svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"เลือกตั้ง66" รทสช.-พปชร. สูตรพิสดาร พลิกเกมส้มหล่น "อนุทิน"เก้าอี้นายกฯ

22 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ฝ่าสมรภูมิ"เลือกตั้ง66" นครสวรรค์ เปิดเบื้องลึก"วีระกร คำประกอบ" ผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้พรรคพลังประชารัฐได้ส.ส.เข้าสภาถึงสี่คน วันนี้ บ้านใหญ่นครสวรรค์ย้ายเข้ารัง"ภูมิใจไทย" ติดตามเจาะประเด็นร้อน (ชมคลิป)   

"ผมไม่ใช่นักเลือกตั้งที่พอมีพระราชกฤษฏีกาประกาศยุบสภา ก็ออกมาตระเวนซื้อหัวคะแนนซื้อประชาชน แต่ผมเป็นนักการเมืองอาชีพ ที่ต้องอยู่กับประชาชนตลอด "

 

"วีระกร  คำประกอบ"  อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 8 สมัย ที่เพิ่งลาออกจากสมาชิก"พรรคพลังประชารัฐ" มาสังกัด"พรรคภูมิใจไทย" กล่าวถึงคำจำกัดความ "อาชีพนักการเมือง" กับ "นักการเมืองอาชีพ" 

 

"วีระกร" ถือเป็นนักการเมืองคนสำคัญในจังหวัดนครสวรรค์  หากเจาะเบื้องลึกในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 "วีระกร" มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ของ"พรรคพลังประชารัฐ"เข้าสภาได้ถึง 4  ราย แต่วันนี้สถานการณ์กำลังเปลี่ยน เมื่อ 4 รายของพปชร.แยกย้ายเข้าค่ายอื่น ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ใน"พปชร." 

 

จึงไม่แปลกใจเลย ทำไม "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพปชร. จึงต้องรีบลงพื้นที่ นครสวรรค์ เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา แถมเป็นการตัดหน้า พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกฯที่ย้ายเข้าสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีกำหนดการลงพื้นที่นครสวรรค์ในวันที่ 30 มกราคม  

"เลือกตั้ง66" รทสช.-พปชร. สูตรพิสดาร พลิกเกมส้มหล่น "อนุทิน"เก้าอี้นายกฯ

 

แรงจูงใจ ย้ายเข้าสังกัด พรรคภูมิใจไทย 

 

"วีระกร"  เล่าถึงเหตุผลการสละเรือ"พลังประชารัฐ"มาขึ้นฝั่ง"ภูมิใจไทย" ว่า เวลาเราคุยประเด็นกับท่านอนุทินในสภา รู้สึกเป็นกันเอง เขารับความรู้สึกว่าเขารับประเด็นเราได้ เราพูดถึงความเดือดร้อน เกษตรกร เขาจะเข้าใจ เขาจะบอกว่า พี่มาอยู่กับผมเถอะ พรรคผมไม่มีคนเข้าใจเรื่องพวกนี้  เขาคงชวนไปเรื่อยๆเจอใครก็ชวน แต่เขาเห็นความสำคัญชาวนาชาวไร่  มีความรู้สึกเหมือนเรา

 

แต่ถ้า เราคุยกับ "ลุงตู่"  กับ "ลุงป้อม"  ท่านไม่เข้าใจนะ  แบบพูดในสภา พูดเรื่องสร้างความมั่นคงให้เกษตรกร จัดซื้อปุ๋ย ท่านตอบมาว่า "วีระกร"ไม่ต้องกังวล ผมเพิ่งกลับจากซาอุ ซื้อปุ๋ยมาขายให้เกษตรกรแล้ว  ตรงนี้จะมีความแตกต่างกัน เซนท์ของนักการเมืองกับนายทหารเก่า ต่างกันเยอะ

 

"ประเมินลึกไปกว่านั้น คือ การที่ผมออกข่าวช่วงนั้นไม่อยากให้ "ลุงตู่" ตั้งพรรคใหม่ เพราะฉะนั้นทำให้เห็นชัดเจนทำให้พปชร.แตกเป็นพรรคขนาดกลางสองพรรค แทนที่จะเป็นพรรคขนาดใหญ่ที่จะเป็นแกนนำรัฐบาลต่อไปมันจะกลายเป็นไม่ใช่"  วีระกร กล่าว 

 

"เลือกตั้ง66" รทสช.-พปชร. สูตรพิสดาร พลิกเกมส้มหล่น "อนุทิน"เก้าอี้นายกฯ

 

