svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"ปฏิรูปราชการ"ปมท้าทายนโยบายหาเสียงพรรคการเมือง ฝ่าศึก"เลือกตั้ง66"

02 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เลือกตั้ง 66"นโยบายพรรคการเมืองไทยในปัจจุบัน นอกจากติดหล่ม"นโยบายประชานิยม"ยังมีพัฒนาการเล่นกับกระแสความสนใจผู้คน จนทำให้หลงลืมปัญหาโครงสร้างหลักประเทศ โดยเฉพาะ"การปฏิรูประบบราชการ" ติดตามเจาะประเด็น โดย "ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร"

ตลอดปีพ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา นอกจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่ประชาชนคนไทยพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาแล้ว ยังจะพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบราชการกลายเป็นปัญหาที่สั่นคลอนความรู้สึกของคนไทยและทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นอีกว่า ในอนาคตของการเลือกตั้งนั้น "การปฏิรูประบบราชการ"ยังจะสามารถกลายเป็นประเด็นหรือนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองไทยได้หรือไม่?

 

"ปฏิรูปราชการ"ปมท้าทายนโยบายหาเสียงพรรคการเมือง ฝ่าศึก"เลือกตั้ง66"

 

"เนื่องจากที่ผ่านมาจะพบว่า"พรรคการเมือง"โดยส่วนใหญ่มักจะเล่นกับกระแสความสนใจของคนโดยทั่วไป อาทิ ภายหลังเหตุการณ์การ กราดยิงหรือแม้แต่กระทั่งการแพร่กระจายของยาเสพติด ทำให้หลายพรรคการเมืองพยายามเน้นชูนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดไปตามกระแส อาจกล่าวได้ว่า นโยบายของพรรคการเมือง ไทยในปัจจุบันนอกจากที่จะติดหล่มกับนโยบายประชานิยมแล้ว ยังมีพัฒนาการเล่นกับกระแสความสนใจของผู้คนจนทำให้หลงลืมปัญหาโครงสร้างหลักของประเทศไปชั่วขณะ

อย่างไรก็ตาม ก่อนสิ้นปีที่ผ่านมาปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบราชการก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกันนับตั้งแต่ ปัญหาการเปิดโปงระบบการทุจริตแบบครบวงจร นับตั้งแต่การซื้อขายตำแหน่งการโยกย้ายระบบราชการ การสร้างเทคนิครูปแบบการทุจริตแบบใหม่ การสื่อสารของข้าราชการระดับสูงกับผู้ใต้บังคับบัญชา การบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อต่อองค์กรอาชญากรรม ซึ่งล้วนแล้วแสดงออกถึงความไม่เกรงกลัวต่อกลไกการตรวจสอบทั้งจากภายในระบบราชการเองหรือแม้แต่กระทั่งการตรวจสอบขององค์กรอิสระ ทำให้เกิดข้อตระหนักขึ้นอีกประเด็นหนึ่งว่าในท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่านโยบายของพรรคการเมืองจะพัฒนาไปในรูปแบบไหนก็ตามแต่นโยบายการปฏิรูประบบราชการยังกลายเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พรรคการเมืองจะต้องให้ความสนใจ

 

นายกฯ ประชุม การบริหารสถานการณ์น้ำท่วม ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2565

 

ในอดีตที่ผ่านมานโยบายการปฏิรูปราชการมักจะให้ความสำคัญกับการขยายภารกิจของอำนาจรัฐในส่วนกลางในการทำงานที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น การยกระดับการพัฒนาในแง่ของเทคโนโลยี รวมทั้งการให้บริการสาธารณะภาครัฐให้มีความทันสมัย หรือแม้แต่กระทั่งในอดีตมีการขยายจำนวนกระทรวงให้ครอบคลุมภารกิจที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น 


ภายใต้การปรับรูปแบบบริการสาธารณะดังกล่าวนี้  ปัญหาที่เกิดขึ้นนั่นก็คือภารกิจมีความทันสมัยอยู่ก็จริง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ "ระบบและคน" ของระบบราชการกลับไม่ได้ทันสมัยไปพร้อมกับภารกิจหรือเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยตามไปด้วย ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วสังคมไทยโดยเฉพาะระบบราชการยังวนเวียนอยู่กับปัญหาระบบอุปถัมภ์ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการทุจริตคอร์รัปชั่นไปโดยปริยาย

 

ในแง่นี้จะพบว่าเมื่อ"พรรคการเมือง"เข้ามาสู่ระบบราชการแล้ว แม้ว่าจะมีนโยบายที่ดีเลิศในการพัฒนาประเทศต่างๆ แต่หากกลไกรองรับระบบการนำนโยบายไปปฏิบัติมีความล้าหลังหรือแม้แต่กระทั่งการตอบสนองของระบบราชการไม่มีความกระตือรือร้น เพราะตัวของข้าราชการเองก็ขาดขวัญและกำลังใจว่าการทำงานของรัฐบาลไม่เอื้อหนุนก่อให้เกิดการสร้างระบบคุณธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว นโยบายของ"พรรคการเมือง"ที่พัฒนาไปสู่นโยบายของรัฐบาลก็อยากที่จะประสบผลสำเร็จ


