svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

พส.2564 สนุก ตลก ก่อนเข้าถึงธรรม ปรัชญาขำขันฉบับโซเชียล

13 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เรื่องตลก ทำให้คนสนุก เป็นความบันเทิงที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้ง่ายที่สุด แม้เบื้องหลังหลังอาจไม่ตลกเลย เรื่องตลกบางเรื่องอิงแอบอาศัยปรัชญา ศาสนา พิธีกรรม หรือว่า การเทศนาธรรมก็ต้องการความบันเทิง ไม่มีพรมแดนในโลกของคอนเทนท์ พส. 2564 จึงต้องปรับตัวเพื่อเผยแผ่ธรรม?

          พศ.2564 ปีที่อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ ภายใต้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น บนพื้นที่หลากมิติอันประมาณการไม่ได้ในอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายโซเชียล ทุกคนต่างเป็นนักสร้างคอนเทนต์และสร้างมูลค่าจากคอนเทนต์ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพใด 'เสรีภาพของสื่อไร้การควบคุม' อยู่ในมือคุณ

 

          แต่ในในโลกล้ำยุคของสิทธิและเสรีภาพ ผู้มีฐานของสติและปัญญา ตั้งมั่น ดีแล้ว ย่อมรู้ว่าสิ่งใดควรไม่ควร แปลให้ฟังง่าย ๆ โต ๆ กันแล้วรู้ว่าอะไรควรไม่ควร ยิ่งวิญญูชนด้วยแล้ว ยิ่งไม่จำเป็นต้องให้ใครมาพร่ำบอก แต่ในอีกทางหนึ่งมนุษย์ก็ยังเป็นสัตว์ที่สอนได้ - เวไนยสัตว์

 

          *พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า – “เวไนยสัตว์ : สัตว์ผู้ควรแก่การแนะนำสั่งสอน, สัตว์ที่พึงแนะนำได้, สัตว์ที่พอดัดได้สอนได้.”

 

          มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ ตราบที่ยังไม่สิ้นชีวิตไปจากโลกใบนี้ก็ย่อมเกิดการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา สำคัญคือสิ่งที่ได้รู้นั้น นำไปสู่อะไร

 

          สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งหันหน้าเข้าหาธรรมอย่างจริงจังอาจคือ เมื่อพบความทุกข์ อาจเป็นความทุกข์ในข้อที่ตนเองไม่อาจเยียวยาได้ ส่วนความทุกข์นั้นช่างมีมากมายนัก บางครั้งก็ซับซ้อนซ่อนปมเกินกว่าใครจะเข้าใจ แต่รวม ๆ แล้วมันก็คือสิ่งที่ทำให้คน ๆ หนึ่งเกิดความไม่สบายใจในระดับ ไม่อาจทนได้ หรือทนได้ยาก

 

พส. ย่อมาจากอะไร?
          พส. คือ ตัวอักษรย่อของคำศัพท์ภาษาไทย ที่กลุ่มวัยรุ่นนิยมใช้บนอินเทอร์เน็ต เพื่อให้สามารถพิมพ์ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังประหยัดพื้นที่สเตตัส เมื่อต้องพิมพ์บนทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่จำกัดจำนวนตัวอักษร คำว่า พส. สามารถแปลได้หลายความหมายด้วยกัน ดังนี้

  • พส. แปลว่า พี่สาว ใช้เรียกคนที่มีอายุมากกว่า 
  • พส. แปลว่า เพื่อนสาว ใช้เรียกคนที่มีอายุเท่ากัน
  • พส. แปลว่า พวกสู (ในภาษาอีสาน หมายถึง พวกเธอ, พวกแก)
  • พส. แปลว่า พระสงฆ์  

(เครดิต: thairath.co.th)

 

แล้วความตลก สนุก ขำขัน ทำให้คนเข้าถึงธรรมได้จริงไหม?
          มีคำกล่าวว่า จิตใจที่เบิกบาน คือประตูเข้าสู่ธรรม 

 

