svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

Drive to Survive สารคดีปลุกผีฟอร์มูลาวันในสหรัฐฯ

27 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากกีฬาที่ถูกอเมริกันชนไม่ให้ความสนใจมากนัก ในช่วงเวลาสั้น ๆ ฟอร์มูลาวัน กลับเป็นที่สนใจของแฟนกีฬาในตลาดใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยผลจากความนิยมในสารคดีที่ชื่อ Drive to Survive

Highlights

  • ความนิยมของฟอร์มูลาวันในสหรัฐฯ เติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วง 3 ปีหลังสุด หลังจากซบเซามานาน ด้วยผลจากสารคดีบน Netflix ที่ได้รับความนิยมจนถูกสร้างติดต่อกันมาแล้ว 3 ซีซั่น
  • Drive to Survive ไม่เพียงเป็นซีรีส์ยอดนิยมบนแพลตฟอร์ม แต่ยังช่วยสร้างฐานให้แฟนกีฬาชาวอเมริกันหันกลับมาสนใจฟอร์มูลาวันอีกครั้ง จนตั๋วเข้าชม ยูเอส กรังด์ปรีซ์ ปีล่าสุดโซลด์เอาท์
  • แม้เสียงส่วนใหญ่จะชื่นชม แต่ มักซ์ แวร์สแตพเพน แชมป์โลกคนล่าสุดกลับปฏิเสธการมีส่วนร่วมในซีซั่นถัดไป ด้วยเหตุผลชัดเจนว่าสารคดีชุดนี้ “เป็นของปลอม”

--------------------

          แม้ ฟอร์มูล่าวัน จะถือเป็นการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตรายการแรก ๆ ที่คนทั่วโลกนึกถึง แต่ในตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ กลับไม่ได้รับความนิยมมากอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับการแข่งที่เป็นอเมริกันแท้ ๆ อย่าง อินดีคาร์ ซีรีส์ หรือ นาสคาร์

 

          ทั้งที่ ยูเอส กรังด์ปรีซ์ ถือเป็นหนึ่งในสนามเก่าแก่ของการแข่งขัน และยังมีสนามอื่น ๆ ที่เคยใช้จัดกรังด์ปรีซ์เช่นกัน

 

          แต่ดูเหมือน รสชาติของมอเตอร์สปอร์ตเบอร์หนึ่งของโลก จะไม่ค่อยถูกปากแฟนกีฬาชาวอเมริกันเท่าที่ควร

 

          จนไม่นานมานี้ ที่ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อ Netflix นำเสนอสารคดีแบบเรียลลิตี บอกเล่าเรื่องราวในวงการฟอร์มูลาวัน ในแง่มุมที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้มาก่อน ในชื่อ Drive to Survive

 

          และกลายเป็นซีรีส์สารคดียอดฮิตที่ได้รับความนิยมอย่างสูง จนมีการสร้างต่อเนื่องมาเป็นฤดูกาลที่ 3 รวมทั้งสิ้น 30 ตอน และยังได้รับไฟเขียวจากทาง Netflix ให้สร้างฤดูกาลต่อไปแล้ว

 

          ที่น่าทึ่งไปกว่านั้น คือ Drive to Survive ไม่ได้แค่เป็นที่นิยมใน Netflix แต่มันยังต่อยอดความสนใจของแฟนกีฬาในสหรัฐฯ ให้หันกลับมาสนใจ ฟอร์มูลาวัน และ ยูเอส กรังด์ปรีซ์ อีกครั้ง

          ข้อมูลจาก ESPN ที่ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟอร์มูลาวัน ในสหรัฐฯ เผยว่ายอดผู้ชมการถ่ายทอดสด เพิ่มขึ้นจาก 547,000 ในปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่สารคดีชุดนี้เพิ่งเริ่มฉาย เป็นเกือบ 1 ล้านคนในปีล่าสุด

 

          ขณะที่ตั๋วเข้าชม ยูเอส กรังด์ปรีซ์ ที่ เซอร์กิต ออฟ เดอะอเมริกาส์ ในปีล่าสุด ก็ขายหมดเกลี้ยง ประเมินกันว่าในช่วงสุดสัปดาห์นั้น น่าจะมีแฟนกีฬาแวะมาที่สนามตลอด 3 วัน ไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน

