svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

รอยประทับจาก ‘Santa Lucia’ ถึง ‘พรุ่งนี้ก็ช้าเสียแล้ว’

14 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

15 กันยายน 2564 เนื่องในโอกาสของวัน อ.ศิลป์ พีระศรี ที่แวะเวียนมาอีกครั้ง การถ่ายทอดแนวคิดและมุมมองของบิดาแห่งศิลปะไทยสมัยใหม่เพื่อส่งต่อประกายไฟเป็นหนึ่งในประเพณีนิยมที่เกิดขึ้นทุกปี และหวังว่าประกายไฟเหล่านี้จะสานต่อให้ศิลปินไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและผลงานของตัวเองได้ไม่มากก็น้อย

Topics:

  • 15 กันยายนเป็นวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะไทยยุคใหม่
  • อาจารย์ศิลป์ พีระศรีไม่ใช่คนไทยแต่เป็นชาวอิตาลีที่รักในงานศิลปะและวัฒนธรรมต่าง ๆ
  • อาจารย์ศิลป์มีความเชี่ยวชาญพิเศษในด้านงานประติมากรรม โดยได้ฝากผลงานไว้ให้เป็นที่ประจักษ์มากมายจนถึงทุกวันนี้ เช่น อนุเสาวรย์ชัยสมรภูมิ
  • อาจารย์ศิลป์ พีระศรีเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร
  • แนวคิดด้านงานศิลปะและการใช้ชีวิตของอาจารย์ศิลป์กลายเป็นแบบอย่างของศิลปินยุคต่อมา รวมถึงเหล่านักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร

 

          ถ้าคุณนึกถึงศิลปะคุณจะนึกถึงอะไรครับ? บางคนก็นึกถึงภาพวาด บางคนนึกถึงดนตรี บางคนนึกถึงรูปปั้น บางคนก็นึกถึงสถาปัตยกรรม และเด็กรุ่นใหม่อาจจะมองว่าเกมส์หรืองานดิจิทัลต่างๆ  ก็เป็นศิลปะด้วยเช่นกัน แต่ถ้านำคำถามนี้มาถามกับนักศึกษาด้านศิลปะในประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยศิลปากร คำว่าศิลปะจะต้องมาพร้อมกับชื่อของคนหนึ่งคนที่เด็กรั้ววังทั้งหลายมักจะนึกถึง ‘ศิลป์ พีระศรี’

 

          หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อนี้ผ่านหูกันมาบ้าง และก็มีคนอีกไม่น้อยเช่นกันที่ไม่รู้ว่า ศิลป์ พีระศรีเป็นใคร ผมจึงขอเริ่มต้นตรงที่ว่า ศิลป์ พีระศรี หรือที่ชาวศิลปากรมักเรียกกันอย่างย่อว่า อาจารย์ศิลป์ หรือ ออาจารย์ฝรั่ง... ใช่ครับ อาจารย์ศิลป์ของเด็กศิลปากรที่มีชื่อไท๊ยไทยนั้นไม่ได้มีชาติเชื้อกำเนิดเป็นชาวไทย แต่เป็นผู้เดินทางไกลมาจากเมืองฟลอเรนซ์ประเทศอิตาลี มีชื่อเดิมว่า Corrado Feroci และสำเร็จการศึกษาจาก Accademia di Belle Arti di Firenze โดยมีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านจิตรกรรมและประติมากรรมรวมถึงประวัติศาสตร์ศิลปะอีกด้วย

 

