svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

นักดนตรี ผีบ้า และไม้ขีดไฟ: ลงทุนหลักแสน (ภาคต้น)

09 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักดนตรีในประเทศไทยนั้นใช้ชีวิตเหมือนผีบ้าที่ไล่ตามความฝัน มีนักดนตรีเพียงจำนวนไม่มากที่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วยการเล่นดนตรีอย่างเดียว ในขณะที่การเล่นดนตรีต้องมีต้นทุนจำนวนมากไม่ว่าทุนทรัพย์หรือทุนทางสังคมก็ตาม

Highlights

  • เล่นดนตรีต้องมีเงิน ไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่อง หรือค่าใช้จ่ายระหว่างฝึกฝน
  • ราคาเครื่องดนตรีและคุณภาพมีผลต่อทั้งเสียงและความสามารถในการเล่น
  • ‘เวลา’ ต้นทุนสำคัญในการเพิ่มทักษะดนตรีในขณะเดียวกันหากเทียบกับอาชีพอื่น ๆ การฝึกซ้อมไม่ได้รับประกันว่าจะมีเงินมีงานจ้างเข้ามาได้อย่างแน่นอน
  • นักดนตรีไม่ได้รวยเสมอไป การใช้ของมีราคาไม่ได้หมายความว่ามีเงินเหลือ แต่เป็นการลงทุนเพื่อสร้างอัตลักษณ์ทางเสียงหรือจุดขายในการทำงาน

--------------------

          “จุดตัวเองก็ยอมทันใด ให้ลุกเป็นไฟขึ้นมา เพียงปรารถนา… ดอกทานตะวันหันมอง สักครั้ง” เชื่อว่าคนพอมีอายุสักหน่อยคงจะจำเพลงนี้กันได้อย่างดีกับเพลง ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงค่านิยมที่ยินยอมเผาผลาญชีวิตของตัวเองเพื่อให้เปล่งประกายเป็นที่จับจ้องสักครั้ง ซึ่งนักดนตรีจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะในยุคสมัยก่อนหน้านี้ได้ถือเอาค่านิยมเหล่านี้เอาไว้กับตัว ซึ่งแน่นอนว่าค่านิยมเหล่านี้ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันและยังคงทิ้งร่องรอยแห่งความเจ็บปวดเอาไว้มากมาย

Jimi Hendrix เผากีตาร์


          ผมเชื่อว่าในชีวิตของเราต้องมีอย่างน้อยสักช่วงเวลาหนึ่งที่รู้สึกตื้นตัน เอ่อล้น กับบทเพลงบางเพลง ไม่ว่าเพลงนั้นจะเป็นอย่างไรในสายตาคนอื่น แต่เพลงที่มันฝังรากลึกลงไปในวิญญาณของคุณนั้นจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตัวคุณไปตลอดกาล และด้วยเหตุนี้เองผลงานดนตรีหรือผู้สร้างสรรค์ดนตรีจำนวนไม่น้อยได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจหรือบุคคลตัวอย่างที่ทำให้เกิดนักดนตรีหน้าใหม่ในตลาดดนตรีอย่างต่อเนื่อง

          จากข้อมูลของ CEA หรือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้นจะเห็ฯว่ามนต์เสน่ห์และความงดงามของดนตรีได้กลายมาเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,478 ล้านบาท และมีรายได้ของอุตสาหกรรมดนตรีโดยรวมเป็นเลขกลม ๆ ประมาณ 7,000 ล้านบาท รายได้หลักอยู่ในส่วนของ ‘กิจกรรมการจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่ดนตรี’ ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ 5,157.61 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นกำไรเพียง 213.4 ล้านบาท (สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 49 ราย) และในภาพรวมนั้นกำไรสุทธิของอุตสาหกรรมดนตรีนั้นติดลบอยู่ที่ -697.76 ล้านบาท ซึ่งยอดติดลบเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากกิจการขนาดเล็กทั้งสิ้น

 

