svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

จีน vs อุตสาหกรรมกีฬา : ตลาดแผ่นดินใหญ่ยังจำเป็นหรือไม่? เมื่อทุกอย่างไม่เหมือนเดิม

02 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากการประท้วงในฮ่องกง ความเห็นของ เมซุต โอซิล และกรณีล่าสุดของ เผิง ช่วย แสดงให้เห็นความขัดแย้งที่ก่อตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างมุมมองที่ไม่ตรงกันของจีนกับโลกตะวันตก และมันอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของแบรนด์กีฬาจากซีกโลกตะวันตกทั้งหลาย ว่าควรไปต่อ หรือพอแค่นี้ กับการทำตลาดบนแผ่นดินใหญ่

Highlights

  • จีน ถือเป็นตลาดใหญ่สำหรับทุกอุตสาหกรรมบนโลก ไม่เว้นแม้แต่กีฬา ที่องค์กร สโมสร หรือนักกีฬาต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในความมั่งคั่งนี้ด้วย
  • แต่เมื่อเวลาผ่านไป แบรนด์เหล่านี้เริ่มพบว่าทุกอย่างไม่สวยหรูอย่างที่คิด ทั้งในแง่การเงินและเศรษฐกิจ หรือแม้แต่สิทธิมนุษยชน เมื่อทางการจีนเริ่มเข้ามาควบคุมทุกอย่างมากขึ้น
  • การลุกขึ้นมาต่อกรกับรัฐบาลจีนของ WTA ต่อกรณีของ เผิง ช่วย ซี่งยังไม่ปรากฎตัวต่อสาธารณชนนับแต่เปิดโปงเรื่องชู้สาวกับบุคคลระดับสูงของรัฐ คือตัวอย่างล่าสุดที่นักวิเคราะห์มองว่าอาจนำไปสู่จุดแตกหักที่แบรนด์ทั้งหลายต้องเลือก

--------------------

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนคือตลาดใหญ่สำหรับทุกอุตสาหกรรม ถึงขนาดมีคำกล่าวที่ว่า 'โลกเปลี่ยน เมื่อจีนขยับ'

 

          เพราะปัจจุบัน จีนขยับขยายจากการเป็นโรงงานโลก กลายมาเป็นผู้บริโภคอย่างเต็มตัว เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า หรือสินค้าลักชัวรี่ ซึ่งเฉพาะยอดขายในจีนก็สูงกว่าที่อื่น ๆ บนโลกรวมกัน

 

          จึงไม่แปลกที่แบรนด์กีฬาต่าง ๆ ทั้งผลิตภัณฑ์ สโมสร หรือลีกการแข่งขัน จะต้องการเข้าไปเปิดตลาดที่นั่น

 

          แต่ในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่ปี แบรนด์เหล่านี้กลับเริ่มพบว่าตลาดจีนนั้นไม่หอมหวาน และเฟื่องฟูเหมือนที่เคยคิดไว้

 

          ไม่ใช่แค่เรื่องการเงิน แต่ยังเริ่มขยับไปถึงผลกระทบทางสังคม การเมือง รวมถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน ที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนอาจนำไปสู่จุดที่แบรนด์เหล่านี้ต้องเลือกว่าจะอยู่หรือไปจากตลาดใหญ่แห่งนี้

 

ผู้บุกเบิก

(เหยา หมิง สะพานเชื่อมจีนกับวงการกีฬาโลก ในยุคแรก / ภาพ Getty Images)

          บาสเกตบอล NBA น่าจะถือเป็นกลุ่มผู้บุกเบิกการเข้าไปทำตลาดในจีนของแบรนด์กีฬาจากซีกโลกตะวันตก

 

          การแจ้งเกิดของ เหยา หมิง ในฐานะซูเปอร์สตาร์ ฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ ช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 คือจุดเริ่มต้นที่เปิดทางให้ NBA ได้เข้าไปจัดแมตช์ต่าง ๆ ที่นั่น

          ในเวลาไล่เลี่ยกัน การแข่งขันรถยนต์ที่เร็วที่สุดในโลก ฟอร์มูล่า วัน ก็เข้าไปบุกเบิก และจัด ไชนีส กรังด์ปรีซ์ ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2004

