svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

การยอมแพ้ของแบล็กวิโดว์ สู่วันที่ต้องรับชมหนังฟอร์มยักษ์ผ่านสตรีมมิ่ง

29 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สร้างความฮือฮาไม่น้อยหลังจากภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Black Widow ถูกทางค่ายใช้กลยุทธื์ฉายสตรีมมิ่งชนโรง ซึ่งเป็นเหตุผลจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบันเทิงอย่างหนัก

Highlights

  • Black widow คือภาพยนตร์เรื่องล่าสุดในไทยที่ทำการฉายผ่านระบบสตรีมมิ่งไล่เลี่ยกับโรงภาพยนตร์
  • เป็นผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโควิดทำให้โรงภาพยนตร์ไม่สามารถจัดฉายหนังใหม่ได้
  • นำไปสู่การเริ่มทยอยปรับตัวนำภาพยนตร์ค้างสต็อกหรือเรื่องใหม่เข้าสู่ระบบสตรีมมิ่ง โดยเรื่องแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นคือ Mulan ของ Disney รวมถึง Warner Bros ที่นำ Wonder woman 1984 มาลง
  • กลายเป็นแนวทางในการจัดฉายภาพยนตร์แบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือนำหนังใหม่ชนโรงมาเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์โดยค่ายหนังเอง เพื่อพยุงบริษัทภายหลังสถานการณ์ระบาดของโควิด
  • เกิดข้อถกเถียงเป็นวงกว้างจากทั้งโรงภาพยนตร์ ทีมงาน ไปจนถึงนักแสดงนำบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย

--------------------

Black widow ภาพยนตร์ที่ทางค่ายตัดสินใจฉายลงสตรีมมิ่งหลังจากกำหนดลงโรง 5 วัน           ภายใต้สถานการณ์ระบาดยาวนานและการเลื่อนฉายของภาพยนตร์มากมาย หลังยื้อยุดกันมายาวนาน Black Widow ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ส่งท้ายดาราดัง Scarlett Johansson ก็ต้องยอมถอดใจจากรายได้การฉายในโรงภาพยนตร์ไทย มุ่งสู่สตรีมมิ่งของทางค่ายอย่าง Disney + Hotstar มาเป็นช่องทางจัดฉายแทน

 

          สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด ที่สร้างผลกระทบต่อสื่อหลายแขนง ไม่จำกัดแค่ภาพยนตร์แต่คนมากมายล้วนพากันได้รับผลกระทบไม่ขาดสาย เมื่อวิถีชีวิตตามปกติรวมถึงการรวมตัวถูกห้ามย่อมทำให้การทำงานกับคนหมู่มากสาหัสไปตามกัน โดยเฉพาะธุรกิจบันเทิงด้วยแล้ว

 

          ตั้งแต่วงการดนตรีงานเพลงมากมายล้วนถูกระงับ การจัดแสดงหรือคอนเสิร์ตงานหลักของบรรดาศิลปินนักร้องหยุดชะงักไม่มีกำหนด แม้บางประเทศจะเริ่มกลับมาจัดแสดงแต่กินเวลายาวนานนับปี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนดนตรีมากมายล้วนได้รับผลกระทบและขาดรายได้ไปตามกัน

          เช่นเดียวกับผู้รับชมซีรีย์ในหลายประเทศคงรู้สึกตัว ว่าละครหรือภาพยนตร์โทรทัศน์ทั้งหลายล้วนหยุดพักการถ่ายทำ นำไปสู่การเลื่อนฉายของรายการมากมาย ร้ายหน่อยบางเรื่องอาจถึงขั้นถูกรวบรัดตัดจบ เช่น ซีรีย์ญี่ปุ่นเรื่องดังลงเน็ตฟลิก BG Personal Bodyguard ss2 ที่ต้องรวบรัดตัดจบใน 7 ตอน, ซีรีย์สืบสวนเลื่องชื่อ The Blacklist ss7 ที่ต้องจบลงใน19 ตอนจนต้องนำอนิเมชั่นมาเล่าเรื่องแทน แม้แต่ซีรีย์ยอดฮิต The Walking Dead ss10 ยังต้องจบลงใน 15 ตอน

