svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"กากแคดเมียม" วัตถุสุดอันตราย แต่ดันมีคนอยากได้ รู้ไหมเขาเอาใช้ทำอะไร

08 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สงสัยกันไหม ทำมีคนอยากได้ "กากแคดเมียม" วัตถุสุดอันตรายต่อสุขภาพ ถึงขนาดยอมขุดจากหลุมฝังออกมาขาย รู้ไหมนำใช้ไปทำอะไรได้ และล่าสุดตามเจอกลับมาเท่าไรแล้ว

เป็นเรื่องราวที่สังคมต้องร่วมกันติดตาม กรณีตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมโรงงาน และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เข้าตรวจสอบและยึดอายัด "กากแคดเมียม" ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร 

หลังได้รับการชี้เบาะแสจากกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎรว่า มีผู้ร้องเรียนว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ตาก ขาย "กากแร่สังกะสี" และ "กากแร่แคดเมียม" ที่ฝังกลบใน จ.ตาก ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร นับหมื่นตัน ก่อนจะมีการขยายผลพบ "กากแคดเมียม" ล็อตดังกล่าว บางส่วนถูกส่งมาที่ จ.ชลบุรี เพื่อนำไปขายต่อ โดยมีนายทุนจีนอยู่เบื้องหลัง

ทำให้ขณะนี้ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งติดตามตรวจสอบ เพื่อนำ "กากแคดเมียม" เหล่านี้ กลับไปฝังกลบในที่ที่ควรจะอยู่ตามเดิม
"กากแคดเมียม" วัตถุสุดอันตราย แต่ดันมีคนอยากได้ รู้ไหมเขาเอาใช้ทำอะไร  

พร้อมทั้งมีการแจ้งเตือนประชาชน ถึงอันตรายจาก "กากแคดเมียม" โดยเฉพาะด้านสุขภาพ กับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือสัมผัสว่า อาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย เป็นต้นเหตุของ "โรคอิไตอิไต" หรืออาจถึงขั้นทำให้ "เสียชีวิต" ได้ 

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยสงสัยว่า ในเมื่อ "กากแคดเมียม" มีความอันตรายมาก แล้วทำไมถึงยังมีคนอยากได้ และต้องการนำไปวัตถุอันตรายเช่นนี้ไปใช้ประโยชน์อะไร 

Nation STORY จึงค้นหาข้อมูลมาให้ดูกันว่า "กากแคดเมียม" สุดอันตรายที่กลบฝัง ยังสามารถนำไปประโยชน์อะไรได้ จึงขนาดมีการขุดออกมาขาย และตอนนี้ยังเหลือ "กากแคดเมียม" ที่ต้องตามอีกจำนวนเท่าใด....
"กากแคดเมียม" วัตถุสุดอันตราย แต่ดันมีคนอยากได้ รู้ไหมเขาเอาใช้ทำอะไร  
 

"ทำไมต้องขุดกากแคดเมียม ขึ้นมาขาย? "

สำหรับการใช้ประโยชน์จาก "กากแคดเมียม" นั้น รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลระบุว่า 

คำถามคาใจหลาย ๆ คน รวมทั้งผมด้วยว่า ทำไมต้องขุด "กากตะกรันปนเปื้อนแคดเมียม จากการทำเหมืองสังกะสี" กว่า 1.5 หมื่นตัน ขึ้นมาจากหลุมที่ฝังกลบเรียบร้อยแล้ว และยังต้องขนย้ายมาไกลถึง จ.สมุทรสาคร อีก ซึ่งรวม ๆ น่าจะมีค่าใช้จ่ายหลายสิบล้านบาท อย่างน้อย ๆ 

โดยสรุปจากข่าวนี้คือ แคดเมียม เป็นที่ต้องการของตลาดโลก สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท มีราคาสูงเติบโตเพิ่มขึ้น

ขณะที่แหล่งของแคดเมียมนั้น ถ้าไม่เอามาจากการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ที่มีแคดเมียมอยู่ ก็มาจากกากแร่ที่ได้จากเหมืองสังกะสี ดังเช่น "กากแคดเมียม" จาก จ.ตาก นี่แหละครับ !
"กากแคดเมียม" วัตถุสุดอันตราย แต่ดันมีคนอยากได้ รู้ไหมเขาเอาใช้ทำอะไร

