- 07 ม.ค. 2565
- 8.3k
เมื่อโลกพัฒนานวัตกรรมเพื่อการตายจากโลกนี้ไปอย่างสงบ ความเป็นไปได้ของการ “การุณยฆาต” ในไทยพัฒนาไปมากแค่ไหน? เมื่อไหร่ที่ความตายเป็นเรื่องที่เราเลือกเองได้?
ช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ข่าวหนึ่งที่เรียกเสียงฮือฮาให้กับคนทั่วโลกเมื่อบริษัท Exit International ได้เปิดตัวเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่มีชื่อว่า “ซาร์โก (Sarco)” ซึ่งเป็นแคปซูลขนาดใหญ่โดยมีจุดประสงค์เพื่อการุณยฆาต หรือจบชีวิตโดยไม่เจ็บทรมาน ซึ่งเจ้าแคปซูลตัวดังกล่าว ได้ผ่านการรับรองทางกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ยังไม่วายมีเสียงวิจารณ์จากบางฝ่ายว่านวัตกรรมนี้มีความเหมาะสมกับความเป็นมนุษย์หรือไม่?
เราเองคงเคยพบเห็นผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์กับความเจ็บปวดของโรคต่างๆในระยะสุดท้ายอยู่ไม่น้อย ที่แม้แต่การรักษาทางการแพทย์ก็ไม่ช่วยทุเลาอาการลงได้ ความตายอาจถือเป็นสิ่งเดียวที่สามารถช่วยให้พวกเขาหายจากความเจ็บปวดทรมาน การ “การุณยฆาต” จึงถือเป็นทางออกสำหรับสถานการณ์นี้ที่ได้รับการรับรองจากหลายประเททั่วโลกว่าเป็นหนทางที่คนเราสามารถเลือกจากโลกนี้ไปได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ต้องเผชิญกับความทรมาน
เมื่อพูดถึงการ “การุณยฆาต” หลายคนอาจนึกถึงภาพหมอที่ต้องจบชีวิตคนไข้ลงด้วยการฉีดยาหรือสารต่างๆให้คนไข้หลับไปตลอดกาล จริงๆแล้วความเข้าใจดังกล่าวถือได้ว่าไม่ผิด โดยกระบวนการนี้มีชื่อเรียกของมันว่า ‘การุณยฆาตเชิงรุก (Active Euthanasia)’ เพื่อเร่งให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย เหมือนกับการประหารชีวิตนักโทษ
แต่การการุณยฆาตที่มาจากความต้องการโดยตรงของผู้ป่วยเองก็มีเช่นกัน วิธีการนี้จะเรียกว่า ‘การุณยฆาตเชิงรับ (Passive Euthanasia)’ ซึ่งเป็นวิธีตัดการรักษาของผู้ป่วยที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดและเป็นวิธีที่ปฏิบัติกันในสถานพยาบาลหลายแห่งทั่วทั้งโลก
เท่านั้นยังไม่พอ เพราะล่าสุดนี้ ดร.นิทสช์เก (Philip Nitschke) ผู้ผลิตและคิดค้นแคปซูลฆ่าตัวตาย ก็เปิดเผยอีกว่าเขากำลังวางแผนเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ตัวใหม่ ที่จะฝังเข้าไปในร่างกายคนและตั้งเวลาฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้าได้! โดยจุดประสงค์หลักเพื่อนำไปใช้กับผู้ที่มีภาวะทางสมอง เช่น สมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์
อุปกรณ์ที่จะถูกพัฒนาขึ้นชิ้นนี้จะทำให้เจ้าของร่างกายเป็นผู้ตัดสินและรับผิดชอบความตายด้วยตัวเอง เมื่อไม่ต้องการอยู่ต่อในสภาพนอนเป็นผัก (The vegetative state) เจ้าของร่างกายก็สามารถจบชีวิตตัวเองได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรืออ้อนวอนใครให้การุณยฆาตให้
เงื่อนไขทางสังคม ศีลธรรม และ ศาสนา อำนาจชี้เป็นชี้ตาย ใครตัดสินใจ?