 

          ส่วนในวงการฟุตบอล เราก็ได้เห็นความพยายามของหลายสโมสรที่เปิดกว้างรับสปอนเซอร์จากจีน ขณะที่ อินเตอร์ ทีมระดับหัวแถวใน กัลโช่ เซเรีย อา ก็ถูกเทกโอเวอร์โดย จาง จินตง แห่ง ซูหนิง กรุ๊ป

 

          ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยความเชื่อว่าตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่ที่กำลังเติบโต มีกำลังซื้อสูง ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ

 

ความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่

(ทวีตความเห็นทางการเมืองของผู้จัดการทั่วไป ฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ กลายเป็นประเด็นที่จีนไม่อาจยอมรับได้ แม้เป็นการแสดงออกส่วนบุคคลก็ตาม / ภาพจาก Sky News)

          กรณีที่เกิดขึ้นกับ NBA นั้นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ว่าต่อให้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันมากขนาดไหน ก็อาจพังทลายลงได้ จากความเห็นต่างทางการเมือง

 

          สองปีก่อน ในช่วงที่การประท้วงในฮ่องกงกำลังระอุ แดรีล มอรีย์ ผู้จัดการทั่วไปของ ฮุสตัน ร็อคเกตส์ ซึ่งมีแฟนเบสจำนวนมากในจีน ทวีตข้อความสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่รุนแรงอย่างคาดไม่ถึง

 

          สินค้าที่ระลึกของ ร็อคเกตส์ ถูกเก็บจากกร้านค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ขณะที่โปรแกรมการถ่ายทอดแมตช์แข่งขัน ก็ถูกถอดออกจากแพลตฟอร์มและสถานีโทรทัศน์

 

          แฟนกีฬายัดห่วงชาวจีนรุมถล่ม NBA บนโซเชียลมีเดียอย่างหนัก จนสุดท้ายทางลีกต้องออกแถลงการณ์ ซึ่งหลายฝ่ายตีความว่าเป็นการ "ขอโทษ" สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น

 

          เรื่องทำท่าจะจบ แต่นั่นกลายเป็นการจุดประเด็นให้ซีกโลกตะวันตกเดือดขึ้นมาแทน เพราะเห็นว่าการขอโทษจีน เท่ากับยอมรับว่าทวีตสนับสนุนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยของ มอรีย์ เป็น "สิ่งที่ผิด"

 

          ในสหรัฐฯ ก็มีเสียงเรียกร้องเช่นกัน นำโดย อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ หรือ AOC นักการเมืองดาวรุ่งของเดโมแครต ให้ NBA แสดงท่าทีที่ชัดเจนกว่านี้ เพื่อสนับสนุนว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับลีก สามารถแสดงความเห็นในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเสรี

          จนสุดท้าย ไมค์ เบส โฆษกของ NBA ต้องแถลงว่าเป็นสิทธิ์ของ มอรีย์ ในการแสดงความเห็นทางการเมือง แม้อาจสุ่มเสี่ยงว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจของ ร็อคเกตส์ หรือแม้แต่ NBA ก็ตาม

 

          มาร์ค เดรเยอร์ นักวิเคราะห์ของ China Sports Insider ในกรุงปักกิ่ง กล่าวถึงกรณีนี้ ว่า "ถ้าคุณทำให้ทั้งสองฝ่ายโกรธ นั่นแปลว่ามันไม่มีตรงกลางให้เลือก ซี่งจะเป็นปัจจัยสำคัญมาก"

 

          เทียบกับในหลาย ๆ กรณีแล้ว มอรีย์ ถือว่าโชคดีกว่ามากที่ยังมีเสียงสนับสนุน เมื่อเทียบกับ เมซุต โอซิล เพลย์เมกเกอร์ทีมชาติตุรกี ซึ่งเคยแสดงความเห็นต่อการปฏิบัติกับชาวอุยกูร์ของทางการจีน

 

