จากกรณีโลกโซเชียลแห่แชร์ภาพ "แสงสีเขียว" ที่มองดูคล้าย "แสงเหนือ" ปรากฏบนท้องฟ้าเขาพะเนินทุ่ง อช.แก่งกระจาน จ. เพชรบุรี โดยแสงดังกล่าวสร้างความตื่นตาตื่นใจ บางคนก็สงสัย ว่าแท้จริงแล้วคือแสงอะไรกันแน่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
4 พฤศจิกายน 2566 ล่าสุด คมชัดลึก รายงานว่า "อ.อ๊อด" รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า เทือกเขาภาคตะวันตก อยู่ใกล้กับเมียนมา และติดกับทะเลอันดามัน หากมองในทิศตรงข้าม ก็เป็นฝั่งอ่าวไทย เพราะฉะนั้น เขาพะเนินทุ่ง จะอยู่ระหว่างทะเล ประกอบกับช่วงนี้ เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว และเข้าสู่ฤดูหนาว ปลาหมึกจะมีจำนวนค่อนข้างมาก จึงมีเรือไดหมึก ที่ใช้แสงสีเขียวล่อปลาหมึก หรือ เรียกว่า "ตกหมึก" ซึ่งจากฝั่งเมียนมา หากมองจากเขาพะเนินทุ่งไป จะเห็นเยอะมาก
อ.อ๊อด กล่าวว่า สาเหตุที่ชาวประมงใช้ไฟสีเขียว ในการไดหมึก หรือ ตกหมึก เพราะจะทำให้ปลาหมึก คิดว่าเป็นแพลงตอน หรือเป็นอาหาร จึงมารวมกัน จากนั้น ชาวประมงจึงใช้อวนลาก หรือ ตกหมึก ส่วนความยาวคลื่นจะอยู่ที่ 495 -570 นาโนเมตร เป็นช่วงความยาวคลื่นที่นักวิทยาศาสตร์พบว่า สามารถล่อปลาหมึกได้
ดังนั้น เมื่อแสงสีเขียวไปสะท้อนกับผืนน้ำ สะท้อนกับท้องฟ้า ก็จะทำให้คนที่อยู่บนเขาพะเนินทุ่ง มองเห็นแสงสีเขียว จนคิดว่าประเทศไทยมี "แสงเหนือ" เหมือนต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ก็เคยมีการเฉลยกันมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ก็นับเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้ท้องฟ้าบริเวณนั้นมีความสวยงาม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวชมวิวที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์แสงเหนือ นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า เกิดขึ้นเมื่อเกิดการรบกวนจากดวงอาทิตย์ โดยแรงดึงดูดจากพระอาทิตย์บริเวณสนามแม่เหล็กของโลก ซึ่งจะสร้างให้เกิดคลื่นในระบบจักรวาล หรือที่เรียกว่าคลื่นอัลเวียน (Alfvén) โดยมันจะปล่อยอิเล็กตรอนด้วยความเร็วสูง มายังชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งเป็นที่ที่เกิดแสงเหนือ
ส่องความเห็นนักดาราศาสตร์
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก Environman ได้โพสต์ข้อความ พร้อมภาพ โดยระบุว่า เมื่อสักพักที่ผ่านมาชาวเน็ตต่างแห่แชร์ภาพที่สร้างความประหลาดนั่นคือ แสงสีเขียวบนท้องฟ้าบริเวณเขาพะเนินทุ่ง พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จ.เพชรบุรี บ้างก็ว่าอาจเป็นแสงเหนือ
แต่ทางด้าน นายวิมุติ วสะหลาย กรรมการวิชาการของสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า แสงสีเขียวที่เกิดขึ้นนั้น เป็นแสงที่เกิดจากเรือไดหมึกจากทะเลอ่าวไทยสะท้อนกับก้อนเมฆ เนื่องจากมีเรือเป็นจำนวนมากจนแสงขึ้นไปสะท้อนกับเมฆให้มองเห็นได้ทั่ว
แล้วมันมากขนาดไหน? สามารถดูได้จากภาพได้เลย เรื่องนี้ต่างประเทศและแม้แต่ NASA เองก็เคยสงสัย แต่ก็ได้ให้คำตอบผ่านเว็บไซต์เมื่อปี 2013 ไว้ด้วยเช่นกันว่า
“...ชาวประมงจากอเมริกาใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้มหาสมุทรสว่างไสวด้วยโคมไฟอันทรงพลัง(สีเขียว)เพื่อดึงดูดแพลงก์ตอนและสายพันธุ์ปลาที่หมึกกินเป็นอาหาร หมึกจะติดตามเหยื่อไปยังผิวน้ำ ชาวประมงก็จะจับโดยใช้สายได้ง่ายขึ้น เรือปลาหมึกสามารถบรรทุกโคมไฟเหล่านี้ได้มากกว่าร้อยดวง ทำให้เกิดแสงสว่างได้มากถึง 300 กิโลวัตต์ต่อลำ”
เรียกได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ทำเอาคนสงสัยไปทั่วโลก ปล. จุดสว่างมาก ๆ นั่นคือ กรุงเทพฯ
Photo : NASA
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : เฟซบุ๊กเพจ เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และ Butsakon kanthuk , เฟซบุ๊กเพจ Environman , คมชัดลึก , NASA