svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

รู้จัก "กุน ขแมร์" มวยไทยเวอร์ชั่นกัมพูชา กับดราม่า ใครกันแน่คือของจริง

06 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แนะนำทำความรู้จักกับ "กุน ขแมร์" ศิลปะการต่อสู้ของกัมพูชาที่จะมีการจัดแข่งขันใน "ซีเกมส์ 2023" ท่ามกลางการทักท้วงจากฝั่งไทยอย่างหนัก จนล่าสุดลุกลามกลายเป็นดราม่าระหว่างประเทศ ว่าใครกันแน่คือต้นกำเนิด และใครกันแน่ที่ก๊อป

จากกรณีที่ฝ่ายจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีกำหนดแข่งกันระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566 ประกาศว่าจะไม่มีการแข่งขันกีฬา "มวย" ในการแข่งขันครั้งนี้ แต่จะจัดแข่งกีฬา "กุน ขแมร์" แทน โดยอ้างว่าเป็นศิลปะการป้องกันตัวของชาติเจ้าภาพ จนทำให้สมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยตอบโต้ด้วยการประกาศไม่ส่งนักกีฬาลงแข่งขัน เช่นเดียวกับสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ (อีฟม่า) ที่เผยว่าจะลงโทษทุกชาติที่ส่งนักกีฬาแข่ง ด้วยการไม่ให้ลงแข่งขันในอีเวนท์ที่ อีฟม่า ควบคุมดูแลอยู่ทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า "กุน ขแมร์" คือกีฬาแบบใด และมีความเหมือนหรือแตกต่างจาก "มวยไทย" ที่เรารู้จักคุ้นเคยในปัจจุบันนี้อย่างไร

รู้จัก "กุน ขแมร์" มวยไทยเวอร์ชั่นกัมพูชา กับดราม่า ใครกันแน่คือของจริง
"กุน ขแมร์" กับประวัติศาสตร์ที่ชาวเขมรเชื่อว่ามีมานานนับพันปี
"กุน ขแมร์" เป็นกีฬาศิลปะการต่อสู้พื้นบ้านของประเทศกัมพูชา มีชื่ออย่างเป็นทางการคือ "Kbach Kun Pradal Khamm" หมายถึง "การต่อสู้อย่างอิสระ" นับเป็นศิลปะการต่อสู้ท่ายืนโดยมีเป้าหมายเพื่อน็อกคู่ต่อสู้ บีบให้ยอมแพ้ หรือการชนะคะแนน

"กุน ขแมร์" ใช้อวัยวะ 4 อย่างเป็นอาวุธต่อสู้ ได้แก่ หมัด, เท้า, เข่า และศอก รวมถึงใช้การเข้ากอดเพื่อโจมตีระยะประชิด โดยนักสู้ชาวกัมพูชามักจะใช้ศอกโจมตีมากกว่าศิลปะการต่อสู้อื่นๆ ในภูมิภาคนี้ 

ประวัติศาสตร์ของ "กุน ขแมร์" มีมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรขอม เป็นการต่อสู้ที่ใช้ในกองทหารของอาณาจักร มีรากฐานมาจากการต่อสู้แบบประชิดตัว จากหลักฐานในภาพนูนต่ำและนูนสูงตามปราสาทหินต่างๆแสดงให้เห็นว่ามีรูปแบบคล้ายการต่อสู้ชนิดนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 
รู้จัก "กุน ขแมร์" มวยไทยเวอร์ชั่นกัมพูชา กับดราม่า ใครกันแน่คือของจริง

ในช่วงเวลานั้น อาณาจักรขอมหรือเขมรได้ควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ กินพื้นที่ทั้งในกัมพูชา ลาว ไทย และบางส่วนของเวียดนาม ส่งผลให้กัมพูชามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยและลาวอย่างมาก สิ่งนี้ทำให้ชาวเขมรยืนยันว่ารูปแบบการชกมวยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดเริ่มต้นจากชาวมอญและเขมรในยุคแรกๆ ซึ่งรวมถึง "มวยไทย" ที่ชาวกัมพูชาเชื่อว่าเป็นการต่อสู้ที่มีรากฐานมาจาก กุน ขแมร์ ด้วย

กุน ขแมร์ แบบดั้งเดิม จะเป็นการต่อสู้ในหลุมดิน มือถูกพันด้วยเชือก หรือที่เรียกว่า "คาดเชือก" บางครั้งมีการนำเปลือกหอยมาพันรอบข้อนิ้วเพื่อเพิ่มการบาดเจ็บให้คู่ต่อสู้ และการต่อสู้กันจนถึงแก่ความตายก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับการต่อสู้แบบนี้

อย่างไรก็ตามในช่วงยุคอาณานิคม ศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ถูกเจ้าอาณานิคมจากยุโรปมองว่าเป็นสิ่งโหดร้ายและไร้อารยธรรม ส่งผลให้ชาวฝรั่งเศสพยายามเปลี่ยนศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ให้กลายเป็นกีฬาโดยเพิ่มกติกาบางอย่างเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการจับเวลา แบ่งการแข่งขันเป็นยก การสู้ในเวทีมวย และให้ใช้นวมชกมวยแบบตะวันตกเพื่อลดอาการบาดเจ็บ

