svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

เอาอะไรมาต้าน? นวัตกรรมป้องกันน้ำท่วมของไทย มีอะไรเทียบนานาประเทศ

06 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

น้ำท่วมเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เรื้อรังอยู่คู่สังคมไทยมานาน จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 รัฐบาลไทยควรมีบทเรียนและวางแนวทางป้องกันปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นชิ้นเป็นอันได้แล้ว แต่ผ่านมาแล้ว 10 ปี ไทยยังคงย่ำอยู่กับที่หรือก้าวถอยหลังยิ่งกว่าปี 54 ด้วยซ้ำ ในขณะที่นานาประเทศทั่วโลกมีแผนป้องกันน้ำเพื่อดูแลประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม แต่สิ่งที่รัฐไทยทำกลับเป็นการปล่อยให้ประชาชนชินชากับเหตุการณ์ซ้ำๆอย่างนั้นหรือ?

Highlights

  • เป็นที่เข้าใจกันดีว่าสภาพภูมิประเทศของไทยเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ฝนตกชุก และเกิดน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ 54 ผ่านไป 10 ปี ทำไมเรายังไม่มีวิธีแก้ปัญหา
  • โครงการจัดการน้ำในไทยใช่ว่าไม่เคยมี แต่เหตุใดโครงการแก้ปัญหาเพื่อประชาชนเช่นนี้เป็นอันต้องโดนคว่ำอยู่ร่ำไป
  • นวัตกรรมการจัดการน้ำของประเทศอื่นเป็นอย่างไร? รัฐไทยสามารถหยิบมาเป็นกรณีศึกษาจะดีกว่าการแนะนำประชาชนสวดมนต์แก้น้ำท่วมหรือไม่?   

--------------------

          นานาประเทศทั่วโลกมักหยิบเอาบทเรียนที่ได้จากประวัติศาสตร์มาเป็นแรงผลักดันในการบริหารและพัฒนาประเทศ รวมถึงหาแนวทางป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำรอยกับในอดีตอีก

 

          ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมสูง เนื่องจากภูมิประเทศที่มีฝนตกชุก ซึ่งเราก็เคยมีบทเรียนครั้งใหญ่ผ่านมาแล้วจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ 2554 ผ่านมาแล้วร่วม 10 ปี ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเดิมซ้ำๆ และยังเป็นที่กังขาสำหรับประชาชนอยู่เนืองๆว่า รัฐไม่ได้รับบทเรียนใดจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาเลยอย่างนั้นหรือ? ปัญหานี้เป็นปัญหาที่รัฐแก้ไม่ได้หรือไม่ยอมแก้? และวิกฤตของประชาชนถือได้ว่าเป็นโอกาสของคนบางกลุ่มหรือไม่?

 

          หากลองมองย้อนดูในอดีต ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเรามากมายก็ประสบพบเจอกับปัญหาอุทกภัยเช่นกัน แต่เหตุใดรัฐบาลของประเทศเขาถึงเร่งแก้ไขและดำเนินงานอย่างรวดเร็ว ก็เป็นสิ่งที่น่าเอะใจอยู่ไม่น้อย

น้ำท่วมใหญ่ปี 54 ปริมาณน้ำปกคลุมทั่วสนามบินดอนเมืองและกรุงเทพมหานคร

ทำไมคนไทยต้องชินกับน้ำท่วม? ปัญหาเรื้อรังที่รัฐไม่เคยแก้ไขอย่างจริงจัง
          ปัญหาน้ำท่วมกับสังคมไทยเหมือนเวียนว่ายเป็นวัฏจักรที่ต้องพบเจอกันอยู่ทุกปี โดยเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดคงหนีไม่พ้นมหาอุทกภัยในปี 54 ที่มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 1.4 ล้านล้านบาท แม้จะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่ต้องตราตรึงในประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่ก็ใช่ว่าในประเทศเราไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ย้อนกลับไปยังปี 2538, 2526 และ 2485 ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยพิบัติจากพายุหลายลูก ส่งผลให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นทะลัก ประชาชนต้องใช้ชีวิตกับน้ำท่วมเกือบเมตรอยู่นานหลายเดือน

 

          แน่นอนว่าภัยพิบัติจากธรรมชาติเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การรับมือและเตรียมการป้องกันจากภาครัฐเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ในเมื่อรัฐมีบทเรียนครั้งใหญ่จากปี 54 ให้เห็นอยู่ทนโท่แล้ว เหตุใดจึงยังไม่มีการวางแนวทางเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่เห็นได้เป็นรูปเป็นร่าง? 
 

