svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

Blue Light ภัยร้ายสายตาสำหรับมนุษย์ยุคดิจิทัล… จริงหรือ?

29 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัญหานอนไม่หลับของคุณอาจเกิดมาจากการใช้งานจอดิจิทัลในเวลาที่ไม่เหมาะสม เพราะแสงสีฟ้าจะกระตุ้นการตื่นตัวของคุณ และแสงสีฟ้าที่พูดถึงนี้อาจจะนำมาซึ่งปัญหามากกว่าที่คุณคิดเสียอีก

Highlights:

  • แสงสีฟ้าเป็นสิ่งที่พบได้ตามธรรมชาติและมีปริมาณมากกว่าหน้าจอดิจิทัล
  • การใช้งานหน้าจอดิจิทัลอย่างต่อเนื่องและมีการเพ่งสายตาสามารถสร้างความเหนื่อยล้าให้กับดวงตา รวมถึงเพิ่มโอกาสในการรับแสงสีฟ้าอีกด้วย
  • การพักผ่อนและการจำกัดปริมาณการใช้งานหน้าจอดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาดวงตาสำหรับผู้คนในยุคใหม่

--------------------

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้มนุษย์เราส่วนใหญ่ในวัยทำงานใช้เวลาไปกับการดูหน้าจอเสียเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ออฟฟิศ สายทำงานเอกสารต่าง ๆ โดยเวลามากกว่า 50% ในแต่ละวันนั้นต้องจดจ่ออยู่กับคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเบล็ต ซึ่งหน้าจอเหล่านี้มีการปลดปล่อยแสงสีฟ้า (Blue Light) ที่เป็นอันตรายต่อสายตาอยู่ตลอดเวลา

 

          หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ แสงสีฟ้า ผ่านหูมาบ้างในชีวิตประจำวัน บางคนก็อาจคิดว่าเป็นแสงที่เหมือนกับการมองทองฟ้า แต่ที่จริงแล้วแตกต่างกันอย่างมาก แสงสีฟ้าที่เราจะชวนคุยกันในวันนี้นั้นเป็นเหมือนกับปัญหาที่สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน เพราะแสงเจ้าปัญหานี้จะเกิดขึ้นจากหน้าจอของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเราใช้กันบ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน แล้วคุณรู้ไหมครับว่าเจ้าแสงสีฟ้านี้คืออะไร และมันสร้างปัญหาได้อย่างไร?

Blue Light ภัยร้ายสายตาสำหรับมนุษย์ยุคดิจิทัล… จริงหรือ? แสงสีฟ้า ปัญหาหรือมายาคติ?

          บทความเกี่ยวกับแสงสีฟ้าหรือข้อความที่ส่งต่อกันมานั้นมักจะพูดถึงเรื่องอาการเมื่อยล้าของสายตา ตาแห้ง บางกรณีก็พูดกันไปถึงความพิการของสายตาซึ่งสิ่งเหล่านี้ในเบื้องต้นต้องบอกก่อนว่ามีทั้งจริงและไม่จริงนะครับ

 

          ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักแสงสีฟ้าที่กำลังเล่าถึงกันสักหน่อย แสงที่เรามองเห็นในชีวิตประจำวันนั้นมีความยาวช่วงคลื่นที่แตกต่างกัน ความแตกต่างเหล่านี้ส่งผลต่อการรับรู้แสงและสีต่าง ๆ แต่ช่วงคลื่นเหล่านี้ก็มีบางช่วงที่สร้างอันตรายให้กับระบบการมองเห็นของร่างกายเราได้เช่นกัน ช่วงคลื่นระหว่าง 300 - 400 นาโนเมตรนั้นสามารถเจาะผ่าน Cornea และถูกดูดซับได้ด้วย Iris หรือ Pupil ในดวงตาของมนุษย์ แต่เจ้าแสงสีฟ้าที่มีช่วงคลื่นระยะสั้นระหว่าง 415 - 455 นาโนเมตรซึ่งมีพลังงานสูงนั้นสร้างความเสียหายให้กับดวงตาได้มากที่สุด โดยแสงสีฟ้าจะทะลุผ่าน Cornea และเลนส์ตาไปยัง Retina ทำให้เกิดภาวะอย่างตาแห้ง โรคต้อกระจก ปัญหาจอตาเสื่อม ไปจนถึงการส่งผลกระทบต่อสมอง ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว หรือการเพิ่มการผลิตฮอร์โมน Adrenocortical ซึ่งจะทำลายสมดุลของฮอร์โมนและส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการนอนหลับ การใช้งานหน้าจอดิจิทัลเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติในชีวิตคนยุคใหม่           แต่เดี๋ยวก่อนครับ ปัญหาตาแห้งอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากแสงสีฟ้าที่เราจ้องหน้าจอเสียทีเดียว พฤติกรรมมนุษย์เราที่ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอเป็นเวลานาน ๆ นั้นมักจะหลงลืมการกระพริบตาไปเนื่องจากจดจ่อกับประเด็นหรือเนื้อหา การไม่กระพริบตาหรือกระพริบตาน้อยลงนี่แหละครับที่เป็นปัยหาหลักของการตาแห้งในขณะที่จ้องจอ