          จากภาพรวมสถานการณ์วงการดนตรีในไทยที่ไม่สู้ดีนัก ในขณะคอนเสิร์ตใหญ่ ๆ จากต่างประเทศก็เริ่มทยอยมาเปิดการแสดงที่ไทยมากขึ้นจนกระทั่ง COVID-19 ระบาด ไม่ว่าจะเป็น John Mayer, Coldplay, Chon, Mateus Asato, วงดนตรีจากฝั่งญี่ปุ่นอย่าง TENDRE หรือ X ก็มา มีทั้งเวทีใหญ่คอนเสิร์ตขนาดเล็กเสียดายก็แต่ Taylor Swift ที่ถูกยกเลิกไปอย่างน่าเสียดาย เทศกาลดนตรีในไทยเองก็มีการเติบโตขึ้นไม่น้อยตั้งแต่งาน FAT ที่เปลี่ยนเป็น CAT Festival, บิ๊กเมาท์เทน, หัวหินแจ๊สเฟสติวัล, ยิปซีคาร์นิวัล และ วันเดอร์ฟรุ๊ตเฟสติวัลเป็นต้น ยังไม่นับงานย่อย ๆ ที่เหล่าศิลปินหน้าใหม่หรือศิลปินตัวเล็ก ๆ ที่จัดงานเล่นกันขึ้นมาเอง 

 

          ต้องบอกเลยว่าหลายครั้งและบ่อยครั้งที่เหล่านักดนตรีควักเนื้อเพื่อให้ได้แสดงสด แน่นอนว่าเฟสติวัลมีค่าตอบแทนค่าใช้จ่ายให้ในบางส่วน บางงานก็เป็นการอำนวยความสะดวกบางอย่างให้ แต่เมื่อมาคำนวณต้นทุนจริง ๆ แล้วค่าตอบแทนที่ได้กับสิ่งที่ลงทุนไปนั้นไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่นัก แต่ก็นั่นแหละครับคนมันอยากเล่น ขอมีพื้นที่สักหน่อยไม่ว่ากัน 

          ในขณะที่ผู้จัดบางรายก็แทบไม่ได้กำไรอะไรมากด้วยซ้ำ แค่อยากให้วงการมันเดินไปข้างหน้า งานดนตรีใกล้ตัวเราถ้าไม่แมสมหาศาลก็ขาดทุนไปเรื่อย ๆ แล้วรู้กันหรือไม่ครับว่าต้นทุนทางดนตรีนั้นมีอะไรบ้าง?

 

ลงทุนหลักแสน
          ถ้ามองย้อนกลับไปยังรากเหง้าดั้งเดิมในการเล่นดนตรีนั้นหลายคนก็เริ่มมาจากความรัก ความสนุก บางคนก็พ่อแม่อยากให้มีทักษะติดตัวไว้ บางคนเรียนเก่งสอบติดมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศจบมาสอนดนตรี ร้องเพลงกลางคืนทั้งที่ไม่ได้จบดนตรีโดยตรงมาก็มีให้เห็น สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าใคร ๆ ก็เป็นนักดนตรีได้ถ้าคุณมี ‘ทักษะดนตรี’ และ ‘รสนิยมด้านดนตรี’ ที่สอดรับกับตลาด

 

ทักษะ & เวลา
          ต้นทุนแรกของนักดนตรีอย่างที่ได้เกริ่นไปแล้วอย่างทักษะดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่ซื้อหาโดยตรงไม่ได้ แต่การใช้เงินก็ช่วยให้ ‘เก่ง’ ขึ้นได้เช่นกัน การเพิ่มพูนทักษะดนตรีนั้นการฝึกฝนซ้ำไปซ้ำมาจนเกิดเป็น Muscle Memory หรือการที่กล้ามเนื้อต่าง ๆ จดจำ นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในการแสดง การฝึกฝนเหล่านี้ต้องใช้ความอดทน ความใส่ใจสังเกตในทุกโน้ตที่เล่นทุกกรูฟที่เกิดขึ้น ความไม่ย่อท้อในการฝึกฝน และความสม่ำเสมอซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัยอื่น ๆ

 

