svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

10 เหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 2021 เป็นครั้งแรก ที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกใหม่

28 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รวมเหตุการณ์สำคัญซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2021 ที่ทำให้ประวัติศาสตร์ต้องจารึกใหม่กันอย่างจ้าละหวั่น

          ในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา แน่นอนว่าหลายสถานการณ์ทั่วโลกยังคงจมอยู่กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 บางประเทศอาจมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น บางประเทศอาจยังคงหยุดชะงักในทุกๆกิจกรรม แน่นอนว่าสถานการณ์โลกย่อมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้เป็นครั้งแรกของโลก และอาจสร้างความประหลาดใจให้กับใครหลายๆคน 

เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา (Ngozi Okonjo-Iweala)

1. ครั้งแรกที่องค์การการค้าโลก (WTO) มีผู้นำหญิงชาวแอฟริกัน
          นับตั้งแต่องค์การการค้าโลก (WTO) เริ่มก่อตั้งในปี 1995 บรรดาผู้มีความสามารถที่เคยนั่งตำแหน่งผู้อำนวยการมีมาแล้วทั้งสิ้น 6 คน โดย 3 คนมาจากทวีปยุโรปและโอเชียเนีย 1 คนจากทวีปเอเชียและ 1 คนจากทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งในปี 2021 นี้เกิดเหตุการณ์ใหม่ที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้

 

          เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์หญิงชาวไนจีเรีย “เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา (Ngozi Okonjo-Iweala)” ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) คนใหม่ จากผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งทั้งหมด 8 คน นอกจากเธอจะเป็นชาวแอฟริกันคนแรกขององค์กรแล้ว ยังถือเป็นสตรีคนแรกที่ได้นั่งในตำแหน่งนี้ นับตั้งแต่องค์กรเริ่มก่อตั้งเมื่อ 25 ปีที่แล้ว

 

          การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบนเวทีโลกของสตรีเพศนับเป็นเรื่องที่ถือว่าไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะในพื้นที่ทางการเมืองที่ต้องยอมรับว่ายังคงดำรงอยู่ในวัฒนธรรมที่มีผู้ชายเป็นศูนย์กลาง (Patriarchy)  และในด้านสถาบันต่างๆ ในปัจจุบันเราก็ยังพบเห็นบทบาทของเพศชายที่มีมากกว่าอยู่ดี 

          ดังนั้นการได้รับตำแหน่งของ “โอคอนโจ-อิเวียลา” ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างและเป็นแรงขับเคลื่อน ที่สามารถโหมกระพือให้โลกบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 5 – Gender Equality โดยเฉพาะในการสร้างหลักประกันที่ว่า ผู้หญิงสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่และเกิดประสิทธิผล มีโอกาสทัดเทียมในการเป็นผู้นำในการตัดสินใจใหญ่ของทุกระดับไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรืออื่นๆ

 

2. ครั้งแรกที่งานศิลปะแบบดิจิทัล (Digital Artwork) ทำเงินได้หลายล้านจากการประมูล
          ในปี 2021 ที่ผ่านมาบริษัทประมูลงานศิลปะชื่อดังอย่างคริสตีส์ (Christie’s)  เปิดเผยว่างานศิลปะดิจิทัลของ “บีเพิล (Beeple)” หรือ “ไมค์ วิงเคิลแมน (Mike Winkelmann)” ได้ถูกประมูลไปด้วยมูลค่าเกือบ 69.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหากเปรียบเทียบกับงานศิลปะที่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมของศิลปินระดับโลกอีกหลายคนแล้ว ผลงานชิ้นนี้“Everydays: The First 5,000 Days” ที่ถูกประมูลออนไลน์ถือเป็นมูลค่าที่สูงที่สุด และทำให้บีเพิลกลายเป็น “หนึ่งในสามศิลปินที่มีผลงานศิลปะมูลค่าสูงที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่”

 

          “Everydays: The First 5,000 Days” ยังเป็นการประมูลครั้งแรกที่ใช้สกุลเงินดิจิทัลชำระค่าผลงานศิลปะผ่าน NFT (non-fungible token) อีกด้วย ซึ่งทางบีเพิลเองก็กล่าวว่า เขาใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ผลิตงานศิลปะและเผยแพร่งานบนโลกออนไลน์มามากว่า 20 ปีแล้ว แต่กลับไม่สามารถครอบครองหรือสะสมผลงานเหล่านั้นได้เลย แต่ตอนนี้โลกของเรามี NFT และคิดว่านี่คือบทใหม่ของประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งก็คือศิลปะดิจิทัล (Digital Artwork)

