svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

เปิดปม Sex worker บน OnlyFans กับข้อถกเถียงที่ยังไม่มีทางออก

07 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทุกครั้งที่มีปัญหาเกี่ยวกับ sex worker มักกลายเป็นข้อสงสัยของสังคมว่า เหตุใดผู้คนจึงดูถูกเหยียดหยามอาชีพนี้นัก รวมถึงเหตุใดจึงไม่เปิดกว้างเรื่องนี้เสียที วันนี้จึงขอเท้าความสาเหตุที่ทำไมอาชีพนี้จึงเป็นที่รังเกียจ รวมถึงในต่างประเทศเปิดกว้างจริงหรือไม่?

Highlights

  • Sex worker บนแพลตฟอร์ม OnlyFans กลายเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อมีเหตุการณ์ของ เดียร์ลอง ถูกนำคลิปที่เผยแพร่บนช่องทางสาธารณะ และกำลังถูกหมายเรียกจนอาจถูกดำเนินคดีแบบเดียวกับไข่เน่า
  • ธุรกิจบริการทางเพศเป็นสิ่งอยู่คู่หน้าประวัติศาสตร์อันยาวนาน สามารถย้อนไปได้ถึงบาบิโลน ส่วนในประเทศไทยเองก็ถูกบันทึกว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
  • ภาพลักษณ์ของ sex worker ไม่ดีนักจากค่านิยมสมัยก่อนที่ต้องการให้สตรีรักนวลสงวนตัว แต่ก็เคยแพร่หลายจนถึงขั้นมีการจดทะเบียนโสเภณีในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายใน พ.ศ. 2503 นี่เอง
  • สำหรับกรณีเดียร์ลองอาจผิดพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 14/4 และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 โทษฐานผลิตและเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร นำไปสู่การตั้งคำถามถึงการเปิดกว้างสื่อลามกอีกครั้ง
  • แต่แท้จริงในหลายประเทศที่เปิดกว้างสื่อลามกทั้งหลายก็ไม่ได้หมายความว่าจะราบรื่นเสียทั้งหมด ในหลายประเทศยังมีผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยและแสดงความคิดโต้แย้งกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

--------------------

          กลับมาเป็นประเด็นร้อนกันอีกครั้งกับ sex worker จากกรณีของ เดียร์ลอง ในประเด็นการทำคอนเท้นท์ทางเพศบนแพลตฟอร์ม OnlyFans และกลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อมีการนำคลิปหวาบหวิวหรือคอนเทนต์ที่ต้องจ่ายเงินเพื่อรับชมมาเผยแพร่ตามช่องทางสาธารณะ กลายเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ถูกพูดถึงมากที่สุดบนเว็บไซต์ Twitter

 

          ในสายตาของคนบนโซเชี่ยลมีเดียส่วนมากพากันสนับสนุนเดียร์ลองกันแข็งขัน บอกว่าเธอคือผู้เสียหายที่ถูกนำผลงานไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าสิ่งนี้ผิดต่อ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 ในส่วนการผลิตสื่อลามกอนาจารเพื่อการค้า และอาจทำให้เธอถูกตั้งข้อหาในที่สุด

          ประเด็นนี้เคยถูกพูดถึงมาแล้วในกรณี ไข่เน่า อีกหนึ่งครีเตอร์บนแพลตฟอร์มเดียวกัน ที่เคยถูกเรียกตัวและฟ้องในมาตรา 287 จนต้องประกาศยุติบทบาทการผลิตคอนเท้นท์ทางเพศทั้งหมด ทำให้แฟนคลับที่ชื่นชอบผลงานต้องเศร้าไปตามกัน ชวนให้หวั่นใจว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นซ้ำรอยหรือไม่

OnlyFans แพลตฟอร์มสำหรับเนื้อหาทางเพศที่กลายเป็นประเด็นอีกครั้ง ต้นกำเนิดธุรกิจทางเพศและการค้าบริการของโลกและไทย
          อาชีพสร้างความบันเทิงทางเพศในยุคก่อนหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ โสเภณี อยู่คู่หน้าประวัติศาสตร์มนุษย์มายาวนาน สามารถย้อนความไปได้ถึงสมัยบาบิโลนในการบูชา เจ้าแม่มิลิต้า(Mylitta) โดยจะนำตัวสตรีไปรวมตัวกันเพื่อให้ชายร่วมประเวณีจากนั้นจึงจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าทำนุบำรุงศาสนา จนภายหลังกลายมาเป็นอาชีพหนึ่งที่มีหน้ามีตาในสังคม

