svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

โรคทนรอไม่ได้ Hurry Sickness ผลกระทบจากการทำงานกับคอมพิวเตอร์

26 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดอีกมุมมองที่หลายคนเคยคิดว่า การที่บางคนมีบุคลิก หรือนิสัยที่ทนรออะไรนานๆ ไม่ค่อยได้ ชอบทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน อาจเป็นเพราะว่าพวกเขาเป็นคนขยัน แต่ในความจริงแล้ว นี่อาจเป็นสัญญาณของภาวะ “ทนรอไม่ได้” ติดตามรายละเอียดโรคทนรอไม่ได้ รวบรวมรายละเอียดให้ตรงนี้

ซึ่งเป็นหนึ่งในภาวะผิดปกติ ที่คนในสังคมโดยเฉพาะหนุ่มสาว ในวัยทำงาน จำเป็นต้องรู้!

โรคทนรอไม่ได้ Hurry Sickness ผลกระทบจากการทำงานกับคอมพิวเตอร์

 

 

รู้จัก ภาวะ“ทนรอไม่ได้” หรือ "Hurry Sickness" 

เป็นภาวะผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในยุคที่มีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต และมักเกิดขึ้นกับผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานเป็นเวลานาน (ไม่ใช่โรคทางจิตเวช) โดยอาการของโรคคล้ายกับ “โรคสมาธิสั้น” ทำให้บางคนเข้าใจผิดและมองข้ามภาวะผิดปกติเหล่านี้ไป

สำหรับอาการของภาวะ “ทนรอไม่ได้” 

เป็นพฤติกรรมที่บุคคลที่มักจะมีอาการใจร้อน หงุดหงิด และฉุนเฉียวง่าย กับการรออะไรบางอย่าง  ซึ่งเป็นผลกระทบจากการทำงานกับคอมพิวเตอร์นานๆ หรือมักจะเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่เสพติดการใช้โซเชียลมีเดีย ดังนั้น ผู้ที่เข้าข่ายอาการข้างต้น ควรสังเกตตนเอง หรือบุคคลรอบข้างว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไปหรือไม่ และควรหาทางแก้ไขเพราะหากปล่อยให้ภาวะนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ นี้จะทำให้ร่างกาย และจิตใจผิดปกติได้

โรคทนรอไม่ได้ Hurry Sickness ผลกระทบจากการทำงานกับคอมพิวเตอร์

ทบทวนอีกครั้ง ภาวะ“ทนรอไม่ได้” ไม่ใช่ “โรคสมาธิสั้น” ต้องแยกให้ออก! 

หากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการเข้าข่ายภาวะทนรอไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมในขั้นตอนต่อมา คือ ต้องแยกให้ได้ก่อนว่าอาการที่กำลังเป็นอยู่นั้นคือ “โรคสมาธิสั้น” หรือภาวะ “ทนรอไม่ได้” โดยอาการและวิธีรักษามีความแตกต่างกันพอสมควร ดังนี้ 

  • โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ :  ต้องมีพฤติกรรมชัดเจนในเรื่องขาดสมาธิ และใจร้อน รวมถึงอาจจะมีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง โดยอาการดังกล่าวอาจเป็นมาตั้งแต่เด็ก หรือเพิ่มจะมามีอาการในวัยผู้ใหญ่ในระยะเวลามากกว่า 6 เดือน
  • การรักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ สามารถรักษาโดย การรักษาด้วยยาภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยนักจิตวิทยา
  • โรคสมาธิสั้นในเด็ก :  เป็นโรคทางจิตเวชระบุชัดใน DSM – V เกิดจากความบกพร่องของสารสื่อประสาทในสมอง ต้องใช้ยาช่วยในการรักษา 
  • ภาวะทนรอไม่ได้ :  เป็นอาการทางพฤติกรรมเกิดจากปัจจัยทางสังคม คือ การเลี้ยงดู การใช้สื่อโซเชียล และสิ่งแวดล้อม สำหรับวิธีรักษาต้องใช้พฤติกรรมบำบัด หรือ เทคนิคทางจิตวิทยา CBT (Cognitive behavioral therapy) ในการปรับความคิดและพฤติกรรม