 

          และแน่นอนเมื่อจอแก้วยังได้รับผลกระทบร้ายแรงย่อมไม่มีทางที่จอเงินจะหลีกเลี่ยงเคราะห์กรรมครั้งนี้พ้น

 

โควิดกับวิกฤตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์
          ทางฝั่งของภาพยนตร์ล้วนได้รับผลกระทบจากโควิดหนักกว่าจอแก้ว ตั้งแต่ด้านการถ่ายทำอันหนักหนาเนื่องจากจำนวนทีมงานนักแสดงและเจ้าหน้าที่เบื้องหลังที่มากกว่า งบประมาณที่สูงเพื่อสร้างความอลังการย่อมหมายถึงจำนวนทีมงานมากตามกัน นำไปสู่การหยุดถ่ายทำไม่ต่างจากที่เกิดกับละครโทรทัศน์

 

          เลวร้ายกว่านั้นคือภาพยนตร์ที่ผ่านการถ่ายทำและงานเบื้องหลังเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน พร้อมออกมาให้ผู้คนได้ยลโฉมก็ไม่สามารถจัดฉายได้ตามแผนการที่วางไว้ ด้วยการแพร่ระบาดของโควิดเกิดจากการรวมตัวของผู้คน ทำให้รัฐบาลหวาดกลัวสั่งปิดสถานที่รวมตัวของคนหมู่มาก แน่นอนว่าโรงภาพยนตร์ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักเช่นกัน
 

          นำไปสู่พาเหรดการเลื่อนฉายยาวนาน เช่น The Quiet Place2 ที่ถูกเลื่อนฉายตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 จนเข้าฉายแบบจำกัดโรงในวันที่ 17 มิถุนายน 2021, Fast and Furious 9 ถูกเลื่อนฉายข้ามปีจนออกมาให้ทั่วโลกได้รับชมเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รวมถึง No Time To Die หรือเจมส์ บอนส์ภาคใหม่ ที่เลื่อนฉายแล้วเลื่อนฉายอีกจนได้กำหนดฉายแน่นอนวันที่ 7 ตุลาคม 2021 และภาพยนตร์อีกมากมายถูกเลื่อนตารางกันจ้าละหวั่น

          ถือเป็นปัญหาสำคัญทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์หยุดชะงัก เมื่อไม่สามารถส่งตรงลงสู่จอภาพยนตร์ภายในโรงหนังได้ทุกอย่างล้วนหยุดนิ่ง ต่อให้มีช่องทางอื่นด้านการทำเงิน เช่น ความร่วมมือกับธุรกิจอื่น, การขายสินค้าจากภาพยนตร์ หรือการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ แต่เมื่อไม่สามารถออกฉายทั้งหมดที่ว่าล้วนไร้ความหมาย

 

          นั่นทำให้ทางค่ายต้องหาทางรอดของตัวเองอย่างเร่งด่วนนำไปสู่การปรับตัวเข้าหาช่องทางให้อย่างบริการสตรีมมิ่ง สามภาพยนตร์ภาคต่อเรื่องดังที่ถูกเลื่อนฉายยาวนาน

การปรับตัวของธุรกิจภาพยนตร์การเปลี่ยนผ่านจากจอยักษ์สู่สตรีมมิ่ง
          ช่วงเวลายากลำบากไม่รู้ว่าการระบาดและกักตัวจะจบลงเมื่อใดนำไปสู่การขาดทุนมหาศาล นั่นทำให้ค่ายหนังมากมายต้องทำการปรับตัว ประกอบกับการขยายตัวของธุรกิจสตรีมมิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเกิดความพยายามในการนำภาพยนตร์ค้างสต็อกเหล่านั้นมาลงฉายในสตรีมมิ่งควบคู่กันไปด้วย

 