 

(ข่าว) การลับลอบขุดและขนย้ายกากแคดเมียม 1.5 หมื่นตัน ทำให้เกิดคำถามว่า “กากแร่แคดเมียม” นี้มีมูลค่ามากแค่ไหน และเอาไปทำอะไรได้ ทำไมถึงคนยอมเสี่ยงขุดและขนสารก่อมะเร็งนี้ไกลกว่า 500 กิโลเมตร

สำหรับแร่แคดเมียม ซึ่งเป็นแร่โลหะ มักพบปะปนในสายแร่สังกะสี ตะกั่วและทองแดง แม้จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่เป็นที่ต้องการใน 3 อุตสาหกรรมคือ

1. การผลิตแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟซ้ำได้ หรือแบตเตอรี่แบบนิเกิล-แคดเมียม (Ni-Cd) ซึ่งชาร์จซ้ำได้มากและจ่ายกระแสไฟได้สูงกว่าแบตเตอรี่ลิเทียม รวมถึงสามารถใช้งานได้ทั้งในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงและต่ำ แต่มีข้อเสียคือ ความจุพลังงานน้อยกว่าแบตลิเทียมและเสียความจุหากชาร์จไม่ถูกวิธี รวมถึงเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

2. การชุบโลหะเนื่องจากแคดเมียมมีคุณสมบัติต้านทานการกัดกร่อนสูง จึงสามารถนำไปชุบเคลือบโลหะอื่นเพื่อป้องกันสนิมหรือการกัดกร่อน รวมถึงมีแรงเสียดทานต่ำจึงนิยมใช้เคลือบชิ้นส่วนเครื่องจักรที่มีการเสียดสี เช่น เฟือง ลูกปืน ฯลฯ อีกทั้งยังอ่อนตัวทำให้เคลือบชิ้นงานที่พื้นผิวซับซ้อนได้ง่าย

3. การผลิตสีซึ่งเม็ดสีจากแคดเมียมจะให้สีเหลืองสด สีส้ม และสีแดง ซึ่งทดทานต่อแสงและการกัดกร่อนของสารเคมี

ด้วยความต้องการในภาคอุตสาหกรรมนี้ทำให้ราคาและมูลค่าตลาดแคดเมียมโลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยตามข้อมูลของ Statista เมื่อปี 2023 ราคาเฉลี่ยของแคดเมี่ยมในสหรัฐอเมริกาอยูที่ 4.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากราคา 3.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ในปี 2022 และรายงาน 360 Industry Research ประเมินว่า ตลาดแคดเมียมโลกเมื่อปี 2021 มีมูลค่า 41.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเติบโตเป็น 47.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2027 สอดคล้องกับรายงานของ Reports and Data ที่คาดว่าตลาดแคดเมียมจะเติบโตเฉลี่ย 4.28% ต่อปีไปจนถึงปี 2030

ส่วนตลาดแคดเมียมในเอเชียตะวันออกนั้น indexbox.io รายงานว่าตลาดเติบโตต่อเนื่องในช่วงปี 2021-2022 หลังการหดตัวต่อเนื่องในช่วง 4 ปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตามปริมาณการใช้งานค่อนข้างทรงตัว

#กากจากการทำเหมืองเป็นแหล่งแคดเมียมหลัก

ทั้งนี้ แคดเมียมที่มีการซื้อขายในตลาดโลกและใช้ในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มาจาก 2 แหล่ง คือ 

1. ผลพลอยได้ของการทำเหมืองแร่สังกะสี เหมืองตะกั่ว เช่นเดียวกับกากแคดเมียมที่พบลักลอบขนย้ายในประเทศไทย ซึ่งเป็นกากแร่ที่เหลือจากการทำเหมืองสังกะสี-ถลุงโลหะสังกะสีของบริษัทเบาด์ แอนด์ บียอน จำกัด (มหาชน) ที่เดิมถูกฝังกลบในบ่อกักเก็บกากแร่ไปแล้ว 

