svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

Did you know? พระโดนจับสึกด้วยเหตุใดได้บ้าง?

29 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"การสึก" หรือการลาจากเพศบรรพชิตสู่ฆราวาส เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของพุทธศาสนาซึ่งเกิดขึ้นจากทั้งความสมัครใจของพระภิกษุ และการกระทำความผิดจนถูกบังคับให้ลาเพศบรรพชิต หรือที่เรียกว่าถูก "จับสึก" โดยมีหลักเกณฑ์อยู่หลายประการที่เข้าข่ายจับสึกได้

          การสึก ถือเป็นพิธีกรรมสำคัญของพุทธศาสนา เป็นการลาจากเพศบรรพชิตสู่ฆราวาสถือเป็นการเกิดใหม่ในทางหนึ่ง ดังนั้นจึงมักจะเลือกทำกันในวันฤกษ์งามยามดีเพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิต โดยก่อนถึงวันพิธีควรไปกราบขอขมาพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ รวมถึงพระพี่เลี้ยงที่คอยดูแลเราเสมอมาให้เรียบร้อย ด้วยจากนี้เราจะออกจากทางธรรมไปเริ่มต้นชีวิตใหม่

 

          แต่บางครั้งการสึกก็ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของภิกษุเองเสมอไป ในกรณีที่ถูกวินิจฉัยให้สึกจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และกฎของพระมหาเถรสมาคมจากเหตุผลต่างๆ ทั้งทางธรรมในด้านการปฏิบัติตัวไม่สอดคล้องธรรมวินัย หรือทางโลกที่เกี่ยวพันกับประเด็นทางกฎหมาย เพศบรรพชิตสามารถถูกบังคับให้สึกได้เช่นกัน

 

          วันนี้เราจึงจะมาเปิดหลักเกณฑ์กันเสียหน่อยว่าการจับสึกพระนั้นสามารถทำด้วยหลักเกณฑ์แบบใดได้บ้าง

Did you know? พระโดนจับสึกด้วยเหตุใดได้บ้าง?
1. ภิกษุล่วงละเมิดพระธรรมวินัย
          ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์มาตรา 26 การสึกจากสาเหตุนี้จำเป็นต้องได้รับคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ทำการสึก ผ่านพระผู้มีอำนาจในเขตความผิดที่เกิดขึ้น แต่ขั้นตอนเหล่านี้จำเป็นต้องผ่านการยื่นฟ้องเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีรูปแบบและขั้นตอนการสั่งฟ้องคล้ายกฎหมายวิธีพิจารณาความ

 

          ขั้นตอนการไต่สวนในการสั่งฟ้อง มีกระบวนการขั้นตอนใกล้เคียงกับวิธีการภายในศาล โดยการวินิจฉัยการลงนิคหกรรมมีสามชั้น ได้แก่ ชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา ในกรณีได้รับคำวินิจฉัยจนถึงที่สุดให้สึกแล้ว ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่ได้ทราบคำวินิจฉัย 

2. ภิกษุไม่สังกัดอยู่วัดใดวัดหนึ่ง หรือไม่มีวัดเป็นที่อยู่หลักแหล่ง
          จาก พ.ร.บ.คณะสงฆ์มาตรา 27 กำหนดว่า หากพระภิกษุไม่สังกัดอยู่วัดใดวัดหนึ่ง หรือไม่มีวัดที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องสึกภายใน 3 วัน นับแต่ได้รับคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศ โดยอำนาจในส่วนนี้ขึ้นกับพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองวัด หรือพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ ในเขตพื้นที่ที่พบพระภิกษุรูปนั้น มีอำนาจวินิจฉัยให้ต้องสละสมณเพศ โดยพระภิกษุไม่สามารถโต้แย้งได้

Did you know? พระโดนจับสึกด้วยเหตุใดได้บ้าง?

3. ภิกษุต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
          พ.ร.บ.คณะสงฆ์มาตรา 28 กำหนดให้ภิกษุรูปใดต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายในสามวันนับแต่คดีเป็นอันสิ้นสุด

 

4. ภิกษุถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา
          พ.ร.บ.คณะสงฆ์มาตรา 29 กำหนดว่า ภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำผิดทางอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรปล่อยตัวชั่วคราวและเจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศได้

5. ภิกษุต้องโทษจำคุก กักขัง หรือขังตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล
          พ.ร.บ.คณะสงฆ์มาตรา 30 เมื่อต้องโทษจำคุก กักขัง หรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการสละสมณเพศแก่พระภิกษุรูปนั้นได้

 

          หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 นอกจากกำหนดกฎเกณฑ์การสึกของพระไว้ ในมาตรา 43 ยังกำหนดบทลงโทษทางอาญา แก่ภิกษุที่ฝ่าฝืนบทลงโทษตามกฎของมหาเถระสมาคม หรือได้รับคำวินิจฉัยจนถึงที่สุดให้สึกว่า ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีอีกด้วย

Did you know? พระโดนจับสึกด้วยเหตุใดได้บ้าง?

--------------------

ที่มา

logoline