svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ดีลยักษ์มูลค่า 2 ล้านล้าน!! Microsoft ซื้อ Activision Blizzard พลิกโฉมอุตสาหกรรมเกมไปตลอดกาล(1)

25 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถือเป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการไอทีกับการเข้าซื้อ Activision Blizzard ของทาง Microsoft กับมูลค่ามหาศาลตลอดกาลของวงการเกมหรือแม้แต่วงการไอทีด้วยกัน บริษัท Activision Blizzard คือใคร? ทำไมถึงมีมูลค่ามากมายนัก?

Highlights

  • ถือเป็นดีลยักษ์สะเทือนวงการเกม เมื่อ Microsoft ประกาศซื้อ Activision Blizzard ในมูลค่ากว่า 6.87 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.26 ล้านล้านบาท
  • ถือเป็นราคาที่สูงมากแต่นับว่าสมน้ำสมเนื้อ เมื่อ Activision Blizzard เต็มไปด้วยประวัติอันยาวนานจากแฟรนไชส์จำนวนมหาศาลที่เกมเมอร์รุ่นเก๋าล้วนคุ้นชื่อ
  • เดิมบริษัทนี้ชื่อ Blizzard Entertainment เคยเข็นเกมชื่อดังออกมามากมายทั้ง Warcraft, Starcraft, World of warcraft,  Diablo จนถึง Overwatch ล้วนกลายเป็นเกมขึ้นหิ้งของใครหลายคน
  • จนมาในระยะหลังเมื่อคุณภาพการผลิตเกมเริ่มดิ่งลง ตามมาด้วยการเปิดโปงปัญหาภายในการบริหารของทางบริษัท นำไปสู่การฟ้องร้องและชื่อเสียงทำให้ทีมงานจำนวนมากทยอยกันลาออก
  • ด้วยเหตุนี้เองอาจนำไปสู่การขายให้แก่ Microsoft เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ที่เสียหายในที่สุด

--------------------

          ถือเป็นดีลยักษ์ใหญ่สะเทือนอุตสาหกรรมเกมกับการประกาศซื้อกิจการ Activision Blizzard บริษัทผู้พัฒนาเกมอันดับต้นๆ โดย Microsoft ผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่สุดในโลก ถือเป็นดีลครั้งประวัติศาสตร์ที่มีมูลค่าสูงสุดนับแต่มีการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมวีดีโอเกม จนอาจกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการ

 

          ผู้คนต่างรู้จักบริษัท Microsoft กันมานานจากระบบปฏิบัติการที่คนส่วนมากใช้กัน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกนักที่ทางบริษัทจะมีเม็ดเงินมหาศาลในการมาใช้งาน แต่ในการเทคโอเวอร์มูลค่า 6.87 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.26 ล้านล้านบาท ก็ยังถือเป็นมูลค่ามหาศาลสั่นสะเทือนทั่ววงการ

 

          ถามว่าดีลนี้มีมูลค่ามากขนาดไหน? หากให้เทียบใกล้เคียงที่สุดในกรณีใกล้เคียงกันคือทาง Disney เจ้าของอุตสาหกรรมบันเทิงรายใหญ่ ที่เข้าซื้อค่ายบริษัทผลิตสื่อรายใหญ่ 20th Century Fox ด้วยมูลค่าราว 7.14  หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 2.35 ล้านล้านบาท จะเห็นได้ว่าเป็นมูลค่าต่างกันไม่มาก

ดีลยักษ์มูลค่า 2 ล้านล้าน!! Microsoft ซื้อ Activision Blizzard พลิกโฉมอุตสาหกรรมเกมไปตลอดกาล(1) ย้อนรอย Blizzard ตำนานพ่อมดน้ำแข็งที่ครองใจเกมเมอร์หลายสิบปี
          ถือเป็นชื่อที่คอเกมเมอร์รุ่นเก๋ารู้จักกันดีกับ Blizzard Entertainment บริษัทเกมยักษ์ใหญ่เลื่องชื่อที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ 8 กุมภาพันธ์ 1991 จากบริษัทที่เดิมจัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการพอร์ทเกมสำหรับค่ายอื่นๆ สู่การผันตัวมาเป็นราชาแห่งวงการที่ครองใจผู้เล่นรุ่นเก๋ายาวนานหลายสิบปี