          หากถามว่าประเทศเราเคยวางแผนการจัดการน้ำมาก่อนหรือไม่ อาจพูดได้อย่างไม่เต็มปากนัก โดยผลพวงจากมหาอุทกภัยในปี 54 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะนั้น ได้เสนอโครงการวางแผนจัดการน้ำในระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก โดยจะจัดทุ่มงบกว่า 3.5 แสนล้านเพื่อทำแนวน้ำท่วม Flood way หรือ แนวคลองผันน้ำระบายออกสู่อ่าวไทย 

 

          โดยการสร้าง Flood way นี้จะใช้งบประมาณน้อยกว่าการขุดคลองขึ้นใหม่ แถมยังจะส่งผลดีต่อการเกษตรกรรมเพราะชาวบ้านสามารถดึงน้ำจากส่วนนี้ไปใช้ได้ แต่โครงการดังกล่าวเป็นอันต้องพับไปในปี 2557 หลังการรัฐประหารโดยพล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

          และเป็นที่น่ากังขาว่า 10 ปีผ่านไปประชาชนชาวไทยก็ยังเผชิญกับปัญหานี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะรัฐบาลแก้ไขไม่ได้หรือไม่ยอมแก้ไข การสวดมนต์เพื่อแก้ปัญหาตามคำแนะนำของรัฐบาลได้ผลอย่างแยบคายหรือไม่ หรือวิกฤตของคนไทยคือโอกาสในการตักตวงผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มหรือไม่ ก็เป็นที่น่าขบคิดกันพอสมควร

หนึ่งในน้ำท่วมกรุงครั้งใหญ่ปี 2526 ประชาชนต้องพายเรือเพื่อไปขึ้นรถเมล์ต่อ ประเทศไหนสวดมนต์ไล่น้ำท่วมเหมือนเราบ้าง?
          คำแนะนำจากการบริหารของแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันออกไปบางตามสไตล์ของผู้นำแต่ละคน แต่จะมีสักกี่ประเทศที่ผู้นำบอกให้ประชาชนสวดมนต์พร้อมรับวิกฤต การจัดการปัญหาระดับมหภาคขนาดนี้หากไม่มีการวางแนวทางที่ดีอะไรก็ต้านไม่ไหว มีกรณีศึกษามากมายจากทั่วโลกที่เราสามารถนำแนวคิดมาพัฒนาและต่อยอดให้สอดคล้องกับภูมิประเทศของเรา ตัวอย่างเช่น
NOAH Project ของฟิลิปปินส์ที่ช่วยคาดการณ์น้ำหลากและดินถล่ม

ฟิลิปปินส์
          ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเรามีเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นมาใช้สำหรับการจัดการน้ำโดยเฉพาะอย่าง NOAH (Nationwide Operational Assessment of Hazards) เป็นเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยหลังจากฟิลิปปินส์เผชิญกับพายุโซนร้อนเซนดง (Tropical Storm Sendong) ในปี 2011 ซึ่งโครงการ NOAH นี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อพยากรณ์และคาดการณ์เส้นทางน้ำหลากโดยอ้างอิงจากภูมิประเทศ อีกทั้งยังมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าจากน้ำท่วมและดินถล่มผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นบนมือถืออีกด้วย 
อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ใต้ดิน ความสูงกว่า 50 เมตร ในประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่น
          เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศญี่ปุ่นต้องเจอกับปัญหาอุทกภัยอยู่บ่อยครั้ง ในปี 1959 กรุงโตเกียว ต้องประสบปัญหาเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากพายุไต้ฝุ่นเวรา (Typhoon Vera) คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 1,000 ราย และสูญหายอีกนับไม่ถ้วน นับตั้งแต่ครั้งนั้นมา รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเร่งดำเนินการจัดสร้างคันกันน้ำขึ้นมาทั่วประเทศ และช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนในประเทศพอสมควรว่าคันกั้นน้ำเหล่านี้จะช่วยต้านทานไม่ให้น้ำทะลักเข้ามาในตัวเมือง นอกจากฤดูน้ำหลาก คันกั้นน้ำเหล่านี้ยังเป็นพื้นที่ที่สร้างประโยชน์ต่อคนในประเทศอีกด้วย เพราะเปรียบเสมือนพื้นที่สาธารณะเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ยังสามารถดึงเม็ดเงินท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติได้มากอีกด้วย

 

          แต่ถึงอย่างนั้นทางรัฐบาลก็ยังเล็งเห็นว่าหากในอนาคตเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นอีก คันกันน้ำเหล่านี้ก็อาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันอุทกภัย จึงเร่งพัฒนาหาทางป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนยิ่งๆขึ้นไปอีก

 

