svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"พปชร.-รทสช.-ภท.-ปชป." ขยับ กลบจุดอ่อน สร้างจุดแข็งสู้"ศึกเลือกตั้ง66"

13 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การลาออกของ"วีระกร คำประกอบ"จากพลังประชารัฐไปยังภูมิใจไทย ไม่ใช่คลื่นลูกแรกที่ทำให้พปชร.สั่นไหวหากแต่ยังมีคลื่นอีกหลายลูกโหมพัดใส่ และไม่ใช่เกิดขึ้นกับ "พปชร."เท่านั้น ติดตามใน"เจาะประเด็นร้อน"

จังหวะก้าวของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ไม่ว่าเป็น "พรรคพลังประชารัฐ"  "ภูมิใจไทย" "พรรคประชาธิปัตย์" หรือแม้แต่ "พรรครวมไทยสร้างชาติ" ที่มี"ลุงตู่"กำลังเป็นที่จับตามอง เพราะ ไม่ว่าพรรคใดพรรคหนึ่งขยับ มีผลสะเทือนไปถึงอีกพรรคในการเตรียมสู้ศึก "เลือกตั้ง66"

 

นับตั้งแต่ "พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเปิดตัวเข้าสังกัด "พรรครวมไทยสร้างชาติ" พร้อมกับมีการเปิดตัวอดีตส.ส.และส.ส.ปัจจุบันจากพรรคอื่นที่ย้ายเข้าสังกัดราว 30 ชีวิต

 

อีกเหตุการณ์ จากการประกาศลาออกจากส.ส.กลางสภาของ"วีระกร  คำประกอบ" ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐเข้าสู่ค่าย"ภูมิใจไทย" ภายใต้การนำของ"อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรค แม้ในเวลาต่อ "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯและหัวหน้าพรรค พปชร. จะแถลงเปิดตัว 28 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 4 ภาค 19 จังหวัดในส่วนพื้นที่ภาคกลางก็ตาม

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ร่วมเปิดตัวสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ  ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

เหล่านี้ เป็นความพยายามของแต่ละพรรคต้องการโชว์ศักยภาพผ่านสื่อให้รู้ว่าแบรนด์ความเป็น"พรรคการเมือง" ยังขายได้ ไม่ได้แพแตก ไม่ได้ร่อยหรอ มีไหลออกก็มีไหลเข้า มีการเติมเต็มตลอดเวลา 

 

ทว่า เมื่อเจาะลึกลงไปถึงบรรดาว่าที่ผู้สมัครที่ไหลเข้าและไหลออก อาจเห็นอีกภาพหนึ่ง เพราะมีตัวระดับเกรดเอ เกรดบี หรือเกรดซี  นั่นคือความเป็นจุดอ่อน-จุดแข็ง ที่เริ่มเกิดขึ้นภายหลังเหล่านักเลือกตั้ง เดินสายโยกย้ายถ่ายเท หาสังกัดพรรคที่ตนเชื่อว่า จะไปได้ไกลสุด  

 

พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯและหัวหน้พรรคพลังประชารัฐ

เริ่มจาก"พลังประชารัฐ"กลายเป็นพรรคที่ต้องพึ่งพา "กระสุน" เกือบ 100%  เพราะกระแสแทบไม่มีเลย เนื่องจากกระแสที่ได้มาในการเลือกตั้งปี 62 คือ กระแสจาก "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา แต่เนื่องจาก "พล.อ.ประยุทธ์"  ย้ายไปอยู่รวมไทยสร้างชาติ มีผลกระทบต่อพรรคพลังประชารัฐ ในการเสนอชื่อ "ลุงป้อม" เป็นแคนดิเดตนายกฯจะปังหรือไม่

 

 

 

ประการต่อมา ต้องยอมรับว่า การเติบโตของ"พรรคพลังประชารัฐ" ยังได้กระแสจากกลุ่มสี่กุมาร เคยสร้างภาพมือเศรษฐกิจ นักบริหารรุ่นใหญ่ รุ่นใหม่

 