 

          ส่วนในประเทศไทยค้นพบหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่บันทึกเกี่ยวกับแหล่งค้าบริการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ จากจดหมายเหตุลาลูแบร์ มีการบันทึกไว้ว่าในสมัยนั้นมีโสเภณีราว 600 คน มีซ่องอยู่ 4 แห่ง ตั้งอยู่ในชุมชนชาวจีนบริเวณท่าเรือใกล้ตลาด เปิดบริการแก่ทั้งชาวไทยและต่างชาติเรียกว่า สำเพ็ง เป็นภาษาเขมรหมายถึงโสเภณี

 

          ด้วยส่วนมากหญิงที่มาให้บริการมักเป็นทาส ไม่ก็ถูกขายจากคนในครอบครัวอย่างพ่อหรือสามี สถานะทางสังคมของพวกเธอจึงไม่สู้ดีนักถูกรังเกียจจากรอบข้าง รวมถึงความวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทยที่สอนให้ลูกสาวรักนวลสงวนตัว การมีอยู่ของโสเภณีที่ขัดแย้งกับแนวคิดดั้งเดิมจึงกลายเป็นเรื่องอโคจรไปในที่สุด

ครั้งหนึ่งโสเภณีเคยเป็นอาชีพถูกกฎหมาย
          ความพยายามควบคุมปราบปรามซ่องเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่การอพยพย้ายถิ่นของชาวจีนพุ่งสูงขึ้น ทำให้เริ่มมีครอบครัวชาวจีนบางส่วนขายลูกเป็นคนรับใช้หรือโสเภณี นั่นทำให้จำนวนโสเภณีในประเทศมีการขยายตัวขึ้นอย่างมาก โดยในช่วงนั้นมีโสเภณีชาวจีนเป็นจำนวนกว่า 41,839 คน รวมถึงเริ่มมีการล่อลวงหญิงเข้ามาแทนโสเภณีที่ถูกเลิกทาสอีกด้วย

 

          นั่นทำให้เกิด พระราชบัญญัติป้องกันโรคสัญจร ร.ศ. 127 เพื่อให้รัฐเข้าควบคุมกิจการโสเภณีและเก็บเงินภาษีจากธุรกิจนี้โดยตรงขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีการกำหนดเพิ่มอายุขั้นต่ำของโสเภณีจาก 16 เป็น 20 ปี ให้จดทะเบียนสำนักโสเภณีเป็นหลักแหล่ง ปักโคมเขียนหน้าสำนัก รวมถึงมีการตรวจร่างกายโสเภณีเพื่อป้องกันโรคด้วย

 

          ปัญหาโสเภณีทวีความรุนแรงมากขึ้นในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อมีการล่อลวงสตรีจากชนบทเข้ามาในตัวเมืองแล้วชักนำเป็นโสเภณีเพิ่มเป็นทวีคูณ การเติบโตของแหล่งค้าบริการทางเพศเพิ่มจำนวนทำให้ไม่จำกัดในสำนักโคมเขียว แต่เริ่มขยายตัวไปถึง โรงน้ำชา โรงแรม โรงเต้นรำ ฯลฯ และกลายเป็นอีกมูลเหตุสำคัญที่ทำลายภาพลักษณ์ของธุรกิจเหล่านี้

 

          นั่นทำให้เมื่อเข้าสู่ พ.ศ. 2500 เกิดการเปลี่ยนแปลงตามแบบชาติตะวันตกรวมถึงระงับและยกเลิกทะเบียนโสเภณี จนมีการยกเลิก พระราชบัญญัติป้องกันโรคสัญจร ร.ศ. 127 ไปในพ.ศ. 2503 ในที่สุด นับแต่นั้นงานบริการทางเพศจึงกลับมาเป็นสิ่งผิดกฎหมายอีกครั้ง

 

          แต่นั่นไม่ได้ทำให้ธุรกิจทางเพศสิ้นสุดลง นับจากการเข้ามาของทหารอเมริกันในช่วงสงครามเวียดนาม เกิดธุรกิจค้าประเวณีเพื่อให้บริการแก่ทหารที่เข้ามาผ่อนคลายขึ้นมากมาย สถานบริการทางเพศที่หน้าฉากถูกแทนที่ด้วยธุรกิจหลายประเภทเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้แต่การสิ้นสุดสงครามเองก็ไม่ได้ทำให้ธุรกิจนี้ซบเซา เมื่อมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากชาติตะวันตกเป็นวงกว้าง นี่จึงกลายเป็นอีกแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวแห่งสำคัญไปโดยปริยาย