          การฝึกฝนนั้นนำมาซึ่งความเชี่ยวชาญ และความเชี่ยวชาญที่เกิดขึ้นในดนตรีไม่ได้มีแค่เพียงการขยับร่างกายให้ได้ดังใจนึก แต่ต้องฟังให้ออกด้วยว่าเสียงที่เล่นออกมานั้นมีความถูกต้อง ใช่เนื้อเสียงที่อยากได้ไหม หรือถ้าหากเป็นการเล่นรวมวง เล่นร่วมกับเพื่อน ๆ เครื่องดนตรีอื่น ๆ เสียงจะเข้ากันหรือเป็นไปอย่างที่ต้องการหรือไม่ ทักษะเหล่านี้เกิดขึ้นจากประสบการณ์การฟังที่ใส่ใจในรายละเอียดซึ่งสามารถทำได้ผ่านการร้องเพลงซึ่งเป็นวิธีง่ายที่สุด หรือแกะเพลงเหล่านั้นผ่านเครื่องดนตรีชิ้นโปรดของตัวเองก็สามารถทำได้ การแกะเพลงเหล่านี้นอกจากจะเป็นการเรียนรู้การเล่นโน้ตที่ศิลปินเลือกใช้แล้วยังเป็นการเรียนรู้ Dynamic, สำเนียงการเล่น ไอเดียของการเล่น ไปจนถึงเสียงประสานที่เกิดขึ้นเวลาเล่น  นอกจากนี้การฟังเพลงและการแกะเพลงเป็นการซึมซับรสนิยมและสไตล์ของดนตรีได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเวลาไปชมการแสดงสดที่จะมอบประสบการณ์อันแตกต่างอย่างสิ้นเชิง

ภาพตัวอย่างการรวมวง Orchestra ในสถาบันดนตรี           การฝึกฝนไม่ได้มีแต่การลงทุนเวลา พฤติกรรม และความมุ่งมั่น แต่การฝึกฝนยังต้องใช้ทุนจำนวนมหาศาลอีกด้วย นักดนตรีบางคนซ้อมวันละ 8 ชั่วโมงเพื่อให้ได้เป็นสุดยอดในสิ่งที่ทำ เวลาที่หายไปนั้นเป็นการลงทุนซึ่งไม่ได้เห็นผลในทันทีแต่จะได้รับผลตอบแทนเมื่อผลลัพธ์ของการฝึกซ้อมออกมาดี มีคนจ้าง ถ้าฝึกซ้อมอย่างยาวนานแต่ผิดวิธีหรือไปอยู่ผิดที่ผิดทางเวลาเหล่านั้นก็สูญเปล่าเอาง่าย ๆ เช่นกัน ซึ่งเวลาที่หายไปจากการซ้อมนั้นอีกนัยหนึ่งอาจหมายถึงเงินที่หายไปด้วย 

 

          การซ้อมที่ดีอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เวลามาก แต่ต้องมีสมาธิให้ได้มาก เก็บรายละเอียดให้ได้เยอะ การซ้อมที่กินเวลาน้อยเช่นซ้อมชั่วโมงเดียวแต่ลงรายละเอียดครบถ้วน มีขั้นตอนการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมสามารถให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่านั่งเล่นไปไม่คิดอะไรยาว ๆ 8 ชั่วโมง ดังนั้นการซ้อมที่ดีต้องรู้ว่าจะซ้อมไปเพื่ออะไร อยากได้ผลลัพธ์อย่างไร และวิธีการซ้อมนั้นทำให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการหรือไม่ การซ้อมที่เหมาะสมจะพานักนดนตรีไปยังความสำเร็จได้ ถ้าคุณอยากไปแสดงที่เฟสติวัลหรือ Concert Hall ที่ไหนสักแห่ง ซ้อม ซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม ไม่ใช่คำตอบเดียว เป็นแค่กระผีกนึงเท่านั้น แต่การซ้อมอย่างเข้าใจ พักผ่อนอย่างเหมาะสม และเล่นหรือทำงานบ่อย ๆ จนเกิดความชำนาญน่าจะเป็นคำตอบที่ดีกว่า

 