          กระแสนี้เริ่มต้นมาจากภาพยนตร์เรื่อง Mulan ของทาง Disney ที่ตัดสินใจเข้าฉายผ่านสตรีมมิ่ง Disney+ ในเวลาเดียวกับการออกฉายโรงภาพยนตร์ทั่วโลก ด้วยการให้สมาชิกจ่ายเงินเพิ่มอีก 30 ดอลลาร์เพื่อรับชมภาพยนตร์ ก่อนทยอยนำภาพยนตร์อื่นๆ อย่างอนิเมชั่น Soul ของ Pixar มาลงสตรีมมิ่งเพิ่มเติม

 

          เช่นเดียวกับทาง Warner Bros ที่จัดหนักโดยการนำ Wonder woman 1984 ภาคต่อของภาพยนตร์ฮีโร่ยอดนิยมลงสตรีมมิ่งโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ภายหลังภาพยนตร์ Tenet ของผู้กำกับ Christopher Nolan ที่ลองทำการฉายผ่านโรงภาพยนตร์ไม่ทำรายได้ตามเป้า พร้อมทั้งนำภาพยนตร์อีกมากมายตั้งแต่ Mortal Komat, Tom and Jerry หรือ The Conjuring3 ล้วนสามารถรับชมผ่านสตรีมมิ่ง HBO MAX ได้พร้อมการเข้าฉายในโรงฯได้ทั้งสิ้น

 

          รวมถึงล่าสุดภาพยนตร์ Black Widow ภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ยอดนิยมแห่ง Marvel เอง ในต่างประเทศได้รับชมไปตั้งแต่ 9 กรกฎาคม 2021 แต่ในไทยกลับถูกเลื่อนฉายมายาวนาน จนในที่สุดทางดิสนีย์ก็ทำการยอมแพ้ โบกมือลาโรงภาพยนตร์และประกาศฉายผ่านทางสตรีมมิ่ง Disney + Hotstar ในวันที่ 6 ตุลาคม 2021 ทั้งที่กำหนดฉายล่าสุดในโรงภาพยนตร์คือวันที่ 1 ตุลาคมห่างกันเพียง 5 วัน

สองภาพยนตร์ชื่อดังต้นทางกระแสการลงสตรีมมิ่ง สาเหตุแห่งการยอมลงสตรีมมิ่ง ทางรอดที่มาจากความจำใจ
          การตัดสินใจของต้นสังกัดในการนำภาพยนตร์ทั้งหลายที่ถ่ายทำไปลงสตรีมมิ่ง สร้างปัญหาให้กับวงการภาพยนตร์จนเกิดข้อถกเถียงเป็นวงกว้างจากคนทำหนัง ด้วยพวกเขาออกแบบและถ่ายทำภาพยนตร์ของตัวเองเพื่อให้ฉายบนจอกว้าง อรรถรสการรับชมผ่านสตรีมมิ่งไม่มีทางเทียบหรือสื่อสารที่พวกเขาต้องการบอกได้ชัดเท่า จนกลายเป็นกระแสคัดค้านใหญ่โตในฮอลลีวู้ด

 

          แต่เมื่อลองคำนึงถึงฐานะทางการเงินของค่ายหนังทั้งหลายนี่กลายเป็นสิ่งเข้าใจได้ ตั้งแต่ Warner Bros ค่ายหนังยักษ์ของสหรัฐฯที่คาดการณ์ต้องสูญเม็ดเงินกว่า 1,200 ล้านเหรียญ หรือ Walt Disney ก็มีรายได้ลดลงไปกว่า 23% จากปี 2019 ขาดทุนไปกว่า 710 ล้านเหรียญ จึงไม่น่าแปลกกับความพยายามในการปรับตัวครั้งนี้

 

          นอกจากนั้นเมื่อไม่สามารถนำหนังเข้าฉายโรงในประเทศแต่มีการฉายตามต่างประเทศ ย่อมตามมาด้วยการเผยแพร่ไฟล์หนังผิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ต อย่างล่าสุดกรณีภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง ที่ยังไม่ได้เข้าไทยแต่มีการฉายที่ประเทศเกาหลีใต้จึงมีไฟล์ผิดลิขสิทธิ์หลุดออกมา จนเกิดการรีวิวลงเพจเฟซบุ๊กหรือเว็บไซต์ มีกระทั่งคลิปเล่าและสรุปเนื้อเรื่องทั้งหมดในยูทูป ทำให้สามารถรับรู้เนื้อหาทั้งหมดได้โดยไม่ต้องรับชม สร้างความเสียหายให้กับค่ายหนังจนต้องออกมาตักเตือนช่องดังกล่าว