แต่วันนี้กลุ่มสี่กุมาร ตั้งแต่เบอร์ใหญ่ อย่าง"สมคิด จาตุศรีพิทักษ์"  อุตตม สาวนายน  สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  มีปัญหาภายในกับพปชร.กระเด็นออกจากพรรคไปหมดแล้ว ต้องไปตั้งพรรคใหม่เอง 

 

กลับมาโฟกัสที่ตัวหัวหน้าพรรค "พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ"  ในวันที่ไม่มี "ลุงตู่"เหลือไว้แต่จดหมายเปิดใจในการจากกันด้วยดี  ก็ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า "ลุงป้อม" ไม่มีความโดดเด่นในแง่การสร้างกระแสแห่งความหวัง แต่กลับมีความโดดเด่นในแง่ความเป็น "บิ๊ก บราเธอร์" ความเป็น "ผู้มากบารมี" และ "ใจถึงพึ่งได้" จึงเป็นขวัญใจ ส.ส. แต่ไม่ได้เป็นขวัญใจมหาชน 

 

"พปชร.-รทสช.-ภท.-ปชป." ขยับ กลบจุดอ่อน สร้างจุดแข็งสู้"ศึกเลือกตั้ง66"

 

ดูไส้ในพรรคกันบ้าง  ส.ส.ที่ยังเหลืออยู่ ส่วนใหญ่เป็น "บ้านใหญ่" ในแนวตระกูลการเมือง และผู้มีอิทธิพลระดับท้องถิ่น (อยู่กับ บิ๊กบราเธอร์ ได้) โดยหวังผลต่างตอบแทนทางการเมือง เช่น ตำแหน่ง และเอื้อประโยชน์ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น รวมถึงโอกาสในการบริหารแบบกินรวบในระดับจังหวัด 

 

แม้แต้มต่อของพลังประชารัฐ คือโอกาสในการเข้าร่วมรัฐบาลสูงมาก ไม่ว่าฝ่ายไหนจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ตาม (ถ้าเป็นฝ่ายบิ๊กตู่ เสี่ยหนู หรือพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ก็ขาด "บิ๊กป้อม" ไม่ได้ , ถ้าเป็นฝ่ายเพื่อไทย ก็มี"ดีลลับดูไบ" หวังบารมีระวังปฏิวัติ และหวังเสียง ส.ว.มาเติมตอนโหวตนายกฯ) 

วิรัช  รัตนเศรษ   และ  สันติ พร้อมพัฒน์  สองแกนนำพรรคพลังประชารัฐ

แต้มต่อนี้ ทำให้ "บ้านใหญ่" ที่เป็นพวกต่างตอบแทนทางการเมือง ยังอยู่กันครบและไม่ย้ายพรรค แต่บรรดา ส.ส.ดาวฤกษ์ที่ลงพรรคไหนก็ชนะ แต่ไม่ได้มีสถานะ "บ้านใหญ่" กลับอยู่ไม่ได้ และทยอยไหลออก เพราะพรรคมีปัญหาภายในจากการบริหารจัดการภายในพรรคเอง ดังปรากฎรอยปริแยกจากเครือข่าย"วิรัช รัตนเศรษฐ" และการรีโมทจากนอกพรรคของ "ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า" อีกด้วย 

กระแสไหลออกของบรรดา ส.ส.ที่แสงในตัวเอง และระดับยังไม่ถึง "บ้านใหญ่" ดูตัวอย่างได้จากพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง-ภาคกลางตอนบน  เริ่มจากนครสวรรค์   ผลงานการเลือกตั้งปี 62 พรรคพลังประชารัฐมี ส.ส.นครสวรรค์ 4 คน จาก 4 เขต แต่วันนี้มีแนวโน้มหายเกลี้ยง 

 

วีระกร  คำประกอบ   ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย

 

เขต 1 นายภิญโญ นิโรจน์ - เตรียมวางมือ ส่งลูกสาวลงแทน แต่ลงในสีเสื้อภูมิใจไทย   เขต 2  นายวีระกร คำประกอบ ลาออกพปชร.ย้ายเข้าสังกัดภูมิใจไทย  เขต 3  นายสัญญา นิลสุพรรณ  รายนี้อยู่ซุ้ม "เสธ.หิ" ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ยืนข้างนายกฯ อยู่รวมไทยสร้างชาติ เขต 6  นายนิโรธ สุนทรเลขา  มีข่าวย้ายไปรวมไทยสร้างชาติ 