 

โควิดเป็นเหตุ

(แฟนกีฬาอเมริกันมองว่าเอฟวันนั้นผูกขาดโดย เซอร์ ลิวอิส แฮมิลตัน จนไม่สนุก / ภาพจาก AP)

          อาจเป็นเรื่องแปลกที่แฟนกีฬาชาวอเมริกัน จะหันมาดู Drive to Survive เพราะ ฟอร์มูลาวัน ไม่ใช่กีฬาที่ได้รับความนิยมที่นั่น

 

          เหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนอเมริกันสนุกกับนาสคาร์หรืออินดีคาร์มากกว่า เพราะสองรายการนี้ โอกาสในการเป็นผู้ชนะเปิดกว้างสำหรับนักแข่งแทบทุกคนในสนาม ซึ่งเป็นแบบฉบับของอเมริกันเกมส์

 

          ขณะที่ฟอร์มูลาวันนั้น มีลักษณะของการผูกขาดความสำเร็จไว้กับทีมระดับหัวแถวเพียง 2 หรือ 3 ทีม

 

          และเสน่ห์นั้นยิ่งน้อยลง เมื่อ ลิวอิส แฮมิลตัน กับ เมอร์เซเดส แทบจะครองความยิ่งใหญ่ไว้คนเดียวตลอดสิบปีหลังสุด

 

          แต่ผลพวงจากโควิด-19 ที่ทำให้คนต้องอยู่บ้านมากขึ้น และใช้เวลาหน้าจอมากกว่าเดิม กลับกลายเป็นผลดีสำหรับ Netflix และสารคดีชุดนี้

 

          แฟนกีฬาชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ยอมรับว่า ตอนแรกแค่คลิกเข้าไปดูสารคดีชุดนี้ เพราะไม่รู้จะดูอะไร

 

          แต่กลายเป็นว่าเมื่อดูแล้วกลับหยุดไม่ได้ และกลายเป็นการแนะนำปากต่อปาก เช่นเดียวกับอันดับบนแพลตฟอร์มที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นซีรีส์ยอดนิยมไปโดยปริยาย

 

          แบรด บราวน์ ซอฟต์แวร์โปรแกรมเมอร์รายหนึ่ง ยอมรับว่ารู้จักซีรีส์นี้จากคำแนะนำของเพื่อน

 

          และหลังจากนั่งดูไปได้สองตอน เขากับภรรยาก็กลายเป็นแฟนกีฬาเอฟวันแบบเข้าเส้น ชนิดที่ยอมตื่นมาดูตั้งแต่รอบควอลิฟาย ไปจนถึงวันแข่งจริง ทุกสนาม

          โควิด ไม่ใช่แค่มีส่วนทำให้ชาวอเมริกันรู้จักเอฟวันมากขึ้น แต่ ยูเอส กรังด์ปรีซ์ 2020 ที่ต้องยกเลิกเพราะการระบาด ทำให้แฟน ๆ ที่เพิ่งค้นพบเสน่ห์ในกีฬาชนิดนี้ ตื่นตัวมากขึ้นสำหรับฤดูกาลถัดมา

 

          เมื่อ ยูเอส กรังด์ปรีซ์ ได้กลับมาจัดอีกครั้งในปีนี้ บรรยากาศจึงคึกคักเป็นพิเศษ

 

          นอกจากคอนเสิร์ตในทั้งสามวันที่ ได้วงดังต่างยุค Twenty One Pilots, บิลลี โจล และ Kool & The Gang มาขึ้นเวที ยังมีแขกรับเชิญพิเศษ แชคิล โอนีล มาเป็นดีเจ รวมถึงอีเวนท์ต่าง ๆ ในรูปแบบของเทศกาลให้ชาวอเมริกันได้ปลดปล่อยเต็มที่

 

          คำถามที่ตามมา คือทำไม ซีรีส์นี้ถึงมีอิทธิพลต่อคนอเมริกันขนาดนี้?