          นอกจาก พส. ทั้งสองท่านที่กำลังโด่งดัง จริง ๆ แล้วก็ยังมี พส.ที่ใช้การเทศน์เน้นความตลกผ่านทางสื่อรูปแบบต่าง ๆ ทั้งโลกโซเชียลอีกตั้งหลายคน ตั้งแต่ พระพยอม กัลยาโณ พส.รุ่นแรก ๆ ที่โด่งดังจากการเผยแผ่ธรรมแนวตลกขำขัน สอดแทรกธรรมะผ่านเทปคาสเซ็ทเป็นชุด ๆ ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2520 จนสิ้นยุคคาสเซ็ท  กล่าวได้ว่าท่านคือพระสงฆ์หนุ่มที่หาญกล้าในทางของตัวเองโดยแท้ ว่ากันว่าเทปธรรมะของพระพยอมขายดิบขายดีทะลุหลักร้อยล้าน และผลงานของท่านก็เป็นที่ประจักษ์มาถึงปัจจุบันผ่านพื้นที่ธรรมที่คอยโอบอุ้มช่วยเหลือผู้คนอย่างวัดสวนแก้ว

 

          ผู้เขียนจำได้ว่าช่วงนั้นตามพื้นที่ต่างจังหวัดแทบไม่มีบ้านไหน หรืองานมงคลหรืออวมงคลใดไม่เปิดเทปพระพยอม แข่งกับเพลงลูกทุ่ง ยอดรัก สลักใจ สายัณห์ สัญญา หรือ เสรี รุ่งสว่าง เสียงของท่านคือเอกลักษณ์ แหบสููง ก้องดัง ฟังชัด แทรกซึมไปแทบทุกหลังคาเรือน ตอกย้ำว่า ไม่ว่าใครก็ชื่นชอบ ความบันเทิงใจ ไม่ว่าความบันเทิงใจนั้นจะถูกสอดแทรกอยู่ในเนื้อหาใด หรือเพื่อจุดประสงค์ใด เพราะเสียงหัวเราะคือสิ่งแสดงถึงความเบิกบาน คือพื้นฐานของความสุขใจ แม้ลึกลงไป มนุษย์คนหนึ่งอาจมีความทุกข์อีกหลากหลายชั้นหลายระดับให้รับมือ 

 

          แต่นาทีนี้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ พส.อินฟลูเอนเซอร์ในพุทธศักราช 2564 กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนทุกเพศทุกวัย และเกี่ยวข้องกับเรื่องสนุกขำขันเกินกว่าใครจะทัดทานได้

 

          ในโลกที่อะไร ๆ ก็ขึ้นอยู่กับ ยอดวิว ยอดไลค์ ยอดแชร์ มูลค่าในโลกโซเชียลที่ท้าทายผู้สร้างคอนเทนต์ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงวัดวาอาราม นอกจากการเทศน์แนวตลกขำขันจะกลับมาเฟื่องฟูผ่าน พระมหาทั้งสองท่าน คือพระมหาสมปองและพระมหาไพรวัลย์แห่งวัดสร้อยทอง ก็ยังมีพระที่ใช้แนวทางนี้อีกหลายท่านที่ใช้สื่อดังกล่าวในยุคนี้ทั้งช่องทางยูทูป หรือ การไลฟ์ผ่านเพจส่วนตัว เช่น หลวงพ่อบุญเสริมใน "เทศน์ตลก ฮาหนักมาก!! หลวงพ่อบุญเสริม เรื่องการครองเรือน การทำบุญ" มียอดวิวเกินกว่า 2,200,000 วิว หรืออีกอัน "พระโอฬาร ล้านวิว เทศนาธรรมคำเมือง ตลก ขำฮา น้ำตาไหล ธรรมบรรยาย" ยอดวิวเกินล้านเจ็ด ยังไม่นับ หลวงพี่กาโตะ หลวงพี่โดเรม่อน ที่แสดงธรรมผ่านเรื่องขำขันกันอย่างครื้นเครง ยอดวิวเกินล้าน! 

 

          ในที่นี้ผู้เขียนขอละ คำว่าศาสนาทิ้งไว้ข้างหลังแต่ขอมองต่างมุม เรียกกลุ่มคนที่สมัครใจเข้าไปอยู่ร่วมใน 'กฎระเบียบบนพื้นที่ใดที่หนึ่งในโลก' อย่างตั้งใจ เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายบางประการร่วมกัน ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะแบ่งแยกออกไปอีกกี่ซอย กี่บ้าน กี่ห้อง จะเรียกว่า สังกัด นิกาย ลัทธิ กลุ่ม หรืออะไรก็ตามแต่ แต่แปลว่า คนเหล่านี้ต้องยอมรับกฎระเบียบ หรือวินัยบางประการร่วมกันอย่างผู้มีปัญญา

