svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ย้อนวิวัฒนาการกลายพันธุ์โควิด-19 ก่อนการมาถึงของ “โอมีครอน”

30 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เวลานี้เรากำลังเผชิญกับ “โอมีครอน” ไวรัสโควิดสายพันธุ์ที่สร้างความหวั่นวิตกไปทั่วโลก เพราะมีการพัฒนาคุณสมบัติที่เหนือชั้นกว่าสายพันธุ์เดิม ซึ่งเราขอพาไปย้อนดูเหตุการณ์ใหญ่ๆเกี่ยวกับการกลายพันธุ์โควิดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

Highlights

  • ไวรัสมีการพัฒนาสายพันธุ์ต่อเนื่อง และสามารถปรับตัวเข้ากับร่างกายมนุษย์ที่มันอาศัยอยู่ ยิ่งกลายพันธุ์ยิ่งระบาดได้เร็ว และมีคุณสมบัติที่เหนือชั้นยิ่งขึ้น ยิ่งแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง จะมีการผสมผสานสายพันธุ์และมีคุณสมบัติทนทานมากขึ้น ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ 
  • ช่วงแรกเป็นการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์จากสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิม แตกออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ S กับ L จากนั้นเมื่อสายพันธุ์ไหนแพร่กระจายได้มากกว่า ก็จะแตกแขนง แบ่งลูกหลานออกเป็นสายพันธุ์ย่อยๆ หากประเทศไหนคุมการระบาดไม่ดี ยิ่งมีแนวโน้มที่เชื้อจะยิ่งกลายพันธุ์
  • การระบาดครั้งใหญ่ของโลกที่กระทบหลายประเทศ  รวมถึงในประเทศไทย คือ การระบาดไวรัสสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และเดลต้า (อินเดีย)  ไวรัสมีวิวัฒนาการที่สามารถแพร่เชื้อได้ไวขึ้น อาการรุนแรงมากขึ้น และสามารถหลบภูมิต้านทานได้ดี ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง
  • ล่าสุด องค์การอนามัยโลก ได้เพิ่ม สายพันธุ์โอมีครอน เป็น เชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern) ตัวที่ 5 ต่อจากอัลฟา เดลต้า แกมมา และเบต้า หลังว่างเว้นมานาน 6 เกือน เพราะมีหลักฐานพบว่า มีคุณสมบัติทั้ง แพร่ระบาดได้ไว หลบภูมิคุ้มกันได้ดี  และอาจทำให้ผู้ป่วยกลับมาติดเชื้อซ้ำได้
  • ปัจจุบันสายพันธุ์เดลต้า ยังเป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดทั่วโลก พบถึง 99% เวลานี้ยังต้องรอความชัดเจนจากนักวิทยาศาสตร์ ถึงคุณสมบัติของสายพันธุ์โอมีครอน ก่อนที่บริษัทผลิตวัคซีนจะเริ่มพัฒนาวัคซีนใหม่ๆต่อไป

--------------------

ย้อนวิวัฒนาการกลายพันธุ์โควิด-19 ก่อนการมาถึงของ “โอมีครอน”

ย้อนวิวัฒนาการกลายพันธุ์ของโควิด-19

          นับตั้งแต่สายพันธุ์เดิมจากจีนที่อุบัติขึ้นปลายปี 2562 โควิด 19 ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปกว่า 5.2 ล้านคนแล้ว โควิด 19 ได้กลายพันธุ์ออกไปหลายสายพันธุ์ เพราะไวรัสมีการพัฒนาสายพันธุ์ต่อเนื่อง และสามารถปรับตัวเข้ากับร่างกายมนุษย์ที่มันอาศัยอยู่ ยิ่งกลายพันธุ์ยิ่งระบาดได้เร็ว และมีคุณสมบัติที่เหนือชั้นยิ่งขึ้น

 

