svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

อย่าให้คลาดสายตา! เทรนด์ธุรกิจและความเสี่ยงที่อาจมาในปี 2022

13 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลายประเทศเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนและประชาคมโลกเริ่มปรับตัวกับ New Normal ได้แล้ว ก็ได้เวลาที่ธุรกิจจะต้องเร่งฟื้นคืน แล้วธุรกิจไหนเป็นที่น่าจับจ้องบ้างว่าจะรุ่งหรือจะร่วง พร้อมความเสี่ยงที่อาจมาในปี 2022 ?

          นับเป็นความเจ็บช้ำครั้งใหญ่สำหรับหลายกลุ่มธุรกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ใครๆก็ตั้งรับกันไม่หวั่นไม่ไหว โดยในปี 2022 นี้ หลังหลายประเทศเร่งระดมฉีดวัคซีนและปรับตัวกันได้พอสมควร สถานการณ์ของธุรกิจยักษ์ใหญ่กลุ่มไหนบ้างที่มีแนวโน้มจะดีขึ้น แล้วธุรกิจไหนยังต้องเผชิญกับเรื่องวนลูปให้เจ็บปวดซ้ำ?

 

กลุ่มพลังงาน
อุตสาหกรรมน้ำมัน เทรนด์ที่น่าจับตามอง
          ช่วงปี 2020 - 2021 ที่ผ่านมา ถือเป็นความยากที่กลุ่มพลังงานต้องเผชิญ เมื่อความต้องการในการใช้น้ำมันของอุตสาหกรรมโลกลดน้อยลง รวมไปถึงอัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ส่งผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในกลุ่มพลังงานต่างขาดทุนย่อยยับไปตามๆกัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงนี้ ต้นตอล้วนมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

 

          ในปี 2022 นี้ การแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มออกมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง กลุ่มพลังงานอาจยังต้องรอลุ้นตุ๊มๆ ต่อมๆอยู่บ้างว่าความต้องการขายและความต้องการซื้อของตลาดจะยังมีความสอดคล้องกันหรือไม่ นอกจากนี้ “อัตราเงินเฟ้อ” ที่เป็นปัจจัยภายนอกและไม่สามารถควบคุมได้ ก็มีส่วนสำคัญสำหรับการซื้อขายเช่นกัน
ป้ายโปรโมทการประชุม COP26

ความเสี่ยงครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น และหลีกเลี่ยงไม่ได้
          ผลจากการสู้กันในชั้นศาลของรัฐบาลกลางสหรัฐ อาจมีแนวโน้มว่าหน่วยงานต่างๆรวมถึงตัวรัฐบาลเองต้องเริ่มควบคุมปริมาณมลพิษว่าสามารถปล่อยได้มากน้อยแค่ไหน  ซึ่งจากการกฎหมายควบคุมมลพิษนี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมากได้รับผลกระทบ (โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมพลังงานที่ปล่อยมลพิษปริมาณมหาศาล) 

          ในขณะเดียวกัน จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งประเทศที่เข้าร่วมเกือบ 200 ประเทศ ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันที่เรียกว่า Glasgow Climate Pact ที่ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้อง "ทบทวนและเสริมสร้าง" เป้าหมายปริมาณการปล่อยมลพิษภายในสิ้นปี 2022 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 

 

          ถือเป็นความท้าทายใหม่ของกลุ่มพลังงานที่ต้องคิดหาแนวทางผลิตพลังงานสะอาด (Green energy) เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก บางประเทศเริ่มเคาะสัญญาการลงทุนสำหรับซัพพลายเออร์ที่ผลิตพลังงานสะอาดได้ ซึ่งหากบริษัทไหนในกลุ่มพลังงานที่ยังคิดผลิตซ้ำแบบเดิม ไม่ปรับตัวตามความต้องการของตลาดโลก อาจมีเกณฑ์ต้องทรุดหนักได้

 