แสงแรกแห่งศิลปะไทยร่วมสมัย
          หากพูดถึงศิลปะไทยแล้วภาพที่ทุกคนถึงง่ายที่สุดคงจะไม่พ้นภาพจิตรกรรมบนฝาผนังวัด ภาพลายกนก รูปปั้นสัตว์หิมพานต์ หรือรูปปั้นเทวดาทรงเครื่องต่าง ๆ ตลอดจนงานสถาปัตยกรรมต่าง ๆ อย่างวัดวาอารามก็ล้วนแล้วแต่มีลักษณะเส้นโค้งที่อ่อนพริ้วงดงามทั้งสิ้น ในขณะที่ศิลปะแบบตะวันตกจะให้ความรู้สึกที่แข็งแรงหรือกำยำมากกว่าหากพิจารณาเปรียบเทียบตามประติมากรรมของศิลปะทั้งสองแบบ เรียกว่าผลงานจากตะวันตกนั้นเน้นไปที่ความสมจริงของมนุษย์เสียมาก โดยอาจารย์ศิลป์ได้นำอิทธิผลของงานฝั่งตะวันตกเข้ามาเล่าเรื่องราวของพื้นที่ชาวไทยเอาไว้ได้อย่างแตกต่างน่าสนใจ
รอยประทับจาก ‘Santa Lucia’ ถึง ‘พรุ่งนี้ก็ช้าเสียแล้ว’

          ผลงานของอาจารย์ศิลป์นั้นถูกผลิตออกมาหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะงานปั้น งานเขียน แม้กระทั่งสถานที่แลนด์มาร์คสำคัญของไทยก็มี เช่น อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย, อนุเสาวรีย์ไชยสมรภูมิ, พระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน, อนุเสาวรีย์ท้าวสุรนารี และรูปปั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ผลงานที่มีคุณูปการมากที่สุดสำหรับแวดวงศิลปะไทยเห็นทีจะหนีไม่พ้น ‘การสร้างศิลปิน’ หรือการวางรากฐานของศิลปะสมัยใหม่ให้กับประเทศไทยนั่นเอง โดยในตอนแรกเริ่มต้นจากอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา และต่อมาได้ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งในภายหลังได้รวมเข้ากับโรงเรียนนาฏยดุริยางคศาสตร์และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง’ ซึ่งในท้ายที่สุดถูกยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรนั่นเอง

 

          ลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์ศิลป์นั้นได้เติบใหญ่กลายเป็นร่มไทรและสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นหลังอย่างต่อเนื่อง เช่น อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์, อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ เจ้าของประติมากรรมเสียงขลุ่ยทิพย์ที่ผสานเอาแนวคิดแบบไทยเข้ากับการออกแบบที่เรียบง่าย, อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ผู้สร้างพิพิธภัณฑ์บ้านดำ และ อาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ จิตรกรและกวีนิพนธ์รุ่นบุกเบิก เป็นต้น ผลงานของอาจารย์ผู้ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์ศิลป์ล้วนเป็นเหมือนคลื่นกระทบฝั่งที่ส่งแรงและสร้างฝันให้กับศิลปะเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นศิลปินที่รักษาขนบและเทคนิคแบบดั้งเดิม ศิลปินที่นำเอาแนวคิดจากตะวันตกและตะวันออกมาผสมผสานกัน ไปจนถึงศิลปินที่หลงใหลใคร่รู้ในศิลปะตะวันตกเพียงอย่างเดียวก็มีเช่นกัน

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกหนึ่งผลงานสำคัญของอาจารย์ศิลป์
          การมาถึงของแนวคิดศิลปะแบบตะวันตกของอาจารย์ศิลป์อาจสร้างความกังวลให้กับผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมอยู่บ้าง แต่ด้วยความที่อาจารย์ศิลป์นั้นเป็นผู้ที่มีความรักและความเชี่ยวชาญในงานศิลปะเป็นทุนเดิม การทำความเข้าใจและซึมซับแง่งามของศิลปะตะวันออกจึงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ผลงานของอาจารย์ศิลป์จึงเป็นผลงานที่ไม่ได้มีแนวคิดหรือเทคนิคที่เป็นตะวันตกจ๋าแบบเอาประตูชัยมาตั้งไว้กลางเมืองกรุงเทพฯ แต่เป็นการปรับแต่งให้เข้ากับพื้นที่และแนวคิดวัฒนธรรมต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว กลายเป็นการเติมเต็มระหว่างศิลปะจากตะวันตกและศิลปะจากตะวันออกของไทย 

 

          ความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากอาจารย์ศิลป์นั้นก็ไม่ได้แตกต่างไปจากยุคสมัยนี้ไปสักเท่าไหร่นัก ต้องบอกว่าเรื่องของการเมือง สมัครพรรคพวก และการมองคนต่างชาติเป็นคนนอกของเมืองไทยนั้นก็มีมาตั้งแต่ยุคสมัยนั้นแล้วเช่นกัน กว่าที่ผลงานของอาจารย์ศิลป์จะได้รับการยอมรับก็ต้องถูกทดสอบและได้รับโอกาสจากผู้มีวิสัยทัศน์อย่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เช่นกัน อาจารย์ศิลป์จึงไม่ใช่เทพยาดาจากเมืองฟ้าเมืองอมรแดนไกลที่ไหน แต่อาจารย์นั้นเป็นตัวแทนคนธรรมดาที่มีจิตใจมุ่งมั่นและรักในงานศิลปะอย่างเปี่ยมล้น ไม่ต่างจากศิลปินจำนวนมากในทุกยุคทุกสมัย และสิ่งที่อาจารย์ศิลป์มีมากกว่าใครนั่นคือหัวใจในการถ่ายทอดศิลปะไปยังคนรุ่นต่อ ๆ ไป

 

จาก Santa Lucia สู่ข้อคิดชีวิต ‘พรุ่งนี้ก็ช้า(สาย)เสียแล้ว’
          หากมีใครเดินเข้าไปมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้วได้ยินคนร้องเพลง Santa Lucia กันได้ทั้งมหาวิทยาลัยก็อย่าได้แปลกใจไป เพราะเพลงนี้นั้นเป็นเพลงที่อาจารย์ศิลป์มักร้องอยู่บ่อย ๆ เวลาทำงานและเพื่อรำลึกถึงอาจารย์ศิลป์เพลงนี้จึงได้กลายมาเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งยังมีเนื้อร้องภาษาไทยในชื่อ ‘ศิลปากรนิยม’ อีกด้วย

 

          หากคุณไม่ใช่คนที่มาจากศิลปากร การมีเพลงประจำมหาวิทยาลัยเป็นภาษาอิตาลีหรือการเคารพรักอาจารย์ศิลป์ซึ่งเป็นฝรั่งที่ไม่เคยเห็นหน้า พบปะ หรือมีโอกาสได้พูดคุยอาจเป็นอะไรที่แปลกและเข้าใจได้ยาก ทั้งยังดูแปลกแยกไม่เหมือนมหาวิทยาลัยรัฐอื่น ๆ ในประเทศ แต่ถ้าหากคุณถูกหล่อหลอมมาจากสังคมของศิลปากรแล้วสิ่งเหล่านี้อาจเรียกได้ว่าถูกฝังหยั่งรากลงไปในหัวใจก็ว่าได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่เพลงโปรดของอาจารย์ศิลป์จะกลายเป็นเพลงสำคัญที่ชาวศิลปากรใช้รำลึกและเป็นตัวแทนของอาจารย์ศิลป์

รอยประทับจาก ‘Santa Lucia’ ถึง ‘พรุ่งนี้ก็ช้าเสียแล้ว’
          ทุกวันที่ 15 กันยายนของทุกปีชาวศิลปากรจะร่วมระลึกถึงอาจารย์ศิลป์ในวันศิลป์ พีระศรี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ศิลป์ กิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ การถ่ายทอดประสบการณ์จากศิลปินรุ่นใหญ่หรือผู้ที่ได้เกี่ยวข้องกับอาจารย์ศิลป์ หรือว่ากันง่าย ๆ เราได้สัมผัสเรื่องราวของอาจารย์ในหลากหลายแง่มุมในแต่ละปีผ่านบุคคลที่จับต้องได้ และในยามค่ำคืนเหล่าศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันจะร่วมจุดเทียนร้องเพลง Santa Lucia และศิลปากรนิยมในขณะที่ยืนรายล้อมรูปปั้นของอาจารย์ศิลป์กันอย่างอบอุ่น นอกเหนือจากการรำลึกที่เกิดขึ้นแล้ว กิจกรรมต่าง ๆ ในรั้วมหาลัยยังคงอบอวลไปด้วยคำสอนของอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนหน้าโรงอาหาร งานศิลปะในสวนแก้ว หอศิลป์มหาวิทยาลัย ไปจนถึงลานอาจารย์ศิลป์หน้าคณะจิตรกรรมฯ ต่างก็มีร่องรอยและกลิ่นอายของศิลปากรที่อาจารย์หมายมั่นปั้นขึ้นมาทั้งสิ้น