เหตุการณ์คลิปสปอยภาพยนตร์ “ร่างทรง” ทำให้ทางค่าย GDH ต้องออกมาเคลื่อนไหว           อีกส่วนที่เป็นปัญหาไม่แพ้กันคือตารางและคิวฉายหนังที่แน่นขนัด อย่าง Warner Bros เองในปีที่ผ่านมาก็มีภาพยนตร์จ่อคิวรอนับสิบเรื่อง ภายหลังวางแผนการฉายไว้ล่วงหน้าหากฝืนขยับย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งบริษัท การยอมปล่อยหนังออกมาทั้งที่รู้ว่าต้องเจ็บตัว อาจเป็นทางเลือกเดียวในการช่วยแผนงานให้ดำเนินต่อไปได้

 

          แต่นั่นก็ทำให้เกิดข้อโต้แย้งจากธุรกิจโรงภาพยนตร์ว่าค่ายหนังกำลังผลักให้พวกเขาตายแทน ภายใต้สถานการณ์ระบาดของโควิดพวกเขาก็ไม่อาจสร้างรายได้ใดๆ เช่น เครือโรงหนัง Major ในไทยรายได้ลดลงจาก 10,697 ล้านบาทในปี 2019 เหลือเพียง 3,765 ล้านบาท หายไปกว่า 65% ของปีก่อน, Cineworld Group บริษัทเครือโรงภาพยนตร์ของสหรัฐฯ ขาดทุนไป 1,600 ล้านเหรียญ รายได้ลดลงไปกว่า 67% เช่นเดียวกับ AMC ที่ใหญ่กว่าขาดทุนมากถึง 2,100 ล้านเหรียญเลยทีเดียว

 

​​​​​​​          เรื่องเหล่านี้กลายเป็นข้อถกเถียงในวงการ ไม่ว่าจะในส่วนโรงภาพยนตร์ ผู้กำกับและทีมงานเบื้องหลัง หรือแม้แต่ตัวนักแสดงนำบางคนก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ของค่ายหนัง จนทำให้เกิดประเด็นฟ้องร้องรวมถึงข้อขัดแย้งมากมายตามมา

 

​​​​​​​          แน่นอนว่าจนปัจจุบันข้อถกเถียงเหล่านี้ยังไม่จบ เพราะในต่างประเทศแม้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด ภาพยนตร์หลายเรื่องก็ยังคงลงฉายสตรีมมิ่งในเวลาไล่เลี่ยกัน ในทางหนึ่งอาจเป็นการลดความสำคัญของโรงภาพยนตร์ว่าจากนี้พวกเขาไม่ใช่สถานที่ฉายหนังใหม่อีกต่อไป เป็นแค่โรงละครที่ทำให้เราได้รับชมอรรถรสและบรรยากาศเท่านั้น

 

​​​​​​​          แต่ไม่ได้หมายความว่านี่จะเป็นจุดสิ้นสุดของธุรกิจโรงภาพยนตร์ แท้จริงเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่เกิดขึ้นมาหลายครั้ง นับแต่การเข้ามาของวีดีโอเทป แผ่นซีดีและดีวีดี หรือกระทั่งแผ่นผีซีดีเถื่อน อาจขลุกขลักยากลำบากต้องปรับตัวตามยุคสมัยไปบ้าง แต่เชื่อว่าสุดท้ายโรงภาพยนตร์จะคงอยู่คู่กับวิถีชีวิตของเราสืบไป

 

​​​​​​​          ในเมื่อบรรยากาศการชมภาพยนตร์โปรดในห้องมืดสนิท จากหน้าจอขนาดยักษ์ พร้อมเสียงกระหึ่มจากรอบทิศก็ยังไม่มีอะไรมาทดแทนได้อยู่ดี

 

เกรียงไกร เรืองทรัพย์เดช

--------------------

ที่มา:

logoline