลกของราชวงศ์อังกฤษยังมีให้ติดตามอีกมากมาย ในส่วนที่เราหยิบยกมาและที่สาธารณะชนเคยเห็นอาจเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

--------------------

อ้างอิง

logoline