พิษณุโลก มี 5 เขต ส.ส. 5 คน โดยเลือกตั้งปี 62 พลังประชารัฐได้ 2 คน  แต่ล่าสุดเขต 3  นายอนุชา น้อยวงศ์ จากพลังประชารัฐ ลาออกจาก ส.ส. ย้ายซบภูมิใจไทยไปเรียบร้อยแล้ว  ขณะที่ นายมนัส อ่อนอ้าย เขต 5 พิษณุโลก มีชื่ออยู่ในซุ้ม “เสธ.หิ” จึงมีแนวโน้มย้ายไปรวมไทยสร้างชาติค่อนข้างแน่  ทำให้พลังประชารัฐมีโอกาสสูญพันธุ์ที่เมืองสองแคว 

 

ตามด้วย พิจิตร มี 3 เขต ส.ส. 3 คน  พลังประชารัฐเคยเป็นแชมป์เก่า กวาดไปทั้ง 3 เขตในการเลือกตั้งปี 62  แต่ปัจจุบัน 1 ใน 3 คือ นายสุรชาติ ศรีบุศกร ส.ส.พิจิตร เขต 3 ถูกขานชื่ออยู่ในซุ้ม "เสธ.หิ" จึงน่าจะไปรวมไทยสร้างชาติ ส่วนอีก 2 คนไม่ง่าย เพราะภูมิใจไทยเปิดเกม "ปิดประตูตีแมว" ดึงบ้านใหญ่ "ภัทรประสิทธิ์-ขจรประศาสน์"เข้าชายคา หวังทวงความยิ่งใหญ่กลับมา เหมือนยุคที่เคยอยู่ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา 

 

ยังไม่นับกำแพงเพชรที่อาจมี “บ้านใหญ่” โดยเฉพาะกลุ่ม"นายวราเทพ รัตนากร" พลิกผันจากพลังประชารัฐอีกระลอก,เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครการันตีว่าจะอยู่กับบ้านป่ารอยต่อฯ ยกเว้นสาย"นายไผ่ ลิกค์" ที่มาพร้อม"ผู้กองธรรมนัส"เท่านั้น 

 

นี่คืองานหินของ"พลังประชารัฐ"  ที่แม้จะใช้"กระสุน" จัดหนัก แต่อาจเป็น "กระสุนด้าน" และต้องไม่ลืมว่า "อำนาจรัฐ"  ณ ปี 2566 ไม่แข็งโป๊กเหมือนปี 62 อีกแล้ว เพราะ 3ป.ก็แยกกันเดินเป็น 2 ทาง แม้ "ลุงป้อม" จะออกจดหมายเปิดใจ กระจายผ่านสื่อในวันนี้ ว่า ยังเป็น "3 ป. Forever"  ก็ตาม 

OOOOOO

 

คราวนี้ มาพิจารณา"พรรคการเมือง"ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่า "กระแสไม่ค่อยมี" แต่ "กระสุนมีพร้อม" 

 

คำว่า "กระสุน" ในที่นี้  "อาจารย์สุขุม นวลสกุล" นักวิเคราะห์การเมืองชื่อดัง เคยให้สัมภาษณ์ "ทีมข่าวข้นเนชั่นทีวี"  เอาไว้ว่า ไม่ได้หมายถึงเงินอย่างเดียว แต่หมายถึงทรัพยากรต่างๆ ทุกด้าน  ความเป็น "ตระกูลการเมือง" ความเป็น "บ้านใหญ่"  รวมไปถึงอำนาจรัฐที่ถูกนำมาใช้เพื่อชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้ง

 

"กูรูการเมือง" หลายคนประเมินว่า แม้พรรคฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายเสรีนิยม จะเชื่อว่ามีกระแสดี โดยเฉพาะกระแสความต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ห้ามประมาท "กระสุน" โดยเฉพาะการ "ยิงลูกโดด" รายเขต รายพื้นที่ ไม่ทุ่มสรรพกำลังหาเสียงในภาพกว้างทั้งประเทศ แต่ทุ่มทรัพยากรทุกอย่างลงไปในเขตที่ตนเองมีโอกาส และมั่นใจว่าจะได้ ส.ส.เท่านั้น 