 

          ในที่นี้เรากำลังพูดถึงพระวินัย หรือ พระวินัยปิฎก
พส.2564 สนุก ตลก ก่อนเข้าถึงธรรม ปรัชญาขำขันฉบับโซเชียล
          พระวินัยปิฎก ถือเป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก เป็นประมวลกฎข้อบังคับ เกี่ยวกับความประพฤติของเหล่าพระสงฆ์ ทั้งภิกษุและภิกษุณี ทว่า พระวินัยปิฎกนั้นมิได้มีแต่กฎข้อบังคับเท่านั้น หากยังมีเนื้อหาสะท้อนประวัติศาสตร์ของอินเดียในสมัยพุทธกาลด้วย รวมทั้ง ขนบธรรมเนียม ประเพณี และประวัติของบุคคลสำคัญบางคนในยุคนั้น เช่น ชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์ประจำพระองค์พระโคตมพุทธเจ้าและพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ อาศัยอยู่ในราชคฤห์ช่วง 600–500 ปีก่อนคริสตกาล) 
(เครดิต: th.wikipedia.org)

 

          การนำพระวินัยมาอ้างถึงกันบ่อย ๆ นั้น มีที่มาจากอะไร ทำไมต้องมีการบัญญัติพระวินัย ก็ในเมื่อ พุทธ ที่ปัญญาชนส่วนหนึ่งเข้าใจก็คือ การรักษาจิต การเดินทางของจิต เพื่อเข้าถึงแก่นแท้ของปัญญา หรือความจริงสูงสุด จะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ แต่ล้วนคือ หนทางสู่การดับทุกข์โดยแท้ ปัญหาคือ เราถกเถียงอะไร หรือ เพื่อสิ่งใดกัน ในเมื่อผู้มีปัญญาที่แท้ ระดับผู้ยอมตนเข้าสู่เส้นทางธรรม ที่สามารถยอมรับกฏระเบียบมากเกินกว่ามนุษย์ปกติทั่วไปได้นับร้อยข้อ ย่อมรู้แก่ใจดีกว่าปุถุชนทั่วไปอยู่แล้วว่า เส้นทางธรรมนั้น แท้แล้วนำเขาหรือนำท่านไปสู่อะไร ไม่มีเหตุผลใดจะสวยหรู เท่าจิตที่เท่าทันความทุกข์ หรือวิบากที่เกิดจากอารมณ์หรือความรู้สึกของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องใช้คำหรูหรา สร้างวาทกรรมมาจูงใจจนต้องหาคำแปลเพิ่ม

 

          มาโนช พุฒตาล นักวิจารณ์เพลง นักแต่งเพลง ดีเจ คนดนตรี เจ้าของค่ายเพลง หรือ พี่ซันของใครหลายคน เคยกล่าวไว้ว่า ในน้ำนมหนึ่งหยด มันมีสารอาหารอะไรอยู่บ้างนั้น มีวิธีการมากมายเหลือเกินที่จะค้นหา แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการแบบไหน ก็ล้วนแล้วแต่นำไปสู่คำตอบเดียวกัน
พส.2564 สนุก ตลก ก่อนเข้าถึงธรรม ปรัชญาขำขันฉบับโซเชียล
สาเหตุแห่งพระวินัยนั้นมีเหตุ มีผล มีที่มา มีที่ไป 
          เสฐียรพงษ์ วรรณปก เล่าไว้ในบทความตอนหนึ่งว่า "สมัยพุทธกาลไม่มีพระไตรปิฎก พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม-วินัย หรือพรหมจริย เท่านั้น ดังเวลาจะทรงส่งพระอรหันต์สาวก 60 รูป ไปประกาศพระพุทธศาสนา ตรัสส่งให้ไป “ประกาศพรหมจรรย์” อันงามในที่สุด (งามด้วยอธิศีลสิกขา) งามในท่ามกลาง (งามด้วยอธิจิตตสิกขา) และงามในที่สุด (งามด้วยอธิปัญญาสิกขา)"

 

          และเมื่อจวนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ตรัสว่า
 

“หลังจากเราตถาคตล่วงลับไป ธรรมและวินัยที่เราได้แสดงและบัญญัติแก่พวกเธอ จะเป็นศาสดาของพวกเธอแทนเรา”


