svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดเบื้องหลังเด้ง “สุริยา” พ้น ดีเอสไอ

เปิดเบื้องหลังเด้ง “สุริยา” พ้น ดีเอสไอ ใครหยิบชิ้นปลามันเก้าอี้ อธิบดีฯ จะใช่ “ยุทธนา แพรดำ” หรือไม่ ขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566  มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการหลายตำแหน่ง ที่น่าสนใจคือกระทรวงยุติธรรม ที่มีการโยกย้าย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดำรงตำแหน่ง "รองปลัดกระทรวงยุติธรรม" และ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่างอยู่ 

ขณะที่ เพจเฟซบุ๊กกรมสอบสวนคดีพิเศษ  เผยแพร่ภาพ พ.ต.ต.สุริยา  พร้อมระบุข้อความ "วิถีราชการ" ทำใจอยู่ตลอดเวลา นับแต่มานั่งเป็นผู้บริหารสูงสุดที่นี่แล้ว ว่าต้องถึงวันนี้ แต่ตนเลือกทางเดินและวิถีตนเองตั้งแต่ต้น ไม่เสียใจเพราะทำเต็มที่แล้ว เป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับทุกท่าน

 

 

เปิดเบื้องหลังเด้ง “สุริยา” พ้น ดีเอสไอ

 

 

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า การขยับ พ.ต.ท.ประวุธ ไปนั่งกรมพินิจฯนั้น เพื่อให้ตำแหน่งรองปลัดฯ ว่าง สำหรับย้าย พ.ต.ต.สุริยา จากอธิบดีดีเอสไอ มานั่งแทน

ส่วนเส้นทางการทำงานของ พ.ต.ต.สุริยา ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ได้ย้ายจาก ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2566 มานั่งรักษาการอธิบดีดีเอสไอ ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2566 ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นอธิบดี ดีเอสไอ 

กระทั่ง เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2566 นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ตำหนิการทำงานของ พ.ต.ต.สุริยา ในคดีหมูเถื่อนอย่างรุนแรง ก่อนเดินทางไปสหรัฐอเมริกา นับแต่วันนั้น เก้าอี้อธิบดีดีเอสไอ ก็สั่นคลอนทันที และสั่นคลอนยิ่งขึ้นอีก เมื่อนายกฯ เศรษฐา ได้ให้สัมภาษณ์ข้ามทวีป เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2566 ว่า ที่ไม่พอใจอธิบดีดีเอสไอ ไม่ใช่แค่เรื่องหมูเถื่อน แต่มีเรื่องหุ้น MORE และหุ้น STARK ด้วย

ดูเหมือนฝ่าย อธิบดีดีเอสไอ ก็รู้ชะตากรรม แต่ก็ไม่ยอมแพ้ ด้วยการลุยค้นโกดังหาหลักฐานหมูแช่แข็ง ที่ จ.สมุทรสาคร และวันที่ 24 พ.ย.2566 ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวคดีหุ้น MORE หุ้น STARK และคดีหมูเถื่อน

ตามมาด้วยเมื่อวานนี้ (27 พ.ย.2566) อธิบดีดีเอสไอ ลุยเปิดปฏิบัติการค้นสำนักงานใหญ่สยามแม็คโคร พร้อมแถลงข่าวร่วมกับผู้บริหารบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เมื่อ ครม.สั่งย้าย พ.ต.ต.สุริยา พ้นอธิบดีดีเอสไอ กลายเป็นเรื่องหมูที่ไม่หมู
 

ใครหยิบชิ้นปลามันเก้าอี้อธิบดีฯ จะใช่“ยุทธนา แพรดำ”หรือไม่

อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงภายในกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ถือว่ายัง “ไม่ลงตัว” หลายตำแหน่ง แม้ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ต.ค.2566 มีมติแต่งตั้งอธิบดี ทดแทนตำแหน่งที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว อาทิ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ที่แต่งตั้ง สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ จากรองปลัดยธ. มานั่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ,เสกสรร สุขแสง จากผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบังคับคดี ,วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ จากอธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์,เรืองศักดิ์ สุวารี จากอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมคุมประพฤติ ,เอมอร เสียงใหญ่ จากผู้ตรวจราชการ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 

