svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ดีลยักษ์มูลค่า 2 ล้านล้าน!! Microsoft ซื้อ Activision Blizzard พลิกโฉมอุตสาหกรรมเกมไปตลอดกาล(2)

26 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังจากคราวก่อนเราได้ทำความรู้จักกับ Activision Blizzard ไปเรียบร้อยแล้ว วันนี้มาย้อนดูว่าเหตุใดทาง Microsoft จึงยอมทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อกิจการ? ดีลนี้คุ้มค่าแค่ไหน? และทำไมมันจึงเป็นข้อตกลงที่สั่นสะเทือนวงการเกม?

Highlights

  • ทางด้าน Microsoft ช่วงหลายปีที่ผ่านมาพวกเขาเพลี่ยงพล้ำให้ Sony ไปมาก ในศึกเครื่องเกมคอนโซลระหว่าง Xbox และ Playstation จากเกม Exclusive นั่นทำให้พวกเขาต้องหาทางแก้เกมอย่างเร่งด่วน
  • หนึ่งในนั้นคือการกว้านซื้อบริษัทพัฒนาเกมจำนวนมากให้เข้ามาอยู่ในสังกัด ทั้ง Obsidian Entertainment, Mojang หรือ Bethesda เองก็ตาม
  • การซื้อในครั้งนี้ทำให้ทาง Microsoft ได้สิ่งต่างๆ ไปมากมาย ตั้งแต่เกมในเครือ ฐานแฟนคลับ การแข่งขัน E-sports รวมถึงทาง Activision Blizzard เองก็ได้แก้ไขภาพลักษณ์แย่ๆ ที่เคยมีไปด้วย
  • อีกทั้งการซื้อ Activision Blizzard ครั้งนี้ทำให้อนาคตของวงการเกมเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด เกิดความเป็นไปได้อีกมากมาย ทั้งกับบริษัทในเครือของ Microsoft เอง หรือบริษัทเกมยักษ์ใหญ่อื่นๆ ก็ตาม

--------------------

          หลังจากคราวก่อนเราพูดถึงฝั่ง Activision Blizzard ไปว่าก่อนจะมาอยู่ในจุดนี้ พวกเขาเป็นใครและมีคุณค่าในวงการเกมมากเพียงไร คราวนี้เราหันกลับมาพูดถึงฝั่ง Microsoft บ้างว่า ที่ผ่านมาพวกเขาพยายามพัฒนาเครื่องเกมซีรีย์ Xbox และเคลื่อนไหวในวงการเกมมากเพียงไร

 

          เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่าการทุ่มเงินหลายหมื่นล้านเหรียญเพื่อซื้อบริษัทเกมนั้น เกิดมาจากความตั้งใจและคิดมาอย่างดีแล้วว่าการลงทุนครั้งนี้จะคุ้มค่า
บริษัทไอทีที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เกือบทุกคนต่างคุ้นเคยกันดี Microsoft ผู้เล่นหน้าเดิมในวงการที่สั่งสมขุมพลังมายาวนาน
          นับกันในแง่ทรัพยากร Microsoft ถือเป็นบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ที่มีแทบทุกอย่างที่ผู้พัฒนาเกมต้องการ และทาง Microsoft เองก็พยายามพัฒนาเกมของตัวเองมายาวนาน ทั้งเครื่องคอนโซลตระกูล Xbox หรือบรรดาเกมขึ้นชื่ออย่าง Gears of War, Forza Horizon และเกมโจรสลัดล่องเรือที่โด่งดัง Sea of thieves

          แม้ทุกอย่างจะพร้อมสรรพแต่ช่วงเวลาก่อนหน้านี้นับจากการวางขาย Playstation4 ของบริษัท Sony เป็นต้นมา เครื่องเกม Xbox One ที่ถูกผลักดันออกมาให้รุ่นเดียวกันถือว่าพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง จนต้องออกมายอมรับความพ่ายแพ้ในปี 2019 กับยอดขาย 41 ล้านเครื่อง ในขณะที่ Playstation4 มียอดขายถึง 91 ล้านเครื่องในขณะนั้น

 

          แน่นอนว่าถ้าคิดตะลุยตลาดเกมกันต่อการนิ่งนอนใจย่อมไม่ใช่เรื่องดี โดยเฉพาะเมื่อทาง Sony ขยันปั้นแฟรนไชส์เกมลงเครื่องให้เป็น Exclusive on playstation มากมาย ทั้ง God of war, Last of us, Demon soul ฯลฯ นั่นทำให้ Microsoft เริ่มตระหนักว่า พวกเขาขาดเกมฟอร์มยักษ์ที่ใช้ในการดึงดูดผู้เล่น

