svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคลมาจากไหน? อะไรคือไม้มงคล?

23 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไม้มงคลคือความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ ทุกคนต้องเคยได้ยินหรือผ่านหูเรื่องเหล่านี้มาบ้าง สงสัยกันหรื่อไม่ว่ามีที่จากไหน? เหตุใดมันจึงมีหลากหลายชนิด? และปัจจุบันไม้ชนิดใดบ้างจึงจัดว่ามงคล? เราจะมาร่วมหาคำตอบกันภายในบทความนี้

Highlights

  • ความเชื่อของคนโบราณมีมากมาย บางส่วนสามารถทำความเข้าใจได้ด้วยเหตุผล บ้างก็อาจชวนฉงนจนเราต้องพากันตั้งคำถาม แน่นอนว่าในบรรดาความเชื่อเก่าแก่ เราย่อมต้องเคยผ่านหูเรื่องไม้มงคล
  • ความเชื่อเรื่องไม้มงคลสามารถเชื่อมโยงถึงการกราบไหว้ภูติผี ความเชื่อดั้งเดิมของคนในพื้นที่นับแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หลอมรวมเข้ากับวิธีชีวิตของผู้คน
  • ไม้มงคลมีรูปแบบการนับและใช้งานที่หลากหลาย ตั้งแต่การนำไปเป็นเสาหลักในการวางศิลาฤกษ์ ใช้เพาะปลูกภายในบ้านเพิ่มสิริมงคล หรือการปลูกไว้ใช้ทำเป็นเครื่องรางของขลังก็ตาม
  • แท้จริงนี่เป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นทั่วโลกขึ้นกับสถานที่ สถานการณ์ และเวลา ด้วยสุดท้ายพืชพรรณทั้งหลายต่างมีอยู่ทั่วโลก จึงอยู่ที่แต่ละวัฒนธรรมว่าจะหานิยามใดมากำหนดว่าไม้ชนิดนั้นมงคลหรือไม่

--------------------

          ความเชื่อคือสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์และสังคมมายาวนาน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่นับถือภูตผี สิ่งเร้นลับ รวมถึงพลังธรรมชาติทั้งหลาย เมื่อเหตุการณ์ร้ายหรือสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น คนเรามักพากันคิดว่าต้องมีอะไรบางอย่างอยู่เบื้องหลัง ทางจิตใจจึงต้องหาสิ่งยึดเหนี่ยวที่ทำให้ตัวเองรอดพ้นเภทภัยได้ อีกนัยมันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการขาดความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ นั่นเอง

 

          ความเชื่อสามารถเกิดขึ้นได้มากมายหลายรูปแบบและเกิดได้กับทุกสิ่ง ตั้งแต่เรื่องใหญ่โตอย่างการทำศึกสงคราม ไปจนถึงเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวันทั้งหลาย อย่างมารยาทบนโต๊ะอาหาร การทำความสะอาดบ้าน การใช้ชีวิตประจำวัน หรือธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ในสังคม

          สิ่งเหล่านี้บ้างก็สามารถคิดหาคำอธิบายตามหลักเหตุผลได้ เช่น การห้ามเคาะจานที่เป็นมารยาทไม่ดีบนโต๊ะอาหาร ควรทำให้บ้านสะอาดสะอ้านอยู่เสมอและไม่ควรทำความสะอาดตอนกลางคืนเพราะอาจเป็นอันตราย หรือการมีเสียงแปลกปลอมร้องทักอาจทำให้เกิดอันตรายจากโจรป่า เป็นต้น

 

          แต่บางเรื่องเองก็ทำให้เราได้แต่ตั้งคำถาม เช่น การต้องก้าวเท้าขวาออกจากบ้านก่อนเท้าซ้ายจะมีโชคดี การปักตะไคร้หยุดฝน หรือเรื่องความฝัน ทำให้เกิดความฉงนในความหมายของความเชื่อเหล่านั้น แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงความเชื่อโบราณ สิ่งหนึ่งที่เราต่างคุ้นหูกันดีคือความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคล

 

          วันนี้เราจึงมาขอลงลึกความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคลกันสักนิดว่ามีพื้นเพมาจากไหน?

 

ต้นตอความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคลเกิดจากอะไร?

