svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

Starlink อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม สู่ภัยเงียบของขยะอวกาศ

07 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

Starlink โครงการอินเตอร์เน็ตดาวเทียมที่เป็นความหวังแก้ปัญหาการผูกขาดอินเตอร์เน็ตในหลายประเทศ แต่แท้จริงมันกลับเป็นการเพิ่มปัญหาบนฟากฟ้า ประเด็นเกี่ยวกับขยะอวกาศที่กำลังเติบโตและพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจส่งผลกระทบต่อคนบนโลกได้ในอนาคต

Highlights

  • ชื่อของ อีลอน มัสท์ เป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังกระแสวิพากวิจารณ์ที่ดาวเทียมจากบริษัท Starlink เกือบชนเข้ากับสถานีอวกาศจีน จนรัฐบาลจีนออกมาเรียกร้องให้ทางสหรัฐฯรับผิดชอบ
  • Starlink เป็นโครงการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมที่กระจายสัญญาณสู่ทั่วโลก ด้วยการใช้ดาวเทียมตามแผนงานในเครือข่ายกว่า 42,000 ดวง โดยใช้วงโคจรต่ำที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพของสัญญาณขึ้นอย่างมาก
  • แต่ในทางกลับกันจำนวนดาวเทียมที่ทางโครงการจะยิงขึ้นสู่อวกาศก็นำไปสู่ข้อพิพาทหลายด้าน ทั้งปัญหาระหว่างประเทศ หรือประเด็นด้านขยะอวกาศก็ตาม
  • ในปีที่ผ่านมาการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด บริษัทรวมถึงชาติมหาอำนาจทยอยส่งดาวเทียมของตัวขึ้นสู่อวกาศหลายพันดวง ทำให้ปริมาณขยะอวกาศและโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น
  • ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานความเสียหายเกิดขึ้นแต่นั่นเป็นเรื่องของเวลา ขยะอวกาศอาจสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง แต่เจ้าของดาวเทียมทั้งหลายกลับไม่สนใจแก้ปัญหาในจุดนี้ ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาในภายหลัง

--------------------

          หลายคนคงคุ้นชื่อ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวสหรัฐฯผู้ก่อตั้งบริษัทยานยนต์ Tesla และบริษัทเทคโนโลยีขนส่งในอวกาศอย่าง SpaceX เป็นหนึ่งในเซเลปคนดังที่ใครต่อใครต่างรู้จัก ถูกยกให้เป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกของปี 2021 ที่ผ่านมา

 

          นวัตกรรมและสินค้าหลายอย่างจากทั้งสองบริษัทขึ้นชื่อในหลายด้าน เช่น เครื่องยนต์พลังงานไฟฟ้า รถยนต์ไร้คนขับ การยอมใช้เหรียญคริปโตในการซื้อขายแลกเปลี่ยน รวมถึงโครงการด้านอวกาศจำนวนมากทั้งในแง่การคมนาคม การท่องเที่ยว หรือเทคโนโลยีสารสนเทศก็ตาม

          ตรงนี้เองที่เป็นประเด็นเมื่อดาวเทียมของโครงการ Starlink จำเป็นต้องส่งดาวเทียมขึ้นท้องฟ้าเป็นจำนวนมาก เพื่อขยายและกระจายขอบเขตสัญญาณให้ครอบคลุมทั่วโลก เส้นทางโคจรของดาวเทียมกลับเข้าไปทับกับสถานีอวกาศของจีน จนสถานีอวกาศจำเป็นต้องหักหลบอีกทั้งนี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นครั้งแรก กลายเป็นการปลุกกระแสความไม่พอใจของชาวจีนขึ้นมา

 

          ชาวจีนบางส่วนพากันวิจารณ์โครงการ Starlink อย่างดุเดือด บ้างก็ว่าสิ่งที่ทำเป็นแค่การเพิ่มเศษขยะอวกาศ ไปจนถึงการตีความว่าดาวเทียมเหล่านี้คืออาวุธสงครามในอวกาศของสหรัฐฯ แม้จะมีการยื่นเรื่องไปถึง สำนักงานกิจการอวกาศแห่งสหประชาชาติ (UNOOSA) แล้วก็ตาม แต่ยังไม่ได้รับการดำเนินการใดๆ จนโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน จ้าว หลี่เจียน ออกมาเรียกร้องให้ทางรัฐบาลสหรัฐฯแสดงความรับผิดชอบ
Starlink โครงการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของอีลอน มัสก์