"เห็นมั้ยว่า วิธิคิดทหารและนักการเมืองต่างกัน วิธีคิดทหาร ถ้าเรามีหนึ่งพรรคคือพปชร.ได้ 115 เสียง  ถ้าเราได้สองพรรค จะได้  230 เสียง  นี่คือความคิดของทหาร  เขาไปตั้งพรรคหนึ่งหวังว่าจะรวมเสียงส.ส.ได้ 200 เสียงจะสามารถดำเนินนโยบายของนายกฯได้ แต่มันผิด เพราะท่านไม่ได้เพิ่มฐานเสียงเลย ท่านไปตกปลาในบ่อเพื่อน  แปลว่า พปชร.จะเล็กลงจะเหลือเท่าไหร่ไม่รู้  รทสช.จะได้ส่วนหนึ่งไป แต่อีกส่วนเมื่อพปชร.อยู่แน่นดีๆ "ลุงตู่"ดึงคนเขาไป เกิดกระแสแผ่นดินไหว กลายเป็นสึนามิ นี่ไม่รู้คนที่เหลือจะไปไหนเพราะยังไม่ถึงวันยุบสภา แต่บอกได้เลยว่า พปชร.จะไม่เป็นแกนนำรัฐบาลเหมือนเก่าแล้ว"

"มองตรงๆเลยว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ ถ้า รทสช.ได้ 25 เสียง ซึ่งผมคิดว่าเขาถึง   ในใจประเมินว่าเขาได้  35 เสียง ท่านประยุทธ์ได้เป็นนายกฯอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเงื่อนไขรธน.มาตรา 272 ตามการสนับสนุนของ สว. และ "ลุงป้อม" เองก็ได้พูดแล้วว่า ไม่ขัดข้องที่ท่านประยุทธ์เป็นต่อ ผมพยายามให้สัมภาษณ์ว่า "ลุงป้อม" พูดอย่างนี้ "ลุงตู่ก็ดื้อที่ตั้งพรรคใหม่ อย่างที่เรียนแล้ว เกิดสึนามิในพปชร. ไม่รู้ลุงตู่ไปเชื่อเสธ.ไหนไม่รู้  ไปคิดว่ารวมสองพรรคได้เสียงมากขึ้น แต่จะได้เสียงน้อยกว่าพปชร.เดิม"

 

วีระกร คำประกอบ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 8 สมัย จ.นครสวรรค์

 

"พูดกันตรงๆ ผมให้สัมภาษณ์ปากเปียกปากแฉะแทบตาย ท่านจะย้ายไปทำไม "ลุงป้อม"ให้ท่านเป็นอยู่แล้วนายกฯ กลายเป็นว่าเกิดกระแสดันทุรัง ได้ยินหนาหูว่า สว.จะเสนอแก้รธน.ตัดเงื่อนไขนายกฯ 8 ปีออกไป ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ถ้านึกถึงการรวมเสียงพรรคสองพรรค รทสช. กับ พปชร. สมมติ "ลุงป้อม" ยอมหยวนๆให้แก้ แต่พรรคไหนจะยอมแก้ ปชป.จะยอมหรือ ปชป.อยากเป็นนายกฯ อนุทินหรือ คงไม่ยอม ไม่แก้ให้ เสียงแก้รธน.ต้องเสียงเกินกึ่งของสองสภา ฉะนั้นไม่น่าเป็นไปได้"

 

"มองตามเนื้อผ้า ไม่ได้ใช้ซิกซ์เซ้นส์ก็"ลุงตู่"ทำให้พรรคเขาเล็กลง พปชร.จะไม่ใช่แกนนำรัฐบาลอีกต่อไป "พรรคลุงตู่" เอาไป พรรคอื่นดูดไปบ้าง เกิดกระแสกระเพื่อมอย่างรุนแรง ถ้า"ลุงตู่"ยังอยู่กับ"ลุงป้อม" มีแฟนคลับภาคใต้  ได้เป็นนายกฯหมดวาระ "ลุงป้อม"ไปต่อ ไม่เห็นมีอะไร"  วีระกรอ่านเกม การเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้และชี้ทิศทางในอนาคต   

 

"วีระกร"กับ"กลุ่มสามมิตร " 

 

"วีระกร" ถือเป็นผู้มากประสบการณ์ทางการเมือง เขาเคยสังกัดพรรคการเมืองหลายพรรค โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อปี 2526 ในสังกัดพรรคกิจสังคม และได้รับเลือกตั้งต่อเนื่องอีก 5 สมัย ในปี 2531 จนถึงปี 2539 ในสังกัดพรรคต่างๆ อาทิ พรรคเอกภาพ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย และพรรคความหวังใหม่ กระทั่งร่วมงานกับ"ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ในสังกัดพรรคไทยรักไทยก่อนโดนยุบพรรคและเจ้าตัวถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากนั้นกลับมาสังกัดพปชร. ก่อนที่จะย้ายเข้า "ภูมิใจไทย"ในปัจจุบัน 

 