          NFT เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในวงการนักสะสมออนไลน์ หลังจากสกุลเงินดิจิทัลได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมไปอย่างแพร่หลาย โดยการใช้ NFT ช่วยให้พวกเขาพิสูจน์ว่า ผลงานทั้งหมดเป็นของแท้และมีแค่หนึ่งเดียว รวมถึงยังสามารถป้องกันการลอกเลียนผลงานชิ้นนั้นได้ 

 

3. ครั้งแรกที่โดรนโจมตีมนุษย์ โดยไร้คนสั่งการ
          ปลายเดือนมีนาคม 2020 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์โดรนติดอาวุธออกไล่ล่าสังหารมนุษย์ในประเทศลิเบีย ซึ่งถือเป็นเกิดครั้งแรกที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถโจมตีมนุษย์เอง โดยไร้การควบคุม ด้วยคุณสมบัติของโดรนตัวนี้ที่มีความสามารถในการยิงและค้นหาตัวเป้าหมายต่อไปได้ จึงทำให้หลายภาคส่วนเกิดความกังวลว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ในอนาคตหรือไม่ 

 

          องค์กรส่งเสริมสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch ได้ออกมาร่วมเรียกร้องในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งการแสดงจุดยืนในครั้งนี้มีข้อเรียกร้องเพื่อยุติการพัฒนาอาวุธ รวมถึงหยุดการผลิตหุ่นรบต่างๆที่มีจุดประสงค์เพื่อคร่าชีวิตมนุษย์ โดยอาวุธดังกล่าวที่ถูกผลิตให้มีอิสระในการคิดอาจอยู่เหนือขอบเขตมนุษยธรรม และในอนาคตอาจนำไปสู่การถูกคุกคามสิทธิขั้นพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้

 

4. ครั้งแรกที่เชื่อมต่อสมองมนุษย์ เข้ากับคอมพิวเตอร์ไร้สาย
          การทำให้สิ่งของขยับได้ โดยอิงจากความคิดเรา จะไม่ใช่แค่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป เมื่อนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ ในสหรัฐฯ สามารถเชื่อมต่อสมองของมนุษย์ เข้ากับคอมพิวเตอร์ผ่านอุปกรณ์ส่งสัญญาณได้สำเร็จเป็นครั้งแรก จากการทดลองกับผู้ป่วยที่กระดูกสันหลังได้รับบาดเจ็บจนเกิดอาการอัมพาต ภายใต้เทคโนโลยี ‘BrainGate’ ซึ่งสามารถขยับแขนขาของหุ่นยนต์ได้ เพียงนึกถึงการเคลื่อนไหวเท่านั้น 

 

          BrainGate เป็นเครื่องมือรับส่งสัญญาณผ่านเส้นประสาทและหน้าที่คล้ายเยื่อหุ้มสมอง โดยเจ้าเครื่องนี้สามารถสั่งการผ่านคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตได้ และไม่เกิดอาการดีเลย์แต่อย่างใด เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ในปี 2021 นี้ ถือเป็นข่าวดีสำหรับวงการระบบประสาทวิทยาทั่วโลก ที่สามารถนำไปต่อยอดงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยอัมพาต หรือผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

Mars Oxygen In-Situ Resource Utilization Experiment หรือ MOXIE
5. ครั้งแรกที่ยานของนาซ่า สร้างออกซิเจนบนดาวอังคารสำเร็จ
          เราทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าออกซิเจนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์ขนาดไหน หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เรายังไม่สามารถท่องอวกาศได้อย่างเสรีนั้นเกี่ยวเนื่องจากเทคโนโลยีที่ยังไม่สามารถผลิตออกซิเจนให้เพียงพอต่อมนุษย์ได้ แต่ในปี 2021 นี้มีข่าวดีที่องค์การอวกาศสหรัฐฯ หรือ นาซ่า (NASA) ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดของโครงการสำรวจดาวอังคารว่า สามารถเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนดาวอังคารให้กลายเป็นออกซิเจนได้สำเร็จแล้ว ถือเป็นก้าวสำคัญอันยิ่งใหญ่สู่การเหยียบดาวอังคารในอนาคต