ภายหลังยุคอาณานิคมและความวุ่นวายในสงครามเวียดนาม รวมถึงหลังจากยุคที่ เขมรแดง ปกครองประเทศ ทางกัมพูชาได้พยายามที่จะฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขากลับคืนมาอีกครั้ง และ "กุน ขแมร์" ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาด้วย โดยเริ่มมีโรงยิมเพื่อฝึกฝนอย่างเป็นจริงเป็นจัง พัฒนามาสู่การมีนักสู้ต่างชาติเข้ามาฝึก รวมถึงการจัดการแข่งขันทุกๆสัปดาห์ ขยายไปสู่การไปแข่งขันในประเทศต่างๆทั่วโลก

รู้จัก "กุน ขแมร์" มวยไทยเวอร์ชั่นกัมพูชา กับดราม่า ใครกันแน่คือของจริง

ปัจจุบัน กุน ขแมร์ ควบคุมโดยสหพันธ์มวยกัมพูชา (CBF) ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1961 โดยผู้ตัดสินและนักมวยทุกคนต้องมีการขึ้นทะเบียนอนุญาตจาก CBF สถานีโทรทัศน์ที่จัดการแข่งขันมวยก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของ CBF (แต่ละสถานีมีหน้าที่จัดนักมวย ผู้ฝึกสอน เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และนักดนตรี ส่วน CBF จัดหาผู้ตัดสินการแข่งขัน และผู้รักษาเวลา) 

ความพยายามในการรวมศิลปะการต่อสู้ของภูมิภาคเป็นหนึ่งเดียว
จากการที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศิลปะการต่อสู้แบบมวยคล้ายกัน ในการประชุมอาเซียนเมื่อปี พ.ศ. 2538 กัมพูชาเสนอให้รูปแบบมวยที่คนไทยเรียกว่า "มวยไทย" เปลี่ยนชื่อเป็น "มวยสุวรรณภูมิ" หรือ "มวยซี" เพื่อรวมรูปแบบมวยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกันภายใต้คำศัพท์สากลและเพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกชื่อผิดทางการเมือง

อย่างไรก็ตามประเทศไทยคัดค้านแนวคิดนี้ โดยระบุว่าแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสไตล์การชกมวยของตัวเอง และประเทศไทยมีหน้าที่รับผิดชอบในการทำให้สไตล์การชกมวยเป็นกีฬาสากล เมื่อกีฬานี้เปิดตัวครั้งแรกในซีเกมส์ พ.ศ. 2548 กัมพูชาไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันมวยไทยเพื่อประท้วงชื่อที่ใช้เรียกกีฬานี้ สุดท้ายแล้วการแข่งขันมวยไทยหรือคิกบ็อกซิ่งในกีฬาซีเกมส์จะถูกเรียกว่า "มวย" เพียงชื่อเดียว
รู้จัก "กุน ขแมร์" มวยไทยเวอร์ชั่นกัมพูชา กับดราม่า ใครกันแน่คือของจริง
รูปแบบการแข่งขัน "กุน ขแมร์" ในปัจจุบัน
จะชกกันทั้งสิ้น 5 ยก ยกละ 3 นาที และจัดขึ้นที่เวทีมวยขนาด 20x20 ฟุต จะมีการพัก 1.30-2.00 นาทีระหว่างยก ซึ่งก่อนเริ่มแข่งขันแต่ละคู่ จะมีพิธีกรรมสวดมนต์และไหว้ครูตามธรรมเนียมของชาวเขมรโบราณ โดยมี 17 รูปแบบ มีพื้นฐานมาจากตัวละครหลักของเรื่อง รามเกียรติ์ และระหว่างการแข่งขัน จะมีการบรรเลงดนตรีพื้นเมืองของกัมพูชาด้วย

กฎโดยทั่วไป

  • ห้ามชกเมื่อคู่ต่อสู้ล้มลงกับพื้น
  • ห้ามกัด
  • ไม่อนุญาตให้ทำร้ายด้านหลังของฝ่ายตรงข้าม
  • ไม่สามารถจับเชือกได้
  • ห้ามต่อยที่จุดยุทธศาสตร์ของนักมวย
  • การน็อกเอาต์เกิดขึ้นเมื่อนักมวยล้มลงกับพื้นและไม่สามารถชกต่อไปได้หลังจากกรรมการนับ 10 วินาที หรือกรรมการอาจยุติการชกได้ทันทีอีกมีฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในสภาพที่จะสู้ได้อีกต่อไป  หากไม่มีฝ่ายใดน็อกกันได้เมื่อครบ 5 ยก จะตัดสินด้วยคะแนน


อาจกล่าวโดยสรุปคือ กฎกติกาของการแข่งขันมวยไทยและ กุน ขแมร์ แทบจะเหมือนกันทุกประการ สิ่งที่แตกต่างระหว่างกีฬาต่อสู้ทั้ง 2 แบบนี้คือสไตล์การต่อสู้ของนักมวยเท่านั้น โดยมวยไทยปัจจุบันจะเน้นการกอดปล้ำและใช้หมัด เข่า เตะ เป็นหลัก แต่นักมวย กุน ขแมร์ จะเน้นการต่อสู้ระยะประชิดและใช้ศอกเป็นอาวุธมากกว่า

logoline