 

พรรคการเมืองกลุ่มนี้ ประกอบด้วย "พรรคภูมิใจไทย" ซึ่งเป็นต้นตำรับ "พรรคกระสุน" รองลงมาคือ พลังประชารัฐ เพราะเสีย "นายกฯลุงตู่" ผู้นำกระแสฝั่งอนุรักษ์นิยมไปแล้ว จึงต้องพึ่ง "กระสุน" เป็นหลักเท่านั้น  และอีกพรรคหนึ่งคือ "ประชาธิปัตย์" ที่ต้องหันมาเน้น "กระสุน"  เพราะกระแสโดยรวมของพรรคตกต่ำลง ไม่เว้นภาคใต้ และ "หัวหน้าจุรินทร์"  ในฐานะหัวหน้าพรรค ก็ยังไม่สามารถสร้างความประทับใจทางการเมืองในหัวใจประชาชนได้ เรียกว่ามีเสน่ห์น้อยไปหน่อย ทำให้ "บิ๊กต่อ" เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เน้นใช้ "กระสุน" โดยมองข้าม "กระแส" ตั้งเป้าต่ำสุด ต้องได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่าเดิม คือ 52 ที่นั่ง 

 

แต่แนวทางสู้ศึกเลือกตั้งในแง่ของ "กระแสไม่ลุ้น...กระสุนสิของจริง" ใช่ว่าจะไม่มีจุดอ่อนเสมอไป วิเคราะห์กันรายพรรคว่า แต่ละพรรคต้องเผชิญภาวะ "เข็นครกขึ้นภูเขา" ไม่ต่างอะไรกับพรรคใหญ่ที่มีกระแส 

 

13 ม.ค.66 พรรคประชาธิปัตย์ เปิด 8 นโยบายด้านการเกษตรสู้ศึกเลือกตั้ง 66

 

เริ่มจาก"ประชาธิปัตย์" คะแนน poppular vote ตกต่ำลง จาก 11.4 ล้านเสียง เมื่อการเลือกตั้งปี 54 เหลือเพียง 3.9 ล้านเสียง ในการเลือกตั้งปี 62 

 

งานยากของประชาธิปัตย์คือ 

 

1.พรรคปีกอนุรักษ์นิยม หรือฝ่ายตรงข้าม "ทักษิณ" มีมากขึ้น จากเดิมที่ตัวเองเป็นผู้นำเดี่ยว แต่เลือกตั้งปี 62 มีพลังประชารัฐมาแทน และภาพของ"บิ๊กตู่" กับ "3ป." ในเวลานั้น เป็นคู่ต่อสู้กับ "ทักษิณ" ได้ชัดเจนกว่า และน่าจะประสบความสำเร็จกว่า (อย่างน้อยก็สกัดทักษิณไม่ได้มีอำนาจรัฐได้หลังการรัฐประหาร และตั้งรัฐบาลต่อเนื่องมา) 

 

หนำซ้ำในปี 65-66 ยังมีคู่แข่งปีกอนุรักษ์นิยมเพิ่มขึ้น คือ "รวมไทยสร้างชาติ" ซึ่งในวันเปิดตัว สร้างภาพชัดในการสนับสนุนสถาบันหลัก ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ดูการใช้ธีมสีเสื้อมวลชนในงานเป็นสีธงชาติ การร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี  การบรรยายของแกนนำพรรค อย่าง ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่ปรึกษานายกฯ ที่อ้างอิงถึงสถาบันหลักของเมืองไทยอย่างชัดเจน ฯลฯ 

 

2.ภาคใต้ ฐานเสียงสำคัญถูกเจาะ ซึ่งไม่ใช่แค่ "เจาะไข่แดง" แต่กลายเป็น "เจาะไข่ระเบิด"  เพราะเจาะจนระเบิดเละเทะ จากที่เคยได้ ส.ส.กว่า 90% ในภาคใต้ เหลือไม่ถึง 50% คือต่ำกว่าครึ่ง และพรรคที่มาเจาะ ไม่ได้มีแต่พลังประชารัฐภายใต้การนำของ "บิ๊กตู่" ในฐานะคู่ต่อสู้กับ "ทักษิณ"คนใหม่เท่านั้น แต่ยังมีพรรคภูมิใจไทยเข้ามาร่วมแจม 

