svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

จะนะ นิคมอุตสาหกรรมต้นแบบ กับคำสัญญาของรัฐบาลที่ไม่มีวันเป็นจริง

08 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไม่มีใครคาดคิดว่าการชุมนุมคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะถูกจับกุมและสลายการชุมนุมไปเสียดื้อๆ ทั้งที่พวกเขายังไม่ได้ก่อเหตุหรือมีทีท่าใช้ความรุนแรงใดๆ วันนี้เราจึงมาย้อนความว่าเหตุใดชาวบ้านจึงรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม

          ผู้คนในประเทศต่างพากันฉงน จากประเด็นสลายการชุมนุมคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ บริเวณทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เมื่อทางกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้เคลื่อนไหวหรือแสดงท่าทียั่วยุใดๆ แต่กลับถูกจับกุมตัวไปเป็นจำนวนถึง 35 คน อีกทั้งยังมีการกั้นสื่อมวลชนไม่ให้มีการถ่ายรูประหว่างปฏิบัติการอีกด้วย

 

          ชวนให้ตั้งคำถามในสิ่งที่เกิดขึ้นรวมถึงจุดประสงค์ของการกระทำในครั้งนี้ ทั้งที่นี่คือการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ อีกทั้งมีการทำบันทึกข้อตกลงว่าจะไม่ดำเนินการเกี่ยวกับโครงการนี้เพิ่มเติม ในวันที่ 14 ธันวาคม 2563 แต่กลับไม่มีทีท่าจะทำตามที่รับปาก เป็นเหตุให้กลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นกลับมาเคลื่อนไหวนำไปสู่การสลายการชุมนุมในที่สุด

 

          วันนี้เราจึงจะมาพูดถึงนิคมอุตสาหกรรมจะนะเสียหน่อยว่ามันคืออะไร? ทำไมผู้คนจึงพากันออกมาคัดค้าน?
แผนผังนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ต้นแบบการพัฒนาที่สร้างความกังขาแก่ชุมชน
          โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เริ่มต้นจากโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยการเปลี่ยนพื้นที่อำเภอ หนองจิก, เบตง และสุไหงโกลก ให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยอนุมัติให้ศอ.บต.เป็นผู้ดำเนินการ ก่อนเริ่มมีการขยายไปถึงพื้นที่อำเภอจะนะในวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 นำไปสู่การอนุมัติในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

 

          โครงการดังกล่าวใช้พื้นที่ทะเลชายฝั่งทะเลของตำบลนาทับ, ตลิ่งชัน และสะกอม ในอำเภอจะนะกว่า 16,753 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมประกอบด้วย เขตอุตสาหกรรมหนักและเบาสำหรับการผลิต, โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่, ท่าเรือน้ำลึกแห่งแรกของภูมิภาค, เขตอุตสาหกรรมในการกระจายสินค้า ไปจนถึงศูนย์บริการเบ็ดเตล็ด โดยเป็นการลงทุนจากภาคเอกชนที่มีภาครัฐอำนวยความสะดวก จากบริษัทใหญ่สองเจ้าอย่าง TPIPP กับ IRPC

          ประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งคือ เดิมพื้นที่แถบนี้ตามผังเมืองเดิมเป็นพื้นที่สีเขียวจัดเป็นพื้นที่สำหรับใช้ในการเกษตรและเป็นพื้นที่อนุรักษ์ หากต้องการตั้งนิคมอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเปลี่ยนให้เป็นสีม่วงเสียก่อน แต่นั่นตามมาด้วยเสียงคัดค้านจากผู้คนในชุมชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ

 

          คนในพื้นที่บางส่วนออกมาเรียกร้องว่าเขตพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ กินพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่เป็นแหล่งทำกินของพวกเขาไปเกือบหมด สิ่งนี้ทำลายรากฐานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมในชุมชนรวมถึงอาชีพในการทำมาหากิน สร้างความไม่พอใจให้แก่คนในพื้นที่ว่าเหตุใดถึงรีบเร่งดำเนินการ โดยไม่ยอมรับฟังหรือหาข้อสรุปร่วมกันเสียก่อน

จะนะ นิคมอุตสาหกรรมต้นแบบ กับคำสัญญาของรัฐบาลที่ไม่มีวันเป็นจริง

          มีความพยายามเรียกร้องจาก ไครียะห์ ระหมันยะ ได้ยื่นหนังสือขอให้ตรวจการทำงานของศอ.บต. ในวันที่ 29 มิถุนายน 2563 แต่แทนที่จะสามารถคลี่คลายจากเวทีรับฟังข้อเรียกร้องในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 กลับมีข้อกล่าวหาว่านี่เป็นเวทีที่ปิดกั้นผู้คัดค้านบางส่วนจากการแสดงความคิดเห็น จนต้องมีการตั้งเวทีคู่ขนานในวันเดียวกัน 

 

          ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนพื้นที่ผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วงตามแผนดำเนินงานในวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ชาวบ้านจึงไม่ทนอีกต่อไป เกิดการชุมนุมจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ในวันที่ 10-15 ธันวาคม 2563 ก่อนได้ข้อสรุปเป็นการทำบันทึกข้อตกลง(MOU)กับทางรัฐบาลว่าจะยอมรับข้อเสนอของกลุ่ม มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการทำงานของศอ.บต. โดยยกเลิกโครงการต้นแบบอุสาหกรรมจะนะและการแก้ไขผังมืองออกไปก่อน เพื่อหาข้อตกลงร่วมกับภาคประชาชน
สัญญา MOU ระหว่างกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นกับทางรัฐบาล