          ย้อนกลับไป โควิด 19  เริ่มระบาดจากประเทศจีน ด้วย 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ S (Serine) และสายพันธุ์ L (Leucine) และเมื่อระบาดมาสู่นอกประเทศจีน สายพันธุ์ L ที่แพร่กระจายได้ดีกว่า ได้แบ่งลูกหลานออกเป็นสายพันธุ์ G (Glycine) และสายพันธุ์ V (Valine) สายพันธุ์ G มีวิวัฒนาการได้มากกว่า แพร่กระจายโรคได้มากกว่า และไประบาดหนักหลายประเทศ ทั้งในฝั่งยุโรป อเมริกา และเอเชีย จากนั้นก็แตกออกเป็น 3 สายพันธุ์ คือ GH (Histidine) GR (Arginine) และ GV (Valine)  

 

          หากจำได้ สายพันธุ์ GH เคยเข้ามาแผลงฤทธิ์ในประเทศไทยช่วงการระบาดระลอก 2  เดิมทีสายพันธุ์นี้ระบาดหนักในประเทศอินเดีย เชื่อว่าเชื้อยังเข้าไประบาดในพม่า ก่อนที่จะเล็ดลอดเข้ามาประเทศไทยจากแรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศ แล้วมาปะทุที่ตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร 

 

ยิ่งกลายพันธุ์ ยิ่งกระจาย = ยิ่งกระจาย ยิ่งกลายพันธุ์  

          ก่อนหน้านี้ในเอเชียสายพันธุ์ L ดั้งเดิม จะดำรงอยู่นานกว่าและไม่มีการกลายพันธุ์เพิ่ม เนื่องจากหลายประเทศรวมทั้งจีนได้ปิดพรมแดนและควบคุมการเดินทาง  ตรงข้ามกับฝั่งอเมริกาเหนือและยุโรปที่ไม่ได้ควบคุมการเดินทางเข้มงวด ทำให้สายพันธุ์ L นั้นกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ G แล้วกลายพันธุ์ออกไปอีกหลายสายพันธุ์

          เมื่อไวรัสแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง จะมีการผสมผสานสายพันธุ์มากขึ้น และมีคุณสมบัติทนทานมากขึ้น ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ ดังนั้นการป้องกันการกลายพันธุ์ คือต้องควบคุมไม่ให้ยิ่งแพร่กระจายเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกประเทศต้องดำเนินการ 

 

          การกลายพันธุ์ของโควิด 19 ช่วงที่มีการระบาดหนักนอกประเทศจีน โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา พบว่า เริ่มกระจายในลักษณะ “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” หมายความว่า ไวรัสไม่ได้ติดต่อจาก 1 คนสู่อีก 1 คน แต่สามารถกระจายไปติดหลายๆคนในครั้งเดียว

 

          แสดงให้เห็นว่าไวรัสมีความสามารถที่จะจับตัวกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์ได้ดีขึ้น และทำให้คนจำนวนมากติดเชื้อได้ง่าย แม้จะมีผู้มีเชื้อแค่คนเดียว การเพิ่มขึ้นของสายพันธุ์เกิดขึ้นพร้อมกับสถานการณ์ที่โควิด-19 ระบาดมากขึ้นทั่วโลก โควิดกลายพันธุ์รุกเข้าสู่พื้นที่ใหม่ๆมากขึ้น

ย้อนวิวัฒนาการกลายพันธุ์โควิด-19 ก่อนการมาถึงของ “โอมีครอน”
สายพันธุ์อังกฤษ ตัวร้ายที่เรายังจดจำ

          ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดการระบาดระลอก 3 จากกลุ่มนักเที่ยวติดเชื้อ “สายพันธุ์อังกฤษ” จากกาสิโนในกัมพูชา และนั่นทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตพุ่งสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตเริ่มพบในวัยกลางคน หรือหนุ่มสาวมากขึ้น จากเดิมจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังเท่านั้น 

 

