เรียกกระแสความสนใจจากทาสแมวทั้งหลายมากมาย ภายหลังจาก กระทรวงการต่างประเทศ โพสต์ไอจี เปิดตัว “น้องนวล” แมวเอเปค แมวสามสี มวประจำกระทรวงการต่างประเทศ ที่ล่าสุดคว้าตำแหน่ง พรีเซนเตอร์เอเปค 2022 ระบุข้อความว่า “นวลขอเชิญพี่ ๆ ทุกคนมาร่วมเปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” ทำให้ขณะนี้ น้องนวล มีบรรดาแฟนคลับเพิ่มขึ้นมากมายทีเดียว เหล่าทาสแมวรุมแห่เข้าไปคอมเมนต์ ชื่นชมทุกความน่ารักจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 Ig กระทรวงการต่างประเทศ (ก.ต.) โพสต์ภาพน้องแมวแสนสวย ตาใสแบ๊ว พร้อมข้อความระบุว่า
“นวล ขอเชิญพี่ๆ ทุกคนมาร่วม ‘เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล’
การเป็นเจ้าภาพ APEC ในปีนี้จะเป็นโอกาสสำคัญที่ ประเทศไทย จะมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคระหว่างประเทศ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับประเทศในเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อนำมาปฏิรูปและยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจของไทยให้ทันสมัย เป็นสากล รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพในมิติต่างๆให้แก่ภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงความพร้อมของไทยในการต้อนรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวในยุคหลังการระบาดของ COVID-19 การประชุมเอเปคมีประโยชน์มากมายขนาดนี้
"นวล จึงอยากเชิญชวนพี่ๆ ทุกท่านมาเป็นเจ้าบ้านที่ดีและสนับสนุนให้การประชุมเอเปคในปีนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีกันนะค้า”
เอเปค หรือ APEC ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532
สนใจอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >>
สุดฮือฮา ก.ต.เผยภาพ "แมว" นวล พรีเซ็นเตอร์เอเปค 2022 ทาสแมวแห่กดไลก์สนั่น
รู้จัก "น้องนวล" แมวสามสี พรีเซ็นเตอร์เอเปค เจ้าถิ่นแห่งกระทรวงการต่างประเทศ
เวทีประชุมแห่งนี้ มีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค
ปัจจุบัน เอเปค หรือ APEC มีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 12 เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง
เอเปค มีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลกและมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก
ในปี 2022 ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพการประชุม ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่กำลังจะถึงนี้ จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานการประชุม
ทั้งนี้ ทางด้าน mfa_thailand โพสต์ภาพน้องแมวไทยสามสี โดยพื้นหลังเป็นป้าย เอเปค2022 เปิดตัว “น้องนวล” พรีเซนเตอร์ของปีนี้ ระบุว่า นวล ขอเชิญพี่ๆ ทุกคนมาร่วม “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล”
ย้อนประวัติความเป็นมาของนวล
ช่างตรงกับธีมหลักของการประชุมปีนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพที่ว่า "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล หรือ Open. Connect. Balance." เพราะ
1. นวล มักจะเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ตั้งอยู่ด้านข้างกระทรวงการต่างประเทศ ถ.พระราม 6 ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เล่าว่า นวลและเพื่อนแมวตัวอื่นๆ เดินข้ามมาหากินอยู่ฝั่งกระทรวงฯบ่อยๆ ในช่วงมีการแพร่ระบาดโควิด-19
แต่เมื่อสอบถามกับผู้ติดตามเลี้ยงดูแมวตัวนี้ตั้งแต่ต้น สมมติฐานก็ไม่น่าจะใช่ เพราะนับตั้งแต่เลิกใช้นโยบายเวิร์คฟรอมโฮม มหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอน โรงอาหารมหิดลกลับมาเปิดขาย เหล่าแมวก็กลับไปหากินถิ่นของมัน แล้วแมวตัวที่หน้าตาคล้ายกับนวลก็หายไปด้วย แต่ว่าเจ้านวลยังอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ
2. นวล มากับรถโลจิสติกส์เจ้าประจำ ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของกระทรวงการต่างประเทศคนหนึ่งเห็นว่า มีแมวตัวน้อยกระโดดลงมาจากรถส่งพัสดุดังกล่าว มันแอบอาศัยตามพุ่มไม้ บริเวณลานจอดรถของกระทรวงด้านฝั่งพระราม 6 แต่นวลก็ไม่อาจหลบสายตา รปภ.ไปได้ หลังจากนั้น พวกเขาก็ให้ข้าวปลาอาหารเลี้ยงดูมันจนเติบใหญ่ จนตอนนี้นวลมีหน้าที่หลักคือ ดูแลรักษาความปลอดภัยกระทรวงการต่างประเทศยามวิกาล
ขณะที่ในช่วงกลางวัน นวลจะใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการพักผ่อน ผึ่งพุงรับแดดกลางสนามหญ้า โชว์ความน่ารักสร้างความบันเทิงให้กับเจ้าหน้าที่และข้าราชการกระทรวงฯ อาจจะมีช่วยจับหนูให้บ้าง แต่ก็ไม่บ่อยหนัก โดยรวมแล้วนวล เป็นที่รักของคนกระทรวงการต่างประเทศ เช่นเดียวกับ “เจ้าเอเปค” สุนัขพันธุ์ไทย ขนสั้น สีน้ำตาล ซึ่งอยู่ในความทรงจำของข้าราชการกระทรวงยุคศตวรรษที่ 20 จวบจนตอนนี้ ก็ถือเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ ที่ทำให้ประชาชนไทยทั่วไปรู้จักการประชุมเอเปค ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2546
“เอเปค” เพื่อนแท้คนบัวแก้ว เป็นสุนัขตัวเดียวและเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดเดียวในสมัยนั้น ที่อาศัยร่มชายคากระทรวงบัวแก้วมานานกว่า 12 ปี มันเป็นที่รักของชาวบัวแก้ว ตั้งแต่อธิบดี ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ที่ต่างคุ้นเคยกับสุนัขแสนรู้ตัวนี้เป็นอย่างดี
เอเปค เกิดและโตในช่วงปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ทำให้คนในกระทรวงตั้งชื่อมันว่า เอเปค และว่ากันว่า เอเปค มีพี่น้องอยู่ฝั่งกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ส่วนใหญ่พวกมันจะอาศัยอยู่แถวเกาะกลางถนนพระราม6 ครั้งที่มีการกวาดจับสุนัขจรจัด โชคดีที่เอเปครอดมาได้ เพราะรปภ.กระทรวงการต่างประเทศเอามาเลี้ยงดูก่อน เพราะเกรงรถจะชน เมื่อพอเติบใหญ่ เอเปคจะติดสาว หรือออกเที่ยวเตร่ตามประสาบ้าง แต่ก็ไม่เคยละทิ้งหน้าที่และกระทรวงบัวแก้วไปไกล
เอเปค สมกับเป็นสุนัขที่เติบโตในกระทรวงการต่างประเทศ เพราะมีมาดเข้ม สุขุมและสง่างาม ทำหน้าที่เปรียบได้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไร้เครื่องแบบ ปฏิบัติหน้าที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับเจ้าหน้าที่ รปภ.ประจำกระทรวงมาอย่างยาวนาน แม้ในช่วงหลังๆ รปภ.เปลี่ยนทีม แต่เอเปคก็ยังทำหน้าที่ต่อไป อาจจะมีชื่อเล่นใหม่เพิ่มขึ้น ตามแต่พี่ รปภ.จะตั้งให้ว่า "บ็อบบี้" และ"ดุ๊กดิ๊ก"
กว่าสิบปีที่ เอเปค คอยอารักขากระทรวงบัวแก้วอย่างไม่มีวันหยุดพัก เริ่มตั้งแต่รุ่งสาง “เอเปค” ทำหน้าที่ออกเดินตรวจตราไปพร้อมๆ กับเจ้าหน้าที่ รปภ.ประจำกระทรวง เพื่อดูแลความเรียบร้อยก่อนพระอาทิตย์จะขึ้น แล้วถึงจะไปยืนประจำการที่หน้าประตูฝั่งพระราม 6 รอต้อนรับบรรดาข้าราชการบัวแก้ว ที่ทยอยเดินทางมาทำงาน และผู้ที่มาติดต่อราชการ จนกระทั่งสายๆ เอเปคถึงค่อยแอบไปพักหลบสายตาใต้ร่มไม้ใหญ่ สลับกับออกลาดตระเวนเลียบรั้วกระทรวงบัวแก้วเป็นระยะๆ
ก่อนที่ช่วงบ่ายเย็นๆ จะกลับมาประจำการที่เดิม เพื่อส่งชาวบัวแก้วกลับบ้าน และในทุกค่ำคืน ไม่ว่าท้องฟ้าจะเห็นประกายแสงดาว หรือปกคลุมด้วยเมฆฝน เอเปคจะเดินเคียงคู่เจ้าหน้าที่ รปภ. ตรวจตรากระทรวงอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
นี่คือ สัตว์เลี้ยงของคนกระทรวงการต่างประเทศที่นอกจากจะเฝ้ารักษาความปลอดภัย อย่างน้อยในช่วงเอเปค พวกมันก็เป็นพรีเซนเตอร์สร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศได้อย่างดี
ติดตามข่าวสาร การประชุมต่างๆ ได้ที่ เว็บไซต์ https://www.apec2022.go.th/ ที่พร้อมให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเวทีการประชุมนี้
ขอขอบคุณที่มา : @mfa_thailand