svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

Natrium reactor ทางสว่างของ บิล เกตส์ กับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือหายนะครั้งใหม่ที่รอนับถอยหลัง?

19 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การจับมือของ บิล เกตส์ และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถือเป็นข่าวดังสะเทือนสหรัฐฯ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขามาพร้อมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ กับเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์นาเทรียมที่ถูกอ้างว่าจะมาพลิกโฉมวงการ จนเกิดข้อถกเถียงว่าจะเป็นการย้อนรอย เชอโนบิล และ ฟุกุชิมะ หรือไม่?

Highlights

  • บิล เกตส์ กับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ สองเศรษฐียักษ์ใหญ่แห่งสหรัฐฯ จับมือกันสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยอาศัยเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์นาเทรียม ในเมืองเคมเมอร์เรอร์ รัฐไวโอมิง 
  • การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซบเซาลงหลังจบสงครามเย็น ภายหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ เชอโนบิล และ ฟุกุชิมะ ทำให้ความนิยมในเทคโนโลยีนี้ลดลง
  • ตรงข้ามกับบิล เกตส์ที่เห็นความสำคัญของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จากการที่สหรัฐฯและอีกหลายประเทศทั่วโลกจำเป็นต้องลดการใช้งานถ่านหิน หลังปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมถูกนำมาให้ความสำคัญ 
  • เตาปฏิกรณ์นาเทรียม คือ ระบบเตาปฏิกรณ์ที่อาศัยเกลือหรือโซเดียมเป็นตัวหล่อเย็น ทำให้มีประสิทธิภาพการใช้งานและโอกาสในการเกิดอันตราย จนทำให้โอกาสที่แกนเชื้อเพลิงจะหลอมละลายเกิดขึ้นได้น้อยกว่า
  • แต่ยังคงสร้างข้อถกเถียงในวงวิชาการ จากการนำโซเดียมมาใช้ในการหล่อเย็นว่าอาจเป็นอันตราย รวมถึงการตำหนิเรื่องหวนกลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงขึ้นอีกครั้งเช่นกัน

--------------------
          ถือเป็นข่าวใหญ่ของสองมหาเศรษฐีอย่าง บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟในปี 1975 และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ พ่อมดทางการเงินแห่งวอลสตรีท ในการจับมือกันสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นาเทรียม มูลค่ากว่า 4 พันล้านดอลลาร์ฯ(ราว1.3แสนล้านบาท) ในเมืองเคมเมอร์เรอร์ รัฐไวโอมิง สหรัฐฯ


          อาจเป็นเรื่องน่าแปลกใจสำหรับหลายคน แต่ตัวบิล เกตส์มีข่าวพัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่นานปี ย้อนไปตั้งแต่ปี 2010 หนังสือพิมพ์นิเคอิของญี่ปุ่นรายงานว่า บิล เกตส์ร่วมมือกับบริษัท Toshiba เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีความยั่งยืนและปลอดภัยสูง โดยจำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล

          ความตั้งใจเหล่านั้นของอดีตเจ้าพ่อไอทีไม่เคยหายไป ช่วงเวลาสิบปีที่ผ่านมาความคืบหน้าของโครงการเกิดขึ้นตลอด เขาได้ชักชวนเพื่อนนักธุรกิจในวงการจำนวนมากเข้ามาร่วมลงทุน หนึ่งในนั้นคือพ่อมดการเงิน วอร์เรน บัฟเฟตต์ เพื่อพัฒนาโครงการนิวเคลียร์รูปแบบใหม่ โดยเขาเชื่อว่านี่คือเทคโนโลยีที่นำไปสู่อนาคต


          มาวันนี้แผนงานการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกร่างไว้สมบูรณ์ เหลือเพียงขั้นตอนการอนุมัติจากรัฐบาลกลางและท้องถิ่น นับว่าก้าวหน้ามาไกลจากก้าวแรกเมื่อเริ่มการพัฒนา สู่สถานะเตรียมพร้อมสำหรับการสร้างหลังได้รับการหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้นในช่วงหลัง
ภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ความสนใจในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่หวนคืนกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป
          เทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ใช่ของใหม่ แท้จริงมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเกือบร้อยปีได้ ภายหลังเข้าสู่ยุคสงครามเย็นและการมาถึงของพลังงานนิวเคลียร์ เริ่มจากสหรัฐฯทำการพัฒนาเตาปฏิกรณ์ภายใต้โครงการแมนฮัตตัน ก่อนรัสเซียจะเริ่มพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตัวเองขึ้นมา จนสามารถนำมาใช้งานได้ครั้งแรกในวันที่ 1 มิถุนายน 1954 กลายเป็นต้นแบบเตาปฏิกรณ์ RBMK อันเลื่องชื่อของโซเวียต

 