3. ตลอด 4 ปีของรัฐบาล" ภูมิใจไทย"สร้างผลงานด้านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมอย่างมากในภาคใต้ ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มลังเล อยากจะเลือกพรรคภูมิใจไทย ขณะที่รวมไทยสร้างชาติก็เจาะ "บ้านใหญ่" ไปได้หลายบ้าน หลายจังหวัด แถมยังได้ "นายกฯลุงตู่" เป็นประมุขของพรรค ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีคะแนนนิยมสูงสุดในภาคใต้ 

 

4. มีกูรูการเมืองประเมินว่า ประชาธิปัตย์มีโอกาสได้ poppular vote ต่ำกว่า 3.9 ล้านคะแนน เพราะกระแสความนิยมในหลายพื้นที่ลดต่ำลง ส่วนที่ต่ำอยู่แล้วก็ยังไม่ฟื้น 

 

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.66  พรรคประชาธิปัตย์ เปิดนโยบายพรรค 8 นโยบายเด่นด้านการเกษตร

 

ขณะที่การประเมินกันในพรรค แม้ไม่ได้พูดตรงๆ แต่มีการหารือกันเรื่องการวางลำดับผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์  อันดับปลอดภัยอยู่ที่ อันดับ 10 ไม่เกิน 12   หากคิดง่ายๆ คะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 ล้านคะแนน ได้ ส.ส. 3 คน ( จริงๆ อาจจะโหดกว่านั้น เพราะคะแนนคาดการณ์ล่าสุดอยู่ที่ 3.8 แสนคะแนน ต่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน) หากคิดแค่ตัวเลขกลมๆ 3-4 ล้านคะแนน จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ราวๆ 10-12 คน 

 

นั่นแสดงว่า แม้แต่ในพรรคเองเชื่อว่าจะได้คะแนน poppular vote ไม่มากกว่าเดิม นี่คืองานยากของประชาธิปัตย์ และเมื่อกระแสไม่ค่อยดี อาจทำให้กระสุนที่ยิงออกไป กลายเป็น "กระสุนด้าน" ได้เหมือนกัน เข้าทำนอง "รับมา แต่ไม่กาให้"(รับอะไรไม่รู้  อาจจะไม่ใช่รับเงิน แต่เป็นรับปากก็ได้) 

 

อย่างไรก็ดี แต้มต่อของพรรคก็มีเช่นกัน เพราะมี "กูรู" ฝ่ายที่สนับสนุนพรรคเก่าแก่ วิเคราะห์เอาไว้แบบนี้ 

 

1.กระแสพรรคดีขึ้นในภาคใต้ แม้กระแสหัวหน้าพรรคจะสู้ "บิ๊กตู่" ไม่ได้ก็ตาม ฉะนั้นจึงเชื่อว่า ส.ส.ใต้ต้องไม่น้อยกว่าเดิม (ได้ 22 จาก 50 ในการเลือกตั้งปี 62 ส่วนการเลือกตั้งปี 66 เก้าอี้รวมทั้งภาคเพิ่มเป็น 58 ) 

 

2.เก้าอี้ ส.ส.ที่เสียไปให้รวมไทยสร้างชาติ ไม่กระทบภาพรวมของพรรคมาก 

 

"สุราษฎร์ธานี" เดิม 6 ที่นั่ง ปชป.กวาดหมด  เพิ่มเป็น 7 ที่นั่ง  คาดว่าเลือกตั้งจริง เสียเก้าอี้ไม่เกิน 2 ที่นั่ง (กรณีชุมพล กาญจนะ พร้อมลูกสาวลาออก และกลุ่มกำนันศักดิ์ หนุนรวมไทยสร้างชาติ) 

 

"นครศรีธรรมราช" เดิมมี 8 ที่นั่ง ปชป.ได้ 5 เสีย 3 และแพ้เลือกตั้งซ่อมอีก 1 เหลือ 4   เลือกตั้งใหม่เพิ่มเป็น 9 ที่นั่ง  ตอนนี้แก้ปัญหาเดิมๆ หมดแล้ว คาดว่าเลือกตั้งจริง เสียไม่เกิน 1-2 ที่นั่ง (กรณีมี ส.ส.ลาออกไปรวมไทยสร้างชาติ) 