เซอร์ไพรส์ใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น
          ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่ากลุ่ม โอเปกหรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน รวมถึงชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) กำลังเตรียมระงับแผนเพิ่มกำลังการผลิตในต้นปี 2022 ที่เพิ่งมาถึง เพื่อรับมือกับความต้องการของตลาดที่ลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่อย่าง “โอมิครอน” รวมถึงเพื่อสอดรับกับมาตรการของสหรัฐและประเทศพันธมิตรอื่นๆในการเร่งระบายน้ำมันดิบออกจากคลังสำรอง

 

          แต่แถลงการณ์หลังการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันล่าสุดระบุว่า ที่ประชุมกลับมีมติยึดมั่นข้อตกลงเดิมในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันที่ 400,000 บาร์เรล/วัน แต่ทางดันสหรัฐและชาติพันธมิตรกลับกดดันให้โอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้มากกว่านี้ เพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน เราอาจยังต้องจับตารอลุ้นกันต่อว่ายักษ์ใหญ่ในกลุ่มพลังงานจะมีใครปล่อยมัดฮุกใส่กันอีกหรือไม่ และความผันผวนของตลาดจะสร้างความหนักใจให้กับกลุ่มพลังงานหรือไม่?

กลุ่มเทคโนโลยี
กลุ่มเทคโนโลยี เทรนด์ที่น่าจับตามอง
          ยุคหลังนี้ “Web3” ถูกพูดถึงในแวดวงเทคโนโลยีมากขึ้น โดยคาดว่าจะเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ทำให้ "โลกอินเทอร์เน็ตเป็นประชาธิปไตย" โดยแนวคิดของ Web3 ว่าด้วยการสร้างอินเทอร์เน็ตแห่งโลกอนาคตที่จะเป็นของทุกคน โดยไม่มี Google หรือ Facebook เป็นเจ้าใหญ่แห่งโลกอินเทอร์เน็ตอีกต่อไป

 

          Web3 จะมีการเพิ่มเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้าไป เพื่อทำให้โลกออนไลน์มีความเท่าเทียมกัน และเกิดการกระจายอำนาจมากขึ้น พัฒนาจนไม่มีการผูกขาดเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งทุกคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถเป็นเจ้าของและควบคุมข้อมูลบนโลกออนไลน์ได้อย่างเท่าๆกัน โดยไม่ต้องเสียเปรียบบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ซึ่งจะเป็นวิธีแก้ปัญหาเรื่องข้อมูลบนโลกออนไลน์ที่ถูกเก็บรวมไว้ในบริษัท Big Tech เพียงไม่กี่แห่ง

 

          การใช้เทคโนโลยี Web3 ได้เกิดขึ้นแล้วในแวดวงสกุลเงินดิจิทัลหรือ “คริปโตเคอเรนซี่” และ “NFT” ซึ่งแม้ว่ายังไม่มีกำหนดแน่ชัดต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่า Web3 จะเห็นเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ แต่คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งตลาดใหญ่ที่กำลังมาและทรงอิทธิพลในแวดวงไอทีของปี 2022 นี้

 

ความเสี่ยงครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น และหลีกเลี่ยงไม่ได้
          ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการสหภาพยุโรปได้ปล่อยร่างกฎหมายดิจิทัลสองฉบับออกมา คือกฎหมายบริการดิจิทัล (Digital Services Act) และกฎหมายตลาดดิจิทัล (Digital Markets Act) ซึ่งถือเป็นกรอบใหม่ในรอบ 20 ปีที่ออกมาเพื่อกำกับดูแลโลกอินเทอร์เน็ต

 

          จุดเปลี่ยนหลักของกฎหมายทั้งสองฉบับนี้คือวิธีการมอง ‘ปัญหา’ จากเดิมที่ต้องฟ้องร้องหลังเกิดเหตุ สู่การจำกัดอำนาจก่อนเกิดเหตุ เพื่อลดความเสี่ยงที่บริษัทจะทำลายการแข่งขันในอนาคต โดยหากร่างฉบับนี้ผ่านและมีการบังคับใช้จริง ก็จะกลายเป็นต้นแบบนวัตกรรมการกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ให้กับทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา

