svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

โรคเรื้อรังยุค 5G ที่ไปไกลกว่า ออฟฟิศซินโดรม

24 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ออฟฟิศซินโดรม" หนึ่งในปัญหาสุขภาพของคนทำงานออฟฟิศที่เรารู้จักกันมานาน แต่ปัจจุบันอาการผิดปกติเรื้อรังมีมากกว่านั้น เหตุเพราะพฤติกรรมของคนเราเปลี่ยนไป โดยเฉพาะ "การใช้โทรศัพท์มือถือ"

Highlights

  • อาการออฟฟิศซินโดรม คือ 1 ในปัญหาคนทำงานออฟฟิศ เกิดมาจากความไม่สมดุลระหว่างกล้ามเนื้อ เมื่อเรานั่งทำงานบนโต๊ะ ด้วยท่าที่ไม่ถูกต้อง หรือ ไม่ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้มึปัญหาปวดคอ บ่า ไหล่ หลายคนเป็นเรื้อรัง และลุกลามรุนแรง จนกระทบการใช้ชีวิต
  • ออฟฟิศซินโดรม อาจน่ากลัวน้อยกว่า โรค NCDs แต่เหมือนตรงที่เป็นอาการประจำตัวเรื้อรัง ที่เกิดจากมีพฤติกรรมใช้ชีวิตประจำวันแบบผิดๆ 
  • อาการปวดคอ บ่า ไหล่ ไม่ได้เกิดแค่เฉพาะมนุษย์ออฟฟิศอีกต่อไปแล้ว เเต่เกิดได้กับทุกคน โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่คนติดเล่นโทรศัพท์มือถือ และต้องก้มดูหน้าจอนานหลายชั่วโมง
  • การก้มคอ ทำให้กระดูกสันหลังของเรา รับแรงกดจากน้ำหนักของศีรษะที่หนักประมาณ 4-5 กิโลกรัม ยิ่งก้มมากเท่าไหร่ คอยิ่งต้องรับน้ำหนักมากขึ้น ทำให้มีอาการเหมือนออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกัน
  • การก้มดูโทรศัพท์มือถือ ทำให้เรามีอาการเรียกว่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ หรือ Text Neck Syndrome นั่นคือ กล้ามเนื้อที่หดเกร็ง ทำให้ไขสันหลังจะไปกดทับรากประสาทบริเวณคอ 

--------------------

โรคเรื้อรังยุค 5G ที่ไปไกลกว่า ออฟฟิศซินโดรม

          หากจะพูดถึงอาการผิดปกติเรื้อรัง ที่มาๆหายๆ อาการเป็นไม่หนัก ไม่รุนแรงเฉียบพลัน ไม่ต้องรีบไปหาหมอเพื่อรักษา และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราที่เกิดอาการได้ต่อเนื่องนานหลายปี  นอกจากโรค NCDs โรคประจำตัวเรื้อรังที่เกิดจากมีพฤติกรรมใช้ชีวิตประจำวันแบบผิดๆ หลายคนคงนึกถึง ออฟฟิศซินโดรม โรคประจำตัวยอดฮิตของชาวออฟฟิศใช่มั้ยล่ะคะ

 

          อาการออฟฟิศซินโดรม คือ 1 ในปัญหากวนใจชาวออฟฟิศ หรือคนที่นั่งทำงานนานๆ มากที่สุด เดี๋ยวก็ปวดคอ เดี๋ยวก็ปวดบ่า เดี๋ยวก็ปวดไหล่ อาการเหล่านี้เกิดมาจากความไม่สมดุลระหว่างกล้ามเนื้อ และการใช้งาน เวลาที่เราก้มทำงานบนโต๊ะ จ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆหลายชั่วโมง โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ จะทำให้กล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่มีการหดเกร็ง จนกระทั่งมีอาการปวดร้าวตามมา

