svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ครบ 1 ปี การปลดล็อก ‘กัญชาเสรี’ สังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างไร

30 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มุมมอง "กัญชา" ในสังคมไทย ยังคงแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่มองเห็นประโยชน์ของกัญชาที่ทางการแพทย์สามารถใช้เป็นการรักษาทางเลือกได้ อีกฝ่ายมองว่าสรรพคุณของกัญชาที่ช่วยผ่อนคลายด้านจิตใจนั้นเป็นความเชื่อที่ผิด

 

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 จากวันนั้นจวบวันนี้ ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปี กับนโยบาย ‘กัญชาเสรี’ ซึ่งมีหลายภาคส่วนที่ได้ประโยชน์ ขณะที่อีกหลายภาคส่วนเกิดผลกระทบในด้านลบ หลายคนจึงมองไปที่เหตุว่าเพราะกฎหมายที่ประกาศออกมาใช้นั้นยังไม่ครอบคลุมและไม่ได้คุ้มครองอย่างจริงจัง ดังที่เราจะเห็นได้ว่ามีอยู่หลายรายที่นิยมนำไปใช้ในด้านสันทนาการและเป็นไปอย่างไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงไม่ได้ศึกษาเรื่องการใช้กัญชาอย่างถูกต้องหรือถูกวิธีให้มากเท่าที่ควร

 

ผลกระทบด้านลบของกัญชา

เหรียญยังมีสองด้าน ‘กัญชา’ ก็เช่นกัน หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศปลดล็อกกัญชาออกจากสารเสพติดประเภทที่ 5 แล้ว มีผู้บริโภคกัญชาหลายรายที่ใช้กัญชาอย่างไร้ความรับผิดชอบ สร้างความเสียหายและความสูญเสียทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ดังที่เราจะเห็นได้จากข่าวว่าคนเหล่านั้นมีอาการคลั่งปีนเสาไฟ ทำร้ายร่างกายคนในครอบครัว ประสาทหลอนหูแว่วว่าคน ๆ นั้นจะมาทำร้ายจึงไปทำร้ายร่างกายผู้อื่น เพื่อป้องกันตัว รวมถึงคุ้มคลั่งเผาบ้านตัวเอง เป็นต้น

 

 

ข้อดีของกัญชา ด้านการแพทย์

ปัจจุบันเราอาจจะได้ยินในเรื่องกิตติศัพท์ของ “กัญชาในด้านการแพทย์” มากยิ่งขึ้น โดยเราจะเห็นได้ว่ามีประชาชนในหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นทั้งในรูปองค์กรเอกชน, สถานศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย หรือประชาชน ต่างก็หันมาเพาะปลูกกัญชากันมากขึ้น เพียงแต่ต้องยื่นเรื่องขออนุมัติการเพาะปลูกกัญชาให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน

 

กัญชามีสรรพคุณในด้านการรักษาที่วงการแพทย์ให้การยอมรับ อาทิ บรรเทาอาการปวด, ช่วยให้ผ่อนคลาย, ช่วยรักษาอาการโรคลมชัก, ช่วยระงับการเติบโตของเซลล์มะเร็ง, ช่วยปรับปรุงการนอนหลับให้ดีขึ้น และอื่น ๆ อีกมากมาย

 

กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2566 พบตัวเลขของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยกัญชาเพิ่มขึ้นถึง 125% ในขณะที่ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชง ได้รับการอนุมัติจดแจ้งอย่างถูกต้องจำนวน 2,523 ราย พร้อมกับพบว่าได้มีงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาและกัญชงเกิดขึ้นมากกว่า 50 ชิ้น ที่สำคัญ ยังพบว่าผลิตภัณฑ์กัญชาและกัญชงสามารถสร้างเม็ดเงินได้มากถึง 30,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

Cannabis Oil

 

มุมมองกัญชาจากบุคลากรทางการแพทย์

ต่อไปนี้คือ ตัวอย่างมุมมองของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีต่อกัญชา:

  • กัญชากับแพทย์พื้นบ้าน

อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี แพทย์พื้นบ้านผู้นำกัญชามาใช้เพื่อการรักษาผู้ป่วยจากอาการต่าง ๆ ในช่วงแรก ๆ ท่านระบุว่า กัญชา คือ ยาวิเศษ หากใช้อย่างถูกวิธีและใช้อย่างมีความรับผิดชอบ เพราะกัญชาเป็นพืชสมุนไพรชั้นดี ที่ไม่ควรต้องถูกนำกลับไปเป็นยาเสพติดอีก เพียงแต่ผู้ใช้ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนนำไปใช้ ก็จะสามารถได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากกัญชาและมันจะมีประโยชน์มากทางด้านการแพทย์

  • กัญชากับจิตแพทย์

ทางด้าน รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ศิริไชย หงษ์สงวนศรี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และกรรมการบริหารราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาแสดงความกังวล เนื่องจากพบว่าเด็กในระดับชั้น ม.ต้น มีอาการทางจิตเวชมากขึ้น อันเนื่องมาจากการสูบกัญชา ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่สาเหตุในการเข้ารับการรักษามักมาจากอาการซึมเศร้า, มีปัญหาด้านการเรียน และการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมจากครอบครัว

 

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับกัญชา

จากข้อมูลข้างต้นเราจะเห็นว่าการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกัญชามีการเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ เพื่อให้สร้างความมั่นใจแก่และเพื่อควบคุมไม่ให้นำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด ดังนี้

1.   ประกาศกระทรวงสาธารณสุข

เรื่อง กำหนดการกระทำที่ทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชาและกัญชง หรือพืชอื่นใดอันเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความรำคาญ พ.ศ.2565

โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.    ประกาศกรมอนามัย

เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565

โดยกำหนดให้สถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลในด้านสุขภาพและต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร อาทิ การติดป้ายว่ามีการปรุงอาหารเมนูกัญชาอย่างไร การติดป้ายคำเตือนกลุ่มที่ควรเลี่ยงในการรับประทานเมนูกัญชา เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกอย่างปลอดภัย

ซึ่งผู้ประกอบการเกี่ยวกับอาหารผสมกัญชาไม่ว่าจะเป็นคุกกี้, กัมมี่, เครื่องดื่ม และอื่น ๆ ต้องยื่นเอกสารกับองค์การอาหารและยา (FDA) เพื่อรับการอนุมัติการผลิต และเพื่อการจำหน่ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

3.   ประกาศกระทรวงสาธารณสุข

เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565  เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 โดยพิจารณาเห็นว่า กัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 มาตรา 44 มาตรา 43(3) และ (5) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542

 

มุมมองของสังคมไทยในปัจจุบันที่มีต่อกัญชาก็ยังคงแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายที่มองเห็นประโยชน์ของกัญชาที่ทางการแพทย์ให้การยอมรับกันอย่างกว้างขวางและสามารถใช้เป็นการรักษาทางเลือกได้ ในขณะที่อีกฝ่ายมองว่าสรรพคุณของกัญชาที่ช่วยผ่อนคลายด้านจิตใจนั้นเป็นความเชื่อที่ผิด กลับกันมันน่าจะส่งผลเสียต่อจิตประสาททำให้เกิดอาการหลอนเสียมากกว่า และมีความต้องการที่จะผลักดันให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเหมือนเดิมหากเป็นไปได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายของพรรคว่าที่นายกฯ คนที่ 30 แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วง ‘รัฐบาลสุญญากาศ’ เราคงได้แต่จับตามองต่อไปว่าอนาคตของกัญชาไทยจะเป็นอย่างไร จะไปต่อหรือพอแค่นี้

 

 

logoline