svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กอนช. เตือนพ.ท.เสี่ยงน้ำหลาก 19 จว. ขณะเหนือ-อีสาน-ตะวันออก ฝนตกหนัก

10 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กอนช. เตือนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง 19 จังหวัด ระบุ"เหนือ-อีสาน-ตะวันออก" มีฝนตกหนักบางพื้นที่ ขณะฝนตกหนักอีกรอบ 14-15 ก.ย.นี้

10 กันยายน 2565 สถานการณ์น้ำท่วม ยังคงเกิดขึ้นทั่วประเทศ ล่าสุด กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 10 กันยายน 2565 ระบุว่า..

 

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 36/2565 ลงวันที่ 2 กันยายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 4 - 10 กันยายน 2565 มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ดังนี้.. 

  • ภาคเหนือ จังหวัดน่าน ตาก และอุทัยธานี 
  • ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด 
  • ภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม
  • ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต

เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย

2. สภาพอากาศ

การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 10 - 13 ก.ย. 65 ร่องมรสุมเริ่มมีกำลังอ่อนลงและจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง 

 

ส่วนในช่วงวันที่ 14 - 15 ก.ย. 65 ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

เตือนพื้นที่เสี่ยงภัย ฝนตกหนักถึงหนักมาก ​​​​​​​
 

3. สถานการณ์น้ำท่วม

ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง

 

ในวันที่ 4 - 9 ก.ย. 65 มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เขตเมืองและเกษตรกรรม 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี ปทุมธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร ชัยภูมิ สระแก้ว ระยอง และจันทบุรี


4. มาตรการและการช่วยเหลือ

4.1 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับเทศบาลนครรังสิต ปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย พร้อมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 1 คัน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมขัง บริเวณชุมชนสะพานแดง ตำบลประชาธิปปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี


4.2 กรมทรัพยากรน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง บริเวณหมู่บ้านแดนใหม่วิลล่าและบริเวณสะพานคลองกิ่ว หมู่ที่ 3 ตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบปัญหาน้ำท่วม ที่กำลังได้รับความเดือดร้อน ซึ่งมีสภาพน้ำหลากเข้าท่วมขังบ้านเรือนและเส้นทางสัญจรในพื้นที่

กอนช. รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ

ขณะที่ สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 ก.ย. 65 มีดังนี้ 

  • ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
  • ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สุโขทัย (101) กรุงเทพมหานคร (101 มม.) จ.เลย (100 มม.)


เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง ดังนี้

  • ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์
  • ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
  • ภาคใต้ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และพังงา


แม่น้ำสายหลัก

  • น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น


ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 52,806 ล้าน ลบ.ม. (64%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 46,146 ล้าน ลบ.ม. (65%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ แม่งัด แควน้อย อุบลรัตน์ ขุนด่านปราการชล บางพระ หนองปลาไหล และบึงบระเพ็ด

กอนช. เตือนพ.ท.เสี่ยงน้ำหลาก 19 จว. ขณะเหนือ-อีสาน-ตะวันออก ฝนตกหนัก


กอนช. ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เร่งหน่วยงานแก้ไขปัญหาพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามนโยบายของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนายการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จากสถานการณ์ฝนตกหนักสะสมส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และ จ.ปทุมธานี โดยกรมชลประทานได้เร่งระบายน้ำผ่านแนวคลอง ดังนี้

 

  • คลองแนวขวางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น คลองหกวาสายล่าง เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำนครนายก ผ่านสถานีสูบน้ำสมบูรณ์ จ.นครนายก สามารถระบายน้ำได้ประมาณวันละ 1.3 ล้าน ลบ.ม.
  • คลองแสนแสบ (คลองบางขนาก) ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง ผ่านประตูระบายน้ำบางขนาก จ.ฉะเชิงเทรา สามารถระบายน้ำได้ประมาณวันละ 4.65 ล้าน ลบ.ม.
  • คลองประเวศบุรีรมย์ ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง ผ่านประตูระบายน้ำกลางคลองประเวศ จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนระบายออกสู่อ่าวไทย
  • คลองด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น คลอง 13 และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต แบ่งรับน้ำจากทางตอนบนของกรุงเทพมหานคร ก่อนใช้สถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่ริมคลองชายทะเล เร่งระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทย ซึ่งสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำที่ตั้งอยู่ตามแนวคลองชายทะเล มีศักยภาพระบายน้ำรวมกันได้ประมาณ 42 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

 

ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี กอนช. ได้เร่งให้ดำเนินการระบายน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด โดยวานนี้ (9 ก.ย. 65) มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,448 ลบ.ม.ต่อวินาที ในขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังคงอัตราการระบายน้ำอยู่ที่300 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่จะไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน 

กอนช. เตือนพ.ท.เสี่ยงน้ำหลาก 19 จว. ขณะเหนือ-อีสาน-ตะวันออก ฝนตกหนัก
 

logoline