 

          อุปกรณ์สร้างออกซิเจนดังกล่าวถูกเรียกว่า “Mars Oxygen In-Situ Resource Utilization Experiment หรือ MOXIE”  มีขนาดเท่าๆเตาอบขนมปัง สามารถผลิตออกซิเจนได้ใน 5.4 กรัมต่อหนึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นปริมาณที่ช่วยให้นักบินอวกาศสามารถดำรงชีวิตอยู่บนดาวอังคารได้ราวๆ 10 นาที

 

6. ครั้งแรกที่ National Geographic เผยมหาสมุทรแห่งที่ 5 ของโลก
          เรามักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีว่ามหาสมุทรในโลกนี้มีทั้งหมด 4 แห่งได้แก่ มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรอาร์กติก แต่ล่าสุดนี้ในปี 2021 National Geographic ได้ออกมาเปิดเผยว่า นักวิทยาศาสตร์รับรอง ‘มหาสมุทรใต้’ (Southern Ocean) อย่างเป็นทางการ และจัดให้เป็นมหาสมุทรแหล่งที่ 5 ของโลกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา มหาสมุทรใต้เป็นที่รู้จักของนักวิทยาศาสตร์มานาน แต่ไม่เคยมีข้อตกลงระดับนานาชาติ จึงไม่ได้มีการยอมรับอย่างเป็นทางการสักที

 

          มหาสมุทรใต้ครอบคลุมพื้นที่รอบทวีปแอนตาร์กติกา และมีระบบนิเวศที่แตกต่างจากมหาสมุทรบริเวณอื่นๆ รวมถึงมีสัตว์จำนวนมากที่ไม่สามารถพบเจอได้ในบริเวณอื่นของโลกอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ อย่าง วาฬ แมวน้ำ และเพนกวิน

 

          นอกจากนี้ การที่มหาสมุทรใต้ ได้รับรองการรับรองให้เป็นมหาสมุทรที่ 5 ของโลก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้คน หันกลับมาอนุรักษ์พื้นที่ในบริเวณแอนตาร์กติกามากขึ้น ซึ่งในบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงกิจกรรมการล่าสัตว์ต่างๆของมนุษย์

 

7. ครั้งแรกที่พบแสงจ้าหลังหลุมดำ เป็นไปตามทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์
          เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อแสงใดๆหลุดเข้าไปในหลุมดำ จะถูกแรงดึงดูดมหาศาลรอบหลุมดำกลืนเข้าไปและไม่สามารถเล็ดรอดออกมาได้ นี่นับเป็นอีกหนึ่งการค้นพบครั้งสำคัญสำหรับวงการฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เมื่อเกิดการค้นพบแสงจ้าที่หลุดออกมาเป็นครั้งแรกจากภายในหลุมดำขนาดใหญ่ใจกลางดาราจักรกาแล็กซี่ ที่ระยะห่างจากโลกไกลถึง 800 ล้านปีแสง  ซึ่งคาดว่าเป็นไปตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ที่ได้คิดค้นไว้เมื่อนานมาแล้ว

 

          ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ คือทฤษฎีที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติของแรงโน้มถ่วง ซึ่งไอน์สไตน์ ได้พัฒนาขึ้นในช่วงปี 1907-1915 โดยแก่นสำคัญของทฤษฎีนี้อยู่ที่ “ผลของความโน้มถ่วงที่สังเกตได้ระหว่างมวลเกิดจากการบิดงอของอวกาศ-เวลา” โดยแนวคิดที่ว่าด้วยแรงโน้มถ่วงเป็นสสารแปรปรวนในอวกาศและเวลา ยังคงมีอยู่เป็นเวลาร้อยปีเมื่อมีการค้นพบทางดาราศาสตร์ครั้งใหม่
เอลซัลวาดอร์ ประกาศให้ Bitcoin เป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของประเทศ
8. ครั้งแรกที่เอลซัลวาดอร์ ประกาศให้ Bitcoin เป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของประเทศ
          กลายเป็นประเทศแรกบนโลกไปแล้ว เมื่อรัฐบาล “เอลซัลวาดอร์” ประกาศให้ Bitcoin เป็นสกุลเงินทางการที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายคู่ไปกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลเอลซัลวาดอร์เร่งเข้าซื้อ Bitcoin ทั้งสิ้นกว่า 550 เหรียญ หรือราวๆ 8 ร้อยล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวและผลักดันให้ประชาชนมีการใช้จ่ายผ่านระบบสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น 