Starlink ก้าวใหม่ของธุรกิจโทรคมนาคม อินเตอร์เน็ตดาวเทียมที่กระจายทั่วทุกมุมโลก
          Starlink คือการรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตจากดาวเทียมบนวงโคจรผ่านจานดาวเทียมที่ติดตั้งไว้ตามบ้าน อันที่จริงมันไม่ใช่ระบบใหม่ที่เพิ่งเคยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมามากกว่า 20 ปี อีกทั้งยังมีการใช้งานในหลายพื้นที่แม้แต่ในประเทศไทย ซึ่งผู้ให้บริการภายในประเทศหลายเจ้าก็เปิดให้ใช้บริการอยู่ในตอนนี้

 

          ข้อจำกัดของอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมแบบเก่าคือ ตัวกระจายหรือส่งสัญญาณข้อมูลอย่าง ดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า มีปริมาณการรับส่งข้อมูลได้ค่อนข้างจำกัด เพราะบางครั้งดาวเทียมหนึ่งดวงจำเป็นต้องครอบคลุมกระจายสัญญาณทั่วทั้งพื้นทวีป จึงมีประสิทธิภาพและความสามารถในการส่ง-รับข้อมูลที่น้อยกว่าแบบชุมสายมาก

          นอกจากนี้ผลกระทบด้านสภาพแวดล้อมเองก็มีส่วนสำคัญ แม้อินเตอร์เน็ตชุมสายหากเกิดการขัดข้องเรื่องไฟฟ้าหรือสายเชื่อมต่อชำรุดจะทำให้เกิดปัญหาการเชื่อมต่อ แต่อินเตอร์เน็ตดาวเทียมจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศสูงมาก ทั้งฝนตกหนัก พายุเข้า หิมะตกล้วนสามารถสร้างปัญหาให้การเชื่อมต่อได้ทั้งสิ้น

 

          ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้อินเตอร์เน็ตดาวเทียมไม่ได้รับความนิยมและกลายเป็นตัวเลือกรองของผู้ใช้งานมากกว่า

 

          ในส่วนนี้ Starlink ออกมาประกาศว่าพวกเขาจะใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยจำนวนดาวเทียมทีกระจายสัญญาณ ตามแผนงานถูกวางเอาไว้มากถึง 42,000 ดวง โดยอาศัย ดาวเทียมวงโคจรต่ำ ซึ่งมีระยะห่างน้อยกว่าดาวเทียมทั่วไปทำให้มีความเสถียรมากกว่า และความหน่วงในการส่งสัญญาณก็น้อยกว่าอินเตอร์เน็ตดาวเทียมแบบเก่ามาก

 

          ฟังดูเป็นเรื่องดีและอาจเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ใช้บริการแต่ยังมีข้อจำกัดอีกมาก

 

          ในปัจจุบันจำนวนดาวเทียมในโครงการ Starlink ยังมีจำนวนเพียง 2,000 ดวง ได้รับการอนุมัติจากทางการสหรัฐฯให้ยิงดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรชั้นบรรยากาศได้แค่ 12,000 ดวงเท่านั้น ยังห่างจากเป้าหมายที่ตั้งใจไว้มาก ทำให้ในปัจจุบันคุณภาพสัญญาณอาจยังไม่ดีนัก

 

          ที่สำคัญราคาให้บริการเองก็ไม่ได้น้อยกว่าอินเตอร์เน็ตแบบชุมสายเท่าไหร่นัก ทำให้โดยพื้นฐานแล้ว Starlink เหมาะสำหรับพื้นที่ห่างไกลอินเตอร์เน็ตไฟเบอร์เข้าไม่ถึง หรือในประเทศที่มีความเสถียรและคุณภาพทางอินเตอร์เน็ตต่ำ ช่วยขยายโอกาสให้แก่คนที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่จะก้าวมาเป็นคู่แข่งอินเตอร์เน็ตเจ้ายักษ์ในตอนนี้

 

          อีกทั้งดาวเทียมเจ้าปัญหาดังกล่าวเองแม้จะถูกยิงไปแค่ 5% จากเป้าหมายที่ตั้งใจ ยังเริ่มเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อโต้แย้งขึ้นมา ชวนสงสัยว่าโครงการนี้จะได้เดินหน้าพัฒนาศักยภาพตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก หรือจะทำให้เกิดข้อพิพาททางอวกาศระหว่างประเทศก่อนกันแน่