          สายพันธุ์อังกฤษ หรือ อัลฟา ใครได้ยินช่วงนั้นก็หลอนไปตามๆกัน เพราะเกือบจะทำลายระบบสาธารณสุขในประเทศไทย ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่ทำสถิติสูงที่สุดนับในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จำนวนทะลุ 20,000 คนต่อวัน  ทำให้มีปัญหาเตียงรักษาไม่พอ เกิดความโกลาหลวุ่นวายเป็นอย่างมาก

 

          โควิดสายพันธุ์อัลฟา มีชื่ออย่างทางการว่า ไวรัสซาร์ส-คอฟ-2 ( SARS-CoV-2) ถูกพบครั้งแรกในอังกฤษเมื่อเดือน ก.ย.2020 และในช่วงวันที่ 9 ธ.ค. และมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 28% หลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ที่พบครั้งแรก แสดงว่าเชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะแพร่ระบาดไปทั่วโลก  

 

          สายพันธุ์อัลฟา มีความสามารถในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นถึง 70% เพราะ ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโปรตีนตรงส่วนหนามบนผิวของไวรัส ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เชื้อไวรัสเกาะติดกับเซลส์ของมนุษย์ และแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ทำให้ไวรัสสามารถแพร่เชื้อได้รวดเร็วขึ้นจากสายพันธุ์เดิม คือ จาก 1.1 เท่า เป็น 1.5 เท่า
 
 
เมื่อไวรัสรู้จักหลบภูมิคุ้มกัน ลดประสิทธิภาพวัคซีน 

          สายพันธุ์อัลฟา แพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมถึงอินเดีย ที่เกิดการระบาดหนักในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อสูงสุดถึงวันละกว่า 4 แสนคน ผู้เสียชีวิตสูงสุดถึงวันละกว่า 3 แสนคน ติดต่อกัน จากนั้นสายพันธุ์นี้ก็เริ่มมีการพัฒนาสายพันธุ์กลายเป็น “สายพันธุ์เดลต้า” หรือ สายพันธุ์อินเดีย

 

          สายพันธุ์เดลต้า มีชื่อเรียกทางการว่า  “B.1.61 7” เกิดจากการกลายพันธุ์ 2 จุด (double mutant) และเมื่อเกิดการระบาดอย่างรวดเร็วในอินเดีย ก็พบว่าได้มีการกลายพันธุ์ใหม่อีกครั้งเป็น 3 จุด (triple mutant variant) เวลานั้น ส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น แพร่กระจายได้เร็วขึ้น 

 

          1 ใน 3 ตำแหน่งที่กลายพันธุ์ครั้งนี้ คือ จุด E484K ที่เกี่ยวข้องกับการหลบหนีการตรวจจับของภูมิคุ้มกัน ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง  ซึ่งตำแหน่งนี้มีลักษณะเดียวกับ “สายพันธุ์เบต้า” และ “สายพันธุ์แกมมา” 

ย้อนวิวัฒนาการกลายพันธุ์โควิด-19 ก่อนการมาถึงของ “โอมีครอน”

“โอมีครอน”สายพันธุ์น่ากลัวตัวใหม่ในรอบ 6 เดือน 

          หลังจากที่‘สายพันธุ์เดลต้า’ ขยับขึ้นมาเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก แทนที่ สายพันธุ์อัลฟ่า เเละ ถูกองค์การอนามัยโลกขึ้นบัญชีเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวลเมื่อเดือนพฤษภาคม ผ่านไป 6 เดือน ล่าสุด 26 พ.ย.ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกประกาศเพิ่ม 1 สายพันธุ์ใหม่ในบัญชี  นั่นคือ “สายพันธุ์โอมีครอน”

 

          หากสายพันธุ์ใดถูกจัดในกลุ่ม “เชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล” มีนัยสำคัญต่อสาธารณสุขโลก เช่น แพร่ระบาดได้ง่าย หรือทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง เดิมทีมีสายพันธุ์ในกลุ่มนี้อยู่ 4 ชนิด ได้แก่ อัลฟา เบต้า แกมมา เดลต้า 