2. ส่วนอีกแหล่งจะมาจากการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ที่มีแคดเมียมอยู่
"กากแคดเมียม" วัตถุสุดอันตราย แต่ดันมีคนอยากได้ รู้ไหมเขาเอาใช้ทำอะไร

อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคานี้มีความผันผวนสูง เนื่องจากหลายประเทศและหลายอุตสาหกรรมต่างพยายามลดการใช้งานแคดเมียมลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
โดยอันตรายจากแคดเมียมต่อมนุษย์นั้นเกิดเมื่อรับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายใน 2 ช่องทาง คือ การหายใจเอาไอซึ่งจะเกิดเมื่อได้รับความร้อน 321 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือฝุ่นของสารนี้ รวมถึงจากควันบุหรี่เข้าไป และการกินทั้งโดยตรงและกรณีปนเปื้อนในอาหาร

เมื่อแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายจะไปสะสมที่หมวกไต ทำให้ไตสูญเสียการทำงาน และอาจทำให้เกิดไตวายเรื้อรัง และเป็นพิษต่อกระดูก โดยทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน มีความผิดปกติของกระดูกสันหลังทำให้ร่างกายโก่งเตี้ยลง และมีอาการปวดกระดูกรุนแรงโดยเฉพาะที่กระดูกสะโพก ซึ่งเป็นอาการของโรคอิไต-อิไต

จนกระทั่งเข้าสู่อาการระยะสุดท้าย ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด การเผาผลาญผิดปกติ โดยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากภาวะไตวาย


ยังเหลือ กากแคดเมียม ที่ถูกขุดมาต้องตามหาอีกเท่าใด 

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยจากการตรวจค้นในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร วานนี้ (7 เม.ย.) ว่า สำหรับกากแคดเมียมที่ถูกขุดมาในครั้งนี้ มีตัวเลขปริมาณกากอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตคือ 15,000 ตัน แต่ที่มีการขนส่งจริงประมาณ 13,000 ตัน  กระจายไปบริษัทแรก 2,440 ตัน โกดังที่ 2 จังหวัดชลบุรี 4,391.1 ตัน และบริษัทที่ 3 จ.สมุทรสาคร อีก 1,034 ตัน รวมที่จับกุมได้หมดทั้งสิ้น 7,865 ตัน ซึ่งจำนวนที่ต้องตามหาเหลืออีกประมาณกว่า 5000 ตัน โดยเชื่อว่า น่าจะหาได้ว่าที่เหลืออยู่ที่ไหน แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากจะต้องทำการขยายผลต่อ

ส่วนของที่กำลังหาอยู่ จะออกไปนอกประเทศหรือยังนั้น อธิบดีฯ ระบุว่า ถ้าออกไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คิดว่ายังไม่สามารถออกไปได้ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ที่จะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศปลายทาง และ กากแคดเมียม เป็นวัตถุอันตราย จะต้องมีการขออนุญาตหลายขั้นตอน และจากการตรวจสอบ ยังไม่มีการขออนุญาตนำออกไปยังต่างประเทศ

ส่วนปลายทางที่ จ.ตาก ได้มีการไปตรวจสอบหลุมฝังกลบ จากการตรวจสอบหลุมเดิม สภาพของหลุมยังมีความมั่นคง จึงมีความพร้อมให้นำกลับไปฝัง ส่วนจะสามารถดำเนินการได้เมื่อไหร่ ก็ต้องรอทางต้นทางประสานมา และหลังจากนี้ จะมีการทยอยตรวจสอบโรงหล่อภายในจังหวัดสมุทรสาครทั้งหมด และจะมีขยายผลตรวจสอบไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะภาคตะวันออก

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ย้ำว่า การที่มีคนที่ทำผิดกฎหมายเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นก็จะต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด เพื่อเป็นตัวอย่างให้เขาเห็นว่า ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ และในระบบเอง มีการขอปรับแก้บทลงโทษ โดยเฉพาะ พรบ.โรงงาน ให้มีการบทลงโทษที่หนักขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่ที่กระทำความผิด เพราะไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย แต่สำหรับผู้ที่ทำถูกกฎหมายก็จะมีการอำนวย ความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ 
"กากแคดเมียม" วัตถุสุดอันตราย แต่ดันมีคนอยากได้ รู้ไหมเขาเอาใช้ทำอะไร