 

          จะเห็นได้ว่าแม้หลายคนจะพากันเบือนหน้าไม่อยากยอมรับแต่ธุรกิจทางเพศก็อยู่คู่กับสังคมมายาวนานเช่นนี้เอง
ลาลูแบร์ หนึ่งในผู้บันทึกถึงแหล่งค้าบริการคนแรกๆ ของสยาม กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจทางเพศในปัจจุบันที่ไม่เอื้ออำนวย
          ในปัจจุบันช่องว่างและขอบเขตของธุรกิจทางเพศขยายตัวมากขึ้นจากการเติบโตของเทคโนโลยี ไม่จำเป็นต้องทำงานค้าประเวณีอย่างเดียวแต่มีรูปแบบการหาเงินใหม่ๆ มากขึ้น เช่น ภาพเปลือยหวาบหวิว คลิป หรือภาพยนตร์ลามกอนาจาร รวมถึงสื่อที่มีลักษณะเนื้อหาทางเพศล่อแหลมทั้งหลาย ทำให้การตีความรวมถึงค่านิยมของคนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนไป

 

          โดยเฉพาะกระแสการถ่ายทำคอนเท้นท์ทางเพศหลายรูปแบบแล้วนำมาเผยแพร่ จนกลายเป็นกระแสสามารถทำเงินได้จริงจากการให้คนทั่วโลกได้รับชม ทั้งผ่านช่องทางเว็บไซต์ Pornhub, กลุ่มลับตามแพลตฟอร์มดัง จนถึงล่าสุดอย่างเว็บไซต์ OnlyFans ที่เป็นประเด็นกับทั้ง ไข่เน่า และ เดียร์ลอง

 

          ตามประมวลกฎหมายอาญากล่าวว่า บุคคลสามารถครอบครองสื่อลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นคลิปวีดีโอ ภาพยนตร์ หนังสือ ภาพถ่าย หรือสื่อที่มีลักษณะยั่วยุอารมณ์ทางเพศได้ หากผู้ครอบครองมีวุฒิภาวะแล้ว และเก็บสื่อลามกอนาจารเหล่านั้นไว้เป็นของส่วนตัว
แต่ในส่วนของความผิดนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 ระบุความผิดไว้ 3 รูปแบบ ดังนี้

  • ทำ ผลิต มีไว้ นำเข้า ส่งออก หรือเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเพื่อการค้า แจกจ่าย หรือแสดงอวดแก่ประชาชน
  • การค้าสื่อลามกอนาจาร เช่น ให้ทุน เป็นคนกลางรับของไปขายต่อ แจกจ่าย แสดงอวด หรือให้เช่าสื่อลามกอนาจาร
  • โฆษณาว่าสื่อลามกอนาจารหาได้จากที่ใด เพื่อช่วยให้แพร่หลายหรือให้ประโยชน์ทางการค้า

 

          ดังนั้นถ้าจะถามว่าการทำคอนเท้นต์เหล่านี้ไปประเทศไทยถือเป็นเรื่องผิดหรือไม่ คำตอบคือ ใช่ มาตรา 287 ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ผลิตและเผยแพร่เนื้อหาดังกล่าวเพื่อการค้า ถือเป็นการกระทำความผิดกฎหมายอาญา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท รวมถึงกรณีนี้อาจผิดใน พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 14/4 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 100,000 บาทอีกด้วย

 

          นี่เองส่วนที่เป็นข้อถกเถียงในเชิงกฎหมายเมื่อมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นว่า ผู้ผลิตคอนเท้นท์ทางเพศมีความผิดทางกฎหมาย แม้จะเป็นการลงแพลตฟอร์ม Only fans ที่คัดกรองอายุเข้มข้นเพื่อลดปัญหา แต่มันก็เกิดขึ้นเมื่อมีการนำเนื้อหาดังกล่าวมาเผยแพร่วงกว้างลงสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นสาธารณะอีกทีก็ตาม

 

