svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

จับตาวันนี้ "สธ."เคาะมาตรการรับนักท่องเที่ยว คาดจีนเข้าไทยมกราคม 6 หมื่นคน

05 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมมาตรการรับนักท่องเที่ยวเข้าไทย 5 ม.ค.นี้ ย้ำไม่แบ่งแยก ทุกชาติใช้มาตรการเดียวกันหมด ส่วนนักท่องเที่ยวจีนคาดเข้าไทยมกราคม 6 หมื่นคน ย้ำมีวางแผนเตรียมรับคัดกรองเชื้อโควิด พร้อมเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนนักท่องเที่ยว

5 มกราคม 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงความพร้อมรองรับผู้เดินทางจากประเทศจีน ว่า กรณีจีนเตรียมเปิดประเทศ จากการประมาณการนักท่องเที่ยวจีนในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม 2566) มีประมาณ 3 แสนคน คิดเป็น 5% ของนักท่องเที่ยวทุกชาติรวมกัน 

คาดว่าในเดือนมกราคมนักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามา 60,000 คน กุมภาพันธ์ 90,000 คน และมีนาคม 150,000 คน โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากปัจจุบันยังมีเที่ยวบินจำกัด มีระยะเวลาในการขอทำหนังสือเดินทางและการขอวีซ่า และรัฐบาลจีนยังไม่อนุญาตให้บริษัทนำเที่ยวนำกลุ่มทัวร์ออกนอกประเทศ ผู้เดินทางจะเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตัวเองและเป็นกลุ่มนักเดินทางระดับบนที่มีกำลังซื้อ

นายอนุทิน กล่าวว่า ในวันนี้ (5 ม.ค.) เวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล จะมีการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว โดยจะใช้หลักการแพทย์และสาธารณสุขเป็นหลักการวางมาตรการต่างๆ 
สธ. เตรียมมาตรการป้องกันโควิด รองรับ

ทั้งนี้ คณะกรรมการวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเห็นว่าประเทศไทยนั้นการปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั่วโลก ควรใช้มาตรฐานเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยกจำเพาะเจาะจง  ซึ่งทาง สธ.และกรมควบคุมโรคในฐานะผู้รับผิดชอบก็วางมาตรการต่างๆ มา เมื่อมีนโยบายเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามา เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย กรมควบคุมโรคได้รับการมอบหมายให้ไปเตรียมการ ซึ่งปราศจากความกดดันใดๆ

"กรมควบคุมโรคเสนอมาตรการต่างๆ มา ไม่ได้ถูกฝ่ายรัฐบาลหรือรัฐมนตรีกดดันว่าต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงเรื่องอื่น เอาเงินเอาเศรษฐกิจไว้ก่อน ไม่มีเลย เหมือนให้กรมควบคุมโรคเสนอมาเลยทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้ง 2 มิติ ทั้งเศรษฐกิจเดินไปได้ ความพร้อมดูแลรักษาสุขภาพประชาชนก็ยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย" นายอนุทินกล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้ข้อแนะนำคือการฉีดวัคซีน และมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมโควิด เหมือนเราไปเที่ยวต่างประเทศ ถ้าซื้อประกันสุขภาพก็สบายใจระดับหนึ่ง เข้า รพ.ก็มีคนคอยดูแล เชื่อว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็คงคิดเช่นนั้น ยิ่งตอนนี้มีการระบาดของโควิดอยู่เยอะ คนที่จะไปเที่ยวต่างประเทศส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้ามาไทยส่วนใหญ่ก็มีประกันสุขภาพ เราให้การดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่ก่อนมีโควิด จนมีโควิดก็ให้การดูแล ไม่อยากให้ป่วยและเข้าไม่ถึง รพ.  
อนุทิน ชาญวีรกูล

ส่วนข้อเสนอมาตรการด้านสาธารณสุขรองรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ที่จะเสนอในวันที่ 5 มกราคมนี้ คือ ก่อนเข้าประเทศไทยให้ฉีดวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อย 2 เข็ม หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ควรเลื่อนการเดินทางและรักษาให้หายก่อนเพื่อลดการแพร่โรค และให้ซื้อประกันสุขภาพเดินทางที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด 19 ก่อนเข้าประเทศ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น

นักท่องเที่ยวสามารถรับวัคซีนในไทยได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  ส่วนมาตรการขณะพำนักในประเทศไทย จะมีการให้คำแนะนำผู้เดินทางป้องกันตนเองตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศ เช่น สวมหน้ากากเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ/ขนส่งสาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการทางเดินหายใจ ให้ตรวจคัดกรองด้วย ATK และหากมีอาการป่วยรุนแรงขึ้นให้ไปตรวจรักษาที่สถานพยาบาล กรณีเดินทางออกจากประเทศไทยและประเทศปลายทาง