การจัดการชีวิตผู้ป่วยที่หมดทางเยียวยาให้ได้รับคุณภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ล้วนมีความคิดเห็นจากหลายแง่มุมทั้งทางการแพทย์ สังคม ศาสนา และความชอบธรรมทางกฎหมาย ซึ่งในหลายแง่มุมที่ว่ามานี้ล้วนมีเหตุผลที่ล้วนยอมรับได้ทั้งสิ้น การ“การุณยฆาต” ยังถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่และยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทยมากพอสมควร เมื่อเทียบกับบางประเทศในฝั่งตะวันตก
เนเธอร์แลนด์ถือได้ว่าเป็นประเทศแรกในโลกที่ผ่านกฎหมายฉบับนี้ในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งหลังผ่านร่างกฎหมายแล้ว ในแต่ละปีมีผู้เลือกที่จะจบชีวิตด้วยการทำการุณยฆาตนับหมื่นคน แต่ในอีกหลายประเทศกลับไม่เป็นเช่นนั้น ผู้คนยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่มาก
ในส่วนของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถือได้ว่าเป็นประเทศที่ผู้ป่วยจากต่างประเทศสามารถเดินทางไปเข้ารับการทำกรุณยฆาตได้ เนื่องจากมีกฎหมายอนุญาตให้ผู้ป่วยยุติชีวิต ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2485 และยังมีสถาบันเกี่ยวกับการยุติการรักษาสำหรับผู้ป่วยต่างชาติที่มีเพียงแห่งเดียวในโลก คือ Dignitas Suicide Clinic ซึ่งบุคคลสำคัญหลายคน เลือกมาจบวาระสุดท้ายของชีวิตที่สถาบันแห่งนี้
แม้ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่เริ่มยอมรับการทำการุณยฆาตแบบ passive มากขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วย แต่ในสังคมไทยอาจจะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจร่วมกันอีกพอสมควร อันเนื่องมาจากความเชื่อที่ฝังรากลึกมาแต่ช้านาน สภาพและบริบททางสังคม
หากแพทย์ช่วยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบอาจมีโทษทางอาญา หรือขัดต่อหลักจริยธรรมได้ ในทางกลับกันหากแพทย์พยายามช่วยในทุกวิถีทาง จะตกเป็นข้อถกเถียงว่าละเมิดสิทธิของผู้ป่วยที่ต้องการจากไปอย่างสงบหรือไม่ รวมถึงค่ารักษาต่างๆก็อาจบานปลาย กลายเป็นปัญหาแก่ญาติที่ต้องแบกรับภาระ โดยที่รู้ทั้งรู้ว่ารักษาอย่างไรผู้ป่วยก็ไม่สามารถกลับมาสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นได้
หากถามว่าเป็นไปได้ไหมที่ไทยจะมีการนำกฎหมายแบบนี้เข้าพิจารณาแล้วตราออกมาเป็นพระราชบัญญัติการุณยฆาตคำตอบคือ อาจเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากสภาพสังคมไทยที่ยังมีความเป็นจารีตนิยม ศาสนา ที่ยังทรงอิทธิพลต่อจิตใจของประชาชนอย่างมาก และอาจเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่แทบไม่มีใครกล้าแตะต้องเลย
ประเทศไหนบ้างที่มีกฎหมายรองรับการทำการุณยฆาต?
ปัจจุบันทั่วโลกมีเพียง 12 ประเทศที่มีกฎหมายรองรับการทำการุณยฆาต ได้แก่ เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย, แคนาดา, โคลัมเบีย, สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, ญี่ปุ่น และอินเดีย
--------------------
ข้อมูลอ้างอิง:
- https://www.healthline.com/health/what-is-euthanasia#legal-status
- https://www.bbc.com/news/technology-59577162
- https://www.nytimes.com/2021/04/05/well/live/aid-in-dying.html
- https://www.theweek.co.uk/102978/countries-where-euthanasia-is-legal
- https://www.nytimes.com/2021/12/16/world/europe/suicide-pods-switzerland.html
- https://www.researchgate.net/publication/249747622_Techniques_to_Pass_on_Technology_and_Euthanasia
- https://www.sarakadee.com/feature/2000/04/vote.shtml