ช่วงที่"วีระกร" เข้าร่วมงานการเมืองกับพปชร. จึงมีการมองกันว่าเขามาพร้อม"กลุ่มสามมิตร" ซึ่งเจ้าตัวปฏิเสธ แม้รู้จัก"กลุ่มสามมิตร"แต่ไม่ได้มาเพราะกลุ่มสามมิตร

 

"ตอนที่ผมมาพลังประชารัฐไม่รู้เลยว่ากลุ่มสามมิตรจะไปไหน เพียงแต่ความรู้สึกว่า หลังเลือกตั้ง ยังไงพปชร.จะเป็นแกนนำรัฐบาล เพราะ รธน.ฉบับนี้ ดีไซน์ให้พปชร.เป็นแกนนำรัฐบาล"

 

แต่ภายหลัง "วีระกร"ออกมาสังกัดภูมิใจไทย ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในพปชร. จึงมีการมองกันว่าอาจส่งผลไปถึงกลุ่มสามมิตรต้องตัดสินใจไปทางใดทางหนึ่ง  

 

"เลือกตั้ง66" รทสช.-พปชร. สูตรพิสดาร พลิกเกมส้มหล่น "อนุทิน"เก้าอี้นายกฯ

 

"เรื่องกลุ่มสามมิตรจะย้ายออกพปชร.หรือไม่  ขออนุญาตไม่สัมภาษณ์ เพราะให้เกียรติกัน ความจริงพูดก็พูด ผมรู้ว่าเขาจะไปไหน พอรู้ แต่ไม่ถึงกับมั่นใจ ตอนนี้เงื่อนไขยังปรับเปลี่ยนได้เรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่ยุบสภา เรายังบอกไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าคนที่จะอยู่หรือไม่อยู่ แต่ความสนิทสนมพอจะรู้ ส่วนจะมาภูมิใจไทยหรือไม่ ไม่ขอตอบ( หัวเราะ )   แต่ว่าเกิดสึนามิในพรรคพปชร.ไปแล้ว  ผมเสียโต๊ะจีนเพราะเรื่องนี้  ผมไม่เชื่อว่าทหารจะคิดอีกแบบที่แตกพรรคออกมา"  วีระกร กล่าวถึงสถานการณ์กลุ่มสามมิตรหลังเกิดสึนามิในพปชร. 

 

"พี่ทักษิณ คิดผิด" เสนอ "อุ๊งอิ๊งค์" แคนดิเดตนายกฯ

 

"วีระกร" วิเคราะห์การเลือกตั้งครั้งนี้ ว่า หากเปรียบเทียบการเลือกตั้งปี 62 กับ ปี 66 ต่างกันสิ้นเชิง จากเป็นบัตรใบเดียวต้องเลือกทั้งคนทั้งพรรค ผมยังอุตส่าห์มาได้เพราะบางพื้นที่ในนครสวรค์ กระแสพรรคพปชร.ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เลือกตั้งครั้งที่แล้วค่อนข้างจะหนัก แต่เลือกตั้งครั้งนี้ เป็นบัตรสองใบก็คนละบริบทเลย บัตรใบเดียวชอบคนไม่ชอบพรรค ในที่สุดเราชนะด้วยคะแนนพอสมควรชนะคนที่สองสี่พันคะแนน เป็นการชนะน้อยที่สุดตั้งแต่เข้าสู่วงการเลือกตั้ง  ปกติต้องชนะห่างสองหมื่น 

 

คราวนี้การเลือกตั้งปี 66 กระแสพรรคมีส่วนต่อส.ส.หรือไม่ ตอบว่า มี แต่ไม่มาก เพื่อไทยกระแสดีขึ้น อย่าลืมว่าเขาไม่ได้อยู่พื้นที่เลย ในขณะที่ผมไปงานสิบเจ็ดงาน ไม่ใช่แค่ยกมือไหว้กลับ แต่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่

 

"ถามกระแสเพื่อไทยดีไหม กลัวไหม ก็ยังดีแต่ไม่ฟีเวอร์เหมือนปี 62 กระแสฟีเวอร์คือ ทหารปกครองมาห้าปี กระแสที่เขาเคยทำให้ราคาข้าวหมื่นสองหมื่นสาม แล้วช่วงคสช.ราคาข้าวเหลือหกเจ็ดพัน  เพราะฉะนั้นความเป็นฟีเวอร์ช่วงนั้นมีเยอะ แต่ช่วงนี้ผมว่าลดลงไปเยอะ" 

 

"โดยเฉพาะการที่เพื่อไทยเสนอตัว "อุ๊งอิ๊งค์" เป็นนายกฯ ถ้ายังคงภาพพี่ทักษิณไว้อันนี้น่ากลัว แต่พี่ทักษิณ คิดผิด เอาอุ๊งอิ๊งค์เป็นแม่งานหวังว่าจะได้เสียงจากคนรุ่นใหม่ อย่าลืมคนรุ่นใหม่ ยังไงคนรุ่นใหม่เลือก"ก้าวไกล"เขาไม่เลือกเพื่อไทย งานนี้พี่ทักษิณคิดผิด"  วีระกร กล่าวอย่างตรงไปตรงมา 