          ท่านยังบอกว่า หากลองย้อนไปดูความเป็นมาของพระพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ และภายหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงดับขันธปรินิพพานแล้วมาจนถึงปัจจุบัน ก็จะพบว่าพระพุทธศาสนาได้เผชิญกับปัญหาในการปกครองสังฆมณฑลมาตลอด เริ่มตั้งแต่ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เมื่อใดก็ตามที่นักบวชในพุทธศาสนา อันได้แก่ภิกษุ ภิกษุณี และสามเณรกระทำสิ่งที่ไม่ควรแก่สมณสารูป และผู้คนในสังคมติหนิติเตียนก่อให้เกิดความเสื่อมศรัทธาต่อผู้พบเห็น เมื่อความทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงได้ทรงเรียกประชุมสงฆ์ และสอบถามผู้ที่กระทำ เมื่อผู้นั้นสารภาพว่าได้กระทำเช่นนั้นจริง ก็ทรงติเตียน และทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำเช่นนั้นอีก และหากผู้ใดกระทำก็ลงโทษโดยการปรับอาบัติแก่ผู้ล่วงละเมิด

 

          ภายหลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงดับขันธปรินิพพานแล้วจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีการกระทำผิดพระธรรมวินัยเกิดขึ้น ทางฝ่ายศาสนจักรโดยพระเถระผู้ใหญ่ และทางฝ่ายอาณาจักรโดยพระราชาผู้ครองแคว้น ซึ่งเกิดเหตุได้ร่วมกันทำสังคายนา ชำระพระธรรมวินัย และขจัดสิ่งแปลกปลอมออกไป

 

          พระไตรปิฎกบันทึกด้วยภาษามาคธี (แขนงหนึ่งของภาษาตระกูลปรากฤต) ต่อมาได้เปลี่ยนมาเรียกเป็นภาษาบาลี หรือตันติภาษา เมื่อจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เนื่องจากภาษาบาลีเป็นภาษาถิ่น (ภาษาตลาด) ไม่มีอักขระเป็นของตน ผู้ประสงค์จะเรียนพระไตรปิฎก จึงต้อง “ถอด” (transliterate) เป็นอักขระของตน เช่น เรียนที่ประเทศตะวันตก ก็ถอดเป็นอักษรโรมัน เรียนที่ประเทศไทยก็ถอดเป็นอักษรไทย

 

          ภาษาพระไตรปิฎก เชื่อว่าคือภาษามาคธี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาบาลีหรือตันติภาษา พระไตรปิฎกภาษาบาลีมีทั้งหมด 45 เล่ม บรรจุตัวอักษรประมาณ 24 ล้าน 3 แสนตัว หนา 22,379 หน้า
(เครดิต: matichonweekly.com)

พส.2564 สนุก ตลก ก่อนเข้าถึงธรรม ปรัชญาขำขันฉบับโซเชียล           ตามหลักฐานของพระเถระฝ่ายไทย ผู้รจนาหนังสือเรื่องสังคีติยวงศ์ บอกว่า ตั้งแต่อดีต เคยมีการสังคายนาหรือแก้ไขพระไตรปิฎก 9 ครั้งด้วยกัน รวมทั้งครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงกระทำในรัชสมัยของพระองค์ โดยการสอบทานแก้ไขพระไตรปิฎก แล้วจารึกลงใบลานเป็นหลักฐาน 

 

การทำสังคายนาทั้ง 9 ครั้งนี้ มีเนื้อหาสาระและขั้นตอนในการดำเนินการโดยย่อดังนี้:
          ครั้งที่ 1 กระทำกันที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพตใกล้กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน 3 เดือน

 

          มูลเหตุมาจาก พระมหากัสสปะ ปรารภถ้อยคำของภิกษุชื่อสุภัททะ ผู้บวชเมื่อแก่ เมื่อรู้ข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ภิกษุทั้งหลายร้องไห้เศร้าโศก ภิกษุชื่อสุภัททะ ห้ามมิให้ภิกษุเหล่านั้นมิให้เสียใจ เพราะว่าต่อไปนี้จะทำอะไรก็ตามใจ แล้วไม่ต้องมีใครมาชี้ว่า นี่ผิด นี่ถูก นี่ควร นี่ไม่ควรต่อไปอีก พระมหากัสสปะสลดใจในถ้อยคำของสุภัททะ จึงได้นำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมสงฆ์ แล้วเสนอให้มีการทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัย ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบ

 

          การทำสังคายนาในครั้งนี้ ท่านเจ้าอชาตศัตรู ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ โดยมีพระอรหันต์ประชุมกัน 500 รูป และใช้เวลา 7 เดือนจึงสำเร็จ

 

          ครั้งที่ 2 กระทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย

 

          มูลเหตุแห่งเกิดจากการที่พระยสกากัณฑกบุตรได้ปรารภข้อปฏิบัติย่อหย่อน 10 ประการ ทางพระวินัยของพวกภิกษุ วัชชีบุตร เช่น การถือว่าการเก็บเกลือไว้ในเขนง (เขาสัตว์) เพื่อเอาไว้ฉันได้ ตะวันชายเกินเที่ยงไปแล้ว 2 นิ้ว ควรฉันอาหารได้ ควรรับเงินและทองได้ เป็นต้น พระยสกากัณฑกบุตร จึงได้ชักชวนพระเถระต่างๆ ให้ช่วยกันวินิจฉัยแก้ความถือผิดในครั้งนี้

 

          การทำสังคายนาในครั้งนี้ มีพระสงฆ์ประชุมกัน 700 รูป แต่ในพระไตรปิฎกมิได้บอกว่าใช้เวลานานเท่าใด มีเพียงอรรถาบอกว่าใช้เวลา 8 เดือนจึงสำเร็จ

 

          ครั้งที่ 3 กระทำกันที่อโศการาม กรุงปาฏลีบุตร ประเทศอินเดีย

 

          มูลเหตุแห่งการทำสังคายนาครั้งนี้ก็คือ พวกเดียรถีย์หรือนักบวชศาสนาอื่นปลอมเข้ามาบวชแล้วแสดงลัทธิศาสนา และความเห็นของตนว่าเป็นพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ ได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ชำระสอบสวน กำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นจากพระธรรมวินัยแล้ว จึงทำสังคายนาพระธรรมวินัย

 

          สังคายนาในครั้งนี้มีพระสงฆ์เข้าร่วม 1,000 รูป ใช้เวลา 9 เดือนจึงสำเร็จ

 

          มาถึงครั้งที่ 8 ทำในประเทศไทย ประมาณปี พ.ศ. 2020 พระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ ได้อาราธนาพระเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกหลายร้อยรูป ให้ช่วยชำระพระไตรปิฎกที่วัดโพธาราม โดยใช้เวลา 1 ปีจึงสำเร็จ

 

          ครั้งที่ 9 ทำในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2331 พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งจักรีวงศ์ ได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ให้ชำระพระไตรปิฎก โดยมีพระสงฆ์ 218 รูปกับคฤหัสถ์ซึ่งเป็นบัณฑิตาจารย์ 32 คน ช่วยกันชำระพระไตรปิฎกใช้เวลา 5 เดือนจึงสำเร็จ 

 

          ถ้านำกระบวนการจัดทำสังคายนาพระธรรมวินัยทั้ง 9 ครั้งมาพิจารณา ก็จะเห็นได้ว่า ครั้งที่ 1, 2 และ 3 ซึ่งกระทำในอินเดีย มีมูลเหตุมาจากการที่ภิกษุกระทำการอันมิบังควร และล่วงละเมิดพระวินัย แต่จากครั้งที่ 4-9 เป็นการชำระแก้ไขและปรับปรุงพระไตรปิฎก โดยการอธิบายขยายความเพื่อให้พุทธวจนชัดเจน และง่ายต่อการเรียนรู้

 

          สรุปชัดๆ ก็คือ ที่มีการแก้ไขพระไตรปิฏกนั้น ก็เพราะมีสิ่งที่ผิดปกติเกิดขึ้น จนต้องเรียกประชุมคณะพระผู้ใหญ่ เพื่อกลับมาตีความเรื่องพระวินัยกันอีกครั้ง
พส.2564 สนุก ตลก ก่อนเข้าถึงธรรม ปรัชญาขำขันฉบับโซเชียล ความชัดเจนที่ถูกตีความแก้ไขได้อีกใน พศ.2564
          เสรีภาพในการควบคุมความประพฤติตนเอง การค้นหาคำตอบให้กับชีวิตด้วยตัวเอง ทำให้คนเจนมิลเลนเนียล เจนซี หรือเจนเอ็กซ์ในบางกลุ่ม รู้สึกว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องอยู่ในสังกัดลัทธิและกลุ่มก้อนทางความคิดใดก็ได้ หากยังไม่อินพอ หรือยังไม่ได้ศึกษาด้วยตนเองอย่างถ่องแท้