 

"สงขลา" เดิม 8 ที่นั่ง  ปชป.ได้ 3 เสีย 5 (เสียให้พลังประชารัฐ 4 ภูมิใจไทย 1) เลือกตั้งใหม่เพิ่มเป็น 9 ที่นั่ง คาดว่าจะได้กลับมา 5 ที่นั่ง

 

สามจังหวัดใต้ เดิม 11 ที่นั่ง ปชป.ได้มา 1 ที่นั่ง  เลือกตั้งใหม่เพิ่มเป็น 12 ที่นั่ง คาดว่าจะได้กลับมา 3-5 ที่นั่ง 

 

"ตรัง" เดิม 3  ที่นั่ง  ปชป.ได้ 2 เสีย 1 ที่นั่ง (เสียให้พลังประชารัฐ)  เลือกตั้งใหม่เพิ่มเป็น 4 มั่นใจกวาดหมด 

 

ส่วนอีกหลายจังหวัดที่เสียไปก็จะฟื้นกลับมา เช่น สตูล น่าจะได้ 1 จากที่เสียทั้ง 2 เก้าอี้ / กระบี่เพิ่มเป็น 3 ต้องได้อย่างน้อย 2 เก้าอี้ / พังงา จากเดิม 1 เพิ่มเป็น 2 ต้องได้ทั้ง 2 เก้าอี้ เพราะเป็นจังหวัดบ้านเกิดหัวหน้าจุรินทร์ 

 

"กูรู" บอกว่า นับคร่าวๆ เท่านี้ ก็จะได้ ส.ส.ใต้ 30-32 ที่นั่งแล้ว ยังไม่นับจังหวัดที่สู้ได้ก้ำกึ่งอีกหลายจังหวัด ฉะนั้นเป้าหมาย 35-40 ที่นั่ง (เฉพาะใต้) จึงไม่ไกลเกินเอื้อม 

 

นอกจากนั้น "กูรู" ยังเชื่อว่า ธรรมชาติของประชาธิปัตย์ หากภาคใต้ได้ ส.ส.มาก จะส่งผลถึง กทม.ด้วย  ฉะนั้นถ้าภาคใต้ได้ ส.ส.เพิ่ม กทม.ที่เคยได้ 0 ในการเลือกตั้งปี 62 จะได้เพิ่มขึ้นในปี 66 เช่นกัน 


ส่วนภาคอื่นๆ ก็ใช้วิธี “ยิงลูกโดด - ยิงรายเขต" ไม่ "ยิงสะเปะสะปะ" งานนี้ "บิ๊กต่อ" ถึงมั่นใจ กล้าประกาศว่าไม่ต่ำกว่า 52 ถ้าต่ำกว่าจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต 

 

อาวุธลับอีกอย่างของประชาธิปัตย์ คือ วันนี้ "ปชป.เปลี่ยนไป" ไม่ใช่ "ปชป.พรรคเดิม" อีกแล้ว  เพราะไม่ใช่คู่แข่งขั้วตรงข้าม "ทักษิณ-เพื่อไทย" ฉะนั้นโอกาสจับมือหลังเลือกตั้ง ได้เป็นรัฐบาลต่ออีกสมัย จึงมีสูง และทำให้ ส.ส.จำนวนมากยังคงอยู่กับพรรคต่อ และมีกำลังใจสู้ต่อ เพราะปลายทางคือรัฐบาล

 

เมื่อเร็วๆ นี้ "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" ส.ส.ตรัง ออกอาการผิดคิว ออกมาพูดทำนองว่า จะไม่มีทางจับมือกับเพื่อไทยตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ปรากฏว่าพูดได้แค่วันเดียว  "แทน" ชัยชนะ เดชเดโช  ส.ส.นครศรีธรรมราช  ซึ่งวันนี้เป็นทั้ง "บ้านใหญ่" และ "เสียงใหญ่" ในพรรค ออกมาชี้แจงทันทีว่า จะไม่มีการผูกมัดเลือกข้างก่อนเลือกตั้ง เพราะต้องรอฟังเสียงประชาชน 