เผยสอบ "นายทุนจีน" ค้า "แคดเมียม" เคยโดนจับเมื่อปี 56

พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผบก.ปทส. และ พ.ต.อ.อรุณ วชิรศรีสุกัญยา รอง ผบก.ปทส สั่งการให้ตำรวจ บก.ปทส. สืบสวนติดตามจับกุมผู้ที่ลักลอบขนย้ายกากแคดเมียม ไปจากบริษัทเจแอนด์บี จ.สมุทรสาคร ซึ่งต่อมาสืบสวนพบกากแคดเมียมที่คลองกิ่ว จ.ชลบุรี มี นายหลิว รับว่าติดต่อซื้อมาจาก นายจาง ที่ จ.สมุทรสาคร เจ้าหน้าที่จึงยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสมุทรสาคร เข้าตรวจค้นบริษัทซิน หงส์ เฉิง อินเตอร์ เทค 2008

เบื้องต้นพบ นายจาง เซิน ม่าว แสดงตนเป็นเจ้าของบริษัท ผลการตรวจค้นพบ "กากแคดเมียม" หนักรวม 1,034 ตัน นายจาง สารภาพว่า รับมาจากบริษัทเจแอนด์บี ถูกนำมาเก็บไว้รอส่งไปให้ นายหลิว ที่ จ.ชลบุรี ตนได้ค่านายหน้าจากการขายเพียงเล็กน้อย โดยติดต่อขอซื้อจากบริษัทเจแอนด์บี เพื่อขายให้ นายหลิว ซึ่งเป็นคนจีนด้วยกัน จำนวน 5,000 ตัน ถูกส่งไปที่ชลบุรีแล้ว 4,000 ตัน คงเหลืออยู่ที่บริษัทตน 1,034 ตัน ซึ่งตนทราบแล้วว่า กากดังกล่าวคือ "กากแคดเมียม"
"กากแคดเมียม" วัตถุสุดอันตราย แต่ดันมีคนอยากได้ รู้ไหมเขาเอาใช้ทำอะไร

มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ยังตรวจเอกสารหนังสือเดินทางของผู้ต้องหาพบว่า การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.62 ซึ่งสิ้นสุดมาแล้วกว่า 5 ปี จึงแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบว่า ครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย และ ข้อหา เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุดด้วย โดยผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ นำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปทส ดำเนินคดี ก่อนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลในวันอังคาร ที่ 9 เม.ย.นี้

จากการตรวจสอบประวัติของ นายจาง พบว่าเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2556 ทางตำรวจ บก.ปทส. เคยมีการยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาลจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเข้าค้นบริษัท ซิน หงส์ เฉิน แห่งนี้มาแล้ว ผลการตรวจพบ "กากตะกอนตะกั่ว" อยู่ในถุงบิ๊กแบ็ก จำนวน 112 ถุง มี นายจาง รับว่าเป็นของตน เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาว่า ครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาศาลพิพากษา จำคุก 1 ปี ปรับ 120,000 บาท ผู้ต้องหา รับสารภาพ ศาลลดโทษเหลือโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 60,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

สำหรับกากแคดเมียมนี้ มีการตกลงซื้อขายจาก บริษัทเจแอนด์บี ราคาตันละ 8,250 บาท จำนวน 5,000 ตัน รวมเป็นเงิน จำนวน 41,250,000 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังติดตามหาตัวนายหน้า ที่ติดต่อให้นายจาง ที่ไปซื้อของจากบริษัทเจแอนด์บี เพื่อหากลุ่มนายทุนรายอื่น ที่อาจไปซื้อกากแคดเมียมจากบริษัทเจแอนด์บี อีกด้วย เพื่อจะได้ติดตามนำกลับคืนมาให้ครบตามจำนวนต่อไป
"กากแคดเมียม" วัตถุสุดอันตราย แต่ดันมีคนอยากได้ รู้ไหมเขาเอาใช้ทำอะไร

logoline