 

          สิ่งที่ทำให้อาจารย์ศิลป์เป็นที่เคารพรักของศิษย์หลากหลายรุ่นตั้งแต่รุ่นบุกเบิกไปจนถึงรุ่นปัจจุบันไม่ใช่ตำนาน ไม่ใช่เรื่องราวที่พิเศษยิ่งใหญ่ แต่เป็นเรื่องราวของคนธรรมดาที่รักในงานศิลปะและเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความตรงต่อเวลาอย่างมาก การให้ความสำคัญและรับผิดชอบกับงานที่ทำ ตลอดจนการเสียสละตัวเองเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของเหล่านักเรียนนักศึกษา เพราะอาจารย์ศิลป์ไม่เพียงเข้มงวดต่อการฝึกฝนศิลปะเท่านั้น แต่อาจารย์ยังให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความเป็นอยู่ของนักศึกษาด้วย เช่น เมื่อมีโอกาสอาจารย์มักจะให้เงินส่วนตัวเพื่อให้นักศึกษาในสมัยนั้นได้มีโอกาสรับชมภาพยนต์เพื่อเสพงานต่างประเทศ การที่อาจารย์ทนไม่ได้ที่จะต้องเห็นนักศึกษาที่มัวเอาแต่ทำงานจนกระทั่งร่างกายซูบเซียวแต่ก็ยังไม่มีเงินพอมาประทังชีวิตนอกเหนือจากซื้ออุปกรณ์เพื่อใช้รับจ้าง รวมถึงการที่อาจารย์มักจะชอบเปิดเพลงคลาสสิกและเพลงจากต่างประเทศให้ฟังเพื่อให้เข้าใจถึงสุนทรียศาสตร์มากกว่าขอบเขตเงื่อนไขของประเทศไทยในยุคนั้น สิ่งที่อาจารย์ศิลป์เป็นและปฏิบัติต่อคนอื่น ๆ นั้นสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนที่กลายเป็นแบบอย่างที่ผู้คนเคารพรัก และกลายเป็นรอยเท้าที่ชาวศิลปากรต่างเดินตาม

 

          แม้อาจารย์ศิลป์จะจากไปนานแล้วแต่ผลงานของอาจารย์ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ในสถานที่สำคัญซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของบริบทอันหลากหลายในเมืองไทย รวมถึงถ้อยคำสอนของอาจารย์ที่คอยเตือนใจทั้งในการใช้ชีวิตและการทำงานต่าง ๆ ที่ถูกถ่ายทอดมายังรุ่นสู่รุ่นผ่านลูกศิษย์ที่ได้ใช้ช่วงเวลาร่วมกับอาจารย์ โดยจะขอยกคำพูดบางส่วนของอาจารย์ที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านช่องทองของมหาวิทยาลัยบางส่วน ดังนี้

 

          “พรุ่งนี้ก็ช้าเสียแล้ว” คำพูดของอาจารย์ศิลป์จากการเล่าของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ประโยคนี้อาจไม่คุ้นหูเท่าไหร่หากเทียบกับคำว่า “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” คำกล่าวนี้ของอาจารย์ศิลป์นั้นมีไว้เพื่อเตือนใจให้ตระหนักถึงเวลาอันมีค่าในการใช้ชีวิต การตัดสินใจ และการทุ่มเทเวลาให้กับสิ่งที่มีคุณค่ากับชีวิตจริง ๆ 

 

          “พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อนแล้วจึงเรียนศิลปะ” อนันต์ ปาณินท์เป็นผู้ถ่ายทอดประโยคนี้ แม้ว่าอาจารย์จะไม่เคยอธิบายความหมายของมนุษย์แต่ในการสร้างศิลปะนั้นมีความหมายของการเป็นผู้ให้ ศิลปะสามารถมอบประสบการณ์กับมนุษย์ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความเอื้ออาทร ความชัง หรือความหวัง ศิลปะสามารถเป็นได้ทั้งด้านดีและด้านร้าย หากผู้สร้างสรรค์งานขาดความเป็นมนุษย์ ขาดความเห็นใจ และขาดความปราถนาดีแล้วศิลปะที่ก่อเกิดขึ้นมานั้นก็อาจเป็นยาพิษที่ทำร้ายผู้คนได้แทนที่จะเป็นยาวิเศษชโลมจิตใจ

