svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ตัวเลขที่กลางหลัง ความสำคัญที่มากกว่าเรื่องเล่าและตำนาน

06 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มาย้อนไปดูเรื่องราวและเรื่องเล่าของหมายเลขเสื้อ อีกหนึ่งองค์ประกอบในกีฬาฟุตบอล ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องของมูลค่า แต่มีคุณค่าแฝงอยู่ด้วย

Highlights

  • สถิติที่เสื้อของ คริสเตียโน โรนัลโด สร้างรายได้มากเกือบ 2 พันล้านบาท ใน 12 ชั่วโมง บ่งบอกว่ามูลค่า และคุณค่าของเบอร์เสื้อมีพลังขนาดไหน
  • หมายเลขเสื้อในกีฬาฟุตบอลมีวิวัฒนาการมาตลอด จากเรียงตามตำแหน่ง เปลี่ยนผ่านสู่อัตลักษณ์ของนักเตะแต่ละคน
  • การสร้าง storytelling ให้กับที่มาของการเลือกเบอร์เสื้อนอกขนบ บางครั้งก็สร้างความขลัง แต่ในบางราย ก็อาจเป็นความขำได้เช่นกัน

 

          การกลับมาสวมเสื้อหมายเลข 7 ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อีกครั้ง สำหรับ คริสเตียโน โรนัลโด้ น่าจะถือเป็นอีกไฮไลท์สำคัญสำหรับวงการฟุตบอลอังกฤษในฤดูกาลนี้

 

          และหลังมีข่าวว่า เอดินสัน คาวานี ยอมตกลงยกเสื้อหมายเลข 7 ที่ลงทะเบียนในฤดูกาลนี้ไปแล้ว ให้กับ โรนัลโด้

 

          ก็มีรายงานว่าสโมสรทำรายได้จากการขายเสื้อหมายเลข 7 ของ CR7 ไปแล้วกว่า 60 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,950 ล้านบาท) ในเวลาแค่ 12 ชั่วโมง เป็นสถิติใหม่ของการเปิดตัวเสื้อในพรีเมียร์ลีก

 

          และแสดงให้เห็นว่าหมายเลขบนเสื้อนักกีฬานั้น มีทั้ง "มูลค่า" และ "คุณค่า" มากขนาดไหน นับแต่ถูกคิดค้นขึ้น เมื่อกว่าหนึ่งร้อยปีมาแล้ว

 

ต้นกำเนิดของหมายเลขเสื้อ
(เบสบอลคือกีฬาประเภทแรก ๆ ที่นำระบบหมายเลขเสื้อมาใช้ - ภาพจาก vintageballs.com)  
          ไม่มีการระบุไว้ชัดเจน ว่ากีฬาประเภทไหนที่นำไอเดียหมายเลขเสื้อมาใช้เป็นชนิดแรก ซึ่งจากหลักฐาน อาจเป็นได้ทั้ง เบสบอล, ฮอคกี้น้ำแข็ง หรือออสเตรเลียนฟุตบอล

 

          ในปี 1907 มีบันทึกไว้ว่าทีมเบสบอล เรดดิง เรด โรสเซส ในแอตแลนติกลีก ใช้หมายเลขเสื้อเพื่อให้ผู้ชมในสนาม ระบุได้ว่าใครเป็นใครในทีม

 

          ในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็มี ลีกฮอคกี้น้ำแข็งในสหรัฐฯ ซึ่งประกาศให้ผู้เล่นสวมสายรัดแขนที่ระบุหมายเลข ในฤดูกาล 1911-12 และในปีเดียวกันนั้น ออสเตรเลียนฟุตบอลก็ริเริ่มให้ผู้เล่นสวมเสื้อที่หมายเลขด้านหลัง ในเกมระดับท้องถิ่น

 

          ส่วนกีฬาฟุตบอลนั้น ในยุคบุกเบิก ยังไม่มีการกำหนดหมายเลขเสื้อ โดยจะระบุผู้เล่นตามตำแหน่งในสนาม จากระบบพื้นฐาน 2-3-5 คือ ฟูลแบ็กสองคน ฮาล์ฟแบ็กสามคน และกองหน้าห้าคน