 

          เพราะคุณธรรม หรือศีลธรรมของมนุษย์คนหนึ่งไม่อาจถูกตีกรอบด้วยกฎข้อบังคับ หรือการกำหนดกรอบกติกามาให้ตั้งแต่เกิดอีกต่อไป เพียงเพราะเราเกิดมาในชุมชนของประเทศที่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ไม่อาจควบคุมหรือทำให้คนเป็นคนดีได้อีกต่อไป

 

          ทุกปรัชญาล้วนถูกรื้อ ถูกบด ถูกฉีกออกมาเป็นชิ้น ๆ เพื่อจะนำมาประกอบร่างใหม่ ไม่ว่าจะเรียกขานในนามใด เสรีภาพของการนับถือหรือไม่นับถือสิ่งนามธรรมใด ทำให้เส้นแบ่งในทุกพรมแดนพร่าเลือน คนรุ่นใหม่โนสน โนแคร์ เพราะพวกเขาไม่อาจบอกได้ว่า คนดีคืออะไร คนดีเป็นยังไง

 

          ท้ายที่สุด สามัญสำนึกกลายเป็นพื้นฐานสำคัญ เป็นตัวตัดสิน แต่ใช่ว่าทุกคนจะมี เราปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์ถูกอบรมเลี้ยงดูหล่อหลอมมาด้วยครอบครัว สังคม และสภาพแวดล้อมที่เขาอาศัยอยู่ ความเติบโตทางความคิดและจิตวิญาณนั้นมาจากการค้นพบธรรมด้วยตัวเอง จะเรียกว่าปรัชญา แนวคิด ความเชื่อ ศรัทธา หรือใดใดในทุกภาษา ทั้งหมดนั้นไม่ว่าจะมาจากการอ่าน การศึกษาหาความรู้ หรือความพยายามค้นหาคำตอบในเรื่องใดก็ตาม ล้วนนำไปสู่หนทางแห่งการดับทุกข์ เพื่อแสวงหาความสุขสงบภายในทั้งสิ้น

 

          เพราะมนุษย์ที่เข้าใจความสุข ความทุกข์ ความยากลำบาก ความพากเพียร ความมีวินัย หรือจะความใดก็ตาม มักพบคำตอบแท้จริงของชีวิต ไม่ว่าสังกัดของหลักการนั้นจะถูกเรียกขานด้วยนามใด คุณธรรมอันเป็นนามธรรมนั้น มีผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเท่านั้นที่ถ่องแท้อยู่แก่ใจ ใช่หรือไม่?

 

          กลุ่มคนไม่มีศาสนา กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก นับวันจะเพิ่มมากขึ้น เพียงค้นหาคำว่า "กลุ่มคนไม่มีศาสนา" ในอินเทอร์เน็ต ก็จะพบว่าคนไทยตั้งกระทู้ในพันธุ์ทิพย์ ถามถึงจุดเปลี่ยนของคนที่ปฎิเสธการนับถือศาสนาจำนวนมาก หลายความเห็นระบุว่า ศาสนาไม่จำเป็นกับชีวิต ทำให้คนงมงาย และยังมีกลุ่มคนไม่มีศาสนาจำนวนไม่น้อย ตั้งกลุ่มเฟชบุ๊กไว้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นับเป็นเทรนด์ใหม่ของกระแสโลก

 

          องค์กรพิว เปิดเผยผลสำรวจ จำนวนคนไม่นับถือศาสนาทั่วโลกมีมากถึง 1,100 ล้านคน มากที่สุด คือ ประเทศจีน 700 ล้านคน รองลงมาประเทศญี่ปุ่น 72 ล้านคน และสหรัฐอเมริกา 51 ล้านคน แม้ในไทยจะไม่มีสถิติที่แน่ชัด

 