ก่อนหน้านั้น ครม.มีมติเมื่อวันที่ 26 ก.ย.2566 เห็นชอบรับโอน พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ จากอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ยธ. เป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต. ระดับ 11)

กรณีอธิบดีกรมพินิจฯ ตามที่มีการทำความเห็นแต่งตั้งในยธ คือให้รองอธิบดีฯ ศิริประกาย วรปรีชา ขยับจากรองอธิบดีฯ (ระดับ 9) ซึ่งเป็นลูกหม้อกรมพินิจฯ ขึ้นเป็นอธิบดี แต่ปลัดยธ. พงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ เห็นว่า รองอธิบดีฯ (ระดับ 9) จะขึ้นเป็นอธิบดีต้องเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง (ระดับ 10) ก่อน ทำให้ตำแหน่งอธิบดีกรมพินิจฯ จึงว่างอยู่จนกระทั่ง 28 พ.ย.2566  ครม.จึงแต่งตั้ง พ.ต.ท.ประวุธ จากรองปลัดยธ (ระดับ 10) ไปเป็น อธิบดีกรมพินิจฯ รอขยับขึ้นเป็นปลัดยธ. (ระดับ 11) คนต่อไป

กรณีกรมพินิจฯ สามารถนำมาเทียบเคียงได้กับมติครม. ย้าย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล จากอธิบดีดีเอสไอ ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม โดยตามคาดการณ์ ผู้ที่จะมานั่งอธิบดีดีเอสไอ คือ รองอธิบดีเบอร์ 1  (ระดับ 9) พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ แต่ก็ติดเงื่อนไขเดียวกับ ศิริประกาย วรปรีชา ที่ขยับจากรองอธิบดีกรมพินิจฯ ขึ้นอธิบดีโดยตรงไม่ได้ ต้องเป็นผู้ตรวจราชการ (ระดับ 10) ก่อน แล้วใครจะมาเป็น อธิบดีดีเอสไอคนใหม่ คือสิ่งที่สังคมอยากรู้ เพราะเต็มไปด้วยแรงเสียดทานในการทำคดีมากมาย 

 

 

เปิดเบื้องหลังเด้ง “สุริยา” พ้น ดีเอสไอ

 

 

ดังนั้น ความเป็นไปได้สูงคือ ให้รองอธิบดีเบอร์ 1  (ระดับ 9) พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ นั่งรักษาการฯ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีดีเอสไอ แม้ไม่ใช่ตำแหน่งโดยตรง แต่บริหารคน-งบประมาณดีเอสไอ ได้เหมือนอธิบดี 

กรณีรักษาการ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีดีเอสไอ เคยเกิดขึ้นในช่วงที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง ป่วย ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  ก็แต่งตั้งรอง 1 คือ ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีดีเอสไอ และต่อมาได้แต่งตั้ง พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร จากผู้ตรวจราชการ ยธ. มาเป็นอธิบดีดีเอสไอ ส่วน ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ ขยับไปเป็นผู้ตรวจราชการ ยธ. (ระดับ 10) แล้วจึงขยับมาเป็นอธิบดีดีเอสไอ ในภายหลัง

ในกรณีที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ จะพาสชั้นจาก รองอธิบดีดีเอสไอ (ระดับ 9) ขึ้นมาเป็นอธิบดีดีเอสไอ (ระดับ 10) มีโอกาสหรือจะเป็นกรณีพิเศษหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง คือนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน 

ที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์การแต่งตั้ง รองอธิบดีดีเอสไอ ขึ้นเป็นอธิบดีดีเอสไอ เคยมีมาก่อน ในรัฐบาล คสช. ขณะนั้น พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 27 ต.ค.2558 เห็นชอบแต่งตั้ง พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นอธิบดีดีเอสไอ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ

ดังนั้น อธิบดีดีเอสไอ คนต่อไป ฝ่ายการเมืองเท่านั้นที่จะตัดสินใจ แต่คงไม่หนีไปจากคนชื่อ “ยุทธนา แพรดำ”