 

          ในช่วงหลัง Microsoft จึงเริ่มกว้านซื้อสตูดิโอผลิตเกมจำนวนมากเข้ามาในสังกัด เช่น Obsidian Entertainment จากผลงาน Fallout New Vegas, South Park: The Stick of Truth และ The Outer World ล้วนได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวก, Bethesda เจ้าของแฟรนไชส์ดังทั้ง Fallout, DOOM และ The Elder Scrolls ด้วยมูลค่า 8,100 ล้านเหรียญ รวมถึง Mojang ผู้ผลิตเกมฮิตถล่มทลายทั่วบ้านทั่วเมือง Minecraft ในราคา 2,500 ล้านเหรียญ

 

          เห็นได้ชัดว่าทาง Microsoft ทยอยซื้อบริษัทผู้ผลิตเกมเจ้าดังมาตลอด การเคลื่อนไหวที่ทุกคนคิดว่าถือเป็นก้าวใหญ่คือเมื่อปีที่แล้วจากการซื้อ Bethesda เพราะทุกคนล้วนได้ยินและคุ้นชื่อเกมจากบริษัทนี้มายาวนาน ใครเล่าจะคาดคิดว่าทั้งหมดที่ทำในวันนั้นจะยังเล็กน้อย เมื่อเทียบกับก้าวใหญ่ในการซื้อ Activision Blizzard ผลักดันให้ Microsoft กลายเป็นบริษัทเกมยักษ์ใหญ่ในพริบตา

ภาพตัวอย่างของบรรดาแฟรนไชส์ชื่อดังที่อยู่ในมือ Activision Blizzard

ดีลมูลค่า 2 ล้านล้านบาทคุ้มค่าแค่ไหนกับสิ่งที่ได้มา?

          หลายคนอาจสงสัยว่าการลงทุนในครั้งนี้ Microsoft จะนำมาใช้งานได้คุ้มค่าแน่หรือ? คำตอบคือ ใช่ แม้อาจไม่สามารถดำเนินงานหรือเรียกเม็ดเงินส่วนนี้กลับมาใน 1 – 2 ปี แต่นี่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าแน่นอน เมื่อคิดถึงสิ่งที่พวกเขาได้รับจากการซื้อบริษัทเกมใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

 

          อันดับแรกเลยคือจำนวนเกมในมือ Activision Blizzard มีจำนวนมหาศาลมาก ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าทาง Blizzard Entertainment เต็มไปด้วยแฟรนไชส์ยอดเยี่ยมที่มีแฟนเดนตายทั่วทุกมุมโลก ซึ่งทันทีที่ซื้อไปเท่ากับว่า Microsoftกลายเป็นเจ้าของแฟรนไชส์เหล่านี้ไปโดยปริยาย

 

          นอกจากเกมของทาง Blizzard แล้วที่เราต้องพูดถึงเช่นกันคือฝั่ง Activision เจ้าของแบรนด์ดังเกม Call of Duty ที่แม้กระแสคำวิจารณ์มีขึ้นมีลงตามโอกาส แต่ยังคงเป็นแฟรนไชส์เกมยิงที่แข็งแกร่งไม่เสื่อมคลาย จากยอดขายทุกภาครวมกันแล้วมากกว่า 400 ล้านชุดในปี 2021 ในที่นี้ยังไม่รวม Call of Duty: Vanguard ที่เพิ่งวางจำหน่าย รวมถึง Call of Duty: Modern Warfare 2 ซีรีย์ยอดฮิตตลอดกาลของแฟรนไชส์ ที่ถูกนำมาทำใหม่ให้ผู้เล่นวัยเก๋าหวนระลึกถึงตัวละครเก่าๆ อีกครั้ง

 

          อีกทั้งยังมีแฟรนไชส์อื่นอีกมากมายที่ยังไม่ได้พูดถึง เช่น Hearthstone เกมการ์ดจากการต่อยอดตัวละครในซีรีย์ Warcraft, Guitar Hero เกมดนตรีที่ให้เราเล่นเพลงสุดเร้าใจจากคอนโทรลเลอร์รูปทรงกีตาร์, Crash Bandicoot เกมตะลุยด่านรุ่นเตอะ หนึ่งในสัญลักษณ์แห่ง Platstation ที่ต้องไปอยู่กับคู่แข่ง  และ Candy Crush เกมมือถือเรียงเพชรสุดเรียบง่ายที่เคยทำคนติดทั่วบ้านทั่วเมือง ฯลฯ