เมื่อเป็นสื่อผิดกฎหมายจึงไม่มีการคุ้มครองตามกฎหมาย
          แน่นอนผู้เผยแพร่เนื้อหาจากคลิปของเดียร์ลองเองก็มีความผิดตามกฎหมาย พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 14/4 เช่นกัน แต่ประเด็นสำคัญกลับเป็นเรื่องการคุ้มครองตามกฎหมายเกี่ยวกับเนื้อหาคอนเท้นท์ จนถึงการนำเนื้อหาเหล่านั้นไปเผยแพร่กลับไม่ได้รับการคุ้มครอง

 

          จากการระบุของ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ตามกฎหมายไทย งานที่จะได้รับการคุ้มครองต้องเป็น งานสร้างสรรค์อันชอบด้วยกฎหมาย เมื่อสื่อลามกไม่ใช่งานสร้างสรรค์ที่ชอบด้วยกฎหมายตามบทนิยามกฎหมายไทย จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย กล่าวโดยสรุปคือ ไม่สามารถเอาผิดแก่ผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ทำให้เจ้าของสูญเสียรายได้โดยสิ้นเชิง

 

          จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในปัจจุบันจะเริ่มมีการออกมาเรียกร้องในหลายด้าน ทั้งต่อบรรดาผู้ทำอาชีพค้าประเวณี ผู้หญิงขายบริการ จนถึงสื่อลามกอนาจาร มีความพยายามผลักดันให้ถูกกฎหมายมากขึ้นเพื่อคุ้มครองบุคคลกลุ่มนี้ แต่การผลักดันไม่มีความคืบหน้านัก ดูจะเป็นเรื่องยากในการให้คนเหล่านี้ให้ได้รับการคุ้มครอง
ภาพยืนยันจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าสื่อลามกไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย สื่อลามกในต่างประเทศกับข้อบังคับและมุมมองที่เปิดกว้างกว่าไทย
          ประเด็นนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามค่อนข้างมากต่อสังคมว่าเหตุใดจึงไม่เปิดกว้าง ในเมื่อปัจจุบันผู้คนมีวุฒิภาวะมากขึ้น การเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องเพศแต่เล็กช่วยให้เด็กระวังตัวได้มากขึ้น สังคมเองก็เริ่มเปิดกว้างต่อคนกลุ่มนี้ จึงอาจทำให้หลายคนสงสัยว่าเหตุใดจึงยังมีข้อครหา?

 

          ส่วนนี้คงต้องพูดถึงต่างประเทศเสียหน่อยว่าพวกเขามีกฎหมายหรือแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นไร

 

          ประเทศที่ทุกคนต้องคิดถึงเมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับสื่อลามกย่อมเป็น ญี่ปุ่น การควบคุมสื่อลามกอนาจารทั่วไป ตามประมวลกฎหมายอาญาญี่ปุ่น มาตรา 175 ถูกร่างครั้งแรกในพ.ศ. 2450 และยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงคือ สื่อลามกทั้ง คลิปวีดีโอ ภาพยนตร์ หนังสือ ภาพถ่าย หรือสื่อที่มีลักษณะยั่วยุอารมณ์ทางเพศได้ ต้องผ่านการเซ็นเซอร์ของสงวนทั้งชาย-หญิงก่อนที่จะสามารถวางจำหน่าย รวมถึงผู้ครอบครองต้องมีวุฒิภาวะแล้วเท่านั้น

 

          เช่นเดียวกับหลายประเทศในชาติตะวันตกที่ต่างมีแนวคิดเปิดกว้างในกฎหมายเหล่านี้ ตั้งแต่สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี ฯลฯ ยังมีอีกหลายชาติที่เปิดกว้างต่อกลุ่มผู้ผลิตสื่อทางเพศ จนในปัจจุบันได้การยอมรับจนมีซีรีย์ใน Netflix อย่าง The Naked Director ที่ตีแผ่เรื่องราวของวงการผลิตสื่อลามกในญี่ปุ่นออกมาได้เข้มข้น ได้รับความนิยมจนสร้างออกมาถึง 2 ซีซั่น

 