มีนโยบายตรวจคัดกรองก่อนเข้าประเทศ แนะนำให้พักในโรงแรม SHA+ ซึ่งจะมีบริการตรวจหาเชื้อโควิด 19 โดยสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทางห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก่อนออกจากประเทศไทยนอกจากนี้ยังมีแนวทางการเฝ้าระวังโรคกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศที่มีอาการทางเดินหายใจ โดยให้ได้รับการตรวจด้วย ATK/PCR และมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์โรคและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน

กรณีผู้เดินทางจากต่างประเทศ พร้อมทั้งเพิ่มกลไกการรายงานสถานการณ์ผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมโรค เน้นจำนวนนักท่องเที่ยวและผลการตรวจคัดกรองผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจที่สนามบิน กำหนดเกณฑ์สำหรับการปรับมาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้อในอัตราสูงหรือพบเชื้อกลายพันธุ์ รวมถึงเฝ้าระวังและตรวจเชื้อโควิด 19 ในน้ำเสียจากเครื่องบิน ทั้งนี้ จะมีการสื่อสารถึงนักเดินทางเพื่อเพิ่มการตระหนักรู้และให้ความร่วมมือในการลดความเสี่ยง

ผู้สื่อข่าวถามถึงวัคซีนบูสเตอร์โดสในปี 2566 นายอนุทินกล่าวว่า ยังเหมือนเดิม คนไทยควรได้รับเข็มกระตุ้น  เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่มีอาการรุนแรง ป้องกันการเสียชีวิต ส่วนวัคซีน Bivarient มีการจัดหาเข้ามาในระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นการรับบริจาคจากประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดี แต่ยืนยันว่าวัคซีนที่ไทยใช้อยู่ยังมีประสิทธิภาพประสิทธิผลเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่แตกต่างจากวัคซีน Bivarient เมื่อใดที่มีความต้องการวัคซีนชนิดใหม่ๆ มีสายพันธุ์ใหม่มีวัคซีนที่ครอบคลุมป้องกันสายพันธุ์ได้มากกว่าที่มีในปัจจุบัน ก็พร้อมจัดซื้อจัดหาเข้ามา แต่ปัจจุบันเรามีของดีและได้ผลอยู่แล้ว

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค จะเปิดศูนย์ติดตามสถานการณ์นักท่องเที่ยวที่ป่วยโรคโควิด 19 ออกมาจากคนไทยที่ป่วย เพื่อให้เห็นภาพว่า นักท่องเที่ยวมามากขึ้น ชาติไหนที่ป่วยมากขึ้นหรือไม่ และเกินสัดส่วนคนไทยหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะไป รพ.เอกชนก็ต้องหารือกับทางเอกชนเพิ่ม หากมีจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นมากๆ หรือสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไป ก็จะได้ทบทวนและปรับมาตรการต่างๆ

ส่วนการตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิที่สนามบินนั้น เดิมเรายกเลิกไปเนื่องจากมีข้อมูลว่าประโยชน์ไม่มาก และเป็นคอขวดให้คนมากองกัน เพราะข้อมูลพบว่าไข้ขึ้นน้อยมาก เราจึงใช้บัตรแนะนำสุขภาพ ว่าป่วยต้องทำอย่างไร

“ ที่เราแนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพ ก็เพื่อประโยชน์ต่อตัวเขาและภาครัฐหากติดเชื้อภายในประเทศ และก่อนกลับประเทศจีนกำหนดให้ตรวจ RT-PCR ถ้าไม่ได้ซื้อประกัน ตรวจแล้วเกิดติดเชื้อก็อาจจะเป็นภาระกับตัวนักท่องเที่ยวเอง แต่ที่ทราบช่วงแรกที่จะเดินทางมาคงไม่ได้เดินทางมาเป้นกรุ๊ปใหญ่ จะเป็นลักษณะมาทำธุรกิจ มาเยี่ยมญาติและการศึกษา ส่วนการจะมาฉีดวัคซีนในไทย จะมีค่าใช้จ่ายค่าบริการ  เบื้องต้นคาดว่าเปิดศูนย์ที่ รพ.บางรัก ให้บริการฉีดวัคซีน ซึ่งเดิมเป็นศูนย์ฉีดให้ชาวต่างชาติอยู่แล้ว” นพ.ธเรศ กล่าว

จับตาวันนี้ "สธ."เคาะมาตรการรับนักท่องเที่ยว คาดจีนเข้าไทยมกราคม 6 หมื่นคน

logoline