 

โลกใหม่ที่ไม่ได้มีแค่แฮมิลตัน
(เจเจ วัตต์ ดีเฟนซีฟเอนด์ชั้นนำใน NFL ยอมรับว่า Drive to Survive เปิดโลกใหม่เกี่ยวกับฟอร์มูลาวันให้กับตน / ภาพจาก Twitter)           บ็อบบี เอปสไตน์ ซีอีโอของ COTA ออร์แกไนเซอร์และผู้จัดจำหน่ายตั๋วการแข่ง ยกเครดิตทั้งหมดให้กับ Netflix ในฐานะผู้จุดประกายให้ชาวอเมริกันหันมาสนใจฟอร์มูลาวันอีกครั้ง

 

          เอปสไตน์ อธิบายว่าในภาพเดิม ๆ แฟนกีฬาแทบไม่ได้เห็นหน้าหรือรู้จักบุคลิกของนักแข่งแต่ละคนเลย

 

          ภาพจำเก่า ๆ คือคนในชุดนักแข่งสวมหมวกมิดชิด นั่งขดตัวในค็อกพิตเพื่อลงแข่งขัน

 

​​​​​​​          "คนดูเขาไม่อินกับเหล็ก คาร์บอนไฟเบอร์ หรือชิ้นส่วนต่าง ๆ อะไรหรอก สิ่งที่จะทำให้เขารู้สึกมีอารมณ์ร่วมด้วย คือความเป็นมนุษย์และบุคลิกของคนเหล่านั้น"

 

​​​​​​​          และ Drive to Survive ก็ทำสำเร็จในการนำเสนออีกด้านของเหรียญที่คนเหล่านั้นไม่เคยเห็น

 

​​​​​​​          แม้แต่ เจเจ วัตต์ ดีเฟนซีฟเอนด์ของ แอริโซนา คาร์ดินัลส์ ยังทวีตถึงซีรีส์ชุดนี้ ว่าช่วยเปิดโลกใหม่ให้รู้จักว่าฟอร์มูลาวัน ไม่ได้มีแค่ ลิวอิส แฮมิลตัน

 

​​​​​​​          รวมถึงดรามาระหว่าง คริสเตียน ฮอร์เนอร์ เจ้าของทีมเรดบูลล์ กับ โทโท โวล์ฟ ของ เมอร์เซเดส ฯลฯ ที่ทำให้โลกของ เอฟวัน มีมากกว่าแค่การแข่งขันหารถที่เร็วที่สุดในสนาม

 

จุดประกายสู่การนำเสนอรูปแบบใหม่
(ในปีหน้า นาสคาร์ ก็จะมีสารคดีแบบเรียลลิตีโชว์บน Netflix เช่นกัน นอกเหนือจากซิตคอมอย่าง The Crew ที่ฉายอยู่ในปัจจุบัน / ภาพจาก Netlfix)

          เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ESPN เปรียบเทียบตัวเลขผู้ชมการถ่ายทอดสดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และพบว่ามีค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

          เริ่มจากปี 2017 ที่ซีรีส์นี้ยังไม่ออกฉาย ในแต่ละสนาม จะมีค่าเฉลี่ยผู้ชมการถ่ายทอดสดที่ 538,000 คน ขณะที่ในปี 2018 ซึ่งเป็นปีแรกที่สารคดีซีซันแรกออกฉาย ตัวเลขยังไม่ห่างกันนัก คือ 554,000 คน

 

          แต่เมื่อซีรีส์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ตัวเลขผู้ชมก็เพิ่มเป็น 671,000 คนในปี 2019 หรือเพิ่มจากปีก่อนถึง 21%

 

          ขณะที่ในปีล่าสุด (2021) ค่าเฉลี่ยผู้ชมต่อสนามก็เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 51%

 

          ความสำเร็จของ Drive to Survive ยังทำให้ซีรีส์มอเตอร์สปอร์ตอื่น ๆ เห็นโอกาสทางธุรกิจเช่นกัน

 

          ในปี 2022 ทั้ง นาสคาร์ และ อินดีคาร์ ก็จะมีสารคดีในลักษณะ behind-the-scene ออกฉายบน Netflix เช่นกัน นอกเหนือไปจาก The Crew ที่มีลักษณะเป็นซิตคอม ล้อเลียนเรื่องในวงการ