คลื่นใต้น้ำจากผู้ไม่เห็นด้วย แม้ในประเทศที่เปิดกว้างก็ไม่เว้น

          แม้เปิดกว้างแต่ไม่ได้หมายถึงทุกคนจะยอมรับการผลิตเนื้อหาเหล่านั้นได้ทั้งหมด เช่น ในวันที่ 19 เมษายน 2559 รัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐฯ มีการประกาศให้สื่อลามกอนาจารเป็น วิกฤติทางสาธารณสุข นิยามว่าเป็นปัญหาเรื้องรังที่แพร่ระบาดในชุมชนซึ่งเป็นภัยต่อพลเมืองของรัฐ จนถึงขั้นมี กลุ่มพันธมิตรต่อต้านสื่อลามกอนาจารแห่งรัฐยูทาห์ เลยทีเดียว

 

          ประเทศที่เปิดเสรีด้านสื่อลามกรวมถึงเปิดกว้างมากอย่างญี่ปุ่นเองก็ใช่ว่าไม่มีปัญหา เช่น อดีตนักแสดง AV เอมิริ โอกาซากะ ที่สามารถทำรายได้กว่า 5 ล้านบาทต่อเดือน แต่ต้องแลกมาด้วยการโดนแฟนหนุ่มที่คบกันมานานบอกเลิก และปัญหากับแม่แท้ๆ ที่ไม่สนับสนุนจนถึงขั้นตัดแม่ตัดลูกกันเลยทีเดียว

 

          กระทั่งแพลตฟอร์มที่สนับสนุนเนื้อหาลามกอนาจารชื่อดังอย่าง Pornhub เองก็เป็นถูกโจมตีมายาวนาน ตั้งแต่การบังคับควบคุมเข้มงวดจากกฎหมายแต่ละประเทศ รวมถึงไทยที่ทำการแบนเว็บนี้ไปในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563, การถูก Paypal ตัดช่องทางธุรกรรม หรือแม้แต่ Visa และ Mastercard ที่ตัดสัมพันธ์ไม่ให้บริการทางการเงินด้วยเช่นกัน

 

          เช่นเดียวกับทาง OnlyFans จากความพยายามในการผลักดันแบรนด์สู่ลูกค้ากลุ่มอื่นเพิ่มเติมนอกจากเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ ทำให้มีความตั้งใจในการแบนเนื้อหาทางเพศทั้งหมด ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ตามความต้องการของนักลงทุน แต่ภายหลังทางเว็บไซต์กลับเปลี่ยนใจ เนื่องจากการย้ายแพลตฟอร์มของผู้ใช้งาน จนอาจหมายถึงจุดจบของแพลตฟอร์มแห่งนี้เลยทีเดียว

 

          จากที่กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ชัดว่า แม้แต่ในต่างประเทศที่เปิดกว้างสื่อลามกเองก็ใช่ว่าจะราบรื่นเสียทุกด้าน มีผู้ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก ในสายตาของคนบางกลุ่มยังคงรู้สึกว่า การนำเนื้อหาอนาจารและเผยแพร่สื่อลามกโจ๋งครึ่มไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป
เอมิริ โอกาซากะ หนึ่งในดาราที่ได้รับผลกระทบทางสังคมจากการผันตัวมาสู่วงการหนังผู้ใหญ่

          ดังนั้นต่อให้มีการผลักดันให้การผลิตสื่อลามกอนาจารถูกกฎหมายในอนาคต ก็ต้องอยู่ในขอบเขตการควบคุมเข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องการเป็นผู้ผลิตสื่อประเภทนี้เองที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า เพราะเป็นไปได้ว่าการทำงานสายนี้อาจส่งผลกระทบถึงอนาคตในระยะยาว แม้มีกฎหมายขึ้นมาคุ้มครองหรือรองรับแล้วก็ตาม

 

          แต่ไม่ว่าจะถูกผลักดันให้ถูกกฎหมายหรือไม่ สื่อประเภทนี้จะเกิดขึ้นต่อไปตราบที่คนเรายังมีความต้องการ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดอาจอาจเป็นการผลักดันสื่อเหล่านี้ให้ถูกกฎหมาย เพื่อให้กลายเป็นอาชีพทำมาหากินใหม่ของคนในประเทศ เข้าควบคุมให้พอเหมาะเพื่อคัดกรองและควบคุมให้เหมาะสม รวมถึงมีการคุ้มครองคนในธุรกิจนี้ได้เต็มที่

 

          เพื่ออย่างน้อยจะได้ไม่เกิดเหตุการถูกละเมิดลิขสิทธิ์แล้วทำอะไรทางกฎหมายไม่ได้แบบนี้อีกในอนาคต

--------------------
ที่มา

logoline