 

          ภายหลังจากเริ่มผลิตเกมของตัวเองไม่ช้า Blizzard ก็สามารถผลักดันตัวเองให้เป็นราชาแห่งเกม RTS(Real Time Strategy) หรือเกมวางกลยุทธ์แบบเรียลไทม์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง Warcraft และ Starcraft ถือเป็นเกมที่ได้รับความนิยมล้นหลามแม้แต่ในประเทศไทย ในยุคอินเทอร์เน็ตคาเฟ่นี่ถือเป็นหนึ่งในเกมที่ทางร้านต้องมีติดเครื่อง

 

          นอกจากเกมแนววางแผนการรบ หนึ่งในเกมที่สร้างชื่อให้แก่ค่ายคือ World of warcraft  เกม Action RPG Multiplayer สุดฮิตตลอดกาล ที่แม้จะผ่านกาลเวลามาเกือบ 20 ปี ความนิยมเสื่อมถอยลงตามกาลเวลาไปบ้าง แต่ยังคงมีจำนวนผู้เล่นไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคน อีกทั้งยังมีการเติบโตทางรายได้อีกปีละ 7% และยังคงเป็นดาวค้างฟ้าจนทุกวันนี้

 

          เมื่อพูดถึงเกมประจำค่ายคงตกเกมนี้ไปไม่ได้กับเกม RPG ในตำนานอย่างแฟรนไชส์ Diablo ด้วย Diablo3 ที่สามารถทำยอดขายได้กว่า 12 ล้านชุดตั้งแต่เปิดตัว รวมถึงไอเทมในเกมที่สามารถทำมูลค่าได้นับแสนบาท แม้ทิศทางการพัฒนาจะทำให้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูในช่วงหลัง แต่ถือเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์สำคัญที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

 

          อีกหนึ่งเกมที่ขึ้นชื่อไม่แพ้กันของทางค่าย Overwatch เกม FPS กึ่ง MOBA ที่เคยเฟื่องฟูในหลายประเทศ แม้กระแสจะเริ่มซบเซาไปตามกาลเวลาแต่มูลค่าในฐานะการแข่งขันอีสปอร์ตกลับไม่เคยตก ยืนยันได้จากเงินรางวัลที่มีมูลค่ารวมถึง 4.2 ล้านเหรียญ เช่นเดียวกับค่าสัญญาณถ่ายทอดสดที่มีข่าวลือว่ามากถึง 160 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

  จากที่กล่าวไปข้างต้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจว่าเหตุใดเกมจากค่ายนี้จึงเคยเป็นตัวการันตีคุณภาพ นับเป็นผู้ผลิตเกมที่ครั้งหนึ่งผู้เล่นทั้งหลายต่างพากันบูชา จนหลายคนพากันชื่นชมว่า Blizzard เปรียบเสมือนพ่อมด ที่อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบแต่ทุกชิ้นงานของพวกเขาเปี่ยมด้วยเสน่ห์และเอกลักษณ์ มากพอดึงดูดผู้เล่นนับล้านไว้กับพวกเขาได้เหนียวแน่น

 

          อีกทั้งเมื่อได้ทาง Activision เข้ามาเสริมทัพด้วยสุดยอดแฟรนไชส์เกม FPS อย่าง Call of duty ที่ทยอยเข็นภาคใหม่มาให้เราเกือบทุกปี และยังคงเป็นแฟรนไชส์ฮิตติดลมบนตลอดกาลที่มีผู้ติดตามเป็นอันดับต้นๆ ของวงการเกม นี่จึงเป็นอีกค่ายเกมยักษ์ของโลกได้ไม่ยาก จากเกมดังในอดีต สู่การทำใหม่ที่พาผู้คนผิดหวัง เมื่อมนต์ขลังเริ่มเสื่อม ร่องรอยแห่งปัญหาจากการดำเนินงานและข่าวเสียหายในช่วงหลัง