 

          หลังจากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านและรัฐบาลออกมาแถลงอย่างเป็นทางการ ประชาชนสามารถนำสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin ไปใช้สอยในชีวิตประจำวันได้ รวมถึงยังมีแอปพลิเคชั่นกระเป๋าตังดิจิทัลที่ทางรัฐพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการใช้จ่ายอย่าง Chivo ขึ้นมาอีกด้วย 

 

          รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ยังมุ่งโน้มน้าวประชาชนโดยการแจกเงิน30 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 980 บาท สำหรับผู้ที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นดังกล่าวมาใช้ เพื่อหวังกระตุ้นยอดให้ผู้คนในประเทศหันมาใช้ Bitcoin มากขึ้น แต่ด้วยความที่คนในประเทศยังขาดความรู้ความเข้าใจในนวัตกรรมการเงินสมัยใหม่ จึงสร้างความไม่มั่นใจ ไม่ต้องการสนันสนุน จนลามเป็นวงกว้างเกิดการประท้วงเพื่อต่อต้านการใช้ Bitcoin เป็นสกุลเงินหลักขึ้น

 

9. ครั้งแรกที่ฝนตกบนยอดภูเขากรีนแลนด์
          นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่การเก็บสถิติในปี 1950 ที่เกิดฝนตกบนยอดเขาที่กรีนแลนด์ ซึ่งโดยปกติแล้วในช่วงเวลานี้ ทั่วทั้งภูเขาจะถูกปกคลุมไปด้วยหิมะเท่านั้น

 

          สาเหตุที่เกิดปรากฏการณ์นี้ อาจส่งผลมาจากปัญหาโลกร้อน อ้างอิงจากรายงานของ นักวิทยาศาสตร์ประจำศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติ (National Snow and Ice Data Center)  พบว่า อุณหภูมิ ณ จุดสูงสุดบริเวณยอดเขาของกรีนแลนด์เพิ่มขึ้นเหนือจุดเยือกแข็งเป็นครั้งที่ 3 ในเวลาไม่ถึงทศวรรษ หรือภายในช่วง 10 ปีหลังนี้เอง

 

          โดยสภาพอากาศที่เพิ่มสูงขึ้น อากาศอบอุ่นขึ้นส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ฝนตกครั้งใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมากถึง 7 พันล้านตัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นจำนวนมหาศาลเลยทีเดียว

มาเรีย เรสซา ชาวฟิลิปปินส์คนแรกที่ได้รางวัลโนเบล
10. ครั้งแรกที่ชาวฟิลิปปินส์ คว้ารางวัลโนเบล
          มาเรีย เรสซา ชาวฟิลิปปินส์คนแรกที่ได้รางวัลโนเบลมาเรีย เรสซา (Maria Ressa) นักข่าวชาวฟิลิปปินส์ ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์แรปเปลอร์ (Rappler) รวมถึงยังเป็นเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 2021 นี้ เธอถือได้ว่าเป็นชาวฟิลิปปินส์คนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล จากความพยายามปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกในฟิลิปปินส์ และทุ่มเทแฉความอื้อฉาวของประธานาธิบดี โรดริโก ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) เปิดโปงความไร้สิทธิมนุษยชนของการจับกุมยาเสพติด และความเป็นเผด็จการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในฟิลิปปินส์

 

          มาเรีย ทำหน้าที่ตีแผ่ความจริงเกี่ยวกับความเน่าเฟะของรัฐบาลประเทศเธอมาโดยตลอดและนั่นทำให้เธอถูกรัฐยื่นฟ้องในหลายคดี แม้ว่าเธอจะถูกยื่นฟ้องมากแค่ไหน มาเรียก็ยังเดินหน้าสานต่อเจตนาของเธอต่อไป และสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งฟิลิปปินส์ยังกล่าวเสริมว่า รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพที่ มาเรีย เรสซา ได้รับนั้น จะทำให้นานาประเทศทั่วโลกเริ่มหันมาตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของสื่อในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นบ้าง

10 เหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 2021 เป็นครั้งแรก ที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกใหม่ --------------------

ข้อมูลอ้างอิง:

logoline