การหาเสียงหรือแม้แต่คลังสมองยุทธศาสตร์ ในการคิดค้นนโยบายของ"พรรคการเมือง"จึงควรให้ความสนใจต่อการคิดค้นยุทธศาสตร์หรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบราชการ โดยเฉพาะการให้ความสนใจหลักการที่มีมาแต่เดิม ทั้งในรูปแบบของความโปร่งใส การยึดมั่นในระบบคุณธรรม ทั้งนี้ ในแง่ของการบริการสาธารณะแล้ว พรรคการเมืองมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องให้ความสนใจ "กรอบคำถามเบื้องต้น" เพื่อออกแบบพัฒนานโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง อาทิ 

 

"ปฏิรูปราชการ"ปมท้าทายนโยบายหาเสียงพรรคการเมือง ฝ่าศึก"เลือกตั้ง66"
 

•    อะไรคือจุดอ่อนและจุดแข็งของระบบราชการของไทยในปัจจุบัน 

•    อะไรคือปัจจัยที่ทำให้บริการสาธารณะมีความต่อเนื่อง เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และสร้างความเสมอภาคในสังคม

•    นโยบายของพรรคการเมืองที่สังกัดต้องการนำเสนอสู่สาธารณะนั้น ตอบโจทย์ปัญหาของสังคมไทยโดยเฉพาะปัญหาจากระบบอุปถัมภ์และระบบการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างไร

•    นโยบายปฏิรูปราชการที่พรรคการเมืองต้องการนำเสนอนั้น สามารถสร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการที่มีความสุจริตได้อย่างไร โดยเฉพาะจะทำให้ระบบคุณธรรมกลายเป็นระบบที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่ อย่างไร

•    นโยบายปฏิรูประบบราชการที่แต่ละพรรคต้องการนำเสนอนั้นสามารถแก้ไขปัญหา การซื้อขายตำแหน่งหรือการวิ่งเต้นในฤดูกาลโยกย้ายได้หรือไม่ อย่างไร

•    นโยบายปฏิรูประบบราชการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม จะสามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าทุกคนอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายเดียวกันได้หรือไม่ อย่างไร

•    ระบบการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันภายในระบบราชการและการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระมีประเด็นใดบ้างที่จะสามารถพัฒนาร่วมกันได้

•    ช่องทางการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วน ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ หรือมีประเด็นใดบ้างที่จะสามารถทำให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหาการทุจริตได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

 

 

กล่าวได้ว่า ในท้ายที่สุดแล้ว กรอบคำถามการปฏิรูประบบราชการที่"พรรคการเมือง"สามารถนำไปออกแบบนโยบาย การหาเสียงเลือกตั้งในอนาคตข้างต้นนี้ จะกลายเป็นประโยชน์ต่อ"พรรคการเมือง"เองโดยเฉพาะการสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลหรือทำให้ระบบราชการเองสามารถเอื้อประโยชน์ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

"ปฏิรูปราชการ"ปมท้าทายนโยบายหาเสียงพรรคการเมือง ฝ่าศึก"เลือกตั้ง66"

 

อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่ง"พรรคการเมือง"เองยังจะต้องตระหนักนั่นก็คือ "ความท้าทายแบบคู่ขนาน"  ซึ่งในการปฏิรูประบบราชการ เส้นแบ่งที่สำคัญก็คือ การไม่ทำให้ระบบการเมืองสร้างความสั่นคลอนให้กับระบบราชการโดยเฉพาะเอาคนของฝ่ายการเมืองมาทำงานที่มีลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง พรรคการเมืองเองก็จะต้องตระหนักว่าภายในระบบราชการนั้นมีลักษณะความเป็นรัฐอิสระที่รู้จักกันในนาม "รัฐราชการ"  และภายในกระแสของการปฏิรูปนั้นระบบราชการเองอาจจะอยู่ในฐานะ "พรรคราชการ" ด้วยเช่นเดียวกัน ฉะนั้น "การตอบรับการปฏิรูป"  จึงจะปรากฏภาพ "กระแสต่อต้านการปฏิรูป"  ควบคู่กันไป แต่หากเปรียบเทียบว่านโยบายพรรคการเมืองคือสินค้าที่ตลาดการเมืองมีความต้องการ  "นโยบายการปฏิรูประบบราชการ" อาจจะเป็นสินค้าที่ผลิตยาก แต่เชื่อได้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า หากพรรคการเมืองได้นำเสนอสินค้าข้างต้นนี้อย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนคนไทยก็พร้อมที่จะเทคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองนั้นได้เช่นเดียวกัน
 

logoline