 

          “ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว” หรือคำที่เราเคยได้ยินว่า “Ars Longa Vita Brevis” ผู้ที่เล่าถึงประโยคนี้ คือ อาจารย์ไพโรจน์ สโมสร ความหมายที่แท้จริงของประโยคนี้นั้นสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทุกขณะชีวิต ผู้คนเกิดมาใช้ชีวิตและได้ตายจากไป แต่สิ่งที่ได้พยายามปลุกปั้นทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังจะกลายเป็นตัวแทนของบุคคลเหล่านั้นที่จะอยู่คู่กับโลกนี้ไปอีกแสนนาน เฉกเช่นงานศิลปะทั้งหลาย ไม่ว่ารูปวาดโมนาลิซา, ผลงานการประพันธ์เพลงของเบโธเฟนอย่างซิมโฟนีหมายเลข 5, 4’ 33” ของจอห์น เคจ, โอดิสซีของโฮเมอร์ หรือแม้แต่ผลงานอย่างลิตเติลบอย ณ ฮิโรชิมาก็เป็นที่จดจำเช่นกัน นั่นหมายความว่าแม้กายจะสิ้นสลายแต่ชื่อเสียงและผลงานยังคงถูกบอกเล่าสืบสานขับขานต่อไป และสิ่งที่เล่าต่อ ๆ กันมานั้นเจ้าตัวอาจไม่มีโอกาสได้แก้ต่าง เรื่องดีและร้ายไม่อาจลบล้างกันไปได้ เช่น เรื่องราวของมหาตมะคานธีในฐานะผู้ปลดปล่อยอินเดียแต่ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้เหยียดสีผิว หรือในกรณีของทมยันตีที่มีผลงานเขียนมากมายแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าครั้งหนึ่งเคยออกมาพูดยุยงส่งเสริมให้ฆ่ากันผ่านวิทยุยานเกราะในช่วงการเมือง 6 ตุลาฯ อันร้อนระอุ นี่คือสิ่งที่ผู้คนจะจดจำไปช้านานและแต่ละยุคสมัยจะตัดสินสิ่งเหล่านี้แตกต่างกันออกไป ดังนั้นศิลปินและผู้คนควรคิดให้ดีว่าอยากมอบอะไรไว้ให้กับโลกนี้ การเปลี่ยนแปลง งานศิลปะ ความห่วงใย สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ครองใจใครทุกคนได้หมด แต่ถ้าหากสามารถมอบความหวัง หรือส่งต่อแนวคิดอุดมการณ์บางอย่างเพื่อคนรุ่นต่อ ๆ ไปได้แล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนมีค่าและควรค่าแก่การจดจำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนอันแสนขื่นขมหรือความหวังอันน่ารื่นรมย์ สุดแท้แล้วแต่ว่าอยากจะทิ้งอะไรไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง

 

          และเนื่องในโอกาสวันศิลป์ พีระศรีเวียนมาครบบรรจบอีกครั้งหนึ่ง จึงหวังใจว่าเรื่องราวและมุมมองเหล่านี้จะส่งต่อประกายไฟแห่งความหวังของสังคมและศิลปะไปสู่คนรุ่นต่อไปได้ การตั้งใจมุ่งมั่นสร้างงานศิลปะเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและสนับสนุน แต่ศิลปินหรือผู้สร้างงานนั้นก็อย่าได้หลงลืมว่าไม่มีสิ่งใดสำคัญไปมากกว่าชีวิต จงรักษาชีวิตไว้เพื่อสร้างงานและมอบความหวังให้กับผู้อื่นต่อไป

 

ทศธิป สูนย์สาทร
ผู้หลงใหลในเสียงดนตรี ความงาม และเทคโนโลยี 

--------------------

Ref:

logoline