          CCTV และ PP Sports ตัดสินใจระงับการถ่ายทอดทุกแมตช์ที่ อาร์เซนอล ลงเล่น แม้ PP Sports จะผ่อนปรนในภายหลัง แต่จะไม่เอ่ยถึง โอซิล ต่อให้เจ้าตัวลงสนามก็ตาม

 

          แรงกดดันต่อ โอซิล ยังมากขึ้นเรื่อย ๆ อวาตาร์ ในวิดีโอเกมที่วางขายในจีนถูกลบทิ้ง เสิร์ชเอนจินในจีนถอดข้อมูลหรือข่าวที่เกียวกับกองกลางรายนี้ออกทั้งหมด

 

          ขณะที่ อาร์เซนอล ในฐานะต้นสังกัด ก็เลือกที่จะ "ลงโทษ" นักเตะรายนี้

 

          ตั้งแต่การถอดสินค้าที่ระลึกที่มีชื่อ โอซิล ทั้งหมดออกจากล็อตฉลองเทศกาลตรุษจีน ขณะที่ มิเคล อาร์เตต้า ผู้จัดการทีมก็ถอดนักเตะรายนี้ออกจากทีม โดยให้เหตุผลแค่ว่า "เป็นการตัดสินใจของตน"

 

          ตลกร้ายในเวลานั้น คือสโมสร หรือแม้แต่ทางพรีเมียร์ลีกเอง แสดงท่าทีสนับสนุนแคมเปญ #BlackLivesMatter ซึ่งเป็นการเรียกร้องความเท่าเทียมเช่นกัน แต่กลับเลือกที่จะเงียบในกรณีของชาวอุยกูร์ และลงโทษ โอซิล เพื่อเอาใจตลาดในจีนแทน

 

แรงต้านจาก WTA
(การหายตัวของ เผิง ช่วย เป็นฟางเส้นสุดท้ายให้ WTA เลือกตัดขาดจากจีน / ภาพจาก Reuters)

          ขณะที่แบรนด์ใหญ่ อย่าง ไอโอซี, NBA หรือ พรีเมียร์ลีก อ่อนน้อมให้กับแรงกดดันจากจีน

 

          สมาคมนักเทนนิสอาชีพหญิง หรือ WTA คือตัวอย่างขององค์กรที่กล้าลุกขึ้นมาต่อกรกับแผ่นดินใหญ่ ทั้งที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการเข้าไปตีตลาดที่นั่นได้ไม่นาน

 

          WTA แสดงจุดยืนชัดเจน เมื่อทางการจีนไม่สามารถแสดงหลักฐานยืนยันได้ว่า "เจ้าหญิงแห่งวงการเทนนิสของจีน" เผิง ช่วย ยังคงปลอดภัยดี หลังหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ตั้งแต่เปิดเผยว่าเธอมีความสัมพันธ์ในฐานะมือที่สามกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งของรัฐบาล

(ไอโอซี เผยภาพว่า เผิง ได้วิดีโอคอลคุยกับ โธมัส บาค ประธานโอลิมปิกสากล เพื่อยืนยันว่ายังปลอดภัยดี / ภาพจาก IOC)

          แม้จะมีภาพว่าเธอได้วิดีโอคอลกับ โธมัส บาค ประธานไอโอซี ปรากฏตามสื่อแล้ว แต่หลายฝ่ายก็ยังเชื่อว่า เผิง อาจถูกควบคุมตัวอยู่ และเป็นที่รู้กันว่าคณะกรรมการโอลิมปิกสากลกับรัฐบาลจีนนั้น “มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน”

 

          ไซมอน แชดวิค ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจกีฬานานาชาติของ Emlyon Business School ให้ทรรศนะถึงเรื่องนี้ ว่าประกอบด้วยส่วนผสมของการเมือง ศีลธรรม และเศรษฐศาสตร์ และเป็นสัญญาณเตือนว่าการปะทะกันทางความคิด ระหว่างจีนกับประเทศประชาธิปไตยในโลก กำลังใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ

 