 

การเปิดทางแบบนี้ ไม่เหมือนประชาธิปัตย์ในอดีตที่มีจุดยืนชัด เป็นคู่แข่งเพื่อไทย และปี 62 ก็ไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ"พล.อ.ประยุทธ์"  

 

แต่ "แทน ชัยชนะ" กลับยกตัวอย่างในอดีต (ซึ่งแม้ไม่พูดตรงๆ ก็ย่อมหมายถึงปี 62) ว่าเมื่อไปแสดงท่าทีเลือกข้าง เห็นผลตามมาว่าเป็นอย่างไร (ปชป.ได้ ส.ส.ต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี) ฉะนั้นงานนี้ไม่มีเลือกข้างก่อนเลือกตั้ง 

 

นัยแบบนี้ ในทางการเมืองชัดเจนว่าคือพร้อมรวมเพื่อไทยนั่นเอง

 

ท่าทีพลิ้วในช่วงที่มีการสร้างกระแสการเมืองเลือกข้าง ไม่เอารัฐบาลเก่า โดยเฉพาะ"ลุงตู่" แบบนี้ ต้องรอลุ้นว่า ประชาชนจะตอบรับหรือไม่ และ "กระสุน" ที่ประชาธิปัตย์เตรียมไว้จะ "เข้าเป้า" หรือเป็น "กระสุนด้าน"

OOOOO

 

อนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกฯและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ร่วมเปิดตัว วีระกร คำประกอบ เข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย

 

ขณะที่ "พรรคภูมิใจไทย"  นอกจากมีกระสุนเต็มคลังที่สุด ยังได้ชื่อเป็น "พรรคจอมดูด"  แต่วันนี้ "เสี่ยหนู" อนุทิน ออกมาแก้ต่างแล้วว่า คำว่าพรรคจอมดูดที่ว่านี้ จริงๆ แล้วหมายถึงอะไร 

 

ภูมิใจไทยตั้งเป้า ส.ส.เอาไว้ที่ 120 ที่นั่ง ตามคำประกาศของ "ครูใหญ่ เนวิน" 

 

ที่ผ่านมามี “งูเห่า” เลื้อยเข้า  มี ส.ส.ดาวฤกษ์ ตระกูลการเมืองจังหวัดต่างๆ แห่ลาออก ไปเปิดตัวไม่ขาดสาย เรียกว่า "หัวกระไดไม่แห้ง" 

 

แต่ปัญหาและข้อจำกัดของภูมิใจไทยมีเหมือนกัน และอาจทำให้ "กระสุน"ที่เตรียมไว้เต็มคลัง กลายเป็น"กระสุนด้าน" ได้เหมือนกัน เหตุผลคือ 

 

1."ภูมิใจไทย"เป็นเป้าใหญ่ของเพื่อไทย ที่ต้องเตะตัดขาทุกวิถีทาง ทั้งเกมบนดิน ใต้ดิน ในสภา นอกสภา ถึงกับเคยมีดีลดึง "ผู้กองธรรมนัส" มาสกัดเกม "ครูใหญ่เนวิน" มาแล้ว แต่กระแสต้านแรง ทำให้ต้องพับแผนไป 

 

2."ภูมิใจไทย"โดนหมั่นไส้จากหลายพรรค เพราะดูดไปเยอะ ตกปลาในบ่อเพื่อนก็มาก ทำให้มีโอกาสโดนถล่มสูง จากทั้งในสภา และในสนามเลือกตั้งช่วงหาเสียง 

 

3."ภูมิใจไทย"มีคิวถูกถล่มอีกหลายระลอก 

 

ตั้งแต่ ญัตติ อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152  โดย ฝ่ายค้านแย้มว่า เตรียมตัวแบบ 151 คือไม่ต่างอะไรกับอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ หรือ "ศึกซักฟอก" กันเลยทีเดียว  โดยแกนนำฝ่ายค้านบางพรรค เปิดเผยผ่าน" ทีมข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี" ฟังว่า มีการเตรียมข้อมูลกันยิ่งกว่าศึกซักฟอกเสียอีก

