svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"พิพัฒน์" เผย เม.ย. 67 ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก หวังบอร์ดไตรภาคียอมรับข้อเสนอ

22 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"รมว.แรงงาน" ชี้ เม.ย. 67 ปรับค่าจ้างแรงขั้นต่ำอีก หวังบอร์ดไตรภาคียอมรับข้อเสนอ ขณะที่ "กมธ. แรงงาน" เสนอรื้อสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ ใช้บอร์ดพหุภาคี แก้ปัญหาค่าจ้าง พร้อมชงตั้งสภาแรงงานจังหวัด ด้าน "ก้าวไกล" เสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานปรับค่าแรงยึดตาม "GDP-CPI"

22 ธันวาคม 2566 นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดไตรภาคี มีมติยืนฐานการปรับค่าจ้างตามเดิม ระหว่าง 2 – 16 บาทว่า ปัญหาดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายการคำนวณค่าแรงของไตรภาคีล้าสมัย จำเป็นจะต้องมีการแก้ไขสูตรการคิดคำนวณหาค่าแรง เช่น ในกรณีของพื้นที่จังหวัดปัตตานี ที่จริงจะต้องปรับลด 1 บาท ไม่ใช่ปรับเพิ่ม 2 บาท แต่เนื่องจากจังหวัดนราธิวาสและยะลา ได้ปรับ 2 บาท จึงทำให้ต้องปรับจังหวัดปัตตานีด้วย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ในอดีตกระทรวงแรงงาน เป็นกรมแรงงานในกระทรวงมหาดไทย กฎหมายจึงตามไม่ทัน ทำให้และเกิดความขัดแย้งในอำนาจรัฐมนตรี และปลัดกระทรวง รวมถึงอธิบดี และตัวแทนไตรภาคีจากฝั่งนายจ้าง เป็นนายจ้างที่บางครั้งเป็นลูกจ้างที่นายจ้างมอบหมายมา จึงทำให้เป็นการทำงานตามคำสั่งนายจ้าง ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ บารมีตัวแทนนายจ้างยังเหนือกว่าลูกจ้าง จึงเสนอว่า ให้มีการเปลี่ยนระบบ "ไตรภาคี" เป็น "พหุภาคี" หรือรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงการจัดตั้งสภาแรงงานจังหวัด

สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง

นายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวต่อ เรื่องดังกล่าว จำเป็นจะต้องพิจารณาบริบทอีกหลายมุมว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรจะเป็นค่าแรงที่เป็นธรรมหรือไม่ และการขึ้นค่าแรงแต่ละครั้ง ผลลัพธ์ที่ได้เป็นประโยชน์กับแรงงานไทยน้อยเพราะส่วนใหญ่แรงงานต่างชาติ ที่ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้น 2-16 บาท ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องยกระดับฝีมือแรงงานไทย ให้ได้รับใบรับรองด้วย

โดยกรรมาธิการฯ จะเสนอรัฐบาลปรับเกณฑ์การขึ้นค่าแรง ทั้งสูตรการคำนวณ และองค์ประกอบบอร์ดไตรภาคี ทั้งนี้จะตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา ทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการบริหารระบบ กฎหมาย การจัดตั้งแรงงานจังหวัด เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการต่อไป

สุเทพ อู่อ้น

ด้านนาย นายสุเทพ อู่อ้น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะทำงานด้านแรงงานของพรรคฯ กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคี ยืนยันมติการปรับขึ้นค่าจ้างตามเดิม 2-16 บาทหลังนายกรัฐมนตรีให้กลับไปทบทวนว่า แม้หลายพรรคการเมือง หาเสียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำไว้ แต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ มีเงื่อนไขกฎหมายเดิม ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ดังนั้น คณะกรรมการไตรภาคีจึงมีอำนาจ และมีสิทธิที่จะดำเนินการเต็มที่ ส่วนภาคการเมือง ต้องไปแก้ไขในส่วนกฎหมาย เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการปรับค่าจ้าง ซึ่งชัดเจนว่า สูตรการคิดอัตราค่าจ้างปัจจุบัน ยังเป็นสูตรที่ล้าสมัย โดยตามหลักสากลค่าจ้างคน 1 คน ต้องสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ 3 คน แต่สูตรของกระทรวงแรงงานปัจจุบัน 1 คน สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ 1 คนเท่านั้น อีกทั้งแต่ละคน มีภาระ บ้านเช่า ข้าวซื้อ รถผ่อน ลูกเรียน และเลี้ยงดูพ่อแม่ด้วย

พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อรอการพิจารณาแล้ว ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าว มีเนื้อหาปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตาม GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และ CPI หรือดัชนีราคาผู้บริโภค ที่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี จึงจะเป็นระบบที่ลูกจ้าง จะได้รับการปรับตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยไม่เกี่ยวกับการเมือง

รวมทั้งต้องปรับเพิ่มทักษะแรงงาน ที่เมื่อกำหนดปรับค่าจ้างขึ้นตามค่าครองชีพแล้ว ควรจะต้องปรับค่าจ้าง 1% อย่างน้อยทุกปี ให้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเมื่อเริ่มทำงาน เพื่อให้ได้รับเงินค่าจ้างที่เป็นธรรมและมีเงินสะสมในบั้นปลายชีวิต

พิพัฒน์ รัชกิจประการ

ล่าสุด ที่กระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศว่า ยังคงไว้ซึ่งอัตราเดิม โดยสัปดาห์หน้าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) จากนั้นกระทรวงแรงงานจะขอให้คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายอำเภอ รายตำบล และรายสาขาอาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต่างประเทศเคยทำมาแล้ว 

เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมา เป็นการปรับขึ้นในภาพรวมทั้งจังหวัด ซึ่งอาจไม่ยุติธรรมกับผู้ใช้แรงงานที่ทำงานในเมือง ที่ค่าครองชีพสูง แต่ได้อัตราค่าจ้างเช่นเดียวกับคนที่อยู่นอกเมือง หวังว่าบอร์ดไตรภาคีจะยอมรับสิ่งที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยคาดว่าจะประกาศได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์เมษายน 2567 

โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ต้องดูความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม กลุ่มใดที่มีค่าครองชีพสูงควรปรับค่าแรงให้สูงขึ้น กลุ่มใดที่อยู่ในชนบทค่าครองชีพไม่สูง ต้องคงค่าจ้างขั้นต่ำไว้เช่นเดิม 

ส่วนผลงานชิ้นโบว์แดงของกระทรวงแรงงานหลังรับตำแหน่งมา 3 เดือน นายพิพัฒน์ ยอมรับว่า เรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่มีการปรับล่าสุด ยังไม่สามารถเครมว่า เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงได้ คงต้องรอให้บอร์ดไตรภาคี มีการหารือเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำในวันที่ 17 มกราคม 2567 ก่อน หากมีผลสำเร็จก็น่าจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของกระทรวงแรงงานได้

logoline