 

          แดนนี แฮมลิน เจ้าของทีมและนักแข่งนาสคาร์ ยอมรับว่า Drive to Survive มีส่วนกระตุ้นให้เขาหันมาดูฟอร์มูลาวันในฤดูกาลล่าสุด ซึ่งอาจจะมากกว่าที่เขาเคยดูมาทั้งชีวิตก็ว่าได้

 

          เจ้าตัวให้ทรรศนะว่าเหตุผลจริง ๆ ที่ทำให้ Drive to Survive และฟอร์มูลาวัน ได้รับความนิยมในช่วงที่ผ่านมา คือการดึงความเป็นเรียลลิตีโชว์ และดรามาขึ้นมาเป็นจุดเด่น ขณะที่การแข่งขันนั้นถูกวางไว้เป็นแบ็คกราวด์ ทำให้สามารถจับใจคนหมู่มากได้

 

          พร้อมตั้งความหวังว่าสารคดีของนาสคาร์ ที่จะออกฉายในปีหน้า จะสามารถจับแฟนกลุ่มแมสได้เช่นเดียวกัน

 

ไม่ใช่ทุกคนที่ชื่นชอบ
(มักซ์ แวร์สแตพเพน แชมป์โลกคนล่าสุด เกลียดซีรีส์นี้ และเห็นว่า “ปลอม” ในการพยายามสร้างดรามาในวงการ / ภาพจาก F1)

          ขณะที่ แดเนียล ริคคิอาร์โด ของแม็คลาเรน เห็นด้วยว่าความนิยมที่โตแบบก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากสารคดีชุดนี้

 

          แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนในวงการฟอร์มูลาวัน จะเห็นดีเห็นงามไปด้วยทุกคน

 

          แลนโด นอร์ริส เพื่อนร่วมทีมของ ริคคิอาร์โด สารภาพว่าเขาไม่เคยดูซีรีส์จนจบแม้แต่ตอนเดียว แต่ก็ดีใจที่มันช่วยจุดกระแสความนิยมของกีฬาชนิดนี้ในสหรัฐฯได้

 

          ขณะที่แชมป์โลกคนปัจจุบัน มักซ์ แวร์สแตพเพน กลับไม่คิดแบบนั้น

 

          แวร์สแตพเพน เห็นว่าสไตล์การเล่าเรื่องของ Drive to Survive จงใจขายความเป็นดรามามากเกินไป 

 

          โดยเฉพาะการที่ทีมผู้ผลิตมักเลือกตัดคลิปเสียงมาใช้เพื่อสร้างความขัดแย้งให้เกิด โดยไม่คำนึงถึงบริบทในสถานการณ์จริง ซึ่ง แวร์สแตพเพน ก็ปฏิเสธการมีส่วนร่วมถ่ายทำสำหรับซีซัน 4 ไปแล้ว

 

          แม้แชมป์โลกคนปัจจุบันจะไม่สนุกไปด้วย แต่เมื่อคนอื่น ๆ ในวงการมองว่าซีรีส์ให้ผลดีมากกว่าเสีย

 

          โปรเจกต์นี้จึงได้เดินหน้าต่ออย่างน้อยอีกหนึ่งฤดูกาล ซึ่งคงต้องรอดูว่า Drive to Survive จะยืนระยะ และส่งผลต่อภาพรวมของวงการฟอร์มูลาวันได้อีกนานแค่ไหน

 

          ตรงนี้ก็ขึ้นกับตัวมาตรฐานการแข่งด้วย ว่าเมื่อซีรีส์ช่วยกวาดต้อนผู้ชมมาให้แล้ว การแข่งในสนามจะรั้งคนเหล่านี้ให้อยู่ต่อได้มากน้อยแค่ไหน

 

          "สิ่งที่เราพยายามทำคือผสมผสานการแข่งและความบันเทิงในแบบที่ผู้คนอยากมีส่วนร่วมไว้ให้ได้ นั่นคือสิ่งที่ฟอร์มูลาวันควรจะเป็น ในฐานะกีฬาที่เติบโตและขยายตัวออกไป" เอปสไตน์ สรุป

--------------------

SOURCE

logoline