          โตเกียวมีลักษณะพื้นที่ที่คล้ายกับแอ่งน้ำ เมื่อฝนตกจะเกิดน้ำขังและยากต่อการระบาย รัฐบาลจึงมีความคิดที่จะสร้างคลองหรือเขื่อนขึ้นมา แต่หากลงมือสร้างเขื่อน เมืองก็จะถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งทำให้ยากต่อการคมนาคม แต่หากต้องเวนคืนที่ดินก็จะเสียงบประมาณจำนวนมาก ญี่ปุ่นจึงจัดการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ใต้ดินเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าเมืองและเป็นระบบระบายน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเริ่มก่อสร้างในปี 1993 และเสร็จสิ้นในปี 2006 กินระยะเวลาราว 13 ปี ตัวอุโมงค์มีความยาวอยู่ที่ 6.3 กิโลเมตร และยังเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ประชาชนสามารถเข้าชมได้ มีนิทรรศการให้ชมเพื่อจะได้เข้าใจภาพรวมของโครงการก่อนเข้าไปสัมผัสกับอุโมงค์ยักษ์ของจริง

 

          ซึ่งในส่วนของการระบายน้ำ น้ำจากในระบบภายในอุโมงค์จะถูกสูบระบายออกสู่แม่น้ำเอโดะ และสามารถระบายน้ำได้วินาทีละ 200 ตันเลยทีเดียว แถมภายในอุโมงค์ยังมีเสามากมายที่ตั้งอยู่ราว ๆ 59 ต้น แต่ละต้นจะมีน้ำหนักมากถึง 500 ตัน เนื่องจากด้วยสถานที่ที่อยู่ใต้พื้นดิน แรงดันน้ำพร้อมจะดันตัวขึ้นอยู่เสมอ เสาพวกนี้จะคอยป้องกันไม่ให้น้ำดันจนทะลักขึ้นสู่ผิวดิน 
โครงการ Delta Works ของเนเธอร์แลนด์ที่ถือว่าเป็นระบบจัดการน้ำที่ดีที่สุดในโลก เนเธอร์แลนด์
          ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความน่าสนใจและเป็นกรณีศึกษาให้กับอีกหลายประเทศทั่วโลก เพราะอะไร? เพราะด้วยสภาพภูมิประเทศของเนเธอร์แลนด์เป็นพื้นที่ที่มีระดับต่ำกว่าน้ำทะเล และอีกหลายส่วนของประเทศก็ถูกสร้างขึ้นมาจากการถมทะเลอีกด้วย โดยพื้นที่ที่สูงที่สุดในเนเธอร์แลนด์มีระดับสูงกว่าน้ำทะเลเพียง 1 เมตรเท่านั้น!

 

          ย้อนกลับไปในปี 1953 ประชาชนชาวดัตช์ต้องเผชิญอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 2,000 คน และประชาชนต้องไร้ที่พักอาศัยในชั่วพริบตากว่าหนึ่งแสนคน แน่นอนว่าทางรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น วันเวลาล่วงเลยไปไม่ถึงหนึ่งเดือนหน่วยงาน Deltaplan ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อสานต่อโครงการที่เคยริเริ่มไว้ในปี 1937 การดำเนินงานเป็นไปทั้งการจัดตั้งพนังกั้นน้ำ สร้างประตูระบายน้ำ เขื่อน สร้างกันแพงเพื่อกันคลื่น ซึ่งสามารถกั้นทะเลและแม่น้ำออกจากกันได้ นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถใช้น้ำสะอาดจากในเขื่อนได้อีกด้วย

 

          แต่รัฐบาลของทางเนเธอร์แลนด์ยังไม่ได้หยุดโครงการไว้เพียงเท่านี้ จากการคาดการณ์ว่าในอนาคตน้ำทะเลอาจมีแนวโน้มหนุนสูงกว่านี้มาก รัฐบาลอาจต้องใช้งบเพิ่มอีกราว ๆ 4.6 ล้านล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่หากเทียบกับความคุ้มค่าที่จะรักษาย่านชุมชนรวมถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในประเทศแล้วก็นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีและคุ้มที่จะลงทุนอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้โครงการ Delta Works ยังถูกจัดเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคปัจจุบัน เป็นระบบจัดการน้ำที่ดีที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นแม่แบบและกรณีศึกษาในการจัดการน้ำให้กับประเทศต่างๆทั่วโลกอีกด้วย

 

          จะเห็นได้ว่าประเทศดังกล่าวที่เรายกตัวอย่างไป ไม่มีประเทศไหนสวดมนต์แก้ปัญหาน้ำ ทุกอย่างล้วนมาจากความไม่นิ่งนอนใจของรัฐบาลและพร้อมวากรางฐานแก้ปัญหาในระยะยาว ทำเดี๋ยวนี้ ทำทันทีไม่มี Work from home งบประมาณที่จัดสรรมาต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ซึ่งเห็นแล้วก็อดเปรียบเทียบไม่ได้ว่าแล้ววันไหน ไทยจะไปถึงจุดนั้นบ้าง แล้วเรายังต้องชินกับเหตุการณ์ซ้ำซากแบบนี้ต่อไปหรือ?

 

ภัคสุภา  รัตนภาชน์
หล่อหลอมตัวเองด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมรอบโลก อาหาร และผู้คน  

--------------------

อ้างอิง: 

logoline