          ในช่วงนั้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือเป็นหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมไฟฟ้า ด้วยอัตราการให้พลังงานต่อต้นทุนเทียบเท่าถ่านหินแต่มีอัตราเกิดมลพิษน้อยกว่า มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศพัฒนาแล้ว กระทั่งเกิดโศกนาฎกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอโนบิลนั่นเอง ทุกอย่างจึงต้องสะดุดเมื่อโลกได้ตระหนักถึงพิษภัยแท้จริงของกัมมันตรังสี

          นี่จึงเป็นคำถามว่าเหตุใดมหาเศรษฐีเจ้าเทคโนโลยีอย่าง บิล เกตส์ จึงให้ความสนใจพัฒนาเทคโนโลยีนี้ เมื่อบนโลกแสดงให้เห็นแล้วว่ากรณีผิดพลาด ผลกระทบที่ตามมาเกินกว่ามนุษย์จินตนาการ เหตุใดจึงยังคงให้ความสนใจพัฒนาเทคโนโลยีนี้อยู่อีก?

 

          คำตอบคือประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ตึงเครียดขึ้นทุกวัน

 

          ปัจจุบันภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นทุกวันส่งผลกระทบมากมายตามมา ตั้งแต่การเกิดสภาพอากาศสุดขั้ว ภัยธรรมชาติทวีความรุนแรง ภาวะเรือนกระจก ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง ปัญหาเหล่านี้กลายเป็นวาระเร่งด่วนที่ได้รับความสำคัญยิ่งขึ้นทุกปี ภายใต้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(COP)

 

          หนึ่งในต้นตอสำคัญของภาวะโลกร้อน ตัวการทำให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงคือการเผาไหม้ถ่านหิน หนึ่งในเชื้อเพลิงสำคัญของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลก เมื่อเกิดการเผาไหม้จะคายเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นจำนวนมาก นำไปสู่ปัญหาสภาพอากาศสุดขั้วต้นเหตุภัยธรรมชาติครั้งใหญ่อีกมากมาย

 

          นี่จึงเป็นปัญหาสำคัญการหล่อเลี้ยงเมืองและผู้คนในประเทศต้องใช้พลังงานมหาศาล แต่แหล่งพลังงานเชื้อเพลิงหลักในหลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯในปี 2017 ยังพึ่งพาถ่านหินกว่า 31% ของทั้งหมด การใช้งานพลังทดแทนหลายชนิดก็มีข้อจำกัด โดยเฉพาะประเภทลมหรือแสงอาทิตย์ที่ขึ้นกับสภาพภูมิอากาศมากเกินไปจึงยังไม่มีความมั่นคงพอ

 

          นั่นทำให้บิล เกตส์เล็งเห็นโอกาสจึงเริ่มลงทุนก่อตั้งบริษัท TerraPower ที่ต้องการสร้างพลังงานสะอาดผ่านเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีขนาดเล็กลง เพื่อลดต้นทุนในการผลิตแต่มีความปลอดภัยมากขึ้นเรียกว่า Traveling Wave Reactor (TWR) คล้ายคลึงเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ในเรือดำน้ำของกองทัพสหรัฐฯ จากการร่วมมือกับบริษัท GE-Hitachi

 

          ส่วนทางด้าน วอร์เรน บัฟเฟตต์ เดิมเขาเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ก่อน เข้าใจถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมไฟฟ้าเป็นอย่างดี พวกเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เข้ากับนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นำไปสู่ความร่วมมือและการลงทุนในบริษัท เทอร์ร่าพาวเวอร์ เพื่อการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมา

 

          ข้อดีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่นี้คือการสามารถนำมาแทนที่โรงไฟฟ้าถ่ายหินที่เริ่มทยอยปิดตัว ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งด้านสถานที่ ระบบหล่อเย็น รวมถึงสายส่งไฟฟ้ากำลังสูง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่วอร์เรน บัฟเฟตต์มีอยู่แล้วและสามารถจัดสรรนำมาใช้งานได้ทันที
โรงงานไฟฟ้าแห่งนี้ถูกประเมินเอาไว้ว่าโรงไฟฟ้านี้จะมีอายุการทำงานไปอีกราว 60 ปี สูงกว่าโรงไฟฟ้ารุ่นเก่าที่มีอายุการทำงานเพียง 35 ปี ใช้เจ้าหน้าที่ 2,000 คนในการสร้าง และอีก 250 คนสำหรับปฏิบัติการภายหลังเสร็จสมบูรณ์ สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้กว่า 250,000 หลังคาเรือน ทำกำลังการผลิตได้ราว 340 เมกะวัตต์

แผนภาพจำลองระบบหล่อเย็นแบบใช้โซเดียม ระบบเตาปฏิกรณ์นาเทรียม(Natrium reactor)คืออะไร?
          เตาปฏิกรณ์นาเทรียม คือ ระบบเตาปฏิกรณ์แบบใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากบริษัท TerraPower โดยเปลี่ยนจากการใช้พลังงานความร้อนจากการแตกตัวของอะตอมมาต้มน้ำให้ระเหยกลายเป็นไอแล้วจึงนำไปหมุนกังหันผลิตกระแสไฟฟ้า มาเป็นการใช้ความร้อนทำให้เกลือหลอมเหลวนำไปเก็บไว้ในถังขนาดยักษ์มาผลักดันกังหันและระบายความร้อนแทน