 

          และเมื่อทาง Microsoft ได้เกมเหล่านี้ไว้ในกำมือ สิ่งที่พวกเขาจะได้รับตามมาคือฐานแฟนคลับ ลูกค้าขาประจำผู้เติบโตมากับเกมเหล่านี้ โดยบางคนยินดีติดตามจนกว่าจะถึงวันโลกล่มลลาย นอกจากเป็นการการันตียอดขายเกมแล้ว ยังเป็นอีกช่องช่วยโปรโมทผลักดันเกมให้เป็นกระแสปากต่อปาก เป็นชุมชนเกมอันสำคัญที่ Microsoft ไม่เคยมีมาก่อน

 

          เท่านั้นไม่พออีกสิ่งที่ Blizzard ภูมิใจนำเสนอเป็นอย่างยิ่งคือ Overwatch League หนึ่งในการแข่งขัน E-sports ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเกมหนึ่ง แม้ปัจจุบันจะเสื่อมความนิยมลงไปบ้าง แต่มูลค่าของการแข่งขันและจำนวนผู้ชมบนโลกยังคงแข็งแรง อีกทั้งน่าสนใจวาเมื่อ Overwatch2 ออกมาจะกลับมาเฟื่องฟูเหมือนเก่าหรือไม่

 

          ประเด็นสุดท้ายคือนอกจากทาง Microsoft แล้ว ยังเป็นประโยชน์กับ Activision Blizzard เช่นกัน จากปัญหาภายในทำให้ภาพลักษณ์บริษัทตกต่ำ ซึ่งนั่นเป็นอย่างเดียวที่เสียหาย เพราะองค์ประกอบอื่นๆ ในบริษัทยังคงยอดเยี่ยม การเข้ามาเทคโอเวอร์ของ Microsoft สามารถแก้ไขภาพลักษณ์ไม่ดีได้ทันที ช่วยให้บริษัทกลับมามีความมั่นคงอีกครั้ง

 

          ดังนั้นจะบอกว่าเป็นดีลที่สองยักษ์ใหญ่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายล้วนพอใจในข้อตกลงก็คงไม่ผิดนัก เพราะทั้งสองฝ่ายมีแต่ได้กับได้ ทิศทางในอนาคตของ Microsoft การพัฒนา Game pass

แรงกระเพื่อมที่ตามมากับการพลิกโฉมวงการเกมในอนาคต

          ผู้ยิ้มไม่ออกจากการซื้อของบริษัทนี้ไม่ใช่บรรดาเกมเมอร์ที่จะยังไม่ได้รับผลในเร็ววัน แต่เป็นสารพัดบริษัทคู่แข่งที่พากันหนาวๆ ร้อนๆ เป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับ Sony เจ้าของเครื่องคอนโซล Playstation ที่เป็นคู่แข่งรายสำคัญและเอาชนะ Xbox มาเกือบตลอด ที่ต้องกลายเป็นฝ่ายเหงื่อตกหากอีกฝ่ายนำกลยุทธ์ Exclusive มาใช้งานแบบที่ตัวเองเคยทำ

 

          แนวโน้มความเป็นไปได้แม้ในปัจจุบันทางฝั่ง Call of duty จะได้รับการยืนยันจาก Phil Spencer หัวหน้าทีมพัฒนา Xbox ว่าจะไม่มีการผูกขาด แต่แฟรนไชส์อื่นอาจไม่เป็นแบบนั้น โดยเฉพาะเกมจากค่าย Bethesda จะลงแค่ใน Xbox Game pass เท่านั้น จึงเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับทาง Sony ว่า พวกเขาจะถูกผูกขาดเกมเหล่านี้ไปหรือไม่

 

          ความสั่นคลอนนี้เห็นได้ชัดจากหุ้นของ Sony ตกลง 9.8% หลังเปิดตลาด อีกทั้งในปัจจุบันปัญหาที่ทาง Sony ยังคงแก้ไม่ตกคือเครื่อง Playstation5 ยังคงขาดตลาดจากการขาดแคลนชิป จนทางบริษัทต้องกลับมาเปิดไลน์การผลิต Playstation4 ทดแทน ซึ่งทางผู้เขียนคิดว่าการทำเช่นนี้ไม่น่าช่วยเรื่องการขาดตลาดแต่อย่างใด