 

โรคทนรอไม่ได้ Hurry Sickness ผลกระทบจากการทำงานกับคอมพิวเตอร์

 

โรคทนรอไม่ได้ Hurry Sickness ผลกระทบจากการทำงานกับคอมพิวเตอร์

จับสัญญาณบ่งชี้ความเสี่ยงภาวะ “ทนรอไม่ได้”

1. รีบร้อนกับทุกเรื่อง แม้กระทั่งบางเรื่องที่ไม่ควรรีบ เช่น การรับประทานอาหาร หรือ การอาบน้ำ

2. มักทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน มีแผนในหัวหลายเรื่องมาก เมื่อทำทุกอย่างที่คิดพร้อมกันผลงานก็ออกมาไม่ดีเท่าที่ตั้งใจไว้

3. หงุดหงิดกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากรีบทำทุกอย่าง และทำหลายเรื่องพร้อมกัน พอทำได้ไม่ดีหรือไม่สำเร็จ จึงทำให้เกิดอาการหงุดหงิด

4. พยายามเร่งตัวเองอยู่ตลอดเวลาในการทำสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา และกดดันตัวเองจนเกิดความเครียด

5. มักตัดบท หรือพูดแทรกคู่สนทนาโดยไม่รู้ตัว หรือบางทีคู่สนทนายังพูดไม่จบ ส่งผลให้ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างแย่ลง

6. บังคับตัวเองให้ทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด ทำเร็วขึ้นไปอีก และทำพร้อมกันหลายๆ อย่างมากขึ้นกว่าเดิม

 

ผลกระทบจากภาวะทนรอไม่ได้ แบ่งเป็น 2 ส่วน 
ผลกระทบต่อสุขภาพ

  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย
  • ความดันโลหิตสูง
  • ภูมิต้านทานในร่างกายลดต่ำลง
  • คลื่นไส้ อาเจียน

ผลกระทบในด้านจิตวิทยา

  • ผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง
  • มีความเสี่ยงก่อให้เกิดภาวะหมดไฟ (Burnout)
  • มีปัญหาในด้านการตัดสินใจ จากความไม่ละเอียดรอบคอบ 

โรคทนรอไม่ได้ Hurry Sickness ผลกระทบจากการทำงานกับคอมพิวเตอร์

วิธีแก้ไขและบรรเทาอาการ “ทนรอไม่ได้” เบื้องต้น

  • สูดลมหายใจลึกๆ เรียกสติเมื่อรู้ตัวว่าเกิดอารมณ์ร้อน หงุดหงิด     
  • ปรับทัศนคติให้คิดบวก เช่น ลดความเร่งรีบในการใช้ชีวิต ขอความช่วยเหลือผู้อื่นบ้างหากจำเป็น     
  • หากิจกรรมผ่อนคลายตามที่ตัวเองชอบ เช่น นั่งสมาธิ ฟังเพลง ดูหนัง      
  • ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์   
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ 
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-7 ชั่วโมง
  • หาช่วง Break down ถ้าอาการของโรค หรือพฤติกรรมทำให้ปวดหัว เช่น การงีบหลับ
  • วางแผนชีวิตเพื่อให้รู้ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง รวมถึงสามารถจัดลำดับความสำคัญของรายการชีวิตได้เหมาะสมมากขึ้น

แม้ว่าปัจจุบันภาวะ “ทนรอไม่ได้” ไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่ถ้าประสบกับภาวะนี้ และยังไม่ทำการแก้ไข ก็จะส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นโรคทางประสาทได้ และถ้าแก้ไขด้วยตนเองแล้วแต่ยังรู้สึกว่าไม่สบายใจ หรือยังไม่สามารถปล่อยวางอารมณ์ฉุนเฉียวลงได้ ก็ควรเข้ารับการปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา

logoline