 

          สำหรับ “สายพันธุ์โอมีครอน” หรือ B.1.1.529 เป็นตัวที่ 5 ในบัญชี เพราะมีจำนวนการกลายพันธุ์ที่สูงมากจนน่าวิตก จากการพบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้  พบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีนมากถึง 50 ตำแหน่ง 

 

          การกลายพันธุ์รอบใหม่นี้ นอกจากจะทำให้ไวรัสแพร่ได้ไว หลบภูมิต้านทานได้ดีแล้ว มีหลักฐานบ่งชี้ว่าอาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทำให้เกิดการกลับมาติดเชื้อซ้ำได้

 

โอมีครอนน่ากลัว แต่เวลานี้เดลต้ายังน่ากลัวกว่า 

          องค์การอนามัย หรือ WHO เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (29 พ.ย.) ว่า แม้เวลานี้ ทั่วโลกกำลังหวั่นวิตกต่อสายพันธุ์โอมีครอน แต่ในปัจจุบัน สายพันธุ์เดลต้า ยังคงเป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลก  

 

          Soumya Swaminathan หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ องค์การอนามัยโลก ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า “กว่า 99% ของผู้ติดเชื้อทั่วโลก ล้วนเป็นสายพันธุ์เดลต้า และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน” 

 

          การต่อสู้กับโควิด 19 สายพันธุ์เดิม และสายพันธุ์ใหม่ หลายคนยังฝากความหวังกับวัคซีน แม้ที่ผ่านมาจะ  และประสิทธิภาพวัคซีนทำได้เพียงช่วยป้องกันการติดเชื้อ และป่วยหนักได้  แต่ยังไม่มีวัคซีนชนิดใดป้องกันไม่ให้ติดโควิดได้ 100% 

 

          เวลานี้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนทัวโลก กลับมามีภาระหนักอีกครั้ง เพราะนอกจากต้องพัฒนาวัคซีนเพื่อต่อสู้กับสายพันธุ์เดิมๆที่มีอยู่ก่อน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยังต้องคิดค้นวัคซีนเพื่อต่อสู้กับสายพันธุ์ใหม่ อย่างโอมีครอนด้วย  

 

          ล่าสุด บริษัทผู้ผลิตวัคซีน 2 เจ้าใหญ่ ได้แก่ Pfizer-BioNTech และ Moderna ประกาศว่า กำลังเตรียมปรับรูปแบบวัคซีนหากจำเป็น

 

          ด้าน Jesse Bloom นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการที่ศูนย์วิจัยด้านมะเร็ง  Fred Hutchinson ในซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "สายพันธุ์ใหม่นี้ ยังมีตัวแปรใหม่อีกมากที่เราอาจต้องทำความเข้าใจ และเตรียมพร้อมรับมือ คาดว่าอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า จะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าสายพันธุ์นี้ สามารถแพร่กระจายได้มากน้อยเพียงใด และมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะผลักดันการผลิตวัคซีนเพื่อต้านไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ 

 

สรุป

          หากวัคซีนยังไม่ใช่คำตอบในการหยุดวงจรการระบาด โควิด 19 เวลานี้คงมีทางเดียวที่ทุกคนยังสามารถช่วยกันได้ คือ ต้องหยุดยั้งการแพร่กระจายเชื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้กลายพันธุ์ไปมากไปกว่านี้   และภาวนาขอให้มีเทคโนโลยีใหม่ๆออกมาสกัดกั้นวงจรกลายพันธุ์ของไวรัสร้าย 

 

          แม้เรายังไม่สามารถเอาชนะสงครามโรคที่ยืดเยื้อนี้ได้ แต่เชื่อว่าปาฏิหาริย์ยังมีเสมอ 

ย้อนวิวัฒนาการกลายพันธุ์โควิด-19 ก่อนการมาถึงของ “โอมีครอน” --------------------

ที่มา

logoline