Starlink ตัวรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม สนนราคา 99 ดอลลาร์/เดือน ขยะอวกาศ ปมปัญหาใหญ่ที่จะทวีความรุนแรงในอนาคต
          นับแต่ปี 2020 เป็นต้นมาจำนวนดาวเทียมในวงโคจรก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีการส่งดาวเทียมขึ้นไปบนอวกาศถึง 1,283 ดวง เช่นเดียวกับในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2021 ที่จำนวนดาวเทียมถูกส่งขึ้นไปถึง 850 ดวง นับว่าเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากปีก่อนและมีแต่แนวโน้มจะเพิ่มขึ้น

 

          ส่วนนี้เกิดจาก ความต้องการข้อมูลจากดาวเทียมในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยภายหลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องอยู่แต่ในบ้านและที่พักเพื่อ Work from home กันมากขึ้นจึงขยายความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ต เช่นเดียวกับงานหลายประเภทที่ไม่สามารถลงพื้นที่ จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลเชิงลึกที่ต้องทำการสำรวจทดแทนด้วยอุปกรณ์แทนที่บุคคล

 

          เมื่อคำนึงถึงจำนวนดาวเทียมในปัจจุบันโดยข้อมูลจาก Union of Concerned Scientists กล่าวว่า ณ วันที่ 1 มกราคม 2021 จำนวนดาวเทียมที่โคจรรอบโลกมีอยู่ 6,542 ดวง ในจำนวนนี้มีที่สามารถใช้งานได้ตามปกติอยู่ 3,372 ดวง และอีก 3,170 ดวงกลายเป็นดาวเทียมปลดระวางจนเข้าสู่สถานะ ขยะอวกาศ

 

          นี่จึงกลายเป็นปัญหาเมื่อข้อมูลจำนวนดาวเทียมจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2021 จำนวนดาวเทียมพุงไปถึง 7,389 ดวงเพิ่มขึ้นกว่า 28% ใน่ช่วงเวลาเดียวกันของปี 2020 และจะยิ่งทวีจำนวนมากขึ้นในอนาคตทั้งจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19ที่ยังไม่คลี่คลาย รวมถึงการขยายตัวของเทคโนโลยีดาวเทียมที่มากขึ้น

 

          นั่นทำให้แนวโน้มการใช้งานและการเกิดของขยะอวกาศสูงขึ้นก้าวกระโดดตามไปด้วย เห็นได้ชัดจากโครงการ Starlink ที่กำลังจะยิงดาวเทียมขึ้นไปบนวงโคจรอีกหลายหมื่นดวงเพื่อให้โครงข่ายสมบูรณ์ ไม่รวมถึงบริษัทอื่นที่เริ่มขยับตัวให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมมากขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นที่ยิ่งทวีความร้อนแรง เรียกว่าโลกให้ความสนใจแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศอีกครั้งก็คงได้

 

          ในปัจจุบันจำนวนขยะอวกาศจากการสำรวจล่าสุดในกลางปี 2564 อยู่ที่ 26,000 ชิ้น ปะปนทั้งขนาดเล็กเท่าสมาร์ทโฟนไปจนถึงสถานีอวกาศ เมื่อมีการแข่งขันขยายตัวจนเกิดการส่งดาวเทียมไปเป็นจำนวนนับหมื่นนับแสนดวงในอนาคต ปัญหาที่ตามมาคือขยะอวกาศจะทวีจำนวนเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลกระทบทั้งต่ออุตสาหกรรมอวกาศหรือแม้แต่คนบนโลกเอง

Starlink อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม สู่ภัยเงียบของขยะอวกาศ ความอันตรายของขยะอวกาศและหนทางแก้ไข
          ขยะอวกาศไม่ได้ฟังดูเป็นเรื่องร้ายแรงเมื่อบางครั้งมันเป็นแค่ชิ้นส่วนขนาดเล็กจากเศษยานอวกาศและดาวเทียม แต่แท้จริงเมื่อถูกดึงให้โคจรรอบโลก มันกลายเป็นวัตถุเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 5 ไมล์/วินาที นั่นทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือการพุ่งชนขึ้นมาอาจสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ทั้งดาวเทียม สถานีอวกาศ รวมถึงชีวิตของนักบินอวกาศเอง

 