 

          ด้วยความที่ไม่มีผู้เล่นสำรอง การจะระบุว่าใครเป็นใครในสนาม จึงไม่ใช่เรื่องยาก

 

          กระทั่งในเดือนสิงหาคม ปี 1928 ก็มีเกมระดับสโมสรนัดแรก ที่ผู้เล่นในสนามมีหมายเลขประจำตัว เมื่อ อาร์เซน่อล พบกับ เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ และ เชลซี พบ สวอนซี ทาวน์

 

          ส่วนในระดับชาติ ทีมชาติอังกฤษมีหมายเลขประจำตัวผู้เล่นเป็นครั้งแรกในปี 1937 ในนัดชนะ นอร์เวย์ ที่ออสโล 6-0

 

ยุคของการจัดระบบ
(การระบุหมายเลขเสื้อตามตำแหน่งในยุคบุกเบิกของกีฬาฟุตบอล – ภาพจาก The Economist)

          กระทั่งในปี 1939 คณะกรรมการฟุตบอลลีกในอังกฤษ ก็มีมติให้ทุกสโมสรต้องติดหมายเลขบนเสื้อผู้เล่นที่ลงสนาม เพื่อระบุตัวตน

 

          โดยในช่วงแรก ก็ยังมีแค่หมายเลข 1-11 เท่านั้น โดยจะเรียงลำดับตามระบบ 2-3-5 ไล่ไปตามตำแหน่ง

 

          คือผู้รักษาประตูต้องสวมหมายเลข 1 ตามด้วยแบ็กขวาหมายเลข 2 และไล่ไปเรื่อย ๆ จากขวาไปซ้าย และไปสุดที่ตำแหน่งปีกซ้าย ในหมายเลข 11 ก่อนจะเพิ่มหมายเลข 12 สำหรับระบบตัวสำรอง ในปี 1965

 

          จนเมื่อมีการเพิ่มจำนวนตัวสำรองขึ้นในปี 1987 แทนที่จะใช้หมายเลข 13 ทางฟุตบอลลีก ก็มีคำสั่งให้ใช้เลข 14 สำหรับตัวสำรองคนที่สองแทน เพราะหมายเลข 13 ถูกมองว่าเป็นเลขของโชคร้าย

 

          แต่ในทัวร์นาเมนต์ระดับชาตินั้น ฟีฟ่า บังคับให้มีการใช้หมายเลข 13 ในบัญชีรายชื่อผู้เล่น มาตั้งแต่ปี 1954 แล้ว

 

          จนเมื่อระบบการเล่นฟุตบอลพัฒนาไปตามยุค มาเป็น 4-4-2 ที่เป็นพื้นฐานในปัจจุบัน การโยงหมายเลขกับตำแหน่งก็ไม่ถูกนำมาใช้อีกต่อไป

 

เมื่อตัวตนสำคัญกว่าตำแหน่ง
(อาร์เจนตินา ชุดแชมป์โลก 1978 ตัดปัญหาแย่งเบอร์เสื้อกันด้วยวิธีเรียงตามตัวอักษร)

          ในปี 1993 ระบบหมายเลขแบบเดิม ก็ถูกรื้ออีกครั้งโดยพรีเมียร์ลีก

 

          ที่คราวนี้ระบุให้ผู้เล่นในสโมสรทุกคนต้องมีหมายเลขประจำตัว และใช้เลขดังกล่าวจนจบฤดูกาล โดยไม่กำหนดตำแหน่งในสนาม เพื่อให้ง่ายต่อการระบุตัวตน และกลายเป็นแม่แบบให้ลีกอื่น ๆ ในโลกปฏิบัติตาม

 

          และการระบุตัวตนด้วยหมายเลขนี่เอง ที่ทำให้นักเตะระดับซูเปอร์สตาร์หลายคน นำอัตลักษณ์ตรงนี้ไปใช้ในการตลาดได้