ค่าอุปกรณ์
          นอกจากค่าเสียเวลาแล้วอุปกรณ์ดนตรีที่ดียังมีราคาที่แพงไม่น้อยอีกต่างหาก บางคนอาจจะบอกว่ากีตาร์สองพันกับสองหมื่นไม่ต่างกัน มีเสียงออกเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วโทนเสียงที่ได้นั้นแตกต่างกันอย่างมาก ถ้าเป็นกีตาร์ไฟฟ้าวงจรอิเล็กทรอนิกส์ราคาแพง ปิ๊กอัพดี ๆ โทนเสียงที่ออกมาก็ต่างกันชัดเจน ในขณะที่กีตาร์คลาสสิกหรือกีตาร์โปร่งคุณภาพและประเภทของเนื้อไม้จะบ่งบอกถึงคาแรกเตอร์เสียง ไม้แท้ ไม้เทียม ไม้ชนิดพิเศษ วัสดุทดแทน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีราคาที่แตกต่างกันทั้งสิ้น สามารถนับมูลค่าได้ตั้งแต่การปลูกไม้เพาะไม้ บ่มไม้ ไปจนถึงทักษะของช่างที่ทำ

 

          นอกจากเรื่องเสียงแล้ว ความยากง่ายในการเล่นก็มีส่วนสำคัญอีกด้วย เครื่องดนตรีราคาแพงจะมีความสามารถในการตอบสนองต่อการเล่นที่ละเอียดอ่อนได้มากกว่า ทำให้สามารถสนับสนุนการเล่นได้มีความคล่องตัว รวดเร็ว และเก็บรายละเอียดได้มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด สำหรับนักดนตรีที่ทุ่มเทกับการฝึกและการเล่นไปถึงระดับหนึ่งแล้วเครื่องดนตรีที่ไม่เหมาะสมจะกลายเป็นกำแพงคอยขวางกั้นพัฒนาการและการเล่น เช่น ไม่สามารถทำความเร็วได้เนื่องจากการดีดกลับของเครื่องดนตรีไม่ทันกับการเคลื่อนไขของร่างกายเป็นต้น

ภาพตัวอย่างกีตาร์ Silver Sky สีชมพูซึ่งเป็นรุ่น Signature ของ John Mayer           ขอยกตัวอย่างราคากีตาร์ Fender ซึ่งถ้าเป็นรุ่นเริ่มต้นผลิตเม็กซิโกราคาก็จะอยู่ราว ๆ 20,000 - 30,000 บาท ถ้าเป็นรุ่นอเมริกันเริ่มต้นประมาณ 40,000 บาท ขึ้นไป ยังไม่รวมสายสัญญาณที่มีมาตรฐาน 3 เมตร เฉลี่ยเส้นละพันกว่าบาท Effect สำหรับตกแต่งโทนเสียงราคาหลากหลายมีตั้งแต่หลักร้อยแบรนด์จีน Boss มือสองพันกว่าบาทหรือมือหนึ่งตั้งแต่ประมาณ 2,000 บาททั่วไป ถ้าเล่นสาย Boutique ราคาประมาณ 10,000 บาทอาจเป็นเรื่องไม่แปลกใจนัก ซึ่งบอร์ด Effect ต้องมีตัวจ่ายไฟและเอฟเฟคต์อย่างน้อยสองสามตัว Reverb, Overdrive หรือ Tuner นั่นหมายความว่าบอร์ด Effect หนึ่งบอร์ดอาจจะมีราคาได้ตั้งแต่หลักพันต้น ๆ หลายพัน จนไปถึงหลักแสนก็เห็นกันได้ไม่ยาก แม้กระทั่ง Multi Effect ดี ๆ เองอย่าง Line 6 HX ก็มีราคาตั้งแต่หมื่นกลาง ๆ ขึ้นไป (มือสอง)

 

