svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดข้อมูลน่ากังวล อีก 100 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจไม่เหลือพื้นที่ป่า

21 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมอุทยานฯ เปิดข้อมูลเกี่ยวกับป่าไม้ เนื่องในวันป่าไม้โลก 21 มีนาคม พบสถิติ 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงต่อเนื่อง ซึ่งหากเป็นแบบนี้ต่อไปในอีก 100 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจไม่เหลือพื้นที่ป่า

เนื่องใน "วันป่าไม้โลก" (World Forestry Day) 21 มีนาคม "Nation STORY" ขอหยิบเรื่องราวของป่าไม้ ที่ถือเป็นทรัพยากรอันมีคุณค่าและมีอยู่อย่างจำกัด มาเล่าให้อ่านกัน

เปิดความเป็นมาของวันป่าไม้โลก 
เปิดข้อมูลน่ากังวล อีก 100 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจไม่เหลือพื้นที่ป่า

"วันป่าไม้โลก" หรือ "World Forestry Day" มีต้นกำเนิดมาจากการประชุมสมัชชาทั่วไปของสันนิบาตยุโรปด้านการเกษตร (European Confederation of Agriculture) ครั้งที่ 23 ในปี 2541 และในปีเดียวกันนั้น องค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงได้มีการกำหนดให้ทุกวันที่ 21 มีนาคม ของทุกปีเป็น "วันป่าไม้โลก" ตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา เพื่อให้คนทั่วโลกได้เล็งเห็นถึงคุณค่าและประโยชน์ของทรัพยากรป่าไม้ในปัจจุบันที่มีอยู่จำกัด

เครดิตภาพ : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

โดยหนึ่งในสาเหตุที่กำหนดให้วันที่ 21 มีนาคมของทุกปีเป็นวันป่าไม้โลกนั้น เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตรงได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ซึ่งจะเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง (วันที่ 21 มีนาคม และ 22 กันยายนของทุกปี) หรือในหนึ่งรอบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ แกนหมุนของโลกที่เอียง (Earth’s axial tilt) จะเลื่อนมาอยู่ในระนาบที่ได้ฉากกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ จุดที่ระนาบทั้งสองตัดกันว่า "วิษุวัต" (Equinox) เหตุการณ์นี้เรียกอีกอย่างว่า "วันราตรีเสมอภาค" หมายถึง "เวลาตอนกลางคืนเท่ากับเวลากลางวัน" พอดี

FAO จึงได้เลือกวันดังกล่าวเป็นวันเฉลิมฉลองป่าไม้โลก เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรป่าไม้ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. การป้องกัน (Protection)
  2. ผลิตผลป่าไม้ (Producion)
  3. การนันทนาการ (Recreation)

ป่าไม้สำคัญอย่างไร?
เปิดข้อมูลน่ากังวล อีก 100 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจไม่เหลือพื้นที่ป่า
"ป่าไม้"
มีประโยชน์และสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ เพราะป่าไม้เป็นแหล่งวัตถุดิบของปัจจัยสี่ ได้แก่ แหล่งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย รวมถึงยารักษาโรค นอกจากนี้ ป่าไม้ยังช่วยรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม 

ประโยชน์ทางอ้อมของป่าไม้ 

1.ป่าทำให้น้ำไหลอย่างสม่ำเสมอตลอดปี และมีคุณภาพดี เนื่องจากต้นไม้ในป่าจะดูดซับน้ำเอาไว้เมื่อฝนตกลงมาและทำให้ค่อยๆ ซึมลงดินสะสมน้ำไว้ใต้ดิน แล้วค่อยๆปล่อยออกสู่ห้วยธาร

2.บรรเทาความรุนแรงของลมพายุ ป่าไม้เป็นฉากกำบังที่จะช่วยลดความเร็วของลมพายุ ซึ่งจะสามารถบังได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความสูง ความหนาแน่นของหมู่ไม้และเรือนยอดของพันธุ์ไม้แต่ละชนิดว่ามีความแน่นทึบเพียงใด

ต้นไม้ที่เป็นแนวกันลมสูงจากพื้นดิน 2 ฟุต จะสามารถลดความเร็วของลมพายุให้เหลือเพียงร้อยละ 20 และแนวกันลมจะสามารถป้องกันลมคิดได้เป็นระยะทางเท่ากับ 20 – 25 เท่าของความสูงต้นไม้นั้นในด้านใต้ลม และ 3 เท่าในด้านเหนือลม