          นอกจากการไม่เปลี่ยนอิริยาบถ คนส่วนใหญ่ยังชอบนั่งในท่าที่ผิด แทนที่จะนั่งหลังตรง เปิดไหล่ มองตรง กลับนั่งหลังคอม ไหล่ห่อ คอยื่น ทำให้มีอาการปวดคอบ่าไหล่เรื้อรัง บางคนอาจลามไปถึงการปวดหลังล่างเรื้อรังด้วย

 

          แต่รู้มั้ยคะว่า ปัจจุบันอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ไม่ได้เกิดแค่เฉพาะมนุษย์ออฟฟิศอีกต่อไปแล้ว เเต่เกิดได้กับทุกคน มนุษย์ยุคนี้ คือ ยุค 5G เกือบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ที่เหมือนจะเป็นอวัยวะที่ 33 หรือ 34 ไปแล้ว หลายคนติดมือถือ ไม่ว่าจะทำอะไร อยู่ที่ไหน ต้องออนไลน์ตลอด หลายคนก้มดูมือถือตลอดเวลา แทบจะ 24 ชั่วโมงก็ว่าได้ ตั้งแต่ตื่นนอน ยันเข้านอน

 

          รายงาน Thailand Digital Stat 2021 จาก We Are Social มีข้อมูลสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตและออนไลน์ของคนไทยในปี 2021 พบว่า ตัวเลขการเป็นเจ้าของโทรศัพท์ Smartphone ปีนี้ สูงขึ้นจาก2020 มาอยู่ที่ 98.9% ซึ่งก็เข้าใกล้ตัวเลข 100% ชั่วโมง การใช้มือถือของคนไทยปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 5 ชั่วโมง 7 นาทีต่อวัน โดยพบว่าใช้เวลาเพิ่มไปกับการดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมหรือการดูทีวีทางออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าคนไทยใช้เวลากับ Social media เฉลี่ย 2 ชั่วโมง 48 นาทีต่อวัน หรือเกือบ 3 ชั่วโมงเลยทีเดียว

 

          เราอาจย้อนกลับมาสำรวจตัวเองว่า ทุกวันนี้เราใช้มือถือบ่อยแค่ไหน ใช้วันละกี่ชั่วโมง แล้วตอนนี้สุขภาพเราเป็นยังไงบ้าง เพราะการจ้องหน้าจอมือถือนานๆ บ่อยๆ นอกจากไม่ดีกับสายตาเราแล้ว อีก 1 อวัยวะที่รับบทหนัก และหลายคนมักมองข้าม คือ คอ 

โรคเรื้อรังยุค 5G ที่ไปไกลกว่า ออฟฟิศซินโดรม

          คอ เป็นอวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญมากเพราะ เป็นจุดรวมของเส้นประสาท ส่วนบริเวณคอ มีกระดูกสันหลัง  7 ชิ้น กระดูกสันหลังแต่ละชิ้น คอทำหน้าที่รับน้ำหนักของศีรษะและปกป้องเส้นประสาทซึ่งนำข้อมูลรับความรู้สึกและสั่งการจากสมองลงไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย 

          รายงานของสถาบันเทคโนโลยีการผ่าตัดนานาชาติ (Surgical Technology International) ระบุว่า กระดูกสันหลังของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ต้องรับแรงกดจากการก้มหน้าเล่นสมาร์ตโฟนมากถึง 1,000 - 1,400 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งศีรษะของมนุษย์มีน้ำหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัม แต่การก้มหน้า ทำให้ตำแหน่งของศีรษะเคลื่อนไปข้างหน้า ยิ่งก้มมากเท่าไหร่ คอยิ่งต้องรับน้ำหนักมากขึ้น

 

          ในเวลาที่เราไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ คอของเราจะตั้งตรง กระดูกสันหลังก็จะรับน้ำหนักศีรษะของเราแค่ประมาณ 4 กิโลกรัม แต่เมื่อเราก้มหน้า เล่นมือถือปุ๊บ กระดูกสันหลังของเราก็จะรับน้ำหนักศีรษะเรามากขึ้น  หากก้มหน้า 30 องศา รับน้ำหนักเพิ่มเป็น 18 กิโลกรัม หากก้มหน้า 45 องศา รับน้ำหนักเป็น 22 กิโลกรัม หากก้มหน้า 60 องศารับน้ำหนักเป็น  26 กิโลกรัม เกิดแรงกดบริเวณข้อต่อของกระดูกสันหลัง ทำให้ข้อต่อคอต้องรับภาระจากน้ำหนักที่เราก้มมากขึ้น