 

เซอร์ไพรส์ใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น
          “จักรวาลนฤมิตร” หรือ “Metaverse” ที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ถูกเป็นที่จับตามองมาเรื่อยๆนับตั้งแต่การออกมาประกาศช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา แต่ล่าสุดกลับมีกลิ่นดราม่าลอยคลุ้งออกมาเมื่อมีรายงานว่าบริษัท Meta (เดิม Facebook) เกิดการยุบทีมและโครงการพัฒนาระบบปฏิบัติการ VR/AR ของตัวเองไปแล้ว จึงเกิดเป็นที่เคลือบแคลงใจว่าบริษัทกำลังหันหัวเรือไปในทิศทางไหนกันแน่?

 

          แม้ทางบริษัท Meta เองจะออกมาแถลงไขความสงสัยของชาวเน็ตว่ายังคงลงทุนและพัฒนาแผนงานนี้อยู่เรื่อยๆเพื่อช่วยให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่ Metaverse ตั้งไว้ แต่ก็ถือได้ว่ายังเป็นที่น่าจับตาสำหรับสำหรับธุรกิจว่าหากเบนเข็มมาตาม Metaverse แล้วจะรุ่งหรือจะร่วง?

 

กลุ่มการท่องเที่ยว
กลุ่มการท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้นหรือไม่ในปี 2022? เทรนด์ที่น่าจับตามอง
          หลังจากช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ปริมาณความต้องการท่องเที่ยวของผู้คนต่างลดน้อยลง รวมถึงมาตรการจากทางรัฐบาลของแต่ละประเทศที่ขอความร่วมมือในการชะลอการเดินทาง ทำให้สายการบินต่างๆต้องปรับลดราคาค่าเดินทาง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ แต่หลังจากทั่วโลกเร่งระดมอัตราการฉีดวัคซีนกันแล้ว ความต้องการของผู้โดยสารมีเกณฑ์ว่าจะเพิ่มมากขึ้น มิหนำซ้ำราคาน้ำมันและการเรียกเก็บภาษีสนามบินที่เพิ่มขึ้น ในปี 2022 นี้ อาจส่งผลให้ราคาตั๋วโดยสารอาจมีแนวโน้มกลับมาทะยานขึ้น

 

ความเสี่ยงครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น และหลีกเลี่ยงไม่ได้
          ข้อตกลง Glasgow Climate Pact จากการประชุมสุดยอดผู้นำ COP26 ยังถือเป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ต้องหาแนวทางการใช้พลังงานสะอาด (Green energy) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง และตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก 

 

          ทั้งแรงกดดันจากประชาคมโลก ตลาดของผู้บริโภคที่พยายามต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาจทำให้สายการบินและการคมนาคมหลายเจ้าต้องตั้งแนวทางในการดำเนินกิจการใหม่ รวมถึงต้นทุนที่นำมาใช้ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นหรือลดลงกันแน่

 

เซอร์ไพรส์ใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น
          ราคาซื้อขายหุ้นในกลุ่มธุรกิจการบินดิ่งลงเหวในช่วงที่ผ่านมา  อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวดูเหมือนกำลังจะกลับสู่สถานการณ์ปกติหลังจากที่ก่อนหน้านี้สายการบินต่างๆ ล้วนทำทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอด แต่มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2022 นี้ ทุกอย่างจะกลับมาทะยานพุ่งขึ้นสูงยิ่งกว่ารถไฟเหาะเสียอีก!

 

          แต่เหมือนบุญมีแต่กรรมบัง การกลับมาระบาดอีกระลอกจากสายพันธุ์ “โอมิครอน” ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังสามารถทะยานได้อีกหรือ? แล้วสถานการณ์จะกลับไปวนซ้ำเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหรือไม่? 

--------------------

อ้างอิง: 

logoline