 

          ตั้งแต่ยุคของ เดวิด เบ็คแฮม จนถึง คริสเตียโน โรนัลโด้ ที่ยึดเบอร์ 7 มาตลอดนับแต่ได้รับมอบจาก เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และมีแบรนด์ CR7 ของตัวเองในปัจจุบัน

 

          และการที่ไม่มีกำหนดตายตัวว่าผู้เล่นตำแหน่งไหนต้องใส่เบอร์อะไรนี่เอง ที่ทำให้เราได้เห็นตัวอย่างของการเลือกหมายเลขเสื้อที่ต่างไปจากขนบเดิม ๆ

 

          เช่นในทีมอาร์เจนตินา ชุดแชมป์โลก 1978 นั้น คนที่สวมหมายเลข 1 คือ นอร์แบร์โต อลอนโซ่ ในตำแหน่งกองกลาง แทนที่จะเป็น อูบัลโด ฟิโลล ผู้รักษาประตู

 

          อลอนโซ่ ไม่ได้อยากสวมเลขนี้ แต่ เซซาร์ หลุยส์ เมนอตติ เฮดโค้ชใช้วิธีเรียงหมายเลขผู้เล่น ตามลำดับตัวอักษร A-Z เพื่อตัดปัญหาการแย่งหมายเลขเสื้อระหว่างผู้เล่น

 

          แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่านี่เป็นความบังเอิญหรือตั้งใจของ เมนอตติ เพราะสุดท้าย หมายเลข 10 ที่สงวนไว้สำหรับซูเปอร์สตาร์ ตกเป็นของ มาริโอ เคมเปส ดาวยิงประจำทีม ซึ่งนามสกุลขึ้นต้นด้วยตัว K และอยู่ในลำดับสิบพอดี

 

ที่มาของเบอร์แปลก
(เบอร์ 88 ที่ทำให้ บุฟฟ่อน ถูกมองว่าเป็นพวกนีโอนาซี)

          เมื่ออัตลักษณ์ของนักฟุตบอลเริ่มมีความสำคัญ การระบุที่มาของหมายเลขเสื้อ ในลักษณะ storytelling ก็ถูกนำใช้ เพื่อสร้าง "ความขลัง" ให้กับเบอร์อื่น ๆ นอกเหนือจากธรรมเนียมนิยม

 

          เช่นในกรณีของ เบ็คแฮม ซึ่งปกติสวมหมายเลข 7 ก็เปลี่ยนไปใช้หมายเลข 23 แทน เมื่อย้ายไป เรอัล มาดริด

 

          เพราะในยุคนั้น เจ้าของหมายเลข 7 ของราชันชุดขาว คือ ราอูล กอนซาเลซ กัปตันทีม ส่วนที่มาของหมายเลข 23 คือเลขของ ไมเคิล จอร์แดน ตำนานบาสเกตบอลแห่งชิคาโก บูลส์ นักกีฬาที่ เบ็คแฮม ชื่นชอบ และก็ทำให้หมายเลข 23 นี้ ได้รับความนิยมจากนักฟุตบอลคนอื่น ๆ มากขึ้นด้วย

 

          บิเซนเต้ ลิซาราซู แบ็กซ้ายทีมชาติฝรั่งเศส เลือกสวมเสื้อหมายเลข 69 ตอนย้ายจาก โอลิมปิก มาร์กเซย กลับไปเล่นให้ บาเยิร์น อีกครั้งในปี 2004 แทนที่จะเป็นเบอร์ 3 ที่เคยใส่ เจ้าตัวให้เหตุผลว่าเพราะ 1969 คือปีที่เขาเกิด ซึ่งก็ตรงกับส่วนสูง 169 ซม. พอดี

 

          ฮิชาม เซรูอาลี คือผู้เล่นคนแรก และคนเดียวในลีกสกอตแลนด์ ซึ่งสวมเสื้อหมายเลข 0 ในปี 2000 ตามตัวสะกดของนามสกุลที่มีคำว่า zero