 

          ผลจากการก้ม ทำให้เราปวดเมื่อยกล้ามเนื้อช่วงคอ บ่า ไหล่ สะบัก ยิ่งเราปล่อยไว้นานโดยไม่ปรับพฤติกรรม ก็นำไปสู่โรคกระดูกคอเสื่อมตามมา ทางการแพทย์เราเรียกว่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ หรือ Text Neck Syndrome กล้ามเนื้อที่หดเกร็ง ทำให้ไขสันหลังจะไปกดทับรากประสาทบริเวณคอ คราวนี้ล่ะยาวเลย ต้องไปหาหมอเพื่อรักษา และไม่รู้ว่าจะกลับมาหาย 100% มั้ย

 

          อาการปวดคอบ่าไหล่เรื้อรัง อาจจะลุกลามไปสู่โรค อื่นๆ เช่น กลุ่มอาการ TOS (Thoracic Outlet Syndrome) คือโรคปวดคอก็ไม่ใช่ ปวดไหล่ก็ไม่เชิง เกิดจากเส้นเลือดและเส้นประสาทบริเวณระหว่างต้นคอกับรักแร้ไปจนถึงด้านหน้าของไหล่และหน้าอก ถูกกดทับจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อส่วนระหว่างช่องอก  กระดูกไหปลาร้า และกระดูกซี่โครง

โรคเรื้อรังยุค 5G ที่ไปไกลกว่า ออฟฟิศซินโดรม

          หลายคนอาจมีอาการที่แตกต่างกันไป หากเกิดการกดทับที่หลอดเลือด  ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก แขนอ่อนแรง มือ และนิ้วมือเย็นผิดปกติ เกิดอาการเหน็บชาที่นิ้วมือ ส่วนการกดทับที่เส้นประสาททำให้เกิดอาการชา และจะปวดบริเวณคอ ไหล่ หรือมือ บางรายกำมือได้ไม่แน่น เนื่องจากไม่มีแรง

 

          เห็นแบบนี้แล้ว น่ากลัวใช่มั้ยล่ะคะ ดังนั้นอย่าคิดว่าพฤติกรรมการก้มดูมือถือนานๆ เป็นเรื่องเล็กนะคะ เพราะเมื่อเราทำซ้ำๆบ่อยๆ ก็เหมือนการสะสมความเสี่ยงที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพในอนาคตได้

 

          วิธีป้องกันที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลุกลามใหญ่โต  ง่ายที่สุด เราต้องเริ่มจากการ ปรับอิริยาบถร่างกายเวลาทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเวลาใช้โทรศัพท์มือถือ หรือเวลานั่งทำงาน ให้ปรับระดับและท่าทางของคออยู่ในแนวตรงมากที่สุด ไม่ก้มหน้า ก้มคอ หรือห่อหลัง ห่อไหล่  ควรพักเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ และที่สำคัญไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจ ลองตั้งค่าเวลาใช้งาน Social ในมือถือ ไม่เกินกี่ชั่วโมง/วันก็ว่าไป แค่นี้ก็ช่วยได้เเล้วค่ะ

 

          เพราะโลกเราทุกวันนี้ มีโลกออนไลน์ ที่เปรียบเสมือนโลกคู่ขนานกับความเป็นจริง อย่าให้เทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาขึ้น มาทำให้ชีวิตจริงเรามีปัญหา นอกจากสุขภาพเราเองที่ต้องดูแลให้ดีแล้ว ยังต้องใส่ใจคนใกล้ตัวเราด้วย ชีวิตถึงจะสมดุลและมีความสุขนะคะ

โรคเรื้อรังยุค 5G ที่ไปไกลกว่า ออฟฟิศซินโดรม --------------------

ที่มา

logoline