          จะบอกว่าเป็นจุดเสื่อมถอยของทาง Blizzard คงได้เมื่อความนิยมของทางค่ายเริ่มตกลง อันที่จริงประเด็นปัญหาต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นมานานแต่ในช่วงแรกแฟนเกมยินดีจะให้อภัยและมองข้าม จนผู้เล่นจำนวนมากเริ่มออกมาส่งเสียงบ่นหนาหูจากการพัฒนาตัวเกมในสังกัด ที่นานวันเริ่มทำให้ผู้คนไม่พอใจเข้าทุกที

 

          แรกสุดคือระบบเกม Diablo3 ที่แม้ได้รับคำวิจารณ์ดีในหลายด้านและมียอดขายถล่มทลาย แต่เต็มไปด้วยสารพัดปัญหามากมาย ตั้งแต่เซิร์ฟเวอร์ไม่เพียงพอรองรับผู้เล่น การเปลี่ยนรูปแบบเกมให้ซื้อขายของได้ คอนเท้นท์ที่น่าผิดหวัง ไปจนการอัพเดทเนื้อหาไม่คุ้มราคาที่จ่ายไป อีกทั้งทางผู้พัฒนายังหันไปพัฒนาให้เกมมือถือออกมาเป็น Diablo Immortal ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่บรรดาแฟนเดนตายจะชื่นชม ทำให้พวกเขายิ่งสาปส่งการกระทำนี้เข้าไปอีก

 

          เช่นเดียวกับ World of warcraft ที่แม้ความนิยมจะยังถล่มทลายครองบัลลังก์แชมป์อยู่จนทุกวันนี้ จำนวนผู้เล่นกลับน้อยลงเรื่อยๆ โดยยอดผู้เล่นในช่วงไตรมาสแรกปี 2021 มีอยู่ 27 ล้านคน ในขณะที่ช่วงปี 2018 เคยมีผู้เล่นรายเดือนมากถึง 38 ล้านรายเลยทีเดียว ส่วนหนึ่งมาจากเกมคู่แข่งอย่าง Final fantasy XIV เริ่มเติบโต แต่ต้องยอมรับว่าเกมนี้ก็เข้าสู่ช่วงถดถอยแล้วจริงๆ

 

          การนำเกมเก่ากลับมาทำใหม่อย่างการรีเมค Warcraft III ให้เป็น Warcraft III: Reforged ที่ทำออกมาย่ำแย่ จากการทำออกมาได้ไม่เท่าที่เคยโฆษณา ระบบควบคุม หน้าต่างเกม และมุมกล้องล้วนยกจากของเดิมมาหมดสิ้นจนกลายเป็นล้าสมัย รวมถึงบั๊คในเกมอีกมากมายมหาศาล ทำให้ผู้เล่นต่างบอกว่าเกมเวอร์ชั่นดั้งเดิมยังมีคุณภาพกว่า จนได้รับคะแนนวิจารณ์ในเว็บ Metacritic ไปจนได้คะแนนเพียง 0.6 เต็ม 10

 

          เกมออกใหม่ที่เคยคิดปลุกปั้นอย่าง Hero of the storm ที่ทางค่ายหมายมั่นปปั้นมือเป็นอีกหนึ่งเรือธง ภายหลังเกมของตัวเองอย่าง Warcraft เคยถูกนำผู้เล่นไปปรับปรุง สร้างเกมแนวทางใหม่อย่าง MOBA จนกลายเป็นเกม DOTA ที่แฟนทั่วโลกรู้จักกันดีได้สำเร็จ ทางค่ายจึงพยายามสร้างเกมแนวนี้ของค่ายตัวเอง แต่ผลลัพธ์กลับออกมาไม่ดีนักด้วยช่วงเวลาที่เกมออกมาช้าเกิน การเจาะตลาดกลุ่มผู้เล่นดั้งเดิมเป็นเรื่องยาก สุดท้ายอนาคตของเกมนี้จึงมืดมนลงในที่สุด

 