 

          แต่ เซรูอาลี ก็ได้สวมหมายเลขนี้เพียงปีเดียว ก่อนจะถูกสมาคมฟุตบอลสกอตแลนด์สั่งให้ยกเลิก

 

          บางครั้ง เหตุผลสนับสนุนในการเลือกเสื้อ ก็ไม่ได้เวิร์คเสมอไป

 

          ในปี 2000 จานลุยจิ บุฟฟอน เคยเลือกใส่หมายเลข 88 ในการเล่นให้ปาร์มา

 

          แต่กลับถูกวิจารณ์หนัก เพราะเชื่อกันว่าตัวเลขนี้เป็นสัญลักษณ์ของนีโอนาซี

 

          (H คือตัวอักษรที่ 8 ในภาษาอังกฤษ และ 88 ถูกมองว่าหมายถึง HH หรือ Heil Hitler)

 

          บุฟฟ่อน อธิบายจากมุมของตัวเองว่า 88 คือลูกบอล 4 ลูก ซึ่ง 'balls' หมายถึงความแข็งแกร่งและมุ่งมั่น

 

          สุดท้าย เมื่อย้ายไปเล่นให้ ยูเวนตุส ในฤดูกาลถัดมา บุฟฟ่อน ก็ต้องล้มเลิกความคิดนี้ และเปลี่ยนไปสวมหมายเลข 77 แทน

 

หนึ่งบวกแปด
(คนนอกอาจมองเป็นเรื่องตลก แต่สำหรับแฟนอินเตอร์ ซาโมราโน กับหมายเลข 1+8 คือตำนาน)           แต่ทั้งหมดที่เล่ามา ไม่น่าจะมีใครแปลกไปกว่า อิวาน ซาโมราโน ศูนย์หน้าหมายเลข 1+8 ของ อินเตอร์ อีกแล้ว

 

          ซาโมราโน คือเจ้าของสถิติยิงประตูมากสุดตลอดกาลของทีมชาติชิลี และเป็นหนึ่งในนักเตะขวัญใจของแฟนบอลทีมงูใหญ่ยุค 90 จากความขยันและทุ่มเท

 

          ในฤดูกาล 1997/98 ซาโมราโน สวมเสื้อหมายเลข 9 และทำผลงานร่วมกับ โรนัลโด ในเสื้อหมายเลข 10 อย่างยอดเยี่ยม 

 

          จนเมื่อ โรแบร์โต บาจโจ ย้ายมาร่วมทีมในปี 1998 และยืนกรานต้องการได้เสื้อหมายเลข 10 ที่ศูนย์หน้าทีมชาติบราซิลใส่

 

          โรนัลโด ไม่ปฏิเสธคำขอของบาจโจ

 

          แต่คนที่น่าชื่นชมไม่แพ้กัน คือ ซาโมราโน เมื่อเขาเลือกสละเสื้อหมายเลข 9 ที่เป็นของตัวเองให้ โรนัลโด เพื่อชดเชยการเสียหมายเลข 10 ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของยอดนักเตะไป

 

          ทางออกของ ซาโมราโน ที่ยังต้องการหมายเลขที่คงอัตลักษณ์ของตำแหน่งศูนย์หน้าไว้ คือหมายเลข 18 และขอให้คิทเมเนเจอร์ช่วยติดเครื่องหมายบวกไว้ตรงกลาง ระหว่างเลข 1 และ 8

 

          จนเป็นที่มาของศูนย์หน้าหมายเลข 1+8 ซึ่งเจ้าตัวเลือกใช้ในฐานะผู้เล่นอินเตอร์ตลอด กระทั่งย้ายไปเล่นในเม็กซิโกกับ คลับ อเมริกา ในเดือนธันวาคม 2000

 

          ปิดตำนานหมายเลขที่ยังไม่มีใครเลียนแบบอีกมาจนถึงปัจจุบัน
 

ชาตรี ตันสถาวีรัฐ

--------------------

source:

 

logoline