3.ป้องกันการพังทลายของดิน เรือนยอดของป่าไม้จะสกัดกั้นความรุนแรงของฝนที่ตกลงมามิให้กระทบผิวดินโดยตรง น้ำบางส่วนจะค้างอยู่ตามเรือนยอดของต้นไม้ บางส่วนจะไหลไปตามลำต้น บางส่วนจะตกทะลุเรือนยอดลงสู่พื้นป่า 

บริเวณพื้นป่ามักจะมีเศษไม้ใบไม้และซากเหลือต่างๆ ของทั้งพืชและสัตว์คอยดูดซับน้ำฝนและชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลบ่า ทำให้ลดการพังทลายของดิน ประกอบกับดินป่าไม้มักจะเป็นดินดีมีอินทรียวัตถุสูง มีการดูดซับน้ำได้ดีน้ำจึงซึมลงดินได้มาก ทำให้น้ำไหลบ่าลดลง

4.บรรเทาอุทกภัย การทำลายป่านอกจากจะทำให้เกิดการพังทลายของดิน ยังทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำลำธารเพิ่มขึ้นภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และน้ำที่ไหลมาจะขุ่นข้นเพราะเต็มไปด้วยกรวดทรายและดินตะกอนต่างๆ เมื่อไหลลงไปถึงลำน้ำ ก็ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำนั้นๆ สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หากล้นตลิ่งก็จะกลายเป็นอุทกภัยทำลายสวนไร่นา และบ้านเรือนสองฝั่งน้ำ ให้เสียหายได้

5.เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า 

6.เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
ป่าไม้บางแห่งมีทิวทัศน์สวยงาม มีความสงบ ร่มเย็น มีอากาศบริสุทธิ์ จึงเป็นแหล่งเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและสถานที่ท่องเที่ยวของคน 

7.ป่าให้ความชุ่มชื้น ป่ามีส่วนช่วยให้ฝนตกเพิ่มขึ้นและทำให้มีความชุ่มชื้นในอากาศสม่ำเสมอ 

8.เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าเป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืช สัตว์ ที่จะเป็นแหล่งพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่สำคัญที่จะเป็นทุนในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

9.รักษาคุณภาพของอากาศ ต้นไม้ในป่าช่วยดูดซับฝุ่นละออง ดูดซับก๊าซที่เป็นมลพิษ สร้างออกซิเจน จึงทำให้อากาศบริสุทธิ์

10.ป่าช่วยรักษาอุณหภูมิ ร่มเงาของต้นไม้ช่วยลดอุณหภูมิทำให้ลดการใช้พลังงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลภาวะในคราวเดียวกัน

ผลพวงป่าไม้ถูกทำลาย
เปิดข้อมูลน่ากังวล อีก 100 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจไม่เหลือพื้นที่ป่า
อย่างที่กล่าวถึงความสำคัญ และประโยชน์ของป่าไม้ไป ดังนั้น หากป่าไม้ถูกทำลายย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น สัตว์ ดิน น้ำ อากาศ ฯลฯ โดยผลพวงเมื่อป่าไม้ถูกทำลายจะส่งผลไปถึงดินและแหล่งน้ำ เพราะเมื่อมีการเผาหรือทำลายป่าจะส่งผลให้พื้นดินขาดพืชปกคลุมหน้าดิน เมื่อถึงฤดูฝน น้ำฝนที่ตกลงมาจะชะล้างหน้าดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินไปทั้งหมด 

นอกจากนั้น ถ้าไม่มีต้นไม้แล้ว จะไม่มีพืชคอยดูดซับน้ำเอาไว้ เมื่อฝนตกหนักจะทำให้เกิดน้ำไหล่บ่าลงท่วมพื้นที่บ้านเรือนของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลุ่ม และเมื่อถึงฤดูแล้งก็จะไม่มีน้ำใต้ดินเพื่อหล่อเลี้ยงต้นน้ำลำธานทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งขึ้น ซึ่งปัญหาภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อมาถึงระบบเศรษฐกิจและสังคม อาทิ การขาดแคลนน้ำในการการชลประทานทำให้เกษตรกรทำนาไม่ได้ 

พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทย ปี พ.ศ.2565
เครดิตภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ในเว็บไซต์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร รายงานเกี่ยวกับพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทย พบว่า ปี 2565 ประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีสภาพป่าไม้เพียงร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศไทย หรือคิดเป็น 102,135,974.96 ไร่ ซึ่งลดลดลงจากปี 2564 ประมาณร้อยละ 0.02 คิดเป็น 76,459.41 ไร่ 

อย่างไรก็ตาม จากรายงานสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2565 พบว่า มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ค่อนข้างจะคงที่ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของไทยมีการลดลงต่อเนื่อง 

พื้นที่ป่าไม้ของไทย (ณ ปี 2565) 

  • ภาคเหนือ 63.53% พื้นที่ทั้งหมด 38,147,662.41 ไร่
  • ภาคตะวันตก 59.00% พื้นที่ทั้งหมด 20,083,474.07 ไร่
  • ภาคตะวันออก 21.86% พื้นที่ทั้งหมด 4,711,228.29 ไร่
  • ภาคกลาง 21.57% พื้นที่ทั้งหมด 12,273,419.39 ไร่
  • ภาคใต้ 24.32% พื้นที่ทั้งหมด 11,224,484.95 ไร่
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14.97% พื้นที่ทั้งหมด 15,695,705.86 ไร่


5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พื้นที่ป่าไม้ของไทย "ลดลง" ต่อเนื่อง

เปิดข้อมูลน่ากังวล อีก 100 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจไม่เหลือพื้นที่ป่า

ในวันป่าไม้โลกปีนี้ เพจเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เผยถึงข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ของไทย โดยระบุว่า จากระบบบัญชีข้อมูลกรมป่าไม้ ปี 2566 พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้รวมทั้งหมด 101,818,155.7 ไร่ คิดเป็นประมาณร้อยละ 31.47 ของพื้นที่ประเทศ ลดลงจากข้อมูลในปี 2565 ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมดรวม 102,135,974.9 ไร่ 

ซึ่งพื้นที่ลดลงคิดเป็นร้อยละ 0.31 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พื้นที่ป่าไม้ของไทยมีการลดลงต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) การเกิดจากปัญหาไฟป่า (Forest Fire) หรือการบุกรุกทำลายป่า เป็นต้น

แม้ว่าภาครัฐจะมีการดำเนินมาตรการที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟู เพิ่มพื้นที่พื้นที่สีเขียวทั้งหมดเป็น 177.94 ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 55 ของพื้นที่ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย รวมถึงมาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าและการป้องกันการเผาป่า แต่ผลจากการดำเนินงานยังคงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันดูแลปกป้องทรัพยากรป่าไม้ เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนตลอดไป

ไทยประกาศเจตนารมณ์ยุติการตัดไม้ภายใน พ.ศ. 2573 
เปิดข้อมูลน่ากังวล อีก 100 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจไม่เหลือพื้นที่ป่า
ครั้งหนึ่งในการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ นานาประเทศมีความตกลงและเห็นชอบร่วมกันว่าจะยุติการทำลายป่าในปี ค.ศ. 2030 

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภาคีที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์ยุติการตัดไม้ภายใน พ.ศ. 2573 และมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580 ซึ่งประเด็นเรื่องของความสำคัญด้านคุณค่าของป่าไม้ มิได้พึ่งเริ่มกล่าวถึงเฉพาะใน COP26 เท่านั้น แต่มีการให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี 
เปิดข้อมูลน่ากังวล อีก 100 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจไม่เหลือพื้นที่ป่า
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าป่าไม้มีความสำคัญในการดำเนินชีวิตบนโลกใบนี้ ในปัจจุบัน ประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือกำลังเผชิญกับปัญหาไฟป่า ฝุ่น PM 2.5 ขณะเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ภาคเอกชนและประชาชน ช่วยกันฝ่าวิกฤต ก็ยังมีคนลอบเผาป่า ยิ่งทำให้กระทบกับพื้นที่ป่า

ดังนั้น หากเป็นแบบนี้ต่อไป ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน , การเกิดจากปัญหาไฟป่า , หรือการบุกรุกทำลายป่า หรือจากปัจจัยอื่นๆ ไม่แน่ว่าในอีก 100 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจไม่เหลือพื้นที่ป่าไม้อยู่เลยในธรรมชาติ...



ขอบคุณข้อมูลจาก :
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
http://reddplus.dnp.go.th/?p=5845

logoline