          ส่วน Overwatch ที่แม้ฐานผู้เล่นยังคงเหนียวแน่น 5 ล้านคนต่อเดือน แต่กระแสความสนใจบนโลกออนไลน์เริ่มเฉยชา ไม่ตื่นเต้นหรือมีอารมณ์ร่วมใดๆ ต่อเกมอีกต่อไป จากการอัพเดทที่พยายามทำเกมให้เป็นอีสปอร์ตจนละเลยผู้เล่นบางส่วน ทีมพัฒนาที่ทยอยลาออกไปเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการหันไปพัฒนา Overwatch2 ทำให้หลายคนเริ่มหมดความสนใจไปในที่สุด

 

          แม้แต่ทาง Activision เองยังได้รับผลกระทบ เกม Call of duty: Vanguard ได้รับคะแนนจากนักวิจารณในเว็บ Metacritic ไปเพียง 75 เต็ม 100 น้อยที่สุดในแฟรนไชส์ จากปัญหาการดำเนินเนื้อเรื่องภายในเกม ทำให้ยอดขายลดลงจากภาคเก่าไปกว่า 40% และกลายเป็นภาคที่มียอดขายเปิดตัวตกต่ำที่สุดในรอบ 14 ปี Bobby Kotick ซีอีโอของ Activision Blizzard ที่ประสบปัญหามากมาย ศึกนอกว่าหนักหนา ปัญหาภายในเองก็ร้ายแรงไม่แพ้กัน

          ในส่วนพัฒนาเกมมีปัญหาพนักงานในบริษัทเองก็เป็นประเด็นไม่แพ้กัน จากการฟ้องร้องของ Department of Fair Employment and Housing(DFEH) ด้วยประเด็นการกดขี่รวมถึงล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นภายในองค์กร โดยมีการคุกคามทางด้านเพศหลายรูปแบบ ผู้หญิงได้รับเงินเดือนไม่เป็นธรรมและมีโอกาสก้าวหน้าทางตำแหน่งน้อยกว่า จนถึงการเล็งเล่นงานคนที่ร้องเรียนปัญหาเหล่านี้ให้โดนเลิกจ้าง ถึงขั้นเคยมีพนักงานฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถทนรับแรงกดดันได้

 

          สิ่งนี้กลายเป็นรอยร้าวขนาดใหญ่ทำให้ชื่อเสียงของบริษัทจมดิ่ง จนทาง J. Allen Brack  ประธานบริษัท Blizzard Entertainment ต้องขอรับผิดชอบด้วยการลาออก รวมถึงการปลดพนักงานเป็นจำนวนมากที่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ทั้ง Louis Barriga ผู้กำกับ Diablo IV, Jesse McCree หัวหน้าทีมออกแบบฉาก และ Jonathan LeCraft นักออกแบบ World of Warcraft ต้องออกจากบริษัท รวมถึงพนักงานอีกจำนวนมากที่ทยอยลาออกไปตามกัน

 

          วิบากกรรมยังไม่หมดเมื่อภาพลักษณ์บริษัทเสียหายหลายบริษัทจึงยุติให้การสนับสนุน โดยเฉพาะในแวดวง E-sports ของทางค่าย Call of duty League ถูกทาง T-mobile บริษัทโทรคมนาคมใหญ่ของสหรัฐฯถอนการสนับสนุนไปพร้อมกับ Overwatch League ไม่ต่างจากทาง Coca-Cola และ State Farm อีกสองบริษัทยักษ์ทยอยถอนตัวไปตามกัน

 

          เรียกว่านี่เป็นเคราะห์กรรมครั้งใหญ่และร้ายแรงสุดครั้งหนึ่งของบริษัท แม้ทางด้านรายได้ยังทรงตัวไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่เรื่องนี้สร้างประเด็นใหญ่ให้ทางบริษัทจนเกิดการฟ้องร้องมากมาย ทั้งจากผู้เสียหาย ผู้ถือหุ้น แม้แต่ภาครัฐ ทำให้ก่อนหน้านี้ผู้คนต่างพากันกังวลว่า หนึ่งในบริษัทเกมยอดนิยมจะหาทางออกแบบไหน

 

          ในช่วงเวลาที่ปัญหารุมเร้าคงไม่มีใครคาดคิดว่า Microsoft จะเป็นฝ่ายกระโดดลงมาซื้อบริษัทไปแบบนี้เลย

--------------------

ที่มา

logoline