"เลือกตั้ง66" รทสช.-พปชร. สูตรพิสดาร พลิกเกมส้มหล่น "อนุทิน"เก้าอี้นายกฯ

 

คราวที่แล้วผมโทรไปชมพี่ทักษิณนะที่เอายิ่งคุณลักษณ์ขึ้น บอกพี่แน่มาก อ่านเกมขาด เอาผู้หญิงขึ้นมาตรงประเด็น เพราะฉะนั้นคุณยิ่งลักษณ์ได้คะแนนมหาศาล คนไม่ชอบทหาร  คุณยิ่งลักษณ์จึงได้คะแนนมหาศาล

 

แต่คราวนี้ไม่ใช่ หวังว่าจะเอาคะแนนเด็ก โดยเอา"อุ๊งอิ๊งค์"มา มันไม่ใช่ คะแนน"พี่ทักษิณ" คือชาวไร่ชาวนาไม่ใช่คะแนนเด็ก เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ไม่ใช่เด็กหวังว่าจะเอา"อุ๊งอิ๊งค์"มาแย่งคะแนนก้าวไกลไม่มีทาง ตรงกันข้ามเด็กรุ่นใหม่จะมองว่า พรรคนี้เหมือนมาหลอกเขานะ เอาอุ๊งอิ๊งค์มา ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์อะไรเลย  ควรเอาคนมีประสบการณ์ อย่างหมอมิ้งค์ "นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช" หรือ"นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" ก็ยังดีกว่า"อุ๊งอิ๊งค์"  จริงอยู่คะแนน"อุ๊งอิ๊งค์" ไปตรงไหนอันดับหนึ่ง แต่อันดับหนึ่งนิดเดียว ไม่เหมือนกับชู"พี่ทักษิณ" คะแนนห่างกันเยอะ ผมคิดว่า"พี่ทักษิณ"มองผิด เพราะแกไม่ได้อยู่เมืองไทยแกไม่เข้าใจความรู้สึก" 

 

วีระกร  คำประกอบ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนครสวรรค์ 8 สมัย

 

 

สถานการณ์บีบ"อนุทิน" ถึงเก้าอี้นายกฯ

 

กลับมาที่พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของ "อนุทิน  ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรค ที่มีการประเมินหลังเลือกตั้ง 66 โอกาสความเป็นไปได้ของ"อนุทิน" มีสิทธิถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี  

 

"วีระกร" มองว่า "คุณอนุทินจะเป็นนายกฯ แต่ไม่ใช่ครั้งนี้นะ ครั้งนี้ยังไง "ลุงตู่ก็เป็น แต่"ลุงตู่"จะเป็นด้วยความยากลำบาก จากการที่มีเสียง 30 - 40 เสียงไม่ง่ายหรอกนะ ที่จะผ่านกม.แต่ละฉบับออกไป คุณต้องขอทุกเรื่อง ปี 67 ได้เป็นแน่ อันนี้พูดไป คุณอนุทินไม่ชอบนะ เขาบอกไม่อยากเปิดตัว เขาบอกไม่อยากเป็น  ผมบอกไม่ต้องเขินหรอก สถานการณ์จะบีบบังคับให้ท่านเป็นเอง"

 

"การเมืองอยู่ที่สถานการณ์ ใครจะได้เป็นนายกฯจะเชียร์กันให้เป็น ไม่ได้เป็นหรอก แต่มันต้องได้เป็นตามสถานการณ์ก็คือ รธน.ฉบับนี้ออกแบบให้พปชร.เป็นแกนนำรัฐบาลเท่านั้น และเสนอ "คุณประยุทธ์" คนเดียว ได้เป็นนายกฯวันยันค่ำ"

 

"คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน สว. ตามมาตรา 272 ก็มีโอกาสอีกครั้งหนึ่งในการยกมือ ให้ท่านประยุทธ์เป็นนายกฯและ "ลุงป้อม"ก็บอกแล้วท่านไม่แข่ง เพราะเป็นได้แค่ช่วงระยะเวลาจำกัด มาถึงตอนนั้น"ลุงป้อม" ก็อาจโยน เพราะเห็นว่า ขนาดคุณประยุทธ์เป็นยังแย่เลย ผมอยากให้มองสถานการณ์ล่วงหน้า ท่านประยุทธ์อยู่ไม่มีความสุขหรอก"

นักการเมืองผู้คร่ำหวอดบนสนามการเมือง  กล่าวทิ้งท้าย 

 

ชมคลิป >>> ฝ่าสมรภูมิเลือกตั้ง66 EP.1

 


 

logoline