          ฟังดูเหมือนจบลงด้วยดี แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลนอกจากไม่มีวี่แววแก้ไขหรือปรับปรุงตามเงื่อนไขการเรียกร้อง ยังเดินหน้าเปลี่ยนพื้นที่สีเขียวสำหรับการเกษตรและอนุรักษ์ ไปสู่พื้นที่สีม่วงในการใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม อีกทั้งเริ่มเดินหน้าจัดทำรายงานประเมินผลด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นขั้นตอนในการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย

 

          นั่นทำให้ในวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯเพื่อทวงถามความคืบหน้าเรื่องข้อตกลงที่เคยมี แต่ในคืนวันเดียวกันภายหลังเจรจาให้ย้ายพื้นที่ชุมนุมในเวลา 19:30 ก็เกิดการเข้าสลายการชุมนุมในช่วงเวลา 21:00 น. โดยมีการกันนักข่าวรวมถึงส่องไฟฉายรบกวน เพื่อไม่ให้มีการเก็บภาพการควบคุมตัวผู้ชุมนุม 37 ชีวิต ไปสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต

 

          นำไปสู่การตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงจำเป็นขนาดต้องสลายการชุมนุม ในเมื่อกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเพียงมาชุมนุมเรียกร้องอย่างสงบ ไม่ได้มีการยั่วยุ ปลุกปั่น หรือใช้ความรุนแรงใดๆ อีกทั้งการเรียกร้องดังกล่าวก็เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และมีการทำบันทึกข้อตกลงไว้ล่วงหน้า ทำให้เกิดความฉงนในท่าทีของรัฐบาลต่อกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นอย่างยิ่ง

 

          คงต้องติดตามต่อไปทั้งท่าทีจากรัฐบาลและปฏิกิริยาของประชาชนว่าจะเป็นอย่างไรต่อ รวมถึงการจับกุมคราวนี้จะลุกลามบานปลายนำไปสู่เหตุร้ายแรงอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงสักนิดว่าสาเหตุในการเสนอโครงการ รวมถึงข้อโต้แย้งคัดค้านจากคนในพื้นที่เกิดจากสาเหตุใดบ้าง?

จะนะ นิคมอุตสาหกรรมต้นแบบ กับคำสัญญาของรัฐบาลที่ไม่มีวันเป็นจริง

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

  1. เพิ่มอัตราจ้างงานภายในพื้นที่ สร้างงานให้แก่คนในท้องถิ่นรวมถึงคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมากกว่า 100,000 อัตรา คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนกว่า 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี
  2. ขยายเศรษฐกิจของชุมชนจากการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชน ช่วยให้เม็ดเงินสะพัดในท้องที่จำนวนมหาศาล
  3. ลดความแออัดและการกระจุกตัวของงานในเมืองหลวง หรือการเข้าไปหางานทำในประเทศมาเลเซีย เพราะไม่มีงานตรงกับสายอาชีพในท้องที่
  4. เพิ่มมูลค่าของที่ดินภายในท้องที่ให้ถีบตัวสูงขึ้น โดยเพิ่มจาก 7 หมื่นบาท ไปเป็น 1.5 ล้านบาทต่อไร่
  5. การสร้างโรงไฟฟ้า นอกจากใช้งานภายในนิคมยังอาจหล่อเลี้ยงประชาชนได้เป็นจำนวนมาก
  6. การสร้างท่าเรือน้ำลึกทำให้ขนส่งสินค้าได้มากขึ้น ช่วยกระจายสินค้าภายในท้องถิ่นให้ทั่วถึงทั้งประเทศ

 

          เห็นได้ชัดว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้คุณภาพชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน รวมถึงเพิ่มอัตราการจ้างงานในพื้นที่อย่างก้าวกระโดด ฟังดูเป็นเรื่องดีแต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งจากกลุ่มคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะในหลายด้าน

 

ผลกระทบที่จะตามมาเมื่อเกิดการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

  1. อุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุน มีการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิตเป็นหลัก ใช้แรงงานน้อย ทำให้อัตราการจ้างงานอาจไม่เป็นไปตามเป้า 100,000 คนตามที่รายงาน
  2. ผู้คนจำนวนมากประกอบอาชีพการเกษตร ประมง และท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การตั้งนิคมอุตสาหกรรมจึงไม่ช่วยส่งเสริมอาชีพเดิมหรือวิถีชีวิตภายในชุมชนเลย
  3. ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทำให้ชาวบ้านพากันกังวล เพราะชายฝั่งแถบจะนะคือพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง อีกทั้งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนในท้องที่ ซึ่งการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง
  4. ปัญหาด้านมลพิษและความเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศ ซึ่งอาจส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพ รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

 

          แน่นอนว่าข้อโต้แย้งกังขาเหล่านี้คือเรื่องที่เกิดและพบได้ทั่วไปในการสร้างเขตเศรษฐกิจ สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือการปรึกษา ทำความเข้าใจ หาข้อตกลงร่วมกับคนในชุมชน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นลงให้น้อยลง รวมถึงต้องแสดงความตั้งใจในการแก้ปัญหามากกว่าควบคุมตัวผู้ชุมนุม โดยไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือหรือเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่พวกเขาเช่นนี้

จะนะ นิคมอุตสาหกรรมต้นแบบ กับคำสัญญาของรัฐบาลที่ไม่มีวันเป็นจริง

--------------------

ที่มา

logoline