 

          นอกจากนี้แสงสีฟ้าที่เราต้องเจอในชีวิตประจำวันไม่ได้มีแค่แสงจากหน้าจออุปกรณ์ต่าง ๆ นะครับ สถาบันจักษุวิทยาประเทศสหรัฐอเมริกายังบอกอีกว่าแสงสีฟ้าที่เราได้รับจากแสงอาทิตย์นั้นถือว่ามีปริมาณมากกว่าหน้าจอดิจิทัลที่เรา ๆ จ้องกันเสียอีกดังนั้นแล้วอย่ากังวลกับแสงสีฟ้าบนหน้าจอมากไปจนลืมว่าแสงอาทิตย์นี้เองก็มีความเสี่ยงไม่น้อย โดยเฉพาะจากแสง Ultra Violet ที่มีตามธรรมชาติที่เราต้องให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

 

          ดังนั้นแล้วแสงสีฟ้าจากหน้าจอในความเป็นจริงอาจจะมีความอันตรายไม่มากนักเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่น ๆ ที่มีในชีวิตประจำวัน แต่ความหนักหนาในประเด็นเหล่านี้ คือ การใช้งานอย่างต่อเนื่องยาวนานและการเพ่งสายตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านตัวอักษรหรือดูภาพขนาดเล็กที่ทำให้ปัญหาด้านสายตาเพิ่มขึ้น ปัญหาแสงสีฟ้าจึงเรียกได้ว่ามีอยู่จริงแต่สำหรับแสงสีฟ้าที่มาจากหน้าจอดิจิทัลอย่างคอมพิวเตอร์หรือสมัยก่อนในระดับเฝ้าระวังนั้น… เคยเป็นเรื่องจริง เนื่องจากหน้าจอสมัยก่อนนั้นมีการปลดปล่อยแสงสีฟ้าที่ค่อนข้างสูง เพราะเหตุนี้ผู้ผลิตและผู้พัฒนาจึงได้พยายามลดการปลดปล่อยแสงสีฟ้าจากหน้าจอไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาจอชนิดใหม่ ๆ ขึ้นมาหรือฟังก์ชันในระบบเพื่อตัดแสงสีฟ้าที่เป็นซอฟต์แวร์ก็มีเช่นกัน

 

ดูแลสายตาในยุคดิจิทัลอย่างไรถึงจะดี?

          แม้ว่าแสงอาทิตย์จะเป็นแหล่งผลิตแสงสีฟ้ามากที่สุด แต่การใช้ชีวิตในปัจจุบันของมนุษย์บางกลุ่มบางคนนั้นมีการใช้งานหน้าจอแทบจะตลอด 24 ชั่วโมงอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้นผู้ที่ต้องทำงานกับหน้าจออย่างต่อเนื่องควรหาวิธีผ่อนคลายและบำรุงสายตาเอาไว้ให้สามารถใช้งานได้ยาวนาน ซึ่งการดูและเหล่านี้ขอแบ่งออกเป็นสองส่วน ดังนี้

 

การป้องกัน

          การป้องกันแสงสีฟ้าจากหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายสามารถทำได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุปกรร์ยุคใหม่ที่มีฟังก์ชันลดแสดงมาพร้อมใช้งาน แต่สำหรับจอยุคเก่าที่เหมือนโทรทัศน์โบราณที่เป็นกล่องขนาดใหญ่ หลายคนคงเคยเห็นจอเหล่านี้ติดฟิล์มกรองแสงสีดำซึ่งก็สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่การใช้จอรุ่นใหม่ที่เป็น LED หรือจอกลุ่ม IPS สามารถลดแสงได้ดีกว่าจอรุ่นเก่าอย่างมาก ดังนั้นการเลือกใช้หน้าจอที่เหมาะสมจึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่เกิดขึ้นได้สำหรับผู้คนในยุคใหม่