          ทั้งหมดที่ว่ามานี้ยังไม่ได้รวมเครื่องขยายเสียงอย่าง Amplifier หรือแอมป์ที่มีราคาให้เลือกตั้งแต่หลักพันต้น ๆ ดอกเล็ก ๆ ไว้ซ้อมหรือใส่หูฟังซ้อม ไปจนถึงแอมป์หลอดรุ่นใหญ่อย่าง Friedman ที่ต้องมี 50,000 บาทขึ้นไป (Combo Amp) สายกีตาร์ของแท้มีคุณภาพอย่างถูก ๆ D’addario เริ่มต้นอยู่ราคาประมาณ 200 บาท ยังมีอุปกรณ์เสริมอีกมากมายที่มีให้เลือกใช้และเอาไว้ดูแลกีตาร์ หากคุณสามารถหาซื้อชุดเริ่มต้นกีตาร์พร้อมแอมป์ได้อย่างของ Yamaha หรือ Orange ก็จะอยู่ที่หลักพันปลาย ๆ หมื่นต้น ๆ แต่ถ้าไม่ได้แคร์อะไรมากเอาแค่เล่นเองเดี๋ยวนี้แบรนด์จีนทำงานออกมาดี ๆ ก็เยอะ ราคาสบายใจกว่าที่นักดนตรีอาชีพใช้ และหากใครคิดว่านักรองสบาย ค่าไมโครโฟนดี ๆ ก็ขึ้นหลักหมื่นได้สบาย ๆ สำหรับการแสดงสด ไหนจะหูฟังมอนิเตอร์เพื่อให้ได้ยินเสียงที่ครบถ้วนซึ่งราคาก็ไม่ได้อยู่กันที่หลักร้อย

 

          แน่นอนว่าเครื่องดนตรีอื่น ๆ ก็มีราคาที่สูงไม่ต่างกันไม่ว่าเบส กลอง เครื่องสายอย่างไวโอลิน เครื่องเล่นแผ่นเสียงสำหรับ DJ หรือเครื่องทองเหลืองอย่างทรัมเป็ตที่มีราคาหลักหมื่นไปจนถึงแสนได้ง่าย ๆ แต่กีตาร์นี่แหละครับที่มีเรนจ์ราคากว้างมากเพราะคนเข้าถึงได้ง่าย

 

          แต่เดี๋ยวก่อน ค่าอุปกรณ์ที่เล่ามานั้นเป็นค่าอุปกรณ์ของคนที่แสดงดนตรีอย่างเดียว ถ้าใครทำห้องบันทึกเสียงเปิดบริการอัดเสียง ค่าอุปกรณ์เหล่านี้ก็ไม่ได้น้อยไปกว่ากัน เริ่มต้นกันที่ Audio Interface แบบสัญญาณขาเข้า 2 ช่อง สัญญาณขาออก 2 ช่อง แบรนด์มาตรฐานหน่อยก็อยู่ช่วงราคา 5,000 - 10,000 บาท ค่าสายสัญญาณต่างหาก คอมพิวเตอร์ถ้าเอาคุ้มหน่อยเมื่อเทียบกับตลาดโลกปัจจุบันก็ Mac Mini สัก 30,000 บาท ไมโครโฟนเองก็มีช่วงราคาที่กว้างตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหลายแสน เช่น Shure SM57 ยอดนิยมสำหรับแสดงสดและอัดตู้กีตาร์ หรือไมค์ Conderser ของ Neumann ที่เริ่มต้นก็หลายหมื่นอยู่

 

          นอกจากนี้หูฟังมาตรฐานสำหรับงานบันทึกเสียงหรือลำโพง Studio Monitor ก็จะอยู่ในช่วงราคาตั้งแต่หลักพันสำหรับหูฟังและหลักหมื่นสำหรับลำโพงที่มีมาตรฐานในการบันทึกเสียง แม้แต่การกรุห้องมาตรฐานขนาดเล็กสำหรับการบันทึกเสียงด้วยฉนวนแบรนด์ดี ๆ หน่อย ขนาด 120 x 60 ราคาก็อยู่ที่หลักพันต่อกล่องซึ่งกล่องหนึ่งอาจมี 3 - 4 แผ่น หากกรุเต็มพื้นที่ห้องไม่รวมแผ่นอะคูสติกปิดทับก็หลักหมื่นแล้ว

 

ค่าเรียน
          หลายคนอาจจะใช้การเรียนจาก YouTube ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร แต่คนที่มีความจริงจังมากเป็นพิเศษก็เลือกที่จะลองคอร์สเรียนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าคอร์สหลักสูตรเฉพาะแนวเพลงระยะสั้น คอร์สราคาแพงระยะยาว หลักสูตรต่างประเทศที่มีประกาศไปรษณียบัตร การเรียนแบบ Private หรือการเรียนแบบ 1-1 การเรียนในสถาบันดนตรี ไปจนถึงการเรียนในรั้วของมหาวิทยาลัย 