          และนั่นคือสิ่งที่องค์กร ธุรกิจ สปอนเซอร์ ฯลฯ จะถูกบีบให้ต้อง "เลือกข้าง" ในที่สุด เหมือนที่ สตีฟ ไซมอน ซีอีโอของ WTA ประกาศว่าพร้อมถอนทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ ออกจากจีนทั้งหมด หากทางการจีนไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เผิง ยังปลอดภัยดี

 

          ในมุมของ เดรเยอร์ นั้น เหตุผลหนึ่งที่ WTA ตัดสินใจเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น คือความสัมพันธ์กับแฟนกีฬาจีนที่ยังไม่แนบแน่นพอ เพราะหลังจากเพิ่งเข้ามาเปิดตลาดได้ไม่นาน ก็ต้องเจอผลกระทบจากโควิดทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก

 

          นอกจากนี้ ทางการจีนเพิ่งสั่งลบเนื้อหาทุกอย่างที่เอ่ยถึง เผิง บนโลกโซเชียล ซึ่งรวมถึงความเห็นจากโลกภายนอกถึงเรื่องนี้ด้วย แปลว่าแฟนกีฬาชาวจีนจะแทบไม่ได้รับรู้ความเคลื่อนไหวของ WTA ที่เรียกร้องหลักฐานจากทางการจีนเลย

 

ตลาดที่ไม่เปิดกว้างเหมือนเดิม
(อินเตอร์ ต้องแยกทางกับ คอนเต และ ลูกากู เพราะ จาง จินตง เจ้าของสโมสรมีปัญหาการเงิน / ภาพ Getty Images)           แต่ในอนาคตอันใกล้ WTA อาจไม่ใช่องค์กรกีฬาเดียวที่ตีตัวออกจากจีนก็ได้ ถ้าพิจารณาจากความเข้มงวดของทางการจีนในระยะหลังที่ครอบคลุมไปในทุกด้าน จนถูกขนานนามว่าเป็น 'การปฏิวัติวัฒนธรรม 2.0'

 

          ขณะที่ความเฟื่องฟูของตลาดจีนที่แบรนด์เหล่านี้เคยตั้งความหวังไว้ ก็ไม่สวยหรูอย่างที่คิด

 

          ซูหนิง กรุ๊ป ของ จาง จินตง ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จนส่งผลกระทบต่อ อินเตอร์ ที่ จาง เป็นเจ้าของสโมสร จน อันโตนิโอ คอนเต ตัดสินใจอำลาทีม ทั้งที่เพิ่งคว้าแชมป์ เซเรีย อา มาครอง เช่นเดียวกับนักเตะสำคัญอย่าง โรเมลู ลูกากู และอื่น ๆ ที่ทยอยถูกขายออกไป เพื่อประคับประคองการเงินของสโมสร

 

          สัญญาถ่ายทอดสดเกมพรีเมียร์ลีกมูลค่า 650 ล้านดอลลาร์ กับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง PPTV ถูกยกเลิกก่อนกำหนด ขณะที่ Tencent ซี่งเข้ามารับช่วงต่อ ก็จ่ายค่าลิขสิทธิ์ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม จนกระทบต่อรายได้ของสโมสรต่าง ๆ ไปด้วย

 

          แชดวิค มองว่าตอนนี้แบรนด์กีฬาจากซีกโลกตะวันตก เริ่มพบแล้วว่าการเข้าไปทำตลาดในจีน ไม่สวยหรูอย่างที่คิดไว้ตอนแรก เพราะนอกจากจะไม่พร้อมทุ่มเงินเหมือนที่ประกาศไว้แล้ว หลายรายยังมีข้อจำกัดและเงื่อนไขอีกมากมายที่ทำงานด้วยยาก

 

          และในท้ายที่สุด แบรนด์เหล่านี้ก็จะค่อย ๆ ทยอยตีจากตลาดจีนไป เมื่อพบว่าจีนที่เคยอ้าแขนต้อนรับทุกคนบนโลก เหมือนที่เคยทำในปักกิ่งเกมส์ 2008 กับจีน ณ ปัจจุบันที่กำลังทำธุรกิจด้วยนั้น แตกต่างกันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

--------------------

SOURCE

logoline