          นอกจากนี้เมื่อวงโคจรดาวเทียมเริ่มลดระดับลงมาให้ใกล้พื้นโลกมากขึ้น เหมือนโครงการ Starlink ที่ให้ดาวเทียมอยู่ในวงโคจรต่ำ จึงมีความเป็นไปได้ว่าเมื่อเกิดความเสียหายชิ้นส่วนหลุดร่วงหรือปลดระวางในอนาคต หากโชคร้ายไม่ถูกชั้นบรรยากาศเผาไหม้ขยะอวกาศเหล่านี้จะร่วงกลับลงมาด้านล่าง จนอาจสร้างความเสียหายแก่ผู้คนที่อยู่บนโลก

 

          หรือถ้าหากไม่ร่วงลงมาขยะอวกาศเหล่านี้จะวนเวียนลอยอยู่รอบนอกวงโคจร กลายเป็นสิ่งกีดขวางเป็นอันตรายทั้งต่อโครงการอวกาศและดาวเทียมดวงอื่น หากเกิดการพุ่งชนปะทะเข้ากับดาวเทียมที่ทำหน้าที่สำคัญ เช่น ดาวเทียมให้บริการบอกตำแหน่ง การสื่อสาร จนถึงการพยากรณ์อากาศได้เช่นกัน

 

          อีกทั้งจากการศึกษาโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD) ยังระบุว่าหากปล่อยให้ขยะอวกาศทวีจำนวนมากขึ้น นอกจากเป็นภัยคุกคามต่อทรัพย์สินและชีวิตผู้คนบนอวกาศแล้ว ยังทำให้ค่าใช้จ่ายทั้งสำหรับส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรรวมถึงการส่งสัญญาณบนอวกาศให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

          เลวร้ายกว่านั้นคือขยะอวกาศที่ลอยอยูในวงโคจรหากเกิดการพุ่งชนจนแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย อาจทำให้เกิดระเบิดเป็นลูกโซ่เพิ่มจำนวนชิ้นส่วนขึ้นอีกหลายหมื่น ล้มทุกอย่างได้เหมือนโดมิโน่อาจสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างจากการระเบิดหรืออุบัติเหตุแค่ครั้งเดียว

 

          และเมื่อคำนึงถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมดาวเทียมในปัจจุบัน เราจึงไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าจำนวนขยะอวกาศจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่? จะเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นตอนไหน? เมื่อดาวเทียมทั้งหมดที่ส่งขึ้นไปปลดระวาง ปริมาณขยะบนวงโคจรโลกจะมีจำนวนเท่าใด? รวมถึงจะทำให้เกิดอันตรายต่อห้วงอวกาศจนถึงทั่วโลกได้ขนาดไหน?

 

          ปัญหานี้เริ่มถูกหยิบมาพูดถึงได้รับความตระหนักเพิ่มมากขึ้น จึงเริ่มมีการประชุมนานาชาติเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาขยะอวกาศ เพื่อลดเศษซากชิ้นส่วนและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่มนุษย์ โดยเริ่มเปิดตัวดาวเทียม ClearSpace-1 ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อภารกิจในการกำจัดขยะอวกาศ มีกำหนดการส่งขึ้นไปในปี 2025

 

          เช่นเดียวกับองค์กรสหประชาชาติที่ระบุว่า ทุกบริษัทต้องกำจัดดาวเทียมออกจากวงโคจรโลกภายใน 25 ปี หลังการปลดระวาง แต่จากการคาดเดาเป็นไปได้ว่าเจ้าของดาวเทียม หรือชาติมหาอำนาจอาจไม่ให้ความสนใจในจุดนี้จนยอมทุ่มงบประมาณมหาศาลลงมาแก้ไข ซึ่งนั่นอาจกลายเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ในอนาคต

 

          คงต้องรอดูกันต่อไปว่าการส่งดาวเทียมขึ้นไปเป็นทวีคูณจากโครงการอวกาศจำนวนมากจะสร้างผลกระทบใดบ้าง ถึงแม้เทคโนโลยีดาวเทียมจะทำให้เราก้าวหน้า สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหรือบริการได้กว้างขวางขึ้น แต่เราก็ควรมองหาลู่ทางแก้ไขปัญหาในวันหน้า เพื่อไม่ให้ดาวเทียมทั้งหลายกลายเป็นขยะอวกาศตกกลับมาสู่ผืนโลกเช่นกัน

 

          มิเช่นนั้นอาจเป็นเหมือนกรณีภาวะโลกร้อน ที่พอเราเริ่มรู้สึกตัวและคิดแก้ไขก็อาจสายเกินไป

--------------------

ที่มา

logoline