 

          ต้นทุนการเรียนเหล่านี้ก็แตกต่างกันอย่างมาก ยกตัวอย่างหลักสูตรกีตาร์ หากคุณซื้อหลักสูตรของเว็บดังอย่าง Truefire ราคาค่าเรียนกับวิดีโอที่สามารถเข้าดูเมื่อไหร่ก็ได้อาจจะอยู่ที่ 4,000 บาท การเรียนในคอร์สของโรงเรียนดนตรีอาจจะมีราคาเดือนละ 6,000 บาท เรียน Private อาจจะครั้งละ 1,000 บาท ถ้าไป Berklee ออนไลน์ ราคาเป็นไปได้ถึงหลักหลายหมื่นพร้อมใบประกาศ ในขณะที่รั้วมหาวิทยาลัยรัฐบาลเริ่มต้นที่หลักหมื่น ถ้าออกนอกระบบด้วยให้เตรียมเงินไว้ได้เลยอย่างต่ำครึ่งแสนต่อเทอมซึ่งไม่ต่างกับค่าเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนเลยทีเดียว

 

          การเข้าไปเรียนเหล่านี้เพิ่มโอกาสทางความสามารถให้กับผู้เรียนอย่างมากในหลักสูตรที่เปิดกว้าง แต่ภายใต้หลักสูตรที่ยืนขาตายและมีความผูกขาด มองเห็นอุดมคติเป็นใหญ่ เกณฑ์การวัดผลอาจจะมองไปที่ความเป็นเลิศของผู้เรียน ซึ่งหลายครั้งคนเป็นเลิศเหล่านี้อาจจะมีผลิตออกมาปีละคน ในขณะที่คนอื่นๆ  เข้ามาเพื่อให้หน่วยงานเหล่านั้นมีเงินในการทำงานต่อไป คนเรียนดนตรีในรั้วมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งจึงกลายเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยจากการรับเข้าศึกษาจำนวนมาก หลายครั้งปัญหาการปรับพื้นฐานซึ่งเป็นเรื่องสำคัญกลับมองข้ามโดยการใช้หลักสูตรของคนเป็นเลิศมาตัดสินตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วสามารถแยกคลาสเพื่อออกแบบการสอนให้เหมาะกับเด็กแต่ละกลุ่มได้ การลงทุนเรียนในมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้หมายถึงความคุ้มค่าเสมอไปหากเข้าไปแล้วตัวเลือกที่จะถูกผลิตออกสู่ตลาดแรงงานนั้นไม่มี การลงทุนเรียนมูลค่าหลายแสนและเวลากว่า 4 ปีอาจจะไม่ให้คำตอบอะไรเลยถ้าหลักสูตรที่เข้าไปนั้นไม่ได้ยึดโยงกับโลกที่จะไปอยู่จริง ๆ

 

          จะเห็นได้ว่าต้นทุนการเล่นดนตรีนั้นนอกจากการทุ่มเทเวลาแล้ว อุปกรณ์ยังเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมหรือขัดขวางการพัฒนาฝีมืออีกด้วย ใด ๆ ก็ตามการลงทุนเหล่านี้ของนักดนตรียังคงมีความเสี่ยงต่อการหารายได้มากกว่าอาชีพอื่น ๆ เพราะในเรื่องของการว่าจ้างนั้นจะเกี่ยวข้องกับชื่อเสียง สายสัมพันธ์ และความชอบ หรือจะเรียกได้ว่ามีความไม่แน่นอนของผลลัพธ์อยู่สูง ซึ่งในกรณีนี้ต้นทุนการเล่นดนตรีในฐานะมืออาชีพนั้นมีมูลค่าหลักหมื่นหลักแสน แล้วคุณคิดว่าค่าตอบแทนจะได้เท่าไหร่ครับสำหรับสถานการณ์ทั่ว ๆ ไป?

 

ทศธิป สูนย์สาทร
ผู้หลงใหลในเสียงดนตรี ความงาม และเทคโนโลยี 

--------------------

Ref:

logoline