          นักวิชาการศาสนวิทยา ระบุว่า กลุ่มคนไม่มีศาสนาทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ในช่วง100 ปีที่ผ่าน โดยเฉพาะประเทศคอมมิวนิสต์ ส่วนไทยเพิ่มถึงร้อยละ 20 สาเหตุเกิดจากประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้น และผิดหวังกับบุคคลทางศาสนา
(เครดิต:news.thaipbs.or.th)

 

          ความจริงแล้ววิถีหรือแนวคิดของโลกสมัยใหม่หรือหลังสมัยใหม่ก็ล้วนมาจากนักคิดหรือแนวปรัชญาอีกฟากฝั่งของมหาสมุทร ผู้ทำให้ยุคนี้เป็นยุคของความเฟื่องฟูของเสรีภาพ การตีความ รื้อสร้างชุดความคิดเก่าๆ ที่ตกทอดมาจากครั้งโบราณ จากที่มีคำถามในใจ แต่ไม่กล้าถาม ไม่กล้าส่งเสียง หรือ ไม่กล้าคิด ไม่กล้าถาม กลายมาเป็นกล้าถาม กล้าคิด กล้าหาคำตอบว่าแท้แล้ว เรามาอยู่ตรงนี้ หรือ เรามาถึงจุดนี้กันได้ยังไง ไล่เรียงมาตั้งแต่นักคิดรุ่นแม่-พ่อที่ไม่มีนักศึกษารุ่นใหม่คนใดไม่รู้จัก ตั้งแต่สายฝรั่งเศสที่มีนักคิด นักปรัชญายุคใหม่ ในกระแสโครงสร้างนิยม จนไปถึงการรื้อสร้าง (deconstructionism) เช่น โคลด เลวี-สโทรสส์ (Claude Lévi-Strauss) รอล็อง บาร์ต (Roland Barthes) และ ฌาคส์ แดริดา (Jacques Derrida) ไปจนถึงนักคิดสายสตรีนิยมที่ส่งอิทธิพลถึงการต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมต่อมาเช่น ซีมอน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) หรือนักคิดที่สนใจเรื่องทุนนิยม ชนชั้น และการกดขี่อย่าง หลุยส์ อัลธูแซร์ (Louis Althusser) และ ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) หรือจะตัวพ่อของญาณวิทยาแบบหลังโครงสร้างนิยมอย่าง มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) "ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ของระบบความคิด" (Professor of the History of Systems of Thought) แม้เจ้าตัวจะไม่อยากรับตำแหน่งนี้เลยก็ตาม

 

          เหล่านี้คือ คำตอบว่า 'วิธีการ' ที่นำไปสู่ คำตอบของมนุษย์แต่ละคนนั้น มีหลายนามสกุล  มีหลากหลายเส้นทาง หลายนามเรียกขานนัก มีทั้งทางตรง ทางอ้อม ทางเบี่ยง และเขาวงกต และไม่ว่าใครจะเดินทางไกลเพียงใด เพื่อหาคำตอบนั้นของตัวเอง แต่ทางสายเอกนั้นมีอยู่สายเดียว เที่ยงแท้ แน่นอน และยังอยู่ที่เดิมเสมอ อยู่ที่ใครจะค้นพบ เพราะมันไม่อาจมองเห็นด้วยสายตาปกติ หรือใจที่พร่ามัว  และเมื่อเรายังเมื่อไม่พบก็จงเดินหากันต่อไป บนวิถีทางของเสรีภาพทางความเชื่อ ความรู้ และปัญญาของตัวเอง 

 

          สุดท้ายแล้วความ ตลก เฮฮา ขำขันนั้นจะนำไปสู่อะไร เชื่อว่าเวไนยสัตว์ทุกท่านย่อมรู้อยู่แก่ใจ โดยส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่า ความตลกเฮฮานั้นเป็นแค่เปลือกหรือฉากเบื้องหน้าเท่านั้นเอง แท้แล้วสิ่งที่อยู่ลึกลงไปใต้ภูเขายอดวิวของเสียงหัวเราะนั้นต่างหากที่สำคัญที่สุด จริงแท้ที่สุด และไม่อาจปฏิเสธได้ ไม่ว่าจะเบี่ยงเบนไปในทิศทางใด คำตอบไม่ได้อยู่ในสายลม แต่อยู่ที่ไหนนั้น เชื่อว่าปัจเจกชนย่อมรู้ดี

 

ศิวดี อักษรนำ
 

logoline