 

          มากกว่านั้นคือไม่มีสิ่งใดรับประกันว่าทาง Microsoft จะหยุดอยู่แค่นี้ ในเมื่อพวกเขาซื้อยักษ์ใหญ่นี้ได้บริษัทผู้ผลิตเกมรายอื่นเองก็ไม่แน่ว่าจะโดนรวบเข้ามาด้วย เพราะมูลค่าของทางบริษัทเกมหลายแห่งก็ไม่ได้สูงเท่า Activision Blizzard อีกแล้ว โดยตัวเลขต่อไปนี้เป็นการประเมินโดยคร่าวของ Geoff Keighley นักข่าวสายเกมชื่อดัง

  • Electronic Arts 3.8 หมื่นล้านเหรียญ
  • Take-Two Interactive 1.8 หมื่นล้านเหรียญ
  • Nexon 1.5 หมื่นล้านเหรียญ
  • BANDAI NAMCO Entertainment 1.5 หมื่นล้านเหรียญ
  • Ubisoft Entertainment 7 พันล้านเหรียญ
  • Konami digital entertainment 6 พันล้านเหรียญ
  • Square Enix 5.6 พันล้านเหรียญ
  • Capcom 3.6 พันล้านเหรียญ

          ส่วนราคาประเมินของทาง Activision Blizzard ก่อนทำการซื้อขายอยู่ที่ราว 6.4 หมื่นล้านเหรียญ

 

          ถึงเป็นแค่จำนวนโดยคร่าวแต่เมื่อเทียบราคาขายของ Activision Blizzard ตัวเลขค่อนข้างใกล้เคียงความเป็นจริง ดังนั้นถ้าทาง Microsoft ต้องการซื้อสักบริษัทในนี้เพิ่มจึงไม่เป็นปัญหาเลย เมื่อพวกเขาผ่านยักษ์ใหญ่ที่สุดในกลุ่มมาแล้ว และเราไม่อาจคาดเดาได้ด้วยว่า ระหว่างนี้จะมีการตกลงพูดคุยซื้อขายบริษัทใดเพิ่มเติม

 

          ดังนั้นตอนนี้คาดว่าทาง Sony เองก็จำเป็นต้องดำเนินกลยุทธ์หาทางตอบโต้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เครื่องเกมของตัวเองยังไม่ถึงมือผู้บริโภคในท้องตลาดจากปัญหาขาดแคลนชิป รวมถึงคนบางส่วนเริ่มเสื่อมศรัทธาคำว่า Exclusive ภายหลังการนำเกมทยอยมาลงตามแพลตฟอร์มอื่นๆ

 

          สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจกังวลคือตลาดเกมจะกลายเป็นการผูกขาดหรือไม่ นั่นอาจเป็นไปได้เมื่อในอนาคตเทคโนโลยีการเล่นเกมล้ำหน้าไปกว่าเดิม แต่อย่างน้อยในช่วงเวลา 10 ปีนี้เหตุการณ์เหล่านั้นจะยังไม่เกิดขึ้น เพราะค่ายผู้ผลิตเกมรายใหญ่เองก็ยังมีจำนวนมาก ตราบเท่าที่ยังไม่เกิดการควบรวมหรือรวบบริษัทเข้าหากันเพิ่มเติม

 

          ทั้งนี้คงต้องรอดูกันต่อไปว่าอนาคตวงการเกมจะเป็นเช่นไร เพราะการควบรวมกิจการก็ใช่จะเป็นเรื่องง่าย ปัจจุบันกระทรวงยุติธรรม และ คณะกรรมการการค้าสหรัฐฯล้วนออกมาเคลื่อนไหว เพื่อปรับปรุงแนวทางควบรวมกิจการภายในประเทศ และกำลังตรวจสอบการควบรวมกิจการนี้อย่างเข้มข้นเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด

 

          ดังนั้นเราคงต้องรอชมกันต่อไปว่าการซื้อกิจการครั้งนี้ของทาง Microsoft จะจบลงเช่นไร? จะถูกแทรกแซงมากน้อยแค่ไหน? รวมถึงตัวบริษัทเองจะมีทิศทางพัฒนาไปเช่นไรต่อ? แม้มันจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดในเร็ววันต้องใช้เวลากันอีกสักพักกว่าจะเห็นผลว่าจะนำไปสู่ทิศทางไหน

 

          ที่แน่ใจคือจากวันนี้ไปอุตสาหกรรมเกมจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

--------------------

ที่มา

logoline