 

          ข้อดีของเตาปฏิกรณ์นาเทรียมอยู่ตรงการสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอดเวลา ด้วยการกินพื้นที่และทรัพยากรน้อยกว่าทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ อีกทั้งตัวเกลือหรือโซเดียมเหลวเองก็มีคุณสมบัตินำความร้อนรวดเร็ว ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะสามารถลดระดับอุณหภูมิสะสมได้เร็ว ป้องกันการหลอมละลายของแกนเชื้อเพลิงได้ดีกว่าการหล่อเย็นด้วยน้ำมาก

 

          การให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว USA Today ของ จอห์น บาร์ราสโซ ส.ว.มลรัฐไวโอมิงกล่าวว่า ระบบเตาปฏิกรณ์นาเทรียมถือเป็นอนาคตพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ และการเข้ามาของเทคโนโลยีนี้ยังเมืองไวโอมิงจะช่วยขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐที่เคยเป็นเมืองหลวงทางพลังงานได้มาก

 

          เช่นเดียวกับ คริส เลอเวค ประธานบริหารบริษัทเทอร์ร่าพาวเวอร์เอง ออกมาแสดงความมั่นใจว่า เตาปฏิกรณ์นาเทรียม คือพัฒนาการขั้นต่อไปของความปลอดภัย อีกทั้งระบบที่วางไว้ยังสามารถใช้เพื่อกู้คืนซ่อมแซมระบบของโรงงานและเตาปฏิกรณ์ให้กลับสู่สภาพเดิม โดยไม่ต้องพึ่งพาปั๊มสูบน้ำหรือเครื่องมืออื่นที่เป็นแหล่งพลังงานจากภายนอกอีกด้วย

แผนภาพจำลองการทำงานของ Natrium reactor ข้อโต้แย้งจากวงการวิชาการสู่ภัยอันตรายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
          แม้นี่เป็นระบบใหม่ที่ซุ่มพัฒนามาอย่างดีแต่ยังมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เดิมทีการใช้โซเดียมเป็นตัวหล่อเย็นเองก็ไม่ใช่แนวคิดใหม่ถอดด้าม มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แต่ไม่สามารถทำได้จริงทางเทคนิค ด้วยปัญหาการกัดกร่อนของเกลืออาจทำให้ระบบเสียหายได้ง่ายเป็นปัญหาแก้ไม่ตกในสมัยนั้น

 

          อีกทั้งกำลังการผลิตของเตาปฏิกรณ์นาเทรียมเองก็มีข้อจำกัดในด้านกำลังการผลิตที่น้อยลงกว่า 60% แม้จะมีข้อดีด้านต้นทุนต่ำกินทรัพยากรน้อย สามารถผลิตจำนวนมากออกมาชดเชยก็จริง แต่ยังทำให้เกิดข้อกังขาว่าจะสามารถขยายตัวโรงไฟฟ้าได้มากน้อยเพียงไร

 

          รวมถึงมีข้อโต้แย้งจากทางฝั่งนักวิชาการบางส่วนอย่าง เอ็ดวิน ไลแมน ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้วิตกกังวล ออกมาโต้แย้งว่า การใช้โซเดียมเหลวมีปัญหามาก เพราะมันเป็นสสารที่ไม่เสถียรสามารถติดไฟได้หากสัมผัสกับน้ำหรืออากาศ

 

          เช่นเดียวกับ ไมเคิล อี มานน์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนน์สเตท บอกว่า เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นมีบทบาทและสามารถลดการปล่อยคาร์บอนให้สหรัฐฯได้เช่นกัน โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอันตรายอย่างนิวเคลียร์เลย นี่จึงเป็นทิศทางการพัฒนาที่ผิด

 

          แน่นอนเราคงไม่อาจหาข้อสรุปได้ในเร็ววันเนื่องด้วยเตาปฏิกรณ์นาเทรียมเป็นเทคโนโลยีใหม่ แม้จะผ่านการจำลองและคำนวณผ่านระบบคอมพิวเตอร์มาหลายครั้งจนแน่ใจว่าปลอดภัย แต่การโต้แย้งจากความหวาดกลัวต่อเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเรื่องเข้าใจได้ หากผิดพลาดกรณีเลวร้ายที่ตามมาอาจซ้ำรอย เชอโนบิล กับ ฟุกุชิมะ ได้ไม่ยาก

 

          นี่จึงเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตาว่าสุดท้ายนาเทรียมจะพาเราไปสู่อนาคตอันสดใสหรือการล่มสลายกันแน่?

Natrium reactor ทางสว่างของ บิล เกตส์ กับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือหายนะครั้งใหม่ที่รอนับถอยหลัง?

--------------------
ที่มา

logoline