 

          แล้วหน้าจอที่เหมาะสมเป็นอย่างไร? หน้าจอที่เหมาะสมนั้นจะขึ้นอยู่กับความละเอียด (Resolution) ของจอภาพ รวมถึงขนาดของหน้าจอที่ส่งผลต่อระยะสายตาและการอ่าน หากจอมีขนาดเล็กเกินไปสายตาจะต้องเพิ่งอย่างมากเพื่อนเข้าถึงข้อมูล ในขณะที่จอใหญ่เกินไปจะเป็นภาระกับการมองหากไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม  การเลือกใช้จอจึงต้องคำนึงถึงขนาดที่ต้องการใช้ ระยะห่างระหว่างหน้าจอ ประเภทของจอ รวมถึงความสามารถในการตัดแสงสีฟ้าสำหรับจอรุ่นใหม่ ๆ อีกด้วย โดยวิธีการปรับพื้นที่หรือลิกใช้งานเบื้องต้นมีดังนี้

  • ให้หน้าจออยู่ห่างจากดวงตาประมาณ 20 - 26 นิ้วขึ้นกับขนาดหน้าจอ และตำแหน่งอยู่ต่ำกว่าดวงตาเล็กน้อย
  • ใช้งานหน้าจอในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอและปรับระดับความสว่างให้เหมาะสมกับการใช้งาน
  • หากเป็นไปใด้ให้เลือกใช้งานแว่นที่สามารถตัดแสงสีฟ้าได้ไม่ว่าจะเป็นแว่นกันแดดหรือแว่นสายตา
  • ให้แนวคิด 20-20-20 กล่าวคือ ทุก 20 นาทีของการทำงานต้องมอวัตถุที่ไกลออกไป 20 ฟุต และใช้เวลาจ้องมองวัตถุนั้นอย่างน้อย 20 วินาทีจะสามารถลดปัญหาได้ในเบื้องต้น

 

          สำหรับนักอ่านเอกสารหรือชอบช็อปปิ้งหนังสือเป็นไฟล์ PDF หรือ EPUB การหา E-Reader ซึ่งใช้เทคโนโลยี E Ink หรือ Electronic Paper จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเนื่องจากอัตรา Refres Rate ที่ต่ำและการออกแบบให้คล้ายกับกระดาษในชีวิตจริง ทำให้สามารถลดความเมื่อยล้าของสายตาได้เป็นอย่างดี

Blue Light ภัยร้ายสายตาสำหรับมนุษย์ยุคดิจิทัล… จริงหรือ? การบำรุง

          แน่นอนว่าการป้องกันไม่ใช่หนทางเดียวในการยืดอายุการใช้งานของสายตา การทานอาหารที่มีประโยชน์ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยยืดอายุของสายตาได้หากดำเนินการร่วมกับแนวทางป้องกัน ซึ่งการกินอาหารหรืออาหารเสริมในการบำรุงสายตาเป็นอีกทางออกหนึ่งที่สามารถยืดอายุสายตาที่คุณรักได้ เช่น การกิน Carotenoid, Lycopene ที่พบมากในมะเขือเทศ หรือ วิตามิน A, E และ B Complex เป็นต้น นอกจากนี้การดื่มน้ำบ่อย ๆ และการพักผ่อนให้เพียงพอยังเป็นปัจจัยสำคัญในการบำรุงรักษาดวงตาอีกด้วย

 

          ดังนั้นแล้วการรับมือกับปัญหาแสงสีฟ้าโดยเฉพาะจอดิจิทัลทั้งหลายจึงควรเป็นการเว้นระยะการใช้งาน มีการบริหารดวงตาอย่างเหมาะสม การพักผ่อนก็ถือเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน ในขณะที่ก่อนเวลาเข้านอนควรหลีกเลี่ยงจากหน้าจอเพื่อไม่ให้แสงสีฟ้านั้นกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว

 

ทศธิป สูนย์สาทร

ผู้หลงใหลในเสียงดนตรี ความงาม และเทคโนโลยี 

--------------------

Ref:

logoline