  "พปชร.-รทสช.-ภท.-ปชป." ขยับ กลบจุดอ่อน สร้างจุดแข็งสู้"ศึกเลือกตั้ง66"

"เป้าใหญ่ที่สุดที่ฝ่ายค้านเตรียมถล่ม แน่นอนคือ นายกฯประยุทธ์ แต่รองลงมาคือ ภูมิใจไทย  มี 5 เรื่องใหม่ๆ ที่เตรียมถล่มในศึกอภิปรายทั่วไป ใน 5 เรื่องนี้ มีอยู่ 2 เรื่องที่โยงพรรคภูมิใจไทย  สองเรื่องที่เกี่ยวกับภูมิใจไทยทั้งโดยตรงและโดยอ้อม คือ การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีส่วนต่าง 68,000 ล้านบาท  และเรื่องนายทุนรุกที่ สปก.4-01 ที่ ต.หนองย่างเสือ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ซึ่งงานนี้ฝ่ายค้านจะเปิดโปงให้เห็นชัดๆ ว่ามันโยงรถไฟฟ้าสายสีส้มได้อย่างพิสดารพันลึก"

 

ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่โดนอยู่แล้ว และกำลังโดนอยู่ เช่น โครงการเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่ใช้งบถึง 33 ล้านบาทเศษ ทำให้พรรคโดนกระหน่ำในฐานะคุมกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ล่าสุด ร.ฟ.ท.ต้องสั่งระงับโครงการเอาไว้ก่อน 

 

นอกจากนั้นยังมีเรื่องเก่า ที่ดินเขากระโดง และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง 

 

4.มีความพยายามผูกขาแกนนำพรรคภูมิใจไทยเอาไว้ ด้วยการนำเรื่องที่ถูกตรวจสอบไปยื่น ป.ป.ช. หากหลังเลือกตั้ง ภูมิใจไทยไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็น่าจะโดนเล่นงานหนัก 

 

5.นโยบายกัญชาเสรี ที่ภายหลังมาเปลี่ยนถ้อยคำเป็น “กัญชาทางการแพทย์” ถูกกระหน่ำหนัก และส่งผลต่อการเลือกตั้งอย่างชัดเจน เรียกว่าจังหวัดและเขตเลือกตั้งที่มีประชากรมุสลิมจำนวนมาก มีโอกาสพ่ายแพ้สูง โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อาจสูญพันธุ์ (ปี 62 ได้มา 1 ที่นั่ง ปี 66 คาดหวัง 4-5 ที่นั่ง) เพราะพี่น้องมุสลิมไม่ยอมรับกัญชา เนื่องจากผิดหลักอิสลาม ถือเป็น "หะรอม" (ต้องห้าม) ไม่ใช่ "ฮาลาล" (ได้รับอนุม้ติ) 

 

6.ความหวังที่ภูมิใจไทยจะปักธง ส.ส.กทม.ให้ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ตั้งพรรคมา ถึงขั้นดึง "หนุ่มบี" พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตแกนนำ กปปส. และขุนพล กทม.ของพลังประชารัฐ ไปวางยุทธศาสตร์ งานนี้ต้องบอกว่าไม่ง่าย แม้จะดูด ส.ส.กทม.จากพลังประชารัฐไปหลายคน เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่ได้มาเมื่อปี 62 เพราะกระแส "ลุงตู่" และกระแสต้านทักษิณ (รวมถึงกระแสบอยคอตประชาธิปัตย์ ที่ประกาศจุดยืนชัดหรือยัง ไม่เอาประยุทธ์) 

 

งานนี้แกนนำพรรคก็รู้ดี เพราะมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า หาก"หนุ่มบี" ทำสำเร็จ จะมีโบนัสกองโตในระดับที่ไม่มีใครอยากจะเชื่อว่าจะสัญญากันขนาดนี้ ( กล้าสัญญาเพราะอาจจะเชื่อว่าทำไม่ได้แน่ )

 

นี่คือ 6 ปัญหาใหญ่ๆ ที่จะเป็นขวากหนามสำคัญให้"ภูมิใจไทย" ไปไม่ถึงฝั่งฝ้น และอาจเจอภาวะ"กระสุนด้าน" ได้เหมือนกัน 

 

logoline