          ดังที่กล่าวไปข้างต้นพื้นเพเดิมก่อนการเข้ามาของศาสนาพุทธคนในแถบนี้นับถือกราบไหว้ภูตผี ความเชื่อเหล่านี้ฝังลึกภายในชุมชน นอกจากสิ่งไม่มีตัวตนหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติอันเกรี้ยวกราด ความเชื่อเหล่านี้ก็สะท้อนออกมาเป็นความเคารพบูชาสิ่งจับต้องได้เพื่อยึดเหนี่ยว จึงเกิดความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาภูเขา แม่น้ำลำธาร และต้นไม้ก็เป็นหนึ่งในนั้น

 

          หากให้สืบสาวต้นตอเดิมว่าต้นกำเนิดแนวคิดเหล่านี้มาจากไหนคงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเป็นชุดความเชื่อฝังลึกกลมกลืนกับผู้คนในสังคมมายาวนาน ก่อนเข้าสู่ยุคสมัยประวัติศาสตร์ที่มีการจดบันทึกตัวอักษรกันเสียอีก รู้ตัวอีกทีมันจึงกลายเป็นรากฐานและส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนมายาวนาน

          ยกตัวอย่างความเก่าแก่ของชุดความเชื่อนี้ เช่น ความเชื่อในการกราบไหว้ ไม้ หรือ ต้นไม้ ของพื้นที่ภาคเหนือ เป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวลัวะ ก่อนหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมชาวไทกลายเป็นล้านนา พวกเขามีความเชื่อในการกราบไหว้ต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะ ไม้ลุง(ต้นกร่าง) ไม้เดื่อ(ต้นมะเดื่อ) และไม้ยาง(ต้นยางนา) โดยเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของอารักษ์รวมถึงวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นต้น

 

          นอกจากการเคารพและกราบไหว้บูชาตามความเชื่อ อีกส่วนยังมีการนำพืชพรรณหรือไม้เหล่านั้นมาใช้งานในทางอื่น ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้ามาปลูกภายในบ้านเรือนพื้นที่ไร่นาเถือกสวนของตัวเอง ไปจนนำมาใช้ในงานก่อสร้างลงหลักปักฐาน กลายเป็นที่มาของอีกชุดความเชื่ออย่าง ไม้มงคลในการวางศิลาฤกษ์

 

ต้นมะเดื่อ หนึ่งในต้นไม้ตามความเชื่อล้านนา ตัวอย่างรูปแบบความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคล

          ความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคลอีกหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือไม้มงคลในการวางศิลาฤกษ์สำหรับก่อสร้างอาคาร จากคุณสมบัติในการเสริมสิริมงคลให้แก่เจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยจนได้รับความนิยมแพร่หลาย สิ่งนี้คือพรรณไม้มงคล 9 ชนิด ที่เราต่างคุ้นเคยกันดี ได้แก่

  • ไม้ราชพฤกษ์ หมายถึง ความเป็นใหญ่และอำนาจวาสนา
  • ไม้ขนุน หมายถึง ความร่ำรวย ทำอะไรก็มีคนมาเกื้อหนุน
  • ไม้ชัยพฤกษ์ หมายถึง ชัยชนะ
  • ไม้ทองหลาง หมายถึง ทรัพย์สินเงินทอง
  • ไม้ไผ่สีสุก หมายถึง การมีความสุขทั้งกายใจ
  • ไม้ทรงบาดาล หมายถึง ความมั่นคง แข็งแรง
  • ไม้สัก หมายถึง ความมีเกรียติและศักดิ์ศรี
  • ไม้พะยูง หมายถึง การพยุงประคับประคองฐานะ
  • ไม้กันเกรา หมายถึง การป้องกันภัยอันตรายต่างๆ

 

          อีกหนึ่งความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคลคือการนำความรู้ส่วนนี้ไปผูกกับทิศมงคล ก่อให้เกิดเป็นพรรณไม้มงคลประจำทิศไว้คอยส่งเสริมดวงชะตาสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ผู้ปลูก โดยมีรายละเอียดได้แก่

  • ทิศเหนือ ปลูก ส้มป่อย ส้มซ่า มะเดื่ออุทุมพร
  • ทิศใต้ ปลูก มะม่วง มะพลับ ตะโกสวน
  • ทิศตะวันออก ปลูก มะพร้าว
  • ทิศตะวันตก ปลูก มะยม มะขาม พุทรา กุ่มบก
  • ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูก มะตูม ทุเรียน
  • ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ปลูก สารภี ยอป่า ยอบ้าน กระถิน
  • ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ปลูก มะพูด มะนาว มะกรูด
  • ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ปลูก สะเดา ชัยพฤกษ์ ขนุน

