svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดงานวิจัย 15 ปี บังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นักดื่มลดลง

26 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วงเสวนา ย้ำ 15 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ช่วยลดผลกระทบทางสังคม ยกงานวิจัยชี้นักดื่มลดลง 2%  เพศชายลดลง 5.9 %  ย้ำการปรับปรุงต้องคงเจตนารมณ์เดิม ไม่เปิดช่องเอื้อนายทุน

26 กุมภาพันธ์  2566  ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อเร็วๆนี้   มูลนิธิเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับเครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม  ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “มองหลากมุม 15 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง” เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551  ที่โรงแรมเอเซีย  พญาไท

 

เปิดงานวิจัย 15 ปี บังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นักดื่มลดลง

 

"ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว" ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผลกระทบ ช่วงก่อนมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า สัดส่วนผู้บริโภคลดจาก 30.0% ในปี 2550 เป็น 28.0% ในปี 2564 หรือลดลง 2% โดยเพศชายลดจาก 52.3% ในปี 2550 เหลือ 46.4% ในปี 2564 หรือลดลง 5.9% ส่วนเพศหญิงเพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มอายุ 15-19 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการดื่มลดลง

 

ส่วนกลุ่มอายุ 20-49 ปี มีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า 1% ในส่วนของผลกระทบโดยเฉพาะปัญหาเมาแล้วขับช่วงเทศกาลปีใหม่ ลดจาก 37.8% ในปี 2551 เหลือ 25.6% ในปี 2565 หรือลดลง 12.2% เมาแล้วขับเทศกาลสงกรานต์ ลดจาก 35.5% ในปี 2551 เป็น 26.0% ในปี 2565 หรือลดลง 9.5%

“จะเห็นกฎหมายดังกล่าวส่งผลให้ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง และช่วยลดผลกระทบจากปัญหาการเมาด้วย ดังนั้นในการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อเดือนมกราคม 2566 จึงพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนให้จำกัดสถานที่จำหน่าย จำกัดช่วงเวลาจำหน่าย และจำกัดการโฆษณา ซึ่งมีเพียง 5.5% ที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการจำกัดสถานที่จำหน่าย 6.9% ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดเวลาจำหน่าย และ 9% จำกัดการโฆษณา” ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

"นายธีรภัทร์ คหะวงศ์" ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เมื่อ 15 ปีที่แล้ว แม้จะมีกลุ่มทุนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่เคลื่อนไหวคัดค้านการออกพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ภาคประชาชน รวมถึงประชาชนกว่า 13 ล้านคน ที่ร่วมกันผลักดันจนกฎหมายออกมาบังคับใช้เมื่อปี 2551 เจตนารมณ์สำคัญคือการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ คุ้มครองสุขภาพประชาชน และลดผลกระทบทางสังคม

 

สาระหลักนอกจากตั้งกรรมการชุดต่างแล้ว คือการกำหนดสถานที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม การห้ามขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีและคนเมาครองสติไม่ได้  การจำกัดวิธีการขายและห้ามส่งเสริมการขาย การควบคุมการโฆษณา รวมถึงการบำบัดฟื้นฟูผู้ที่ติดสุรา เป็นต้น จนสามารถลดจำนวนนักดื่ม ทำให้การกินดื่มอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม จำกัดการเข้าถึงและเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยต่อสังคมโดยรวม
 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าขณะนี้ในภาพรวมยังมีปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป อาทิ ปัญหาการใช้ตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปโฆษณาสินค้าประเภทอื่น (ตราเสมือน)  การขาดแนวปฏิบัติหรือเกณฑ์พิจารณาลักษณะผู้ซื้อที่เข้าข่ายเมาครองสติไม่ได้  ปัญหาการขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ยังพบได้ทั่วไปในร้านค้ารายย่อยและผับบาร์ และการเข้าถึงการบำบัดฟื้นฟูของผู้ติดสุราที่ยังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร

 

ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ทันสมัย ทันกับสภาพสังคมเปลี่ยนแปลง แต่ยังจำเป็นต้องรักษาเจตนารมณ์ไว้อย่างเคร่งครัดและไม่ทำให้กฎหมายอ่อนแอลง ซึ่งจากการพูดคุยกับกลุ่มผลักดันพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ก็พบจุดร่วมในหลายประเด็น เช่น การลดทุนผูกขาด การจัดการเรื่องตราเสมือนซึ่งเป็นความฉ้อฉลที่ทุนสุรารายใหญ่ได้เปรียบ การอบรมผู้ขายให้มีทักษะมากขึ้น เป็นต้น
 

"นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร" สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล กล่าวว่า  ยอมรับว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัญหา ส่งผลกระทบต่อสังคม จึงต้องมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เถียงไม่ได้ แต่ก็มองว่ามีบางมาตรา ที่ควรแก้ไข เพราะมีปัญหาในการบังคับใช้

 

เช่น แก้ไขมาตรา 32 ให้มีการโฆษณาได้ แต่กำหนดให้ชัดเจนว่า ห้ามโฆษณากับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี กำหนดเม็ดเงินโฆษณาให้ชัดเจน เช่น ไม่เกิน 1.5 % ของเม็ดเงินในธุรกิจ ทั้งนี้  เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยได้มีโอกาสสู้กันซึ่งๆ หน้า เท่าเทียม ไม่ใช่ไปใช้ช่องโหว่ของกฎหมายมาทำการโฆษณา อย่างการใช้ตราเสมือน  

 

เปิดงานวิจัย 15 ปี บังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นักดื่มลดลง

 

นอกจากนี้  ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญคือควรมีการอบรมผู้ขอใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เข้มข้น ซึ่งก่อนหน้านี้ ตนเคยไปออกบูธที่ประเทศสิงค์โปร์ ก็ไม่สามารถเสิร์ฟเบียร์ได้ เพราะไม่มีใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม ตนไม่เห็นด้วยกับการกำหนดวันห้ามดื่มที่อิงกับศาสนา ทั้งหมนี้ ตนเชื่อว่ามีจุดร่วมที่เราสามารถเดินไปด้วยกันได้
 

logoline