 

          นอกจากที่กล่าวไปข้างต้นยังมีไม้มงคลบางส่วนที่นิยมปลูกตกแต่งไว้ภายในตัวบ้านเพื่อเป็นสิริมงคล  เช่น วาสนา ชวนชม สนฉัตร สักทอง ทองอุไร ใบเงิน ใบทอง ใบนาค โป๊ยเซียน เข็ม หรือกล้วยไม้ เป็นต้น โดยเชื่อว่าต้นไม้เหล่านี้จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อาศัยดีขึ้น

 

          อีกทั้งนอกจากการปลูกเพื่อเสริมสิริมงคงแก่ชีวิต ไม้มงคลบางส่วนยังมีคุณสมบัติทางด้านไสยศาสตร์และความเชื่อต่างๆ ทั้งในส่วนของว่านหลากหลายชนิดทีมีคุณสมบัติในการนำไปเป็นเครื่องรางของขลัง หรือจะเป็นต้นไม้ที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เช่น บัว พิกุล จำปี จำปา มะลิ ฯลฯ

 

          เห็นได้ชัดว่าขอบเขตของคำว่าไม้มงคลมีความหมายกว้างขวาง ขึ้นกับการนำไปใช้งานของพืชแต่ละชนิดว่าจะถูกนำไปใช้ในทางไหน แต่ส่วนมากความเป็นมงคลจะถูกวัดกันได้ด้วยชื่อของพืชหรือต้นไม้ชนิดนั้นๆ เหมือนบรรดาไม้ประดับมากมายที่ยกตัวอย่างซึ่งส่วนมากมีชื่อที่ไพเราะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

 

          แต่บางครั้งไม้มงคลนอกจากชื่อแล้วยังมีคุณสมบัติดีสามารถนำไปใช้งานได้จริงหลายขนาน ดังกรณีของไม้มงคล 9 ชนิดที่ใช้ในการวางศิลาฤกษ์ หากตัดในส่วนของความเชื่อเห็นได้ชัดว่านั่นคือไม้ยืนต้นที่มีความทนทานแข็งแรง เหมาะสำหรับการใช้เป็นเสาเข็มปักยึดตัวบ้านให้มั่นคง เพื่อให้บ้านที่สร้างขึ้นทนแดนทนฝน อาจเป็นกุศโลบายชนิดหนึ่งในการสอนลูกหลานสร้างบ้านของคนโบราณ

 

          เช่นเดียวกับพืชที่มีคุณสมบัติทางไสยศาสตร์ที่มีการปลูกตามบ้านเอง ดอกไม้ที่นำมาปลูกมักมีกลิ่นหอมและสวยงาม สร้างบรรยากาศที่ดีเหมาะสมแก่การใช้ชีวิตต่อคนในบ้าน สามารถนำมาใช้งานโดยสะดวก เช่นเดียวกับว่านทั้งหลายที่นอกจากแง่ความเชื่อ ยังสามารถนำไปใช้เป็นยาหรือสมุนไพรไว้ใช้ในชีวิตประจำวันรวมถึงรักษาบาดแผลได้ด้วย

ไม้มงคล 9 ชนิด การเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างทางความเชื่อเรื่องไม้มงคล

          นับแต่อดีตความเชื่อเรื่องไม้มงคลไม่เคยหยุดนิ่งมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด สิ่งนี้สอดคล้องไปตามความเชื่อและวิถีชีวิตของผู้คน ตามแต่ละพื้นที่ สถานการณ์ จนถึงยุคสมัย หลอมรวมเข้ากับความเชื่อชุดใหม่ที่เข้ามาในพื้นที่อย่างกลมกลืน กลายเป็นส่วนหนึ่งในเกือบจะทุกวัฒนธรรมในประเทศไทย

 

          ดังที่เคยเกิดภายในล้านนา เมื่อแรกเริ่ม ต้นส้มป่อย ได้รับความนิยมในการปลูก เพราะสามารถนำส่วนฝักมาใช้ในการทำน้ำมนต์ทั้งสำหรับในพิธีกรรมและไล่ผี แต่ความเชื่อเหล่านั้นเริ่มจางหายจากการเข้ามาของศาสนาพุทธ ก่อนแทนที่ด้วยต้นไม้ในความเชื่อตามพระไตรปิฎกอย่าง ต้นโพธิ์ กับ ต้นไทร แทน

 

          นอกจากความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคลในการวางศิลาฤกษ์หรือการนำมาเพาะปลูกในบ้าน ไม้มงคลยังมีความเชื่อเกี่ยวพันถึงไม้ประจำทิศ ประจำราศีเกิด ประจำวันเกิด แม้แต่ประจำจังหวัด ไหลไปตามวัฒนธรรมใหม่ที่เข้ามาภายในสังคม นั่นทำให้ความเชื่อในเรื่องไม้มงคลไม่เคยหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของเราเลย

 

          ความเชื่อเรื่องไม้มงคลจึงคลุมเครือไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์แน่นอน ขึ้นกับว่าจะนับตามความเชื่อหรือการมีอยู่รูปแบบใดเป็นที่ตั้ง จะถือว่าเป็นการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามวันเวลาคงได้ แต่เมื่อลองมองในอีกแง่ ในเมื่อต้นไม้พืชพรรณทั้งหลายเป็นสิ่งมีอยู่ทั่วไปในทุกมุมโลก หากมนุษย์เราแต่ละคนจะมีแนวคิดความเชื่อเรื่องเหล่านี้ต่างกันจึงไม่ใช่เรื่องแปลก

 

          บางทีพืชพรรณบางชนิดที่ถูกจัดให้เป็นไม้ไม่มงคลสำหรับใช้ในการปลูกในไทย แต่กลับได้รับความนิยมเป็นไม้มงคลในอีกท้องที่ เช่น ต้นไผ่ ในบางท้องที่ถือว่าไม่มงคลจากการนำไปใช้เป็นคานในการหามโลง แต่สำหรับจีนนี่คือพืชมหามงคลสัญลักษณ์แห่งการอายุมั่นขวัญยืน หรือ ต้นมะกอก ที่ถือเป็นไม้ไม่มงคลเพราะแสดงถึงการกลับกลอก แต่สำหรับชาวกรีกมะกอกคือพืชที่ได้รับการประทานจาก อาธีน่า เทพีแห่งปัญญาจึงถือเป็นไม้มงคล

 

          ในปัจจุบันเองก็มีไม้มงคลยุคใหม่ที่ถูกปรับให้เข้ากับแนวคิด ไลฟ์สไตล์ และยุคสมัยนี้ด้วยเช่นกัน อาจเป็นพืชแปลกตาที่เมื่อก่อนเราไม่เคยพบเห็น หรือนำมาเพาะขายจากต่างประเทศบ้าง แต่โดยมากจะเป็นพืชพันธุ์ที่ปลูกง่ายดูแลสะดวก รวมถึงมีอรรถประโยชน์อื่นเพื่อให้เข้ากับคนในปัจจุบัน เช่น

  • ลิ้นมังกร ทนความแห้งแล้งได้ดีจึงไม่ต้องรดน้ำมาก อีกทั้งช่วยฟอกอากาศภายในห้องได้ด้วยจึงเป็นที่นิยม
  • กวักมรกต นอกจากคุณสมบัติดูดซับสารพิษในอากาศ ยังไม่ต้องการน้ำหรือแดดมากจึงดูแลง่าย
  • ไผ่กวนอิมเล็ก มีขนาดเล็กกะทัดรัด สามารถนำมาวางตั้งบนโต๊ะทำงานได้ง่าย
  • กระบองเพชร มีจุดเด่นด้านขนาดเล็ก ต้องการน้ำน้อยดูแลง่าย อีกทั้งรูปทรงและสีสันยังสวยงามอีกด้วย
  • เศรษฐีเรือนใน ดูแลโดยรดน้ำวันเว้นวัน อาจถี่กว่าต้นอื่นสักนิด แต่มีคุณสมบัติช่วยลดภูมิแพ้บางชนิดด้วย

ไม้มงคล 5 ชนิด           ดังนั้นแท้จริงพรรณไม้มงคลอาจขึ้นกับนิยามของสังคม วัฒนธรรม กระทั่งตัวเรา ว่าพืชพรรณชนิดใดจึงจัดว่าเป็นไม้มงคล อาจเป็นพืชมีชื่อฟังดูไพเราะนำโชค อาจเป็นพันธุ์ที่สวยงามมีกลิ่นหอม อาจเป็นไม้ที่สามารถนำไปใช้ทำเครื่องไม้เครื่องมือ อาจเป็นชนิดที่ไว้ใช้ทำเป็นยาสำหรับรักษาโรคภัยไข้เจ็บ หรือเป็นแค่ความชอบส่วนบุคคลก็